“แม่เกลียดผม” คำๆ นี้ผมคิดเสมอตลอดมา ผมเกิดมาไม่ตรงกับเพศที่แม่อยากให้เป็น ผมเกิดมาเป็นลูกชายคนเดียวของผู้เป็นแม่ที่มีเชื้อสายจีน ตั้งแต่จำความได้ผมไม่เคยกอดแม่, ไม่เคยได้รับความรักเหมือนเด็กคนอื่นๆ ทำให้แม่ไม่เข้าใจตัวผมมากกว่าใครๆ ตอนนี้ผมกำลังศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ศึกษาวิชาการผดุงครรภ์ ได้พบกับแม่ที่หลากหลาย ได้รับความรู้มามากมาย ความรู้เกี่ยวกับ “กว่าจะเป็นแม่” และวันหนึ่งผมก็มีโอกาสได้อ่านเรื่องพฤกษามาตา เป็นชื่อเรื่องที่แปลกดี เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร น่าสนใจดี เลยลองยืมเรื่องนี้มาอ่านทั้งๆที่ไม่รู้มาก่อนว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับแม่
พฤกษามาตา มาจากสองคำจากคำว่าพฤกษา ซึ่งแปลว่าต้นไม้ และมาตาซึ่งมีความหมายว่ามารดา หนังสือเล่มนี้ได้รับการถ่ายทอดเรื่องราวของการดูแลหญิงมีครรภ์ ครอบครัวหญิงมีครรภ์มากมายโดยสูตินรีแพทย์ .ชัญวลี ศรีสุขโข ซึ่งท่านทำงานด้านนี้มามากกว่า 20 ปี ท่านได้นำประสบการณ์ที่ได้รับ ความประทับใจมาผนวกกับความรู้ด้านต้นไม้ โดยเชื่อว่าต้นไม้ก็เป็นผู้ให้ แม่ก็เป็นผู้ให้ แต่ก็มีต้นไม้ที่ไม่สามารถเติบโต เปราะบาง ก็เปรียบเสมือนแม่ผู้ที่ยังไม่พร้อมเป็นแม่หรือยังขาดความเป็นแม่เปรียบเปรยแม่กับต้นไม้ได้อย่างชัดเจน ได้ใช้ชื่อต้นไม้แทนชื่อของแม่
ผู้แต่งมีความรู้จากต้นไม้ในตอนเด็ก สนใจศึกษาด้านนี้ มีความสามารถสังเกตุ ลักษณะเฉพาะและได้ใช้หลักอุปมาแม่แต่ละท่านเป็นต้นไม้ ทำให้เรามีความเข้าใจชัดเจนขึ้น และยังทำให้วรรณกรรมนี้มีความสวยงาม เช่น ต้นไผ่เมื่อแตกกอตัวเองก็จะตายไปแต่ต้นไผ่ก็ไม่เคยปฏิเสธการแพร่พันธุ์ พร้อมตายเพื่อให้ชีวิตที่เกิดมาดังแม่ผู้ให้ แม่ต้นไผ่
ผู้แต่งเป็นสูตินรีแพทย์ ที่มีจรรยาบรรณของวิชาชีพ คือจะไม่เปิดเผยความจริงของผู้ป่วยข้อมูลที่จะทำให้รู้ว่ามาตราคนนั้นคือใคร ซึ่งจะถ่ายทอดเฉพาะประสบการณ์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังมีความรู้เกี่ยวกับสูตนารีวิทยา เช่น เด็กทารกคลอดก่อนกำหนดหากได้รับนมมารดา จะแข็งแรงขึ้น
ผู้หญิงที่ติดเชื้อหูดหงอนไก่ สามารถติดต่อทางเพศสัมพันธ์เท่านั้น เมื่อสตรีมีน้ำคล่ำไหลทางช่องคลอด ให้รับเตรียมการคลอด การพิสูจน์ความบริสุทธิ์ก็มีการตรวจเยื้อพรหมจารี แต่ถ้ามันขาดก็ไม่สามารถสรุปได้ว่ามีเพศสัมพันธ์ การทำรีแพร์คืออะไร ทำไมผู้หญิงต้องทำโดยยกสาเหตุหลักโดยสถานการณ์จริง การตรวจทางทวารหนักแล้วพบ re ctal shelf บกบอกว่าผู้ป่วยเป็นอะไร กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม เป็นต้น นอกจากนี้ผู้แต่งใช้คำศัพท์ทางการแพทย์ง่ายๆที่เราสามารถเข้าใจ เช่น ไอซียู ตรวจทางทวารหนัก ตรวจทางช่องคลอด หากเป็นคำศัพท์ยากก็จะมีคำอธิบายเช่น CPR, Repair หมายถึงอะไร ซึ่งเป็นคำศัพท์เฉพาะกับบุคลากรทางแพทย์เท่านั้น ทำให้ผู้อ่านสามารถอ่านได้ทุกวัย
ความรู้สึกหลักอ่านพฤกษามาตาครั้งแรกก็รู้สึกทั้งเศร้า, ปลิ่มปิติ, มีหลายรสชาติ ผู้แต่งไม่ได้เสนอแต่ด้านดีของแม่ไม่ยึดติดทัศนคติส่วนตัว เล่าตามความเป็นจริงของท้องเรื่อง แสดงความจริงใจหรือตั้งใจจริงที่จะให้บทเรียนแก่ผู้อ่าน
ผู้แต่งมีผู้ป่วยมากมายที่พบเจอ แต่สามารถจำเรื่องราวและความหลังของผู้ป่วยคนนั้นๆมาเล่าได้ มีประโยคสนทนาทำให้เราพอจะเข้าใจเหตุผลความรู้สึกของแม่แต่ละคน ตลอดจนมีการอธิบายความรู้สึกสีหน้าท่าทางตัวละครนั้นๆจนเห็นภาพเหมือนอยู่ในเหตุการณ์ สามารถเล่าตามลำดับเหตุการณ์อย่างไม่สับสน
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลสนับสนุนการเขียนให้หน้าเชื่อถือ เช่น อายุแม่, อายุครรภ์, สิ่งที่ตรวจพบ, เป็นต้น นอกจากนี้ผู้แต่งมีความเป็นแพทย์ที่ดี ผู้แต่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างชัดเจน เช่น หาทางติดต่อมารดาของผู้ป่วยเพื่อให้ยืนยันทำการผ่าตัด ติดตามข้อมูลผู้ป่วยย้อนหลัง หรือหาข้อมูลจากคนที่รู้จัก เป็นต้น เรื่องบางเรื่องที่มารดามีภาวะแทรกซ้อนแล้วยอมตั้งครรภ์ต่อบางรายก็สามารถมีชีวิตต่อทั้งแม่และลูก บางเรื่องก็ไม่สามารถมีชีวิตต่อ แสดงถึงความเป็นกลางในการให้การตัดสินใจของแม่ตั้งครรภ์หากเป็นผู้อ่าน ไม่ใช่หากตั้งครรภ์ต่อจะมีชีวิตรอด เพียงอย่างเดียว ส่วนเรื่องการเปรียบเปรยบางครั้งผู้แต่งไม่มีความชัดเจนอย่างเช่น แม่กตัญญู แม่ลำดวน ผู้แต่งกล่าวว่าต้นลำดวนปลูกบ้านใดบ้านนั้นจะมีความสดชื่น ร่มเย็น มีกลิ่นสงบผ่อนคลาย ซึ่งยังอุปมาไม่ชัดเจนและยังไม่เข้าใจว่าเกี่ยวกับกตัญญูอย่างไร ความเด่นชัดที่ต้นลำดวนกับความกตัญญู
หนังสือเรื่องนี้ประกอบด้วยแม่หลายประเภท แม่ผู้ให้ผู้แต่งก็จะพรรณนาจนรู้สึกได้ถึงความรักที่มอบให้และควรที่จะเชิดชู เช่นพุทรา เธอเป็นผู้หญิงที่เพียบพร้อม แต่เธอยังไม่เคยมีลูกเธอตั้งครรภ์ด้วยอายุ 46 ปี ผู้แต่งได้ให้คำแนะนำตรวจความผิดปกติของกลุ่มดาวน์ซินโดรม พบว่าลูกเธอเป็นดาวน์ซินโดมแต่เธอยอมรับ แม้ 7 เดือนต่อมาจะพบครรภ์เป็นพิษซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ แต่เธอยืนยันจะท้องต่อไม่ว่าลูกจะเป็นเช่นไร ผู้แต่งได้กล่าวว่า แม่พุทราเป็นแม่ผู้รักลูกโดยปราศจากเงื่อนไข
นอกจากนี้ยังมีต้นไผ่ผู้ซึ่งยินดียอมตายเพื่อให้ลูกตนมีชีวิตต่อไป แม่ผู้ให้แม่ต้นไผ่ แม่พะยอม แม้รู้ว่าตนท้องก็ไม่ว่ากล่าว เข้าใจ ยินดียอมรับคนที่ลูกตนรักแม้คนอื่นว่ากล่าวเพียงใด อุทิศความสุขตนให้กับลูก ดังแม่ผู้อุทิศ แม่พะยอม แม่ผู้ที่การศึกษาไม่สูงมาก แต่สามารถทำให้ลูกมีอาชีพงานการที่ดี
แม่ในนิยายอาจเป็นคนรักลูก ทำทุกอย่างให้ลูก เป็นแม่ที่ใจดี สามารถสั่งสอนให้ลูกเป็นคนดี แต่มันก็ไม่เสมอไป บนโลกนี้ยังมีแม่อีกหลายประเภท ผู้แต่งได้เปรียบแม่ที่ยังมีเงื่อนไข ยังขาดความเป็นแม่ หรือตกอยู่ในความชั่วเปรียบต้นไม้ที่ไม่สามารถเจริญเติบโต เปราะบางและสามารถเกิดอันตรายแก่ผู้อื่น อย่างเช่น กรดัน(กระถิน) ผู้ที่ซึ่งรักลูกมากแต่ไม่มีเวลาดูแลลูก จนลูกต้องเสียชีวิตไป
ลั่นทมเธอมีสามีใหม่ และสามีนั้นได้ข่มขืนลูกตน จนวันหนึ่งได้ฆ่าลูกแท้ๆของเธอ แม่ลั่นทม เพราะเธอเคยมีมรสุมชีวิตเพียงต้องการใครซักคนมาตามใจ แต่สุดท้ายผลนั้นกับเกิดกับลูกของตน
ดอกโศกผู้เป็นแม่ที่บังคับให้ลูกยอมถูกข่มขืนจากพ่อเลี้ยง เพียงเพราะเธอเป็น HIV และต้องการคนดูแลในครอบครัว
ต้นปาล์มแม่ผู้ซึ่งให้แฟนของลูกชายตนทำแท้งและไม่ยอมรักษารกค้าง เป็นผู้รักแต่ลูกของตนเอง เปรียบเสมือนต้นปาล์มที่มีกิ่งก้านสาขาแต่ไม่สามารถให้ร่มเงาผู้อื่น
แม่ชมพู่ต้องเสียชีวิตหลังได้รับภาวะแทรกซ้อนหลังคลอด แม่ผู้ซึ่งไม่ยอมตรวจสุขภาพจนไม่สามารถรักษาให้หายได้ เปรียบดังแม่ป่วย..
แม่นุ่น เมื่อรู้ว่าสามีตนมีภรรยาใหม่ก็ฆ่าตัวตายและและฆ่าลูกตนตาม เธอไม่ยอมหรือรักลูกตนมากกว่าที่จะยอมให้ลูกตนเผชิญกับชะตากรรมดังต้นนุ่น
หรือแม่ผู้เชื่อลูกตนเองเกินไป หรือแม่ที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ เรื่องเหล่านี้ผู้แต่งได้สะท้อนความจริงของสังคมปัจจุบัน ให้ผู้อ่านสามารถอ่านแล้วเอาเป็นบทเรียน โดยเฉพาะผู้เป็นแม่จะได้ไม่เกิดเรื่องแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นข้อคิดเล็กๆให้สะกิดใจแก่ผู้อ่าน
นอกจากนี้ผู้แต่งได้เขียนเรื่องราวของแม่ผู้แต่งเองโดยไม่ปิดบัง กล้าที่นำเรื่องครอบครัว ปัญหาครอบครัว เรื่องส่วนตัวมาเขียนตลอดจนได้เล่าความรู้สึกตนอย่างแท้จริงต่อแม่ ทำให้เราเข้าใจว่าบางครั้งเราอาจมีความคิดว่าแม่ไม่รักเรา เราไม่ได้รับความรักได้ทุกคน แต่ผู้แต่งกลับมาความรู้สึกเปลี่ยนไปแม่ได้เป็นแม่แท้ๆเอง ผู้แต่งคิดว่าภายใต้เงื่อนไขเงินทอง, การขาดความช่วยเหลือ, กำลังใจ ซึ่งถึงแม้แม่จะรักเพียงใด ผู้หญิงคนเดียว เงินเดือนชักหน้าไม่ถึงหลัง เลี้ยงลูก 3 คนจะทำอะไรได้ดีไปกว่านี้
ซึ่งจากที่ผู้แต่งได้เขียนว่าตนเป็นหมอมีลูก 3 คนมีคนช่วยเหลือ สัมผัสชีวิตกับแม่มากมาย ทำให้เธอสำนึกในความรักของแม่ ซึ่งผมคิดว่าทุกเรื่องที่ผู้แต่งเขียนมายังไม่ตรงกับแม่ของตนอย่างแน่ชัด แต่เข้าใจว่าผู้แต่งคงหมายถึงว่าแม่มีความรักต่อลูกทุกคน และชอบที่ผู้แต่งเปรียบเปรยแม่ตนเป็นแม่ดอกมะลิ สัญลักษณ์ของความเป็นแม่
การจะเป็นแม่นั้นผมเข้าใจว่าหากเราไม่ได้เป็นแม่จริงคงเข้าไม่ถึงความรู้สึกนั้นหรอก จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ผมรู้สึกเข้าใจแม่มากขึ้น รู้สึกว่าแม่รักผม รู้สึกว่าทุกคนที่เป็นแม่รักลูกของตน แต่ความรักของแม่นั้นอาจแสดงออกได้หลายทาง แต่ก็มีแม่บางคนซึ่งก็อาจไม่พร้อม มีเงื่อนไขต่างๆซึ่งทำให้เรากลับมาคิดว่าก่อนเราจะมีลูกซักคน เราต้องมีการวางแผน ต้องเกิดจากความรักที่แท้จริงของแม่และลูก แม่เป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดว่าลูกจะดำเนินไปในทิศทางใด “แม่เลี้ยงลูกยังไง ลูกก็เป็นฉันนั้น” ถึงตอนนี้ผมก็อยากจะบอกว่า “ผมรักแม่”
ภานุพงศ์ บุษกร