สมภพ นิลกำแหง : เจ้าของผลงานรวมเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ท้าทายมิติแห่งกาลเวลาเรื่อง รถไฟตู้นี้ชื่อ…ปริศนากาล

สมภพ นิลกำแหง

ดังที่ได้รู้จักกันมาบ้างแล้วในคอลัมน์เล่มโปรด วันนี้ สมภพ นิลกำแหง เจ้าของผลงานรวมเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ท้าทายมิติแห่งกาลเวลาเรื่อง รถไฟตู้นี้ชื่อ…ปริศนากาล มีโอกาสแวะเวียนมาพูดคุยนอกรอบกับเราอีกครั้ง เพื่อให้คุ้นเคยกันมากขึ้น…เรามาทำความรู้จักเขาไปพร้อม ๆ กันได้เลยค่ะ…

ปัจจุบันนี้พี่ทำอาชีพหลักอะไรอยู่คะ
ก็ดูแลกิจการเล็ก ๆ ของตนเองอยู่ครับ เป็นตึกห้องเช่า ทำหน้าที่ตั้งแต่ผู้จัดการจนยันยามเฝ้าตึก และพนักงานบัญชีจนถึงสารพัดช่าง ต้องซ่อมไอ้โน่นไอ้นี่อยู่เรื่อย ๆ บางทีก็ต้องออกไปติดต่อกับเทศบาลเรื่องอะไรต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง ส่วนอีกอย่างที่ทำอยู่ ซึ่งก็มีงานจรเข้ามาให้ทำบ่อย ๆ คือ การออกแบบทำเว็บไซต์ครับ ทำร่วมกับเพื่อนรุ่นน้องอีกคน ผมเป็นดีไซเนอร์ เขาเป็นโปรแกรมเมอร์ และยังมีธุรกิจเล็ก ๆ ที่กำลังคิดทำอีก 1-2 อย่างในอนาคตอันใกล้นี้ครับ

มีความเป็นมาอย่างไรคะที่ทำให้เริ่มสนใจอยากเขียนหนังสือ
คงเริ่มจากการอ่านนั่นแหละครับ เพราะตั้งแต่เด็ก ๆ ที่บ้านมีหนังสือเป็นตู้ ๆ ชอบอ่านมาตั้งแต่ตอนนั้น เลยทำให้เป็นคนช่างฝัน ชอบจินตนาการ พออ่านมากก็เลยมีเรื่องให้จินตนาการมาก พอจินตนาการมาก ๆ เข้า ที่นี้ก็เลยมีวิธีจินตนาการเป็นของตนเอง แล้วก็มีจินตนาการส่วนตัวเป็นของตัวเองด้วย แล้วพอโตเป็นผู้ใหญ่ก็เริ่มคิดว่า จินตนาการของเรามันก็เข้าท่าดีเหมือนกัน ก็เลยลองถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือ

ก่อนหน้านี้เคยมีผลงานอะไรมาบ้างแล้วหรือเปล่า
ผมเริ่มต้นการเขียนด้วยการเขียนกลอนเปล่า ก่อนหน้านั้นแรก ๆ เลย หัดเขียนเรื่องสั้น แต่มันไปไม่รอด ส่งไปที่ไหนก็หายเงียบ ก็เลยลองเขียนอะไรที่สั้นกว่าเรื่องสั้นดูก่อน ซึ่งก็เป็น กลอนเปล่า ทีนี้ก็เลยพอไปได้ มีผลงานลงที่โน่นที่นี่อยู่บ้าง จนมีหนังสือเล่มแรกของตัวเอง เป็นหนังสือรวมกลอนเปล่า เมื่อราวสิบกว่าปีที่แล้ว พิมพ์กับสำนักพิมพ์เล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ตอนนั้นผมใช้ชื่อในการเขียนสำหรับเล่มนั้นว่า "ต้านฟ้า"

ทำไมถึงชอบเขียนงานแนววิทยาศาสตร์เป็นพิเศษล่ะคะ แล้วมีงานเรื่องสั้น หรือนวนิยายอะไรบ้างมั้ย
ผมเคยเขียนเรื่องแนวอื่นที่ได้เผยแพร่ตามสื่อสิ่งพิมพ์มี 2 เรื่องเองครับ ที่เขียนไว้ส่วนมากจะไม่จบ ถึงจบก็ใช้ไม่ได้ แต่ถ้าจินตนาการเรื่องแนววิทยาศาสตร์ ความคิดมันจะลื่น ในสมุดบันทึกก็เลยมีแต่พล็อตเรื่องแนวนี้ ที่ชอบคิดเขียนเรื่องแนวนี้อาจเป็นเพราะ เราสามารถทำให้เรื่องราวที่ไม่น่าที่จะเป็นไปได้เลยสักนิดในชีวิตประจำวัน มาทำให้มันเกิดเป็นไปได้ขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย มันทำให้เราสนุกในการคิดครับ และรอผลที่คาดหวังจากการคิดอันนั้น มันทำให้ชีวิตมีรสชาติแบบเงียบ ๆ คนเดียวดีครับ ผลงานเรื่องสั้น ก็มีรวมเล่มที่เห็นอยู่นี่แหละครับ รถไฟตู้นี้ชื่อ…ปริศนากาล ยังมีงานเรื่องสั้นที่เผยแพร่ตามนิตยสารแล้ว แต่ยังไม่ได้รวมเล่มอีกราว 15-16 เรื่องครับ แล้วก็มีเรื่องสั้นที่เขียนจบแล้ว แต่ยังไม่ได้เผยแพร่อีกราว15-16 เรื่องเหมือนกัน และตอนนี้เขียนนวนิยายจบไปหนึ่งเรื่องแล้วครับ เป็นนวนิยายขนาดสั้น ราว ๆ 12บท ไม่รวมบทนำและบทส่งท้ายนะครับ ตั้งชื่อเรื่องว่า "นายกรัฐมนตรีในนรก" เป็นแนวแฟนตาซี กำลังหาสำนักพิมพ์อยู่ครับ แล้วก็กำลังเขียนค้างไว้อีก 2 เรื่อง เป็นเรื่องผจญภัยของเด็ก ๆ ยังไม่จบครับ ไม่รู้จะจบเมื่อไหร่

เขียนเรื่องลงที่ไหนเป็นประจำบ้างหรือเปล่า
ตอนนี้ยังไม่มีงานเขียนลงที่ไหนประจำครับ เพราะแนวเรื่องที่ผมเขียนอยู่ ไม่ค่อยมีนิตยสารแนวนี้ แต่ในอนาคตอันใกล้จะพยายามเขียนไปเสนอนิตยสารทั่ว ๆ ไป สักเรื่อง 2 เรื่อง ครับ

ทำงานหลักยุ่งทั้งวัน ส่วนใหญ่ใช้เวลาช่วงไหนเขียนงานคะ
ช่วงเวลาที่เขียนหนังสือนี่ ไม่แน่นอนครับ ไม่ได้เขียนทุกวัน แต่ก็พยายามเขียนอยู่เสมอ เพราะรู้สึกว่าการเขียนมันมีความหมายสำหรับเรามากเลย ส่วนมากผมจะนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ตอนบ่ายโมงไปจนยัน 4-5 โมงเย็น บางทีก็เขียนตอนนั้นแหละครับ หรือบางทีก็เขียนก่อนนอน วันละครึ่งหน้าถึงสองหน้าครึ่ง เขียนด้วยดินสอใส่สมุดไว้ครับ แล้วเอามาขัดเกลาในคอมฯอีกที

มีหนังสือประเภทใดบ้างที่พี่ชอบอ่านเป็นพิเศษ
ประวัติศาสตร์ ทั้งไทยและเทศ ผมชอบอ่านมาตั้งแต่เด็ก ๆ ตอนเด็ก ๆ ชอบอ่านประวัติวีรบุรุษ แต่พอเป็นผู้ใหญ่ชอบอ่านแนวประวัติศาสตร์วิเคราะห์ มันทำให้เราเข้าใจในความเป็นมาของสิ่งต่าง ๆ เรื่องราวต่าง ๆ ที่เห็นและเป็นอยู่ตอนนี้ แล้วก็เข้าใจในเหตุผลของวิถีชีวิตขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ด้วย หนังสืออีกอย่างที่ชอบ ก็คือ หนังสือรวมภาพของงานจิตรกรรมทุกประเภท และหนังสือเกี่ยวกับการออกแบบตกแต่ง หนังสือพวกนี้ไม่มีอะไรให้อ่านเท่าไหร่ มีแต่ภาพให้ดู ดูแล้วมีความสุขดี เป็นนักอ่านแบบนี้ ต้องมีนักเขียนในดวงใจเยอะแน่เลยใช่ไหมคะ

ก็มีครับ ถ้าของฝรั่งน่าจะเป็น ท่านแรกก็ เซอร์อาเทอร์ โคแนน ดอยล์ นอกจากเรื่องเชอร์ล็อกค์ โฮล์ม แล้ว ก็มีชุดเอเตียน เชรา อีกชุดหนึ่ง ที่น่าทึ่งมาก สนุกและอ่านได้ตลอด เป็นการผจญภัยของทหารเอกผู้จงรักภักดีต่อจักรพรรดินโปเลียน

ท่านที่สอง ก็คือ เรย์ แบรดบิวรี เป็นนักเขียนไซไฟที่อ่านแล้วซึม ๆ ดี ไม่โลดโผนมาก แต่ลึกซึ้งน่าคิดแล้วมีบรรยากาศน่าค้นหา เคยอ่านเรื่องผู้หญิงคนหนึ่งคลอดลูกออกมาเป็นรูปสามเหลี่ยม แต่เป็นสิ่งมีชีวิต และเด็กคนนี้เป็นเด็กธรรมดาในอีกมิติหนึ่ง จำได้ราง ๆ แค่นี้ ชื่อเรื่องอะไรจำไม่ได้

อีกท่านหนึ่ง ก็ไอแซก อาซิมอฟ ยังตามหาหนังสือของเขาอ่านได้เรื่อย ๆ เพราะเขียนไว้เยอะมาก จาระไนไม่ถูก ชอบเรื่อง ยานลำจิ๋วที่เข้าไปผจญภัยในร่างกายของคน (แต่เล่มนี้เขาไม่ได้เขียนเองทั้งหมด) และภาคที่สอง ยานลำจิ๋วต้องเข้าไปผจญภัยในสมองของคนอีกเหมือนกัน อาซิมอฟสร้างนิยายหลายเรื่องของเขาซึ่งอยู่ต่างชุดกัน ให้มีความเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องถึงกันได้ เรียกว่า เขาสร้างจักรวาลขึ้นมาใหม่ ในจักรวาลนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในหนังสือหลาย ๆ เล่มของเขา เรื่องราวเหล่านั้นกินเวลานับแสน ๆ ปี

ส่วนนักเขียนไทย ชอบ อังคาร กัลยาณพงศ์ ท่านเป็นกวีที่แท้จริง ถ้อยคำของท่านขลัง มีพลังในแต่ละวรรค เรื่องที่เป็นร้อยแก้ว ก็มีจินตนาการมาก จำได้ว่าชอบเรื่อง "ราคาของเขี้ยวเล็บ" และโคลงบทที่ชื่อ "โลก" มาก อีกท่านหนึ่ง ก็รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นงานเขียนตอนหนุ่ม ๆ ของท่าน แต่ละเรื่อง สุด ๆ ทั้งนั้น ไปหาอ่านกันนะครับ

เวลาว่าง ๆ ชอบทำอะไรบ้าง
ดูวิดีโอภาพยนต์ครับ เช่ามาเดือนละครั้งสองครั้ง ครั้งละ 5-6 เรื่อง แล้วดูวันละเรื่อง ดูทุกครั้งได้อะไร ๆ ติดสมองมาทุกที ถ้าไม่เป็นคำเจ๋ง ๆ ก็เป็นแนวความคิดเจ็บ ๆ หรือไม่ก็ทั้งสองอย่าง บางเรื่องก็ได้ฮาจนเหนื่อย ถ้าจะให้สนุกคุ้มเวลาก็ต้องดูคนเดียวด้วยนะครับ จะได้มีสมาธิในการนอนดูอย่างสบาย ๆ แล้วอีกอย่างก็ฟังเพลงครับ สมัยก่อน ๆ ฟังเพลงร็อกหนักหนาสาหัสมาก แต่เดี๋ยวนี้ชอบฟังแนว อิเล็กทรอนิกส์ นิวเอจ อัลบั้มในดวงใจตอนนี้ซึ่งฟังมา 3 ปีแล้วไม่เบื่อเลย คือ The Songs of Distant Earth ของ Mike Oldfield เป็นอัลบั้มเพลงที่ผู้แต่งได้แรงบันดาลใจจากหนังสือชื่อเดียวกันของปรมาจารย์นิยายไซไฟ คือ Arthur C. clarke

ได้ตั้งความหวังกับงานเขียนไว้บ้างมั้ย
เขียนอะไร ๆ ออกมาแล้วก็ขอให้มีคนอ่านบ้างก็แล้วกัน นอกจากบรรณาธิการและญาติ ๆ เพื่อน ๆ ของเราเอง อยากเขียนหนังสือแล้วมันกลายเป็นสิ่งที่พูดถึงกันได้แบบน้อย ๆ แต่นาน ๆ นานจนเราตายไปแล้วก็ยังพูดกันอยู่ หวังว่าในชีวิตนี้ คงทำอย่างที่หวังไว้นี้ให้ได้สักเล่ม จะเป็นไปได้รึเปล่านะ…?

สุดท้ายอยากให้พูดเกี่ยวกับหนังสือเรื่อง รถไฟตู้นี้…ชื่อปริศนากาล สักเล็กน้อยค่ะ ว่ามีความรู้สึกอย่างไรบ้างกับหนังสือเล่มนี้
ก็รู้สึกดีครับ แล้วก็รู้สึกโล่งอกที่ออกมาเป็นรวมเล่มได้ในที่สุด เหมือนได้พาเด็ก ๆ กลุ่มหนึ่งที่อยู่ในความดูแลของเรา พาพวกเขาข้ามถนน 8 เลนที่ไม่มีสะพานลอยคนข้ามในวันจราจรคับคั่ง รู้สึกดีใจที่เราพาพวกเขาข้ามไปได้สำเร็จตลอดรอดฝั่ง เพราะพอดีได้เจอกับตำรวจจราจรใจดีช่วยพาพวกเราข้ามไปได้ แต่ก็ไม่รู้ว่าตำรวจจราจรคนนี้จะใจดีพาไอ้พวกเด็ก ๆ ที่เหลือ ซึ่งกำลังรอข้ามถนนอยู่ฝั่งถนนเดิม มาพิมพ์ให้…เอ้ย…มาพาข้ามถนนตามไอ้เด็กๆพวกแรกรึเปล่า?…นะครับ

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ