จนกว่าชีวิตจะนิทรา : โดย อนวัฒน์ แสงทอง

จนกว่าชีวิตจะนิทรา


            วัยที่มีความสุขที่สุดของชีวิตใครหลายๆ คนคงเป็นชีวิตในวัยเยาว์วัยที่ยังไม่รับรู้ถึงความเป็นไปต่างๆ ในโลก วัยที่มีความสุขไปกับการจินตนาการและปลอดภัยกับการมีพ่อและแม่ที่คอยดูแลเอาใจใส่ กวีนิพนธ์เรื่อง “จนกว่าชีวิตจะนิทรา” ของ ปาลิตา ผลประดับเพชร ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดรางวัลวรรณศิลป์ อุชเชนี ครั้งที่3 เป็นกวีนิพนธ์ที่ให้ภาพวัยเยาว์ รวมถึงเมื่ออ่านจนจบสามารถสะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับการใช้ชีวิตได้อย่างลึกซึ้ง

            เมื่อพิจารณาการตั้งชื่อเรื่องในกวีนิพนธ์เรื่องนี้มีการตั้งชื่อที่สอดคล้องกับเนื้อหาและแนวคิดสำคัญของเรื่อง คำว่า “จนกว่าชีวิตจะนินทรา” หมายถึงช่วงเวลาตั้งแต่ในวัยเยาว์ที่สุดแสนจะเปี่ยมสุขโลดแล่นไปด้วยความสนุกและความหวัง จนกระทั่งเป็นชีวิตในวัยผู้ใหญ่การเปลี่ยนผ่านและเรียนรู้ว่ามีได้เพียงแค่สิ่งที่ดีและสวยงามในโลกเท่านั้น เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ คำว่า “นิทรา” ในที่นี้มิใช่มีความหมายว่านอนหลับแต่อย่างใด แต่หมายถึง การสิ้นอายุขัย

           กวีนิพนธ์ชิ้นนี้ต้องการนำเสนอแนวคิดสำคัญที่ว่าชีวิตย่อมมีทั้งสุขและทุกข์คละเคล้าปนกันไป เมื่อทุกข์ก็ไม่ควรจมอยู่กับสิ่งนั้นจนสิ้นหวังกับการใช้ชีวิต กวีนำเสนอแนวคิดดังกล่าวด้วยการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของแม่กับลูก ซึ่งเป็นกลวิธีที่สามารถสัมผัสจิตใจของผู้อ่านได้อย่างดี การนำความทรงจำวัยเยาว์มาเริ่มในส่วนต้นตั้งแต่แต่เป็นทารกที่ได้รับการโอบอุ้มด้วยความรัก ความกรุณา กล่าวถึงจินตนาการ ความสดใส รวมถึงความหวัง และเมื่อถึ   งช่วงกลางกวีให้ภาพของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ความรู้สึกต่างๆ ในข้างต้นจะเลือนหายไป ส่วนในตอนท้ายเป็นการสรุปแนวคิดที่เกิดขึ้นส่วนที่นำเสนอแนวคิดได้ดีที่สุดคือ

“ลูกเอ๋ย...เช่นนี้แหละชีวิต

เจ้าอย่าพร่ำพินิจเพียงบาดแผล

ศิโรราบซ้ำซ้ำ-ความอ่อนแอ

ลั่นกุญแจคุมขังความหวังใด”

            ลักษณะของคำประพันธ์ที่กวีใช้สร้างสรรค์คือ กลอนสุภาพ โดยคำในวรรคมี 7-9 คำ มีจำนวนทั้งสิ้น 10 บทด้วยกัน ซึ่งด้วยจำนวนบทที่ไม่มากและน้อยเกินไปจะสามารถทำให้ผู้อ่านคิดถึงวัยเยาว์คิดไปถึงแนวคิดที่กวีแฝงไว้นั่นเอง มีจุดที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของกวีนิพนธ์ชิ้นนี้ยกตัวอย่างเช่น

“เปลเก่า...ยังโยนไกวไปช้าช้า”

“ทว่า, เจ้าเติบโตจนเต็มร่าง”

“โศกร่ำ-ปรีดีมิอาจหยั่ง”

 

            จากข้อความที่ยกมาจะเห็นได้ว่ากวีใช้เครื่องหมายต่างๆ ซึ่งแต่ละเครื่องหมายให้ผลที่ต่างกันออกไป เครื่องหมาย (…) เป็นการหน่วงจังหวะการเว้นคำ ซึ่งทำให้ผู้อ่านได้หยุดคิดและจดจ้องตามกวี และเครื่องหมาย (,) ให้ความรู้สึกว่ากวีกำลังเริ่มความใหม่ที่ขัดแย้งกับสิ่งที่กล่าวก่อนหน้า สุดท้ายคือเครื่องหมาย (-) ซึ่งใช้แทนคำว่า “และ” ที่ถ้าหากใส่คำบุพบทลงไปตัวจังหวะในการอ่านจะแปลกไปการใส่เครื่องหมายดังกล่าวจึงจะช่วยในจุดบกพร่องนี้

            กวีนิพนธ์เรื่องนี้มีศิลปะการใช้คำที่ง่ายต่อการเข้าใจ เช่น “แม่ร้องเพลงเบาเบาอยู่ข้างข้าง” คำว่า           “เบาเบา” และ “ข้างข้าง” เป็นระดับภาษาที่คนธรรมดาใช้กันอย่างเข้าใจแนวคิดง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังมีการใช้คำขยายที่อาจดูจะไม่เข้าคู่กัน แต่เมื่อมาวางด้วยกันกลับทำให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพที่แปลกใหม่ยิ่งขึ้น เช่นในวรรคที่ว่า
 

“ดูดอกบัวสีหวานเพิ่งออกฝัก”
 

            คำว่า “หวาน” ปกติใช้ขยายสิ่งที่รับประทานได้มีรสชาติ แต่เมื่ออยู่กับคำว่า “สี่” กลับสร้างภาพที่เข้าใจง่ายและสร้างสรรค์

            กลวิธีทางวรรณศิลป์อีกอย่างที่โดดเด่นอย่างมากของกวีนิพนธ์ชิ้นนี้ คือการลำดับการเล่าเรื่อง โดยใช้วิธีสร้างข้อความที่คู่ขนานและเกิดความขัดแย้งทั้งภาพ อารมณ์ และความรู้สึกที่ต่างกันหรือเรียกว่าการปฏิทรรน์ข้อความ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่ทำให้แนวคิดของเรื่องโดดเด่นออกมาอย่างสมบูรณ์ยกตัวอย่างเช่น

                                    ในช่วงต้นความว่า

“เจ้าตื่นมาจะพาเล่นสวนหลังบ้าน

ดูดอกบัวสีหวานเพิ่งออกฝัก

ดูปุยเมฆปั้นรูปเป็นลิง,ยักษ์ ฯลฯ

ดูผีเสื้อทายทักดอกไม้บาน”
 

                                    ข้อความที่คู่ขนานกันความว่า
 

“ทว่า, เจ้าเติบโตจนเต็มร่าง

อาจพบบัวดอกด่างและร้างสี

หม่นเมฆครึ้มทึมเทา-เท่าเมฆมี

และดอกไม้ไม่ปรานีผีเสื้อนัก”

            จากตัวอย่างที่ยกมาทั้งสองบทจะพูดถึงสิ่งเดียวกันคือ ดอกบัว เมฆ และดอกไม้กับผีเสื้อ ซึ่งให้ภาพและอารมณ์ความรู้สึกที่ต่างกัน บทแรกจะให้ความสดใสมีความหวัง แต่ในบทที่ขัดแย้งกันให้ความรู้สึกที่เป็นจริงกว่าบทแรก

            นอกจากนี้ยังปรากฎภาพพจน์อื่นๆ ซึ่งช่วยเติมเต็มให้กวีนิพนธ์ชิ้นนี้มีจินตภาพ อารมณ์ และแฝงแนวคิดเช่น การใช้บุคคลวัตในวรรคที่ว่า “ดูผีเสื้อทักทายดอกไม้ทัก” เป็นกลวิธีการสร้างจินตภาพอีกรูปแบบหนึ่ง หรือในด้านอารมณ์ เช่นวรรคที่ว่า “ชอบอาจหลับใหลอยู่ในชัง” เป็นลักษณะการนำคำที่มีความหมายขัดแย้งกันคือคำว่า “ชอบ” และ “ชัง” มาขยายกันเองและส่วนของการแฝงแนวคิดโดยการเปรียบเทียบแบบอุปลักษณ์ในวรรคที่กล่าวว่า “เปลชีวิตเห่ไกวในทุกครั้ง” คำว่า “เปล” ในที่นี้หมายถึง “โชคชะตา” การไกวเปลเหมือนกับการที่โชคชะตาหมุนไปอาจไปเจอเรื่องดีหรือไม่ดีบ้างสุดแล้วแต่เปลชีวิตจะไกวไป

            “จนกว่าจะนิทรา” ถ้าอ่านอย่างผิวเผินอาจได้เพียงความไพเราะในการร้อยเรียงถ้อยคำ แต่หากเมื่อพิจารณาและครุ่นคิดไปกับถ้อยคำเหล่านั้นจะสามารถรับรู้ได้ถึงความคิดที่กวีต้องการส่งถึงผู้อ่านว่า การตระหนักรู้ว่าสุขคือสุขและทุกข์คือทุกข์ อย่าจมอยู่กับสิ่งเหล่านั้นเกินไป เพราะชีวิตเป็นเช่นนี้เสมอ ทุกคนล้วนถูกไกวไปในแปลเห่งชีวิตผันผ่านทุกความหวังและความจริง กว่าที่ชีวิตจะสนิทนิ่งในนิทรา

 

 

"จนกว่าชีวิตจะนิทรา"
โดย อนวัฒน์ แสงทอง
โครงการ “อ่าน  เขียน  เรียนรู้  สู่งานวิจารณ์ ” ปีที่ 5 


 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ