แม่โขง : มนต์ขลังลุ่ม “แม่โขง” กับวิถีแห่งศรัทธา

แม่โขง

      คุณรู้จัก “แม่โขง” ดีแค่ไหน บ้างอาจรู้จักในฐานะสมญาแม่น้ำนานาชาติ นามว่า “แม่น้ำโขง” บ้างอาจรู้จักไปถึงแหล่งกำเนิดที่มาจากเทือกเขาหิมาลัย ไหลรดคดเคี้ยวยาวไกลว่า 4,880 กิโลเมตร ผ่านจีน ลาว พม่า ไทย กัมพูชา และเวียดนาม บ้างรู้จักดีที่เป็นแม่น้ำสำคัญซึ่งกั้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศลาว บ้างอาจรู้ไปถึงวิถีชีวิตสองฟากฝั่งของสายน้ำ

 

     สำหรับข้าพเจ้าพึ่งได้รู้จัก “แม่โขง” ที่ต่างออกไปผ่านหนังสือปกดำสนิท สลักชื่อ “แม่โขง” ด้วยตัวนูนอย่างเด่นชัดเป็นตัวอักษรสีแดงขนาดใหญ่ มีเส้นสีเหลืองวาวขีดเน้น มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “MEKONG” กำกับในบรรทัดถัดมาด้วยตัวอักษรสีแดงเช่นเดียวกันหากแต่มีขนาดเล็กกว่า และรูปพญานาคสลักทาบทับบนสีดำสนิทของพื้นปก รูปนูนเสริมให้เห็นความน่าเกรงขามของพญานาคได้ชัดเจน ทั้งดวงตาวาวโรจน์สีแดงกล่ำ ฟันซี่ขาวแหลมคมคดเคี้ยวรอบปากกว้าง และเกร็ดแวววับประดับลำตัวเขียว รวมถึงข้อความชวนฉงนขนาดเล็กสีขาวสลักอยู่บนสุดด้วยตัวนูนเช่นกันว่า “จินตนิยายการผจญภัยเพื่อตามหาเมืองลับแลในลาว” เหล่านี้ปรากฏอยู่บนปกของหนังสือขนาดพอดีมือหากแต่หนาพอประมาณ ด้วยกระดาษเปื้อนหมึกปึกหนึ่ง จำนวน 439 หน้า สะท้อนเรื่องราวลำน้ำโขงในแง่มุมของความเร้นลับ มนต์ขลังแห่งสายน้ำ สอดแทรกคำสอนทางศาสนา แฝงปรัชญาแห่งชีวิต จากการผจญภัยอันน่าตื่นเต้น ระทึกใจ การตามหาสมบัติของกษัตริย์ลาวโบราณ การรักษาคุ้มครองสมบัติโดยพญานาค และการลงทัณฑ์คนผิดตามวิถีทางของสัตว์ชั้นสูงผู้เป็นสาวกแห่งศาสนา เรื่องราวที่ได้รับรู้นั้นแปลกใหม่และตรึงใจข้าพเจ้าจนถึงขณะนี้

 

     เมื่อแรกที่ได้เห็นชื่อผู้เขียน ข้าพเจ้ารู้สึกประหลาดใจ เพราะนามนั้นคือ PAUL ADIREX หากแต่มีชื่อกำกับอีกว่า (ปองพล อดิเรกสาร) แสดงให้เห็นว่าผู้เขียนเป็นคนไทย ข้าพเจ้าฉงนที่หนังสือแต่งโดยคนไทยกลับต้องแปลเป็นภาษาไทย เมื่อได้ศึกษาเพียงผิวเผินจึงได้รู้ว่า ผู้เขียนแต่งเรื่องเป็นภาษาอังกฤษ ด้วยจุดประสงค์ที่อย่างให้หนังสือเป็นที่รู้จักในระดับสากล และอยากบอกเล่าเรื่องราวของเมืองไทยให้ต่างชาติได้รับรู้ ความคาดหวังของผู้เขียนสัมฤทธิ์ผล เพราะ “แม่โขง” เคยตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษออกจำหน่ายในต่างประเทศอวดสายตาชาวโลกมาแล้วแท้จริงแล้วตัวผู้เขียน คือ คุณปองพล เป็นที่รู้จักดีในระดับหนึ่งแล้วในฐานะที่เป็นคนในแวดวงการเมือง ผู้เคยดำรงตำแหน่งสำคัญอย่าง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ แต่น้อยคนนักที่จะรู้จักท่านในฐานะนักคิดนักเขียนผู้มีชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ ท่านได้แต่งเรื่องเป็นภาษาอังกฤษและได้สร้างสรรค์ผลงานปรากฏสู่สายตาทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาบ้างแล้ว ดัง “แม่โขง” ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงพลังความคิดและทักษะการเขียนอันดีเยี่ยมของท่าน

 

      “แม่โขง” สอดแทรกประวัติศาสตร์ได้อย่างไม่น่าเบื่อ การเล่าเรื่องราวตั้งแต่อดีตสู่ปัจจุบันในแง่มุมของความเร้นลับ ทำให้ผู้อ่านลุ้นระทึกไปด้วย สิ่งที่ผู้อ่านได้ไม่ใช่เพียงความบันเทิงทางอารมณ์เท่านั้น หากแต่ได้สาระอย่างครบถ้วนเช่นกัน ผู้อ่านได้รู้ประวัติศาสตร์ชนชาติลาวนับแต่สมัยพระเจ้าฟ้างุ้ม ได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของอาณาจักรในช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่สามารถพิสูจน์ได้ แต่ผู้เขียนสร้างเรื่องราวให้สนุกโดยการเชื่อมโยงตำนานต่างๆให้เกี่ยวพันกับความลี้ลับของลำน้ำโขง

 

     “แม่โขง” สะท้อนธรรมชาติ วิถีชีวิตชนบท ผู้เขียนจับสิ่งละอันพันละน้อยที่อาจอยู่นอกสายตาคนทั่วไปมาสร้างเป็นฉากชนบทที่มีชีวิต และราวกับมีลมหายใจ คือ เสน่ห์ของความเป็นชาวบ้านอย่างแท้จริงที่ผู้เขียนไม่ได้ละเลย หากแต่ตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อถ่ายทอดให้คนทั่วไปได้รับรู้ กระทั่งชาวต่างชาติที่ได้อ่านฉบับภาษาอังกฤษ แม้ใช้ภาษาที่เรียบง่ายหากแต่สะท้อนวิถีชีวิตได้เด่นชัด ดังข้อความที่ได้ยกมานี้

 

       รถสเตชั่นแวกอนผ่านนาข้าวสองข้างทางและหมู่บ้านเล็กๆที่ดูงดงาม คนขับรถต้องหยุดรถหลายครั้งเพื่อให้ฝูงควายที่มีเด็กชายไล่ต้อนข้ามถนนไป ฤดูแล้งกำลังจะผ่านพ้น และฤดูฝนกำลังจะย่างเข้ามา ชาวนาเริ่มเตรียมการไถนาเพื่อปลูกข้าวตามฤดูกาล

 

      “แม่โขง” แฝงธรรมะ ชักจูงใจให้เห็นคุณค่าของการทำดี บนแนวคิดว่า “”ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ดังเห็นได้จาก ตัวละครแต่ละตัวได้รับผลจากการกระทำแตกต่างกันไป และ “ทำดีมีสุข” เห็นได้ชัดจาก ชาวภูริที่ยึดมั่นในความดีและพวกเขามีความสุขเป็นอย่างยิ่ง ผู้เขียนกล่าวถึงการทำความดีซึ่งใครก็ทำได้ โดยไม่แบ่งแยกศาสนาและขัดหลักคำสอนใดแม้ตัวละครหลักในเรื่องจะนับถือศาสนาคริสต์ แต่พวกเขาก็ยอมรับและยึดมั่นในการทำดี จึงได้ผลดีอย่างที่ควร ดังคำกล่าวของพระวาสุกรีที่ว่า
 

      “ทุกๆศาสนาล้วนแต่มีหลักการเดียวกัน นั่นคือให้คนทุกคนประพฤติตัวเป็นคนดีเพื่อประโยชน์ของตัวเองและสังคมรอบตัวเขา”


      “แม่โขง” คือ สัจธรรมของชีวิตอย่างแท้จริง ตัวละครพุชง มีจุดจบที่ทำให้เราตระหนักถึงกฎแห่งกรรม แม้กาลเวลาจะผ่านเลยไปกี่ยุคกี่สมัย “กงเกวียนกำเกวียน” คำกล่าวนี้ยังใช้ได้เสมอ กรรมอยู่กับเราทุกขณะจิต ย่อมมีวันถึงคราวที่เราต้องชดใช้กรรม แต่จะเป็นกรรมดีกรรมชั่วนั้น ให้ท่านเลือกสร้างกันเองเถิด สัจธรรมอีกประการหนึ่งที่ได้เรียนรู้ คือ “ความสุขคือความพอ” เมื่อไม่มีความอยาก ไม่มีความต้องการ ก็ไม่เกิดกิเลส บุคคลสิ้นกิเลสแล้วไซร้ใจก็สุข เหมือนดังที่ชาวภูริปฏิบัติตามหลักเบญจศีลอย่างเคร่งครัดแล้วไม่มีความต้องการอื่นใดอีก พวกเขาสุขแล้ว ดังคำกล่าวของแสน ที่ว่า

      “เรายินดีที่จะรักษาความสงบความสุขของเราไว้มากกว่าจะครอบครองสมบัติซึ่งรังแต่จะนำเอาความวุ่นวายเดือดร้อนและความเสียหายไปให้”

 

      ผู้เขียนยังกล่าวถึงพญานาค ในฐานะสัตว์ชั้นสูงผู้เป็นสาวกแห่งศาสนา คอยปกปักรักษาลำน้ำโขง และลงทัณฑ์ผู้กระทำผิด พญานาคในเรื่องยังมีหน้าที่เฝ้ารักษาสมบัติโบราณของกษัตริย์ลาว ไม่ให้ใครเข้าครอบครองโดยมิชอบ ผู้เขียนยังสร้างให้ตัวละครเอกของเรื่องเกี่ยวพันกับพญานาคโดยเชื่อมโยงกับความเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิด ตัวละครเอกเคยเป็นน้องของพญานาคผู้ปกปักรักษาสมบัติแต่ชาติก่อน ซึ่งสนับสนุนอุปนิสัยของตัวละครที่มีความชื่นชอบงูเป็นพิเศษด้วย ในความเป็นจริงแล้ว พญานาคยังคงโลดแล่นอยู่ในลำน้ำโขงจนปัจจุบันนี้ ฝังลึกในความเชื่อความศรัทธาของประชาชนสองฝั่งลำน้ำทั้งไทยและลาว

 

     ที่กล่าวมาข้างต้น คือ แนวคิดหลักอันเป็นตัวดำเนินเรื่องราวให้เป็นไป อาจกล่าวได้ว่า “แม่โขง” คือ เรื่องของ “ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ธรรมะ และสัจธรรม ซึ่งเกี่ยวพันกับลำน้ำโขงและพญานาค” หากแต่ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากที่สรรค์สร้างให้เรื่องราวนี้สมบูรณ์

 

      ปมหลักของเรื่องที่ผู้เขียนสร้าง คือ “การตามหา” ตัวละครแต่ละตัวต่างมีจุดมุ่งหมายแตกต่างกัน แม้ในท้ายที่สุดตัวละครทุกตัวได้มาประสบกันเพราะกรรมเก่าก็ตามเดฟ ชอน ตามฝันของตนเพื่อพิสูจน์บางอย่าง จอห์น ดราโก ตามหาทหารอเมริกันที่หายไปในช่วงสงครามเวียดนามเพื่อให้บรรลุภารกิจ คิมเบเกอร์ตามหาชนเผ่าภูริที่สาบสูญเพื่องานวิจัย พุชง ตามหาสมบัติกษัตริย์ลาวโบราณเพื่อความสุขสำราญของตน การตามหาของกลุ่มเดฟ และกลุ่มพุชงดำเนินไปพร้อมกันบนสถานการณ์ที่แตกต่าง สร้างความตื่นเต้น ระทึกใจให้ผู้อ่านทุกขณะ ต่อเมื่อคณะตามหาทั้งสองกลุ่มมาบรรจบกัน ผู้เขียนยังสร้างให้ผู้อ่านได้ลุ้นระทึกกับทั้งสองกลุ่มที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกันหากแต่มีแนวคิดที่แตกต่าง ท้ายที่สุดแล้ว ทุกชีวิตล้วนมีจุดจบตามผลการกระทำของตน

 

     ข้อสำคัญอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจของผู้เขียน คือ การใช้คำว่า “ประเทศลาว” และ “ปะเทดลาว” ผู้เขียนใช้คำว่า ประเทศลาว ในลักษณะที่คนนอกกล่าวถึงประเทศนั้น แต่ใช้คำว่า ปะเทดลาว เมื่อตัวละคนที่เป็นคนลาวกล่าวถึงตนเอง แสดงถึงความเคารพและยอมรับความเป็นลาว ที่มีภาษาอันเป็นความภาคภูมิใจของพวกเขา

 

      ทั้งพลังคิดและทักษะการเขียนอันดีเยี่ยม สร้างให้ “แม่โขง” เป็นหนังสือทรงคุณค่าเล่มหนึ่ง การันตีได้จากการตีพิมพ์ในต่างประเทศและในไทย รวมทั้งได้รับการตีพิมพ์อยู่หลายครั้ง อย่างหนังสือในมือของข้าพเจ้านี้ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 14 แต่หากจะยกความดีความชอบจาก “แม่โขง” ให้แก่ผู้เขียนคนเดียวคงไม่ยุติธรรมนัก เพราะ ผู้แปลก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน “วิภาดา กิตติโกวิท” แปล “แม่โขง” ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ไหลลื่น หากแต่ยังมีความงามของภาษาปรากฏอยู่ไม่ขาด หากเปรียบเสมือนผู้เขียน คือ ผู้รังสรรค์วัตถุดิบชั้นดี ผู้แปลก็คือ คนปรุงรสทิพย์ให้กลมกล่อม ให้ผู้อ่านได้ลิมลองของอร่อยเปี่ยมคุณภาพ
 

      แม้ใจความหลักของเรื่องจะกล่าวถึง “ประเทศลาว” เสมือนเป็นพระเอก แต่ผู้เขียนยังให้ความสำคัญกับ “ประเทศไทย” ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เสมือนเป็นพระรอง ผู้ช่วยแสนดีของพระเอก เป็นคู่หูมหากาฬ ไม่มีใครใหญ่ใครเล็กไปกว่ากัน แท้จริงแล้ว ไทย-ลาวมีบรรพบุรุษร่วมกัน เปรียบได้กับพี่น้องร่วมท้องกันเลยที่เดียว สองชาติก็เหมือนบ้านสองหลัง ขนาดและรูปร่างเหมือนกัน แตกต่างเพียงการตกแต่งภายใน หรือก็คือ ไทย-ลาวรากเหง้าเดียวกัน หากแต่วัฒนธรรมประเพณีที่ต่างสืบทอดนั้นพาให้แตกต่าง


      “แม่โขง” ที่แท้จริงยังทอดร่างกั้นดินแดนไทย-ลาวนับแต่โบราณกาลจนถึงขณะนี้ แต่ปัจจุบันเรามีสะพานมิตรภาพเชื่อมน้ำจิตน้ำใจให้หลั่งไหลถึงกันได้ตลอด แม้ข้าพเจ้าจะอ่านบรรทัดสุดท้ายของ “แม่โขง” จบไปนานแล้ว แต่ชีวิตสองฟากฝั่งของ “แม่โขง” ที่แท้จริงยังคงดำเนินไปอีกนาน ตราบเท่าที่แม่น้ำโขงยังไหลหลั่งหล่อเลี้ยงชีวิตและจิตวิญญาณของผู้คนตลอดลำน้ำ เมื่อนึกถึงสายสัมพันธ์ตามลำน้ำโขงกับสมญาแม่น้ำนานาชาติ ทำให้ข้าพเจ้าฉุกคิดถึงบทเพลงสรุชัยสามช่า ของวงคาราบาวขึ้นมา ราวกับมีดนตรีจังหวะสามช่าสนุกสนานลอยเข้าสู่โสตประสาท ราวกับตาของข้าพเจ้าเห็นถึงความรื่นเริงครื้นเครงอันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจากมิตรรักลำน้ำโขง ความว่า

“น้ำโขงไม่เคยขวางกั้น น้ำจันท์ไม่คดโกงใคร

น้ำใจสามัคคีเมื่อไหร่   ยกจอกย้อมใจสัมพันธไมตรี”

 

 

อังคณา แก้ววรสูตร (อิ๋ว)

 

ช่องทางการสั่งซื้อหนังสือ

Website: bookonline.praphansarn.com

FB: m.me/praphansarn

LINE: @praphansarn คลิกลิงค์ http://line.me/ti/p/%40krx7353s

Shopee: shopee.co.th/praphansarn

Lazada: lazada.co.th/shop/Praphansarn.com

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ