To พี่แป๊ด
“ร้านสวยมาก”
และเป็นอะไรที่ชอบ
จนอยากมานั่งเล่นให้พี่เหม็นหน้า
นิ้วกลมบอกว่า :โลกหมุนช้า
ที่ก็องดิด “นิ้วไม่กลม” ขอเถียงดังๆว่าเวลาที่ก็องดิดหมุนเร็วเหมือนติดปีก
ถ้าลุงบุญมียังตามติดเหมือนเงาตามตัว
คงมีบุญได้มานั่งสบตา “คุณก็องดิด”อีกครา…
---ข้อความจากโปสการ์ตในร้าน—
ถึง :ก็องดิด *
บ่ายที่ท้องฟ้ายังมีดวงดาวฉายแสง แต่นัยย์ตามนุษย์เรามองไม่เห็น (ขึ้นต้นอย่างนี้ เพราะเคืองแสงอาทิตย์ที่ร้อนเหลือ) ร้านหนังสือเร้นลับร้านหนึ่ง ร้องเรียกให้เดินทางมาเยือน หลังจากคลาดกันแล้วหลายหน
“ร้านอะไรนะ กองกระติก อะไรนะ ร้านกลมดิกเหรอ?..” พี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ตอบคำถามถึงทางไปร้าน ได้น่ารัก น่าชัง ในที่สุด ฉันก็มาเยือนร้านหนังสือร้านชื่อเรียกยากนี้จนได้!!
ผ่านกระจกเงา ตัวหนังสือกลิ่นภาษาฝรั่งเศส อยู่ในกรอบโค้ง Candide Books (ชื่อร้านนี้ กิตติพล สรัคคานนท์ เจ้าของร้านเดิมเป็นคนตั้ง) และข้างมือจับประตู มีตัวหนังสือสีขาวเรียบๆ “Read others,know yourseft.” นี่แหละอาณาจักรของหนอนกินหนังสือ (อีกตระกูลหนึ่ง)
มองทะลุกระจกใส นอกจากบรรยากาศร้านที่ตกแต่งด้วยเก้าอี้ทรงสวย ดูหวานนิ่งๆ สไตล์วินเทจแล้ว ที่ร้านยังมีมุมให้นั่งอ่านหนังสือสบายๆเหมือนอยู่บ้านตัวเองด้วย เปิดประตูเข้าไป ก็อาจจะได้พบกับ “พี่แป๊ด” (ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง ) พี่แป๊ด นอกจากจะเป็นเจ้าของร้านก็องดิด ก็ยังเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ “ระหว่างบรรทัด” อีกด้วย
ที่มาของร้านก็องดิด
“ ร้านก็องดิด ชื่อร้านมาจาก ตัวละครเอกในหนังสือ ชื่อ “ก็องดิด” ของ วอล์แตร์ เรื่องนี้ก็องดิด ตัวเอกของเรื่อง เป็นคนใสซื่อ เชื่อมั่นในมนุษย์ ชีวิตของเขาผ่านความยากลำบากนานาชนิด เคยผ่านสงคราม การล้มตายของผู้คน แต่เขาก็ยึดมั่นในการทำงานของเขา”
ความเป็นมาของร้านมาจาก เพื่อน 2-3 คน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคนทำหนังสือเริ่มต้นกันช่วยคิด แรงบันดาลใจมาจากวิชาชีพนี่แหละค่ะ เพราะทำงานสายหนังสือมาตลอด นับตั้งแต่เป็นกองบรรณาธิการ เป็นบรรณาธิการ จนกระทั่งมีสำนักพิมพ์ของตัวเองชื่อ “ระหว่างบรรทัด” พี่ค้นพบว่าเราทำงานในสายหนังสือมาเกือบครบหมดแล้ว เหลือการทำร้านหนังสือนี่แหละที่ยังไม่ได้ทำ ก็เลยคิดว่าต้องทำร้านหนังสือแล้ว
มันเป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งที่เราต้องต่อ ไม่งั้นภาพเกี่ยวกับทำงานหนังสือมันจะไม่ครบ พี่ว่า ”ร้านหนังสือ” ก็เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของวงการหนังสือ”
บรรยากาศร้าน
การตกแต่ง เป็นแบบคาเฟ่ ด้วย คือเราไม่ได้อยากให้ร้านของเราเป็นร้านหนังสืออย่างเดียว แต่อยากให้คนมานั่งพูดคุยเกี่ยวกับวรรณกรรม หรือเอางานมานั่งทำที่ร้านก็ได้ บรรยากาศของร้านจึงแบ่งเป็นสองส่วน คือคาเฟ่ และร้านหนังสือ เรามีเครืองดื่ม กาแฟ และไวน์ เป็นจุดเน้น
“ ร้านเราน่าจะเป็นร้านหนังสือร้านเดียวที่มีไวน์ขาย ซึ่งเราขออนุญาตขายสุราจากกรมสรรพสามิตแล้ว…การดื่มแต่เพียงไม่มาก ทำให้การสนทนามีรสชาติขึ้น เราเชื่อแบบนั้น ไม่เชื่อไปลองอ่านหนังสือ ซิมโพเซียม ปรัชญาวิวาทะว่าด้วยความรัก ของเพลโต ดู คนกรีกในยุคนั้น เวลาเค้าจะถกปรัชญากัน พวกเค้าก็ร่วมกันดื่มไวน์ด้วย”
แนวหนังสือในร้าน
ร้านก็องดิด เป็นร้านหนังสือเล็กมากน่ะค่ะ หนังสือที่วางในร้านก็ไม่เหมือนร้านหนังสือใหญ่ๆ ที่มีหนังสือขายดีอย่าง”สแกนกรรม” หรือระลึกชาติอะไรเทือกนั้น แต่เราอยากให้มีร้านหนังสือเล็กๆ แบบทางเลือก เกิดขึ้นอีก จะได้มีเป็นทางเลือกให้คนอ่าน
“ มีนักเขียน ที่เป็นนักอ่านมาที่ร้านเราหลายคนค่ะ พี่คิดว่า เขาอยากช่วยให้ร้านเล็กๆ อย่างเราอยู่ได้ พี่เสกสรรค์ ประเสิรฐกุล ก็มาช่วยซื้อหนังสือไปหลายเล่ม พี่อรสม สุทธิสาคร พี่สุธาทิพย์ โมราราย คนหลังนี่พาเพื่อนมาที่ร้านตลอด ,พี่ขจรฤทธิ์ รักษา ,ปราบดา หยุ่น ,นิ้วกลม ฯลฯ บางคนมาจากต่างจังหวัด เพื่อมาตามหาร้านเรา บางคนมาถึงแล้วร้านปิด คือเขาอาจมาวันจันทร์ซึ่งเป็นวันหยุดของร้าน หรือมาหลังสองทุ่มน่ะค่ะ”
แต่ที่ประทับใจมากก็คือ นักอ่านรุ่นเยาว์ขาประจำร้าน เป็นน้องนักเรียนมัธยม มาทีไรก็ซื้อหนังสือหลักพัน หรือใกล้เคียง มาเดินเลือกหนังสือเงียบ ๆ ไม่พูดไม่จา อ่านหนังสือหนักๆ วรรณกรรมแปล อย่างของ ริว มูราคามิ มิลาน คุนเดอร่า ล่าสุด เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว น้องเขาเพิ่งสอบไฟนอลเสร็จ มาที่ร้านทั้งชุดนักเรียน มาซื้อ “My name is red” หนังสือของนักเขียนรางวัลโนเบลไป พี่ว่าน้องเขาต้องเติบโตไปเป็นนักอ่าน หรือไม่ก็นักเขียนแน่ๆ ร้านก็องดิดดีใจมากที่มีลูกค้ารุ่นเยาว์ที่มีคุณภาพแบบนี้
ความสุขของเจ้าของร้าน
“พี่ว่าคนทำร้านหนังสือแค่ได้เดิน หยิบจับหนังสือในร้านตัวเองก็มีความสุขแล้วค่ะ ความสุขขั้นต่อมาคือการได้คุยกับคนที่ชอบอ่านหนังสือ ร้านก็องดิดมีจุดเด่นของร้านอยู่คือ การเสวนาเกี่ยวกับหนังสือ อย่างเดือนมีนาคมนี้ วันที่ 10 มีนา เรามีการคุยเกี่ยวกับหนังสือ “เหตุที่เกิด” หนังสือใหม่ของสำนัพิมพ์พันหนึ่งราตรี
เป็นวรรณกรรมแปลจากภาษารัสเซีย และวันที่ 12 มีนา เรามีการจัดเสวนา เกี่ยวกับวรรณกรรมแปลของ “มิลาน คุนเดอร่า” “เราจะจัดให้มีการคุยเกี่ยวกับวรรณกรรมที่ร้านก็องดิด เดือนละ 2 ครั้ง แถมบางเดือนเรามีดนตรีสด อย่างดนตรีแจ๊ลมาเล่นที่ร้านด้วยค่ะ คนเล่นดนตรีเห็นร้านเราเป็นร้านเล็กๆ บรรยากาศเป็นกันเอง เลยชวนๆ กันมาเล่นดนตรี คุณกอล์ฟ วงทีโบน เคยส่งแมสเซจมาใน facebook ว่าอยากมาเล่นที่ร้าน โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งคนฟัง คนเล่น คนอ่าน เจ้าของร้าน มีความสุขกัน พี่ว่า …นี่กระมัง คือความสุขของคนทำร้านหนังสือเล็กๆ แบบเรา” ประโยคที่เป็นเสมือนคีย์สำคัญของหนังสืออยู่ในประโยคสุดท้ายของหนังสือคือ “ที่ท่านกล่าวมานั้นดีแท้ แต่เราก็จะทำสวนของเราต่อไป “
ก็องดิด ในแง่หนึ่งหมายถึงคนมองโลกในแง่ดีเกินเหตุด้วย แต่คำประกาศสุดท้ายในหนังสือเป็นเหมือนคำประกาศของร้านด้วย คือ“ไม่ว่าชีวิตจะยากลำบากเพียงไหน เราก็จะทำงานของเราต่อไป”
ร้านก็องดิด: 207 ถนนตะนาว แขวงวัดบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพ 1O120 (อยุ่ก่อนถึงศาลเจ้าพ่อเสือ ) โทรศัพท์ 02-622-2862
*Candide ในยุคศตวรรษที่ ๑๘ ใช้กันในความหมายว่าเป็นคนซื่อ ๆ เชื่อง่าย และติดจะทึ่ม---จากหนังสือก็องดิด
โดย... พิม กิติศัพย์