อัญชัน : คุยนอกรอบกับอัญชัน

อัญชัน

นักเขียนเรื่องสั้นซีไรท์ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด ฝ่ายชายคงต้องยกให้ วาณิช จรุงกิจอนันต์ และ วินทร์ เลียววาริณ แต่ถ้าเป็นฝ่ายหญิง คงจะไม่มีใครเผ็ดร้อนเท่า อัญชัน เจ้าของหนังสือรวมเรื่องสั้น อัญมณีแห่งชีวิต ที่ได้รับรางวัลนี้ในปี 2533 "อัญชัน เป็นคนล้มเหลวในเรื่องการใช้ภาษาทุกกรณี ทำให้วรรณศิลป์ล้มเหลว" หนึ่งในถ้อยคำวิพากษ์จากนักเขียนซีไรท์ฝีปากกล้า วาณิช จรุงกิจอนันต์

แต่ถึงกระนั้นอัญชันก็ยังมีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง และทุกเรื่องล้วนผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรท์ทั้งสิ้น! รวมบทกวีลายสือ ในปี 2538 (เล่มที่ได้รางวัลคือ ม้าก้านกล้วย ของไพวรินทร์ ขาวงาม) รวมเรื่องสั้น ผู้แลเห็นลม และ มือที่มองไม่เห็น ในปี 2539 และ 2542 ตามลำดับ ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้ชื่อของอัญชันเป็นที่จับตามองในเวทีนี้ทุกครั้งที่มีผลงานของเธอส่งเข้าประกวด และปีนี้เธอกำลังจะมีผลงานรวมเรื่องสั้นเล่มใหม่ อ่านโลกกว้าง ออกมา ซึ่งตรงกับรางวัลซีไรท์เวียนมาถึงประเภทเรื่องสั้นพอดิบพอดี!

เมื่อต้นปี คุณอัญชันเดินทางกลับมาเมืองไทย เราเลยรีบรุดไปคุยกับเธอมา และนี่คือเรื่องราวจากการบอกเล่าของเธอ

จำได้ว่าพี่กลับมาเมืองไทยครั้งล่าสุดปี 2532 แล้วกลับมาอีกทีปีนี้ กว่า 10 ปีแล้วที่ไม่ได้มาเมืองไทย เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรในบ้านเมืองเราบ้างคะ
ในแนวตั้ง ถ้าเอาสายตามองสูงขึ้นไป มีความเปลี่ยนแปลงอย่างคาดไม่ถึงในกรุงเทพฯ ได้มีโอกาสนั่งรถไฟฟ้า ตั้งแต่สถานีต้นทางจนสุดปลายทาง เมื่อผ่านถึงย่านสีลม ก็ได้แต่แหงนจนคอตั้งบ่า มองดูตึกระฟ้าสูงลิบที่เกิดขึ้นมากมายนับไม่ถ้วน มองเอา ๆ จนทำให้คนโดยสารอื่น ๆ พากันสงสัยว่ายายคนนี้คงเพิ่งจะออกมาจากคุก เพราะดูตื่น ๆ เหมือนไม่เคยพบเคยเห็น แต่เมื่อมองในแนวนอนระดับสายตา ก็พบว่าตามตรอกซอกซอยข้างล่างอาคารสูงเสียดฟ้าเหล่านั้น ยังมีสภาพและบรรยากาศที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปสักเท่าไหร่จากสมัยที่ยังเคยอยู่ที่เมืองไทยเมื่อ 25 ปีมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ขนมของกินริมถนน วัดวาอาราม ป้ายขายของ ฯลฯ ที่เป็นสิ่งภายนอก รวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ ความคิดจิตใจ และรสนิยมที่เป็นเรื่องภายใน คงจะพูดได้ว่าอุปกรณ์สากลอันทันสมัยที่แสดงถึงความเจริญของบ้านเมือง รวมทั้งสื่อต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ เป็นแค่สิ่งที่นำมารับใช้หรือรองรับความรู้สึกนึกคิดและสำนึกแบบไทย ๆ

กลับมาบ้านครั้งนี้ทำให้มองเห็นได้ทันทีว่า คนไทยเรามีความยืดหยุ่นและปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้เสมอ เอกลักษณ์ของคนไทยที่คิดว่าหายากในชาติอื่นก็คือ การมองโลกด้วยอารมณ์ขันได้ในทุกสถานการณ์ เพลง "บินลาเด๊อ บินลาดิน" ที่เปิดลั่นอยู่ทั่วสี่มุมเมืองระหว่างที่พี่อยู่คงจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดง "ความเป็นไทย ๆ" ได้ชัดเจนที่สุดในกรณีนี้ พี่ได้ฟังครั้งแรกยังอดหัวเราะออกมาไม่ได้ จุดยืนของเราไม่ได้ยึดอยู่ที่ฝ่ายไหนให้เครียดไปเปล่า ๆ แต่สิ่งที่เรายึดอย่างเหนียวแน่น คือความสนุกสนานที่ดึงออกมาได้จากทุก ๆ เรื่อง

ทุกชาติทุกภาษาย่อมมีด้านดีและด้านเสีย อยู่ที่ว่าเราคุ้นเคยและชินกับข้อเสียจนมองข้ามไปได้หรือเปล่า โดยรวมแล้วรู้สึกอบอุ่น และมีความสุขกับการกลับมาเยี่ยมบ้านหนนี้มากค่ะ

หลังจาก "ลายสือ" แล้ว ไม่เห็นผลงานประเภทร้อยกรองของพี่อีกเลย จะมีโอกาสได้อ่านอีกไหมคะ
พี่พบว่า เอาเข้าจริง ๆ ตัวเองคงจะไม่ได้มีความเป็น "กวี" อยู่ในตัวสักกี่มากน้อย นอกจากเขียนเพราะความสนุกที่ยิ่งขุดค้นคำในภาษาไทยลึกลงไปเท่าไหร่ พี่ก็ยิ่งพบด้วยความตื่นเต้นว่า ภาษาไทยเป็น "ขุมคำ" ที่มีคำให้ใช้นับประมาณไม่ได้จริง ๆ ก็เลยสนุกกับการทำตัวเป็นนักขุดคำไปพักหนึ่ง แล้วถึงว่าจริง ๆ แล้วตัวเองต้องการเขียนหนังสือ เพราะอยากถ่ายทอดความคิดและความเชื่อบางอย่างของตนเองที่อาจมีผู้เห็นคล้อยตามไปด้วยไม่มากนัก และจำเป็นต้องหาเหตุผลต่าง ๆ นานามาประกอบเป็นน้ำหนัก ร้อยแก้วในรูปเรื่องสั้นคงจะสะดวกเหมาะที่จะสื่อความคิดไปสู่ผู้อ่านมากกว่าการเขียนอยู่ในรูปของบทกวีในกรณีของพี่

เคยคิดจะเขียนนวนิยายเรื่องยาวบ้างไหมคะ
พี่เคยเขียนร่างเรื่องยาวเก็บเอาไว้เรื่องหนึ่งเมื่อประมาณ 4-5 ปีมาแล้ว เป็นเรื่องในแนวแฟนตาซี แต่คงต้องใช้เวลาขัดเกลาและเรียบเรียงรายละเอียดอีกมาก ปัญหาที่ผ่าน ๆ มาก็คือ ไม่เคยมีเวลาต่อเนื่องเพียงพอ นอกจากรอที่จะหยิบออกมาปัดฝุ่นเขียนต่อไปในกาลข้างหน้านั่นแล้ว

ทราบมาว่ากำลังมีงานรวมเรื่องสั้นเล่มใหม่ออกมาในเร็ว ๆ นี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรคะ
รวมเรื่องสั้นเล่มใหม่ของพี่คือชุด "อ่านโลกกว้าง" นี้ คงจะมีเนื้อหาตามแบบฉบับที่พี่ชอบและถนัด คือแบบมองซ้ายทีมองขวาที จนเจาะได้ความคิดเอามาให้เขียน แล้วก็อยากจะมองหาเพื่อนนักอ่านที่มองเห็นตรงกัน หรือขัดแย้งกันก็ยิ่งดี ต่อประเด็นความคิดที่พี่ว่าของพี่ไปคนเดียวว่าคงจะถูกต้อง ทำใจมานานแล้วค่ะว่าเรื่องถูกใจตลาดคงจะยาก แค่มีคนอ่านคอเดียวกับคนเขียนบ้างก็พอใจแล้วค่ะ

เป็นความตั้งใจหรือเปล่าคะที่จะให้หนังสือออกมาในปีนี้ ซึ่งเป็นปีซีไรท์ประเภทเรื่องสั้น
รวมเรื่องสั้นเล่มก่อน ๆ เป็นความตั้งใจของพี่ที่จะส่งประกวดรางวัลนี้นะคะ (ผิดกฎหมายและศีลธรรมหรือเปล่านี่) แต่เล่มล่าสุดนี้จะพูดว่าเขียนขึ้นเพื่อตั้งใจส่งประกวดเสียทีเดียวคงไม่ได้นัก ตั้งแต่ต้นปีที่แล้วคือปี 2544 บังเอิญไม่มีงานทำ ถ้าอยู่กับบ้านว่าง ๆ เห็นทีจะเป็นบ้าไปเสียก่อน ก็เลยเอาบันทึกที่เขียนเก็บ ๆ เอาไว้มาขยายเป็นเรื่องสั้นที่อยากจะเขียนเรื่องต่าง ๆ ถือเป็นช่วงที่มีโอกาสเขียนหนังสือได้จุใจที่สุด บางทีทั้งวันได้นั่งอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนกระทั่งดึกดื่น เขียนไปได้เดือนละเรื่องสองเรื่องติดต่อกันไปเลย เพราะมีพล็อตและไอเดียเก็บ ๆ เอาไว้ก่อนล่วงหน้าแล้วค่ะ เรื่องการส่งประกวดนี่ ไม่รู้ว่าพี่จะมีความคิดผ่าเหล่าหรือเปล่า เพราะพี่กลับคิดว่านักเขียนน่าจะช่วยกันส่งเรื่องของตัวเองเข้าประกวดด้วยซ้ำไป เป็นการช่วยวงวรรณกรรมที่ซบเซาให้คึกคักขึ้นกว่านี้ น่าจะถือว่าเป็นการแสดง "สปิริต" ในรูปหนึ่ง เหมือนการแข่งขันกีฬาเพื่อความสามัคคี ทุกคนชื่นชมยกย่องว่าการเขียนหนังสือเป็นสิ่งที่ดีและสร้างสรรค์ แต่ขณะเดียวกันพอมีผู้ที่ต้องการมีชื่อเสียงในทางเขียนหนังสือเกิดขึ้นให้เห็น ก็มักจะถูกโจมตีว่าอยากเด่นอยากดัง ราวกับการอยากมีชื่อเสียงเป็นการประกอบอาชญากรรมประเภทหนึ่ง ดูเป็นความคิดที่มีตรรกขัดแย้งกันเอง ถ้าคิดดูให้ดี ๆ ประเด็นที่สำคัญน่าจะอยู่ตรงที่ นักเขียนรู้จักให้เกียรติตัวเองด้วยการยอมรับความสามารถของเพื่อนนักเขียนด้วยกันหรือไม่ ไม่ใช่ว่าพอพลาดรางวัลแล้วก็ออกมาอาละวาดโวยวายกันเหมือนเด็ก ๆ อย่างที่เราเห็น ๆ กันอยู่หลังการประกาศผล วงวรรณกรรมตามปกติก็เป็นวงการแคบ ๆ อยู่แล้ว ถ้าวัดกันจากจำนวนผู้สนใจภายนอก แต่ยังไง ๆ ก็อย่าให้เรื่องทางจิตใจของผู้คนภายในวงการเองต้อง "แคบ" ตามไปด้วยเลย

งานเขียนของพี่ทั้ง 5 เล่ม มีเพียง "นิวยอร์ก นิวยอร์ก" เล่มเดียวที่ไม่ได้สัมผัสเวทีซีไรท์ เพราะเป็นงานเขียนเชิงสารคดี นอกนั้นล้วนเป็นที่รู้จักกันดีในเวทีนี้ นับแต่เรื่อง "อัญมณีแห่งชีวิต" ที่ได้รางวัลซีไรท์ในปี 33 ส่วน "ลายสือ" "ผู้แลเห็นลม" และ "มือที่มองไม่เห็น" เข้ารอบสุดท้ายซีไรท์ทั้งสามเล่ม แล้วเล่มล่าสุดนี้พี่ตั้งความหวังไว้มากน้อยแค่ไหนคะ
พี่เชื่อว่านักเขียนทุกคนที่ส่งเรื่องเข้าประกวด คงจะตั้งความหวังกันทั้งนั้นนะคะ ช่วงที่รอการประกาศผล น่าจะเป็นช่วงที่สนุกตื่นเต้นที่สุดสำหรับผู้ส่งเข้าประกวดแต่ละคน เพราะเมื่อผ่านไปถึงช่วงที่รู้ผลแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้ได้รางวัลหรือผู้พลาดรางวัล ต่างก็คงจะลดระดับความรู้สึกลงมาไม่ต่างกันนักว่า "มันก็เท่านั้นเอง ไม่เห็นจะเป็นเรื่องใหญ่สักแค่ไหน" แล้วก็ก้มหน้าก้มตาทำงานกันต่อไป

ทุกครั้งที่ "อัญชัน" มีงานเขียนออกมา จะถูกจับตามองจากนักวิจารณ์มาก โดยเฉพาะ อัญมณีแห่งชีวิต ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อน แล้วคิดว่าเล่มล่าสุดนี้จะเป็นอย่างไรบ้างคะ
พี่คิดว่านักวิจารณ์เป็นบุคคลที่มีคุณูปการต่อวงการวรรณกรรมมาก เพราะสามารถสร้างให้เกิดกระแสคึกคัก จูงให้คนสนใจอ่านหนังสือมากขึ้น ไม่มีนักวิจารณ์วงการนี้คงซบเซากว่านี้อีกหลายเท่า แต่โดยส่วนตัวแล้วคำวิพากษ์วิจารณ์ไม่มีผลต่อตัวพี่ในแง่นำมาบั่นทอนการเขียนหนังสือ ไม่ใช่ว่าพี่มีอัตตากับตัวเองหรือมีอคติต่อนักวิจารณ์ แต่พี่คิดว่าชีวิตเป็นของเรา ก้มหน้าก้มตาและมุ่งมั่นตั้งใจทำในสิ่งที่แต่ละคนรักดีกว่า

มีนักเขียนคนไหนที่เป็นนักเขียนในดวงใจหรือเป็นแรงบันดาลใจบ้างไหมคะ
ข้อนี้เป็นคำถามที่ตอบยากมากที่สุด เนื่องจากพี่ชอบงานเฉพาะเล่ม มากกว่าเจาะจงชอบที่ตัวบุคคลผู้เป็นนักเขียนแล้วก็เลยตามอ่านแต่เรื่องของคนนั้น แต่ถ้าให้เลือกขึ้นมาเป็น "นักเขียนในดวงใจ" สักคนหนึ่งจริง ๆ ก็คงจะเป็น หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช เพราะเป็นมนุษย์มหัศจรรย์หาใครเทียบไม่ได้ในทางถ่ายทอดความคิด และให้เหตุผลควบไปด้วย โดยทั่วไปแล้ว คนเรามักจะแสดงความปราดเปรื่องด้วยการหยิบเอาสิ่งง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็เข้าใจได้มาทำให้ฟังยากจนถึงไม่เข้าใจไปเลย แล้วก็เรียกตัวเองว่าเป็นปราชญ์ แต่มีท่านเท่านั้นที่ทำกลับกันกับคนอื่น ๆ คือ เอาสิ่งยาก ๆ มาทำให้ฟังง่ายและรู้เรื่องได้ในทันที บางทีอ่านงานของท่านประโยคเดียว ก็เท่ากับอ่านงานของคนอื่น ๆ ที่ต้องกินเวลาอ่านกันทั้งเล่ม

พี่เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารเล่มหนึ่งในปี 2542 ว่าในอนาคตจะกลับมาอยู่เมืองไทย แต่ต้องรอให้ลูกๆ ดูแลตัวเองได้ก่อน ตอนนี้ความคิดยังเหมือนเดิมไหมคะ แล้วบอกได้หรือยังคะว่าจะเป็นเมื่อไหร่
ยังไม่เปลี่ยนความตั้งใจที่จะกลับมาอยู่บ้านเราถาวรค่ะ ขณะนี้ลูกชายคนเล็กอายุ 11 ขวบ ถ้าเทียบแล้วก็คงกำลังเรียนหนังสืออยู่ชั้นประถม 6 ของบ้านเรา อาจต้องรอจนกว่าลูกจะโตจนเข้าเรียนชั้นมหาวิทยาลัยเรียบร้อยเสียก่อน ถึงจะหมดห่วงเรื่องดูแลเขา และกลับมาใช้ชีวิตของพี่เองที่เมืองไทยได้เต็มที่

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ