ร้านหนังสือใบไผ่ จังหวัดฉะเชิงเทรา : หนังสือเป็นเพื่อนใจ ให้ใบไผ่เป็นเพื่อนคุณ

ร้านหนังสือใบไผ่ จังหวัดฉะเชิงเทรา

คอลัมน์ คนสร้างร้านประจำเดือนสิงหาคมนี้ เราได้ไปพูดคุยกับคุณธวัชชัย ปัญญานนท์วาท เจ้าของร้านหนังสือใบไผ่ ซึ่งตั้งอยู่เยื้องกับห้องสมุดประชาชน บนถนนพานิช อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา หรือที่คนในชุมชนเรียกกันว่า แปดริ้ว นั่นเอง

คุณธวัชชัยเล่าให้เราฟังว่า ร้านหนังสือใบไผ่ได้ให้บริการกับคนในแปดริ้วมากว่าแปดปีแล้ว โดยมีสองพี่น้องคือ คุณธวัชชัยและคุณธนา ปัญญานนท์วาท เป็นผู้บุกเบิกและดูแลร้านร่วมกันมาตลอด จุดเริ่มต้นที่ทำให้ตัดสินใจเลือกทำธุรกิจร้านหนังสือก็ไม่ได้มาจากความใฝ่ฝันอะไรเป็นพิเศษ แต่เป็นเรื่องของการมองช่องทางธุรกิจล้วนๆ เนื่องจากเห็นว่าในแปดริ้วยังไม่มีร้านหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ค ประกอบกับมองว่าลู่ทางการทำธุรกิจร้านหนังสือยังมีความเป็นไปได้ จึงได้เปิดร้านหนังสือใบไผ่ขึ้น โดยมีสโลแกนเก๋ไก๋ประจำร้านคือ "หนังสือเป็นเพื่อนใจ ให้ใบไผ่เป็นเพื่อนคุณ"

"เราพยายามทำให้ร้านของเราเป็นร้านค้าปลีกที่เต็มรูปแบบที่สุด" คุณธวัชชัยบอก "เพราะฉะนั้นหนังสือในร้านของเราจะต้องมีทุกแบบ ทุกประเภท รองรับความต้องการสำหรับคนทุกวัย พูดได้ว่า ทุกคนในครอบครัวเข้ามาที่ร้านนี้จะสามารถหาหนังสือที่ชอบได้หมด" แต่ถึงกระนั้น ลูกค้าประจำที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด ยังคงเป็นวัยรุ่น

"เขามาซื้อพวกหนังสือการ์ตูน ไม่ก็คู่มือ"

ด้วยความพยายามในการคัดหนังสือเข้าร้านให้มีความหลากหลาย บางครั้ง ร้านหนังสือใบไผ่จึงต้องเจอกับปัญหาหนังสือค้างสต๊อกบ้าง ซึ่งคุณธวัชชัยมองว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่ร้านหนังสือต้องเจอ ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่หนักหนาอะไร

"เราก็ต้องให้ความสำคัญกับการบริหาร การจัดระบบในร้าน ก็ดูแลไปเรื่อยๆ ส่วนเรื่องการบริการลูกค้าที่เข้ามาซื้อหนังสือ ก็เป็นหลักทั่วๆไป มีการสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน การพูดคุยทักทาย มีการแนะนำหนังสือใหม่ๆ ให้ลูกค้าที่สนใจ ต้องใส่ใจกับการบริการ เพราะร้านค้าต่างจังหวัดส่วนมากอยู่ได้ด้วยความสัมพันธ์ของร้านกับลูกค้าอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ว่าเราจะต้องเข้าไปพูดแนะนำหนังสือกับลูกค้าที่เข้ามาในร้านทุกคน ก็ต้องดูสถานการณ์ด้วย เพราะบางคนเขาก็ชอบที่จะเดินดูเองมากกว่า"

และเมื่อเรากระซิบถามถึงผลตอบแทนของการทำร้านหนังสือ คุณธวัชชัยก็เต็มใจบอกเราโดยไม่ปิดบัง

"แปดปีที่ทำมา เราอยู่มาได้ตลอด ไม่เคยมีปัญหาใหญ่ๆ ที่ถึงกับเป็นอุปสรรค พูดถึงผลตอบแทนก็ยังอยู่ในระดับที่ดี แต่ประมาณ 4 ปีก่อนมีร้านหนังสือดอกหญ้ามาเปิด ห่างจากร้านเราไปประมาณสองกิโล ตรงนี้ก็ถูกแบ่งตลาดไปแล้ว เพราะร้านเขามีชื่อเสียงกว่า และคนที่อยู่ใกล้ร้านดอกหญ้า เขาก็จะซื้อที่นั่น ไม่มาที่ร้านเรา รายได้ก็ตกไปพอสมควร แต่ก็ยังอยู่ได้ และเราก็ยังขายหนังสืออย่างเดียว ไม่ได้มีพวกเครื่องดื่มหรืออย่างอื่นเข้ามาเสริม ซึ่งมันก็แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจการขายหนังสือยังดีอยู่ ยังมีความเป็นไปได้ ยังน่าทำอยู่"

และก่อนจะจบการสนทนา คุณธวัชชัยยังแสดงความใจดี ฝากคำแนะนำในการทำร้านหนังสือให้กับผู้ที่สนใจอยากเป็นคนสร้างร้านอีกด้วย

"การจะเปิดร้านหนังสือสักร้าน สิ่งที่สำคัญเป็นอันดับหนึ่งคือทำเล เพราะว่าร้านขายหนังสือไม่ได้เป็นแบบร้านขายข้าวขาหมูที่ถ้ามันอร่อยเสียอย่าง ไม่ว่าจะอยู่ลึกลับซับซ้อนยังไงลูกค้าก็ตามมาซื้อกิน แต่หนังสือมันซื้อที่ร้านไหนก็ได้ ไม่มีอะไรต่างกัน ดังนั้นเราจึงต้องยึดทำเลที่คนเยอะๆ การเดินทางต้องสะดวก เพราะยิ่งมีคนเดินผ่านหน้าร้านมาก ก็เท่ากับมีโอกาสที่เขาจะเข้ามาดูหนังสือในร้านมากขึ้น"

"เรื่องของใจก็เป็นสิ่งสำคัญ คือใจรักที่จะทำ มันก็มีความสร้างสรรค์ ทำไปได้เรื่อยๆ อีกเรื่องก็คือเงินทุนที่หมุนเวียนในร้าน ต้องมีค่าตกแต่ง ค่าใช้จ่ายในร้าน ค่าหนังสือ ส่วนเรื่องการจัดการ จะมีไอเดียสำหรับร้านแบบไหนยังไงมันก็เป็นเรื่องรองลงไป"

"สำหรับผมมองว่า ต้องมีใจ มีเงิน มีทำเล สามอย่างนี้สำคัญที่สุด"

ทางสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ขอขอบพระคุณทางร้านหนังสือใบไผ่ ที่ได้กรุณาเสียสละเวลาให้สัมภาษณ์ ทำให้เราได้รับรู้ถึงทัศนะ และความจริง ตลอดจนข้อคิดเห็นจากคนทำร้านหนังสือ ในครั้งนี้ด้วยครับ...

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ