วัฒน์ วรรลยางกูร : นามนี้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงวรรณกรรม ผู้ที่มักจะเก็บเกี่ยวสีสันของธรรมชาติ

วัฒน์ วรรลยางกูร

วัฒน์ วรรลยางกูร นามนี้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงวรรณกรรม ผู้ที่มักจะเก็บเกี่ยวสีสันของธรรมชาติ ภาพชีวิตผู้คนที่สัมผัสมาบอกกล่าว ด้วยถ้อยคำที่สละสลวยแฝงไว้ซึ่งอารมณ์ขัน ด้วยความเป็นหนอนหนังสือทำให้เขาเริ่มมีงานเขียนตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมด้วยเรื่องสั้น ก่อนจะมีผลงานทั้ง นวนิยาย ความเรียง สารคดี บทกวี ตามมาอีกมากมาย ซึ่งปัจจุบันทั้งคงทำงานหลายหลาก ทั้งเขียนหนังสือ นักร้อง คอลัมนิสต์ประจำในมติชน แล้วระยะอันใกล้นี้ได้ข่าวว่าเขากำลังจะประกอบธุรกิจ ผลิตสาโทขายในเครื่องหมายการค้าว่า สิงห์สาโท วันนี้เราจะมาคุยกันค่ะว่าอะไรทำให้เขาหันมาจับธุรกิจผลิตสาโท….

ตอนเริ่มเขียนหนังสือที่แรกได้รับอิทธิพลจากนักเขียนท่านใดเป็นต้นแบบหรือเปล่า แล้วนำมาสร้างเป็นเอกลักษณ์ของเราเอง ผมก็อ่านหนังสือมาเยอะนะก่อนที่จะมาเขียนหนังสือ อย่าง รงค์ วงษ์สวรรค์ ก็มีลักษณะเชิงยั่วเย้าสังคม เรียกว่าออกมาเล่มไหนก็ไม่เคยพลาด หรือลีลาการเขียนของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช การเอาเรื่องยากๆ มาเล่าอย่างง่ายๆ ซึ่งทำได้ยาก เช่น เอาเรื่องวิชาการมาเขียนให้อ่านง่าย ถ้าเป็นงานวิจารณ์จะเขียนในเชิงบวกแบบสาดเสียเทเสีย ซึ่งผมชอบงานในลักษณะนี้มากกว่า ถ้าต้องการให้มีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงอะไรพูดกันดี ๆ ก็ได้ไม่ต้องมาด่ากันหรอก ด่าเขาก็ยิ่งไม่อยากฟัง พูดดีๆ มีเหตุผล แทรกอารมณ์ขัน และมีเมตตา

จุดหันเหชีวิตที่ทำให้เป็นวัฒน์ วรรลยางกูรในวันนี้ แทนที่จะไปทำอาชีพอื่นก่อนจะมาเป็นนักเขียน คงเป็นช่วงชีวิตวัยเด็กที่ไร้ความสุขหมายความว่า วัยเด็กที่ไม่ปกติเหมือนคนอื่นเขา เนื่องจากว่าพ่อแม่ผมแยกทางกันตั้งแต่ผมยังจำความไม่ได้ มันทำให้ชีวิตลำบากกว่าเด็กทั่วไปบ้าง ระหกระเหินพอเรียนจบ ม.4 มาอาศัยอยู่กับย่า ช่วยย่าทำไร่ทำสวนหาสตางค์ ถ้ามันขาดมันเขินเราก็ดิ้นรนก็ต้องหาสตางค์มาช่วยตัวเองบ้าง ตอนเด็ก ๆ รู้สึก เอ๊ะ… ทำไมเราไม่เหมือนเด็กคนอื่น ทำให้ผมต้องคิดตั้งแต่เด็กเขาอาจจะเรียกว่าปมด้อยก็ได้ เพราะว่าเงื่อนไขชีวิตทำให้ต้องคิดต้องสงสัยชีวิต งานเขียนก็คืองานคิด นักเขียนก็นักคิด ทำเฉพาะให้ผมเป็นคนชอบคิดไปโดยธรรมชาติ โดยไม่รู้ตัวอาจจะเรียกว่าปมด้อย ผมจึงโตเกินวัยเป็นผู้ใหญ่มาตั้งแต่เด็กคิดอะไรต้องคิดเองทำเอง ทำการบ้านการฝีมือ หรือตัดสินเส้นทางชีวิตต้องคิดเองตลอด เพราะว่าไม่มีใครให้ปรึกษา ย่าก็เป็นคนแก่บ้านนอกไม่ค่อยรับรู้อะไร แต่ก็อาศัยอยู่กับพูดง่ายๆ คือ มันเหงาไม่มีไฟฟ้ามีแต่ตะเกียง ค่ำลงไม่รู้จะทำอะไรก็เลยอ่านหนังสือ มันมีตู้หนังสือที่พ่อซื้อทิ้งไว้ หนังสือพวก ศรีบูรพา, มาลัย ชูพินิจ, อิงอร อ.อุดากร อ่านไปอ่านมาก็เลยอยากเขียน มันเหงาก็เลยคุยกับนักเขียนเอาตัวหนังสือเป็นเพื่อนก็เลยไม่มีปัญหากับชีวิตไม่มีปมด้อย

เห็นทำงานหลายอย่าง ทั้งนักเขียน ,คอลัมน์นิสต์,นักร้องแล้วล่าสุดก็เป็นบรรณาธิการดอกหญ้า แล้วมีอะไรที่พี่ยังไม่ได้ทำและอยากจะทำ ไม่ค่อยกล้าบอก อายเพราะว่าคงทำไม่ได้ไม่มีความสามารถเพราะต้องมีเรื่องเทคนิคมาช่วย ทำหนัง เพราะว่าเวลาเขียนหนังสือภาพที่เราจินตนาการมันก็คือภาพที่ปรากฏในภาพยนตร์ ทีนี้เราจะถอดจินตนาการตรงนั้นออกมาเป็นหนังมันจะต้อง ไปเรียนรู้เรื่องเทคนิคการทำหนัง ต้องไปฝึกฝนไปคลุกคลีและให้เวลากับมันเยอะ

แล้วเรื่องมนต์รักทรานซิสเตอร์ได้เข้าไปมีส่วนรวมหรือเปล่า ไม่ได้ไป ไม่อยากให้คนทำหนังเขาเกร็ง อยากให้เขาทำไปตามธรรมชาติของเขา

เรื่องงานเพลงจะมีอีกไหม มีฮะงานเพลงนี่จะเรียกเป็นฤดู มันจะมีอารมณ์เป็นบางช่วง ช่วงมีอารมณ์จะเขียนเพลงได้เยอะ สนุกที่จะเขียนเพลง นี่รู้สึกว่าฤดูจะมาอีกแล้ว และมันก็หยุดเป็นปีไม่อยาก ความจริงแม้แต่เขียนหนังสือถ้าไม่เป็นอาชีพ บางช่วงก็จะสนุกมาก บางช่วงก็ไม่สนุกเรื่อยๆ ก็จะต้องผ่อนไปทำอย่างอื่น บางทีไปทำเพลงเพราะรู้สึกว่าเขียนหนังสือเริ่มไม่สนุกแล้ว ก็อย่าไปฝืนดีกว่าหันไปทำอย่างอื่น ช่วงไหนรู้สึกว่าเขียนหนังสือแล้วมันจำเจไม่มีอะไรจะเขียนก็ไปเป็น บ.ก.บ้างอะไรบ้าง ผมจะใช้ชีวิตแบบนี้ตลอดจะไม่เขียนแต่หนังสือ

เห็นมีหนังสือหลายเล่มของพี่ อาทิเช่น บนเส้นลวด,งานเรื่องสั้นก็ เรื่องลึกในหัวใจ, ก่อนถึงดวงดาว,สาวน้อยตกน้ำ หรือบทกวีอย่างเรื่องกล้วยหาย ที่ได้แปลเป็นภาษาต่างประเทศอย่างให้ช่วยเล่าถึงการทำงานกับคนต่างชาติหน่อยได้ไหม มันก็เป็นเรื่องของนักแปล เราเขียนเสร็จแล้วเขาก็แค่มาขออนุญาต ต่างจากสำนักพิมพ์ไทยตรงที่ค่าเรื่องมันจะแพงกว่า

เขาอ่านเจอเองหรือว่ามีการติดต่อผ่านเอเยนซี่ ก็คงจะปรึกษาองค์กรทางหนังสือของประเทศไทย สมาคมนักเขียนหรือว่าสมาคมภาษาและหนังสือแล้วก็เอาไปแปล

แล้วได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการแปลบ้างไหม เขาจะมีถามบ้างว่าตรงนี้คืออะไร บางทีเราใช้ถ้อยคำอะไรบางอย่างที่เขาตีความไม่ออกเขาก็จะถามภาษามันกวีเกินไปเช่น ถากไม้เหมือนหมาเลีย มันคืออะไรมันดีหรือไม่ดี บางทีผมจะใช้คำโบราณ ศัพท์เฉพาะถิ่นของพื้นบ้านที่เราเคยจดจำมาเป็นภาษาปาก ซึ่งบางทีเขาเปิดพจนานุกรมแล้วไม่เจอพวกภาษาปาก มันจะใช้เฉพาะบางตำบลบางอำเภอ

ได้ข่าวมาว่าก่อนหน้านี่พี่ได้รวมกลุ่มกับชาวบ้านเรียกร้องเรื่องต้นน้ำน้ำตกไทรโยกน้อย แล้วมีคนเข้าไปบุกรุกบ้าน 2 เหตุการณ์นี้เกี่ยวโยงกันหรือเปล่า เป็นการข่มขู่อยู่ในที ผมอยู่ตรงนั้นมา 15 ปีไม่เคยมีขโมยเพื่อนบ้านก็ดี บ้านอื่นก็ไม่มีขโมย และแถวนั้นก็ไม่มีคนติดยา มันก็มีเรื่องนี้อยู่เรื่องเดียวเป็นการคุกคามมากกว่า ไม่ได้เอาอะไรไปมากมาย ครั้งหลังก็เอาเครื่องฟัง ซีดีไปอย่างเดือนก่อนขึ้นบ้านไป 2 ครั้ง เป็นวันที่ไม่มีใครอยู่บ้านเลย ก็ปีนเข้าทางหน้าต่าง ความที่ไม่เคยมีขโมยก็เลยปิดบ้านไม่มิดชิดหรอก เคยขนาดที่ว่าเปิดประตูหลังบ้านทิ้งไว้ 2-3 วันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

มีโทรมาขู่ไหมคะ มีแต่โทรมาแล้วไม่พูดอะไรเป็น 100 ครั้ง ก่อนนอนก็ต้องยกหูโทรศัพท์ออก ก็ระวังตัวอยู่แต่ก็ประเมินแล้วว่าเรื่องที่ทำ มันมีเหตุผลถูกต้อง ไม่ได้ไปเบียดเบียนใคร ไม่ได้รังแกใคร คิดว่าไม่น่าจะมีอะไรรุนแรงมากเกินไป ตอนนี้เรื่องราวทั้งหลายเป็นเรื่องของภาครัฐเข้าไปแก้ปัญหา ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทยก็ได้ลงไปดูพื้นที่หลังจากที่เป็นข่าวว่ามีขโมยขึ้นบ้านผม ผู้การตำรวจก็เรียกผมเข้าไปคุยว่าเรื่องมันเป็นอย่างไร แล้วได้กำชับลงไปทางพื้นที่ว่าอย่าให้มีเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นอีก

เป็นอย่างไรมาอย่างไรจึงมีคนมาเชิญให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินสาโท เขาเรียกว่าผู้เชี่ยวชาญการชิมสุราแช่ ไวน์พืชผักผลไม้และสาโท เริ่มเมื่อปีที่แล้ว ที่จริงจะ เรียกว่าผู้เชี่ยวชาญไม่เชี่ยวหรอกเป็นนักเรียนมากกว่า ก็เรียนไประหว่างไปตัดสินนั่นแหละ เรียนไปชิมไปสังเกตคนที่เชี่ยวชาญจริง ซึ่งมาจากองค์กรที่สนับสนุนการดื่มไวน์ของฝรั่งเศสเข้ามาเผยแพร่การดื่มไวน์จะเข้ามาอบรมให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการบริกรให้มีความรู้ เรื่องเหล้าเรื่องการดื่มไวน์ เครื่องมือทุกชนิดเรียกว่าไม่ต้องดูยี่ห้อ แค่ดื่มแล้วต้องรู้ว่าดีเลวอย่างไรก็พยายามเรียนรู้จากเขาเท่านั้นเอง

การที่เข้ามาเป็นผู้เชี่ยวชาญได้รับอิทธิพลมาจากหนังสือ "สิงห์สาโท" หรือเปล่า มาจากหนังสือเล่มนี้ มาจากคอลัมน์ที่ลงในมติชน ก็ได้ไปศึกษาจากชาวบ้านว่าทำอย่างไร อะไรทำให้มันอร่อย ฝึกทำสาโทมาตั้งแต่ปี 2529 เพราะว่าช่วงนั้นผมยังเป็นนักเขียนที่มีรายได้ไม่มากนัก ในสมัยนั้นจะซื้อเบียร์กระป๋องนึงก็คิดแล้วคิดอีก พอดีไปเที่ยวคลองสามชาวบ้านทำสาโทหรือน้ำขาวมาให้กิน ผมว่ามันก็อร่อยไม่แพ้เบียร์ ก็เลยขอสูตรมาทำกินเอง พอมันได้ที่ก็เรียกเพื่อนนักเขียนมากินสนุกสนานเป็นที่รู้กันว่าผมทำเรื่องนี้มานานแล้วซึ่งก็เป็นบ้างไม่เป็นบ้างไม่เอาจาริงเอาจังเท่าไร บางรุ่นก็เป็นบางรุ่นก็บูดเน่าเปรี้ยว เป็นน้ำส้ม เริ่มมาเอาจริงเอาจังตอนหลังผมศึกษาแล้วทุกรุ่นก็ไม่พลาด ก็ศึกษาโดยการอ่านหนังสือถามผู้รู้ ผมก็พบ จุดสำคัญว่ามันจะเป็นหรือไม่เป็นสาโท ขึ้นอยู่กับคำว่า "แฮร์ล็อค" ก็คือ การล็อคไม่ให้อากาศภายนอกเข้าไปในขวดได้แต่อากาศภายในที่ถูกกดให้ออกไปได้ คือเวลาเราหมักข้าวให้เป็นสาโทมันจะมีก๊าซออกมาเป็นแอลกอฮอล์ การทำแอร์ล็อคก็เอาสายยางเล็ก ๆ มาจุ่มไว้ แต่อากาศข้างนอกต้องไม่ให้แบคทีเรียจากภายนอกเข้าไปรบกวนยีนที่กำลังทำการเฟริ์ม ซึ่งอาจจะทำให้ปูดหรือรสชาติเปลี่ยนไป

คิดจะทำเป็นธุรกิจไหม คือผมทำแจกมานานจนเบื่อแล้ว ก็เลยจะทำขายบ้าง จะเริ่มจากวงแคบๆ ก่อน ผมรู้สึกว่าคนคอสาโทอย่างผมหาสาโททีต้องการไม่ได้ สาโทที่มีอยู่ในท้องตลาด ไม่ทราบว่าเขาอาจจะมีปัญหารักษาสภาพการคงที่ไว้ไม่ได้ทำให้มันฉุนมันหวาน และมันไม่อร่อย

ปีนี้ได้ส่งหนังสือร่วมซีไรท์หรือเปล่า จริงๆ ไม่อยากส่งมานานแล้ว คือมันเลยฤดูเลยวัย คือเขียนหนังสือมานานเข้ารอบสุดท้ายมาเยอะแล้ว 7 ครั้งแล้วอะไรที่มันถึง 3-7 ครั้งโบราณให้หยุดทบทวน ผมไม่อยากสั่งมานานแล้วแต่ก็เห็นใจสำนักพิมพ์เพราะถ้ามันไปเข้ารอบ

เร็วๆ นี้จะมีงานเขียนออกมาอีกหรือเปล่า มีรวมเล่มเกี่ยวกับเรื่องสาโทที่เคยลงในมติชน

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ