แซลมอนบุ๊คส์ : แซลมอนบุ๊คส์ อินดี้อ่านสนุก!

แซลมอนบุ๊คส์

80 freaky Days วันหลุดนักขัตฤกษ์, เธอ เขา เรา ผม, กลับหลังหัน, Old School, จอยสติ๊ก, ชีวิต 18- Girls'Generation, 100 ขั้นตอนสู่การเลิกรา, 100 ขั้นตอนสู่ความล้มเหลว, 7,000,000,000 ยอดมนุษย์, Fail of The สอง years, รู้ทันซานต้า, บันทึกการเดินทางของนายวิชัยฯ, ฮาวายประเทศ, เรื่องอะไร ?, ทาลาบู, เครื่องปรุงจักรวาล, พิพิธภัณฑสถานแห่งฉัน, ทานยาหลังอาหาร แล้วดื่มน้ำตามากๆ, อ่านออกเสียง, สัตว์อัศเจรีย์ ฯลฯ เหล่านี้คือหนังสือชื่อแปลกๆ ของสำนักพิมพ์น้องใหม่ที่ชื่อ แซลมอนบุ๊คส์ ในเครือบันลือกรุ๊ป ที่ไม่ว่าใครหากได้เห็นหนังสือเหล่านี้ก็คงต้องอดไม่ได้ที่จะต้องหยิบจับ ขึ้นมาพลิกเปิดดูข้างใน เพราะการออกแบบปกด้วยลายกราฟิกสวยงามแปลกตา มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร เราจึงอดไม่ได้ที่จะขอนัดพบพูดคุยกับผู้ที่อยู่เบื้องหลัง

แล้วเราก็ได้พบกับ คุณณัฐชนน มหาอิทธิดล หรือ คุณแบ๊งค์ หนุ่มน้อยวัย 20 กว่าๆ ที่นั่งในตำแหน่งบรรณาธิการบริหารของสำนักพิมพ์แซลมอนบุ๊คส์ เขาบอกกับเราว่าแนวหนังสือของแซลมอนบุ๊คส์ น่าจะเรียกว่าเป็นแนวสารคดีอ่านสนุก มีความเป็นอินดี้อยู่ในตัว เพราะความแตกต่างไม่เหมือนใคร

"เราเป็นสำนักพิมพ์ ที่ทำหนังสือแนววัยรุ่นที่น่าสนใจ อาจจะเรียกว่าสารคดีอ่านสนุก เราเพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว รวมก็ปีกว่าๆ มีหนังสือออกมาประมาณ 20 กว่าเล่มแล้วครับ ความตั้งใจเดิมที่ตั้งชื่อแซลมอนมาเนี่ย คือเราเปรียบเทียบกับอาหาร เราคิดว่าหนังสือคืออาหารสมองและปลาแซลมอนก็เป็นเมนูที่นิยม ถ้าพูดแซลมอนคนก็จะนึกถึงซาซิมิ ซูชิ อะไรอย่างนี้ เราอยากเป็นแซลมอนอย่างนั้น เป็นปลาที่กินแล้วได้ประโยชน์ คนนิยม อร่อยด้วย กินดิบๆ ก็ได้ กินสุกๆ ก็ได้ แล้วก็ค่อนข้างป๊อบปูล่า ดังนั้นตอนแรกที่เซ็ตอัพขึ้นมาเนี่ย เราก็เลยอยากทำเป็นหนังสือสารคดีอ่านสนุก อ่านแล้วได้ประโยชน์ จากที่เห็นก็จะไม่ค่อยมีเรื่องแต่ง หรือเรื่องวรรณกรรมเท่าไหร่ จริงๆ ก็อยากสนับสนุนนะ คือมีบ้าง มีออกมา 5 เล่ม ที่เป็นเรื่องสั้นครั ที่เหลือก็จะเป็นเรื่องจริงซะมากกว่า แต่ว่าเป็นเรื่องจริงในรูปแบบไหน อย่างเช่นเที่ยวจีนก็เป็นเรื่องจริง เป็นประสบการณ์ของตัวเอง อาจจะมีทั้งการ์ตูน และสารคดีซึ่งต่อให้เป็นการ์ตูนก็จะเป็นการ์ตูนที่อ้างอิงจากเรื่องจริง"

เมื่อถามถึงการออก แบบรูปเล่มและหน้าปกซึ่งหนังสือของแซลมอนบุ๊คส์จะโดดเด่นด้วยลายกราฟิกหรือ ลายการ์ตูนหนุ่มแบ๊งค์บอกว่าเป็นความชอบส่วนตัว ผนวกกับต้องการให้หนังสือของแซลมอนบุ๊คส์ ดูเบาลง น่าหยิบจบขึ้นมาอ่าน จึงกลายเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ไปแล้ว "เราคิดว่าภาพถ่ายบางทีมันดูซีเรียสไป พอมาทำเป็นลายเส้น เรื่องที่มันดูจริงจังก็จะซอฟต์ลง เหมือนอย่างการ์ตูนการเมืองครับ เรื่องมันหนักมาก เครียดมาก แต่พอเอามาแปลงเป็นการ์ตูน มันก็อ่านง่าย ปกเราก็อย่างนั้น คือเราอยากบอกว่าเราเป็นมิตรนะ อย่างเช่นหนังสือเรื่องเครื่องปรุงจักรวาล เป็นหนังสือฟิสิกส์จัดเลยครับ เป็นทฤษฎีฟิสิกส์ 50 ทฤษฎีหลักๆ พอเอาแปลงเป็นภาพการ์ตูน ก็อ่านง่ายขึ้น เราพยายามผูกมิตรกับคนอ่านมากกว่า"

ดูเหมือนแซลม อนบุ๊คส์จะจับกลุ่มเป้าหมายที่กลุ่มวัยรุ่น ซึ่งในเชิงการขาย คนทำก็ต้องมีมุมมอง ด้านการตลาดอยู่ไม่น้อย "มันจำเป็นครับ คือเราทำสำนักพิมพ์มา อย่างน้อยๆ มันคือผลิตภัณฑ์ของเรา ก็ต้องสร้างความแตกต่างให้ได้ และที่สำคัญคือเราต้องขายให้ได้ เราจับทางเลือกใหม่ๆ ให้คนอ่าน คืออ่านเรื่องยากๆ ด้วยวิธีการง่ายๆ เราพยายามทำอย่างนั้น อย่างสุดที่เพิ่งออกไป วันหลุดนักขัตฤกษ์ เกี่ยวกับวันเพี้ยนๆ ทั่วโลก จริงๆ แล้วถ้ามันเป็นสารคดีโทรทัศน์ซักเรื่องนึงก็คงจะอยู่ในช่องเครียดๆ อย่างเช่นวันวาเลนไทน์ ไม่มีใครรู้หรอกครับว่ามันคือวันบริจาคอวัยวะของอีกประเทศหนึ่ง หรือว่าวันแรงงานของเราจะเป็นวันอื่นๆ ของประเทศอื่น อะไรอย่างเนี้ยครับ เน้นว่าเราอยู่ในประเทศไทย เราอยู่ในพื้นที่แค่นี้ ความรู้เรามีแค่นี้ ร้านหนังสือก็มีให้เราแค่นี้ ที่เหลือเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเราก็อยากเปิดโลก อยากทำหนังสืออย่างนี้ให้คนอ่าน คือเป็นหนังสือที่สำนักพิมพ์ไม่ค่อยมีคนทำ คือในทีมเราก็ทำกันเอง เน้นว่าคนอ่านจะได้อะไรจากการอ่าน ก็เป็นอีกทางเลือกครับ"

ถึงจะทำหนังสือเอา สนุก แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องดูแลในเชิงของการบริหารก็ทำเอาหนุ่มแบ๊งค์เครียดได้ เหมือนกัน "เอาเข้าจริงๆ ทุกวันนี้ผมเข้าร้านหนังสือ ผมเครียดทุกครั้ง เมื่อก่อนตอนที่ยังไม่เป็นคนทำหนังสือเนี่ย ก็จะชอบเข้าไปยืนดูหนังสือ อ่านเล่มนั้นเล่มนี้ แต่พอเข้าไปทำ ผมก็รู้สึกว่า ทุกคนในวงการหนังสือเก่งมาก ไม่ว่าจะเป็นสำนักพิมพ์รุ่นพี่ หรือว่ารุ่นเดียวกัน ก็เครียดๆ อยู่ๆ แต่ความเครียดมันก็ดีตรงที่มันบอกเราว่าหยุดนิ่งไม่ได้ เราต้องพัฒนา ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่เรื่องเนื้อหาก็วิธีการขาย ไม่วิธีการขายก็กราฟิก การออกแบบหรือเรื่องการตลาด เรื่องอะไรต่างๆ นานา มันทำให้เราอดทน ถามว่าทุกวันนี้พอใจมั้ย อาจจะพอใจในวันนี้ พรุ่งนี้อาจไม่พอใจแล้ว ถ้าพอใจคงแย่"

ในแง่ของการสร้าง ความแตกต่างบนแผงหนังสือ คุณแบ๊งค์บอกว่าเป็นสิ่งจำเป็น เพราะถ้าไม่แตกต่างโอกาสที่คนจะเลือกหยิบจับก็มีน้อย "เช่นเรื่อง 100 ขั้นตอนสู่ความล้มเหลว มีอยู่วันหนึ่งผมไปยืนมองแผงหนังสือแถวบ้าน ก็รู้สึกว่าทำไมหนังสือฮาวทูมันเยอะจัง โดยเฉพาะฮาวทูสู่ความร่ำรวย สู่ความสำเร็จ ผมก็ไปคิดเล่นๆ ขึ้นมาว่า ทำไมไม่มีใครทำหนังสือสู่ความล้มเหลวขึ้นมาบ้างนะ ก็กลับมาบ้าน เล่นอินเทอร์เน็ตเจอ คุณแชมป์ (ทีปกร วุฒิพิทยามงคล) อัพเดตเรื่องนี้วันแรกพอดี เลยเอามาพิมพ์เอามาปั้นช่วยกันจนครบ 100 วัน ก็พบว่าเสียงตอบรับก็โอเค ไต้หวันมาขอซื้อไปแปลด้วย นอกจากนั้นก็มี 100 ขั้นตอนสู่การเลิกลา วิธีเดียวกันคือว่า ทำไมเรามีแต่ฮาวทูสู่ความรักที่ยั่งยืน ไม่เอา เราพลิกมุมมอง เราเป็นฮาวทูสู่ความสมพันธ์ที่ห่วยแตกอะไรอย่างนี้ แต่บางทีคนเขาไม่ค่อยเข้าใจ ผมคิดว่าถ้าหนังสือแบบนี้เป็นเท็กซ์ (มีแต่ตัวหนังสือ) ออกไป คนก็ไม่ซื้อ แต่พอมันเป็นรูปภาพก็ทำให้ซอฟต์ลง"

ด้วยความที่เป็น สำนักพิมพ์ในเครือบันลือกรุ๊ป เจ้าของการ์ตูนค่ายขายหัวเราะ มหาสนุก นี่อาจจะเป็นข้อได้เปรียบประการหนึ่งที่ทำให้แซลมอนบุ๊คส์ มีแนวทางเป็นของตัวเอง "ที่สำคัญคือผู้บริหารที่นี่เปิดกว้างมาก ที่อื่นอาจจะมีสายการบริหารหลายชั้น ที่นี่น้อยมากและเป็นสิ่งที่ดีมากสำหรับเรา เมื่อไหร่ที่ผมออกแบบปกที่คิดว่ามันเพี้ยนๆ หรือแปลกๆ ผู้ใหญ่ที่นี่จะถามว่ามันดีใช่มั้ย ถ้าเราคิดว่าดีก็ทำ ถ้าไม่ดีเค้าก็จะมาพร้อมด้วยเหตุผลดีๆ เสมอ ก็ทำให้เราแก้ไขได้ มีเรื่องนึงที่ผมชอบมากคือ เรื่องการประหยัด เราน่าจะเป็ฯทีมแรกๆ ที่ใช้เลย์เอ้าต์สองสีเยอะสุด เราใช้สองสีเยอะมาก ถ้าอ่านบ่อยๆ จะเห็นขาววแดง ขาวดำ ดำชมพู ชมพูดำ ส้มน้ำตาล นั่นนู่นนี่ เพราะว่าเหตุผลหนึ่งคือเรื่องการประหยัด สองเรื่องความสวยงาม ที่ทำให้เราต้องพิจารณามันเยอะเป็นพิเศษ แล้วสิ่งเหล่านี้มันก็ทำให้เรารู้สึกว่า เออ มันดีนะ เราประหยัดทั้งที่คนอ่านก็ได้รับสิ่งที่เราต้องการหรือตั้งใจมากกว่าเดิม วิธีนี้ปลูกฝังเรามากในการทำหนังสือ แล้วพอประหยัดปุ๊บ เราสามารถขายในราคาที่ไม่แพงได้ อันนี้เป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังมาจากบริษัทที่ค่อนข้างใหญ่"

สุดท้ายเมื่อเราถาม ว่ามีความคิดฝันกับวงการหนังสือบ้านเราอย่างไร คุณแบ๊งค์ตอบอย่างน้ำใสใจจริงว่า "อยากให้วงการหนังสือสุขสงบครับ อย่างเช่นเราน่าจะเป็นพี่น้องกันเยอะๆ ไม่มีใครแข่งอะไรกับใรมาก แล้วก็ในฐานะที่เป็นรุ่นน้อง ถ้านับดูแล้วสำนักพิมพ์ที่เกิดใหม่ ไม่น่ามีเกิน 10 แห่งหลักจากที่ผมเกิด ก็อยากฝากเนื้อฝากตัวพี่ๆ ในธุรกิจนี้ ผลงานของเรามันจะเป็นวิธีใหม่ๆ ที่เราทดลอง เราอยากทำ เราอยากเห็นว่า มันยังมีช่องว่างที่ยังไม่มีใครทำบนแผงหนังสือ คิดว่าเราอยากให้มันมีครับ"

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ