คณา คชา : รางวัลชนะเลิศจากการประกวดวรรณกรรมเยาวชน รางวัลแว่นแก้ว ครั้งที่ 1

คณา คชา

คณา คชา เป็นนามปากกาของนักเขียนวรรณกรรมเยาวชนฝีมือเยี่ยมคนหนึ่ง ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายที่ชาวไทยยังไม่ค่อยรู้จักชื่อและงานของเธอมากนัก เพราะมัวแต่ไปทุ่มเทความสนใจให้กับเยาวชนต่างชาติเสียหมด ทั้งๆ ที่งานเขียนของเธอนั้นไม่ได้ด้อยฝีมือและคุณค่าไปกว่าวรรณกรรมเยาวชนแปลที่วางเด่นอยู่ตามชั้นหนังสือแนะนำเลยแม้แต่น้อย

รางวัลชนะเลิศจากการประกวดวรรณกรรมเยาวชน รางวัลแว่นแก้ว ครั้งที่ 1 จากวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง โลกใบนี้โคจรรอบกระทะกับหม้อเหล็ก เป็นเครื่องการันตีคุณภาพและฝีมือในการเขียนของเธอได้เป็นอย่างดี ไปทำความรู้จักกับเธอกันดีกว่า..

แนะนำตัวเองสั้นๆ สักหน่อยค่ะ
ชื่อ คณาพร สัมฤทธิ์ล้วน นามสกุลเดิม คชา นามปากกาเลยตั้งไว้ว่า "คณา คชา" จบการศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ทำไมถึงชอบเขียนเรื่องเด็ก หรือวรรณกรรมเยาวชนคะ
เป็นคนชอบอ่านหนังสือวรรณกรรมเยาวชนมาก ชอบหนังสือแนวนี้เพราะเป็นหนังสือที่เล่นกับจินตนาการ ความสวยงามของชีวิต เป็นหนังสือที่อ่านแล้วให้ความรู้สึกที่รื่นรมย์ มีอารมณ์ขัน เมื่ออ่านมาก ๆ เข้าก็ถึงจุดหนึ่งที่ทำให้อยากเขียน

แล้วเริ่มต้นเขียนหนังสือด้วยการเขียนวรรณกรรมเยาวชนเลยหรือเปล่าคะ
คงต้องเล่าย้อนไปตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ เลย เป็นคนฝันไว้ตั้งแต่เด็กว่าอยากเป็นนักเขียน เพราะตอนเด็ก ๆ จะอยู่กับพ่อสองคน แล้วไม่มีเพื่อนเล่น พ่อก็จะสนับสนุนให้อ่านหนังสือตลอด พอปิดเทอมทีก็จะไปยืมหนังสือจากร้านเช่าหนังสือเป็นตั้ง ๆ อ่านดะไปหมด อ่านเยอะมาก อ่านเยอะมากเข้าก็อยากเป็นนักเขียน แต่ตอนเด็ก ๆ จะไม่ค่อยได้อ่านวรรณกรรมเยาวชน เพราะหาอ่านยาก อ่านแต่นิยาย พอเริ่มต้นเขียน คงเหมือนนักเขียนทั่ว ๆ ไป ยังเขียนเรื่องยาว ๆ ไม่ได้ เริ่มจากเรื่องสั้น เขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกตอนเรียนม.ปลาย ส่งไปที่ฟ้าเมืองไทย ของคุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ ส่งไปได้ไม่กี่วัน คุณอาจินต์ ก็ส่งเรื่องสั้นกลับมาพร้อมกับจดหมายวิจารณ์ โอ้โห ดีใจมาก เป็นเรื่องที่ดีใจที่สุดตั้งแต่เขียนหนังสือมาเลย ว่าคุณอาจินต์เขียนถึงเรานะ ถึงเรื่องสั้นจะไม่ผ่าน แต่คุณอาจินต์วิจารณ์งานในแง่ที่ค่อนข้างดี นั่นคือบอกว่าเรามีแวว แล้วก็เป็นคนที่มีอารมณ์ขันดีมาก ก็เลยได้ใจ เขียนส่งไปอีกเรื่องหนึ่ง แต่คราวนี้หายต๋อมไป ก็ไม่ได้เขียนอีก หลังจากนั้นก็มีเขียนเล่าประสบการณ์สั้น ๆ ได้ลงที่แพรว พอเข้าเรียนมหาวิทยาลัยก็เขียนเรื่องสั้นส่งไปที่แพรวได้ตีพิมพ์ แต่เขียนแค่เรื่องเดียว ตอนเรียนมหาวิทยาลัยตอนนั้นเริ่มบ้าอ่านวรรณกรรมเยาวชนแล้ว เพราะมีแหล่งให้หาอ่าน หาซื้อ มีร้านหนังสือแซงแซวบุ๊คส์หน้ามหาวิทยาลัย ห้องสมุดของชมรมวรรณศิลป์ก็มีหนังสือเด็กเยอะ เริ่มเขียนวรรณกรรมเยาวชนแล้ว

เรื่องแรกส่งไปสำนักพิมพ์เรจีน่า ไม่ผ่านหายต๋อมไปเลย ก็เฉย ๆ จนเรียนจบออกมาทำงาน มีรุ่นพี่แนะนำให้ไปรับเรื่องจากสำนักพิมพ์แปลนมาแปล หนังสือเล่มแรกเลยเป็นเรื่องแปล "นิทานแคนาดา" หลังจากนั้นก็เขียน วรรณกรรมเยาวชนเรื่อง "โม่น้อยผจญภัย" ตอนแรกไม่ได้ตั้งชื่อนี้ ตั้งชื่อว่า "เดินทางตามหาดวงจันทร์" ส่งไปที่สำนักพิมพ์ดอกหญ้า เพราะตอนนั้นดอกหญ้าพิมพ์วรรณกรรมเยาวชนออกมาเยอะมาก ปรากฏว่าพอส่งไปปุ๊ป ไม่กี่วัน บก. โทรมาหาเลย อยากเจอตัว บอกว่าชอบเรื่องนี้มาก จะพิมพ์ ก็เลยไปพบ ก็ได้คุยกัน บก. ขอให้เขียนเพิ่มอีกสักบทสองบทเพราะสั้นไปหน่อย แล้วก็อยากเปลี่ยนชื่อเรื่อง เพราะชื่อที่ตั้งไว้ไม่จูงใจ หนังสือที่เขียนเล่มแรกในชีวิตเลยเป็นเรื่องโม่น้อยผจญภัย แล้วเสียงสะท้อนกลับเรื่องนี้ก็ดีมาก (ทำท่าว่าจะดีที่สุด ตั้งแต่เขียนหนังสือมาด้วยซ้ำ) ทางสำนักพิมพ์จะคอยบอกว่า เออ.. คนวาดภาพประกอบ ชอบเรื่องเรานะ มีนักแปลวรรณกรรมเยาวชนบอกว่าชอบเรื่องเรา คณา คชานี่คือใคร ทำงานเกี่ยวกับเด็กหรือเปล่า หรือจนตอนนี้ก็ยังมีเสียงเล่าให้ได้ยินอยู่ว่า มีคนยังอ่านเรื่องนี้ให้ลูกเขาฟังก่อนนอนอยู่เลย แล้วก็มีสำนักพิมพ์บอกว่าสนใจจะพิมพ์ให้ใหม่ บอกว่า อ่านใหม่แล้วยังรู้สึกดีอยู่ แต่ตอนนี้เงียบ ๆ ไป ไม่รู้ว่ายังจะทำอยู่หรือเปล่า

จากนั้นก็เขียนมาเรื่อย เป็นวรรณกรรมเยาวชนทั้งหมด ตั้งแต่นิทานท้องฟ้า อาณาจักรบนเตียงนอน ผจญภัยในแดนเงา เด็กหญิงจ้าง ระบำใบไม้ หมู่บ้านพิลึก แล้วก็มีเขียนนิทานส่งให้หญิงไทย ส่วนเรื่องสั้นนาน ๆ จะเขียนสักเรื่อง เรื่องแปลมีทำอยู่เรื่อย ๆ เหมือนกัน

หลังจากได้รางวัลแว่นแก้วยังเขียนเข้าประกวดในรายการอื่น ๆ อีกหรือเปล่าคะ
ถ้าเป็นวรรณกรรมเยาวชนไม่ส่งแล้ว แต่มีส่งสารคดีไปประกวดรางวัลนายอินทร์อวอร์ด พอดีมีเขียนเล่น ๆ เก็บไว้ เห็นประกาศก็เลยส่งประกวด แต่หายต๋อม ไม่ผ่าน

คิดว่าการจัดการประกวดมีความสำคัญแค่ไหน และมีส่วนช่วยในการสร้างนักเขียนและนักอ่านได้มากแค่ไหน
มีส่วนช่วยในการสร้างนักเขียนนักอ่านพอสมควร แต่ที่สำคัญมากที่สุดคิดว่าอยู่ที่สำนักพิมพ์ แล้วก็การร่วมมือร่วมใจของคนในวงการหนังสือ ไม่ว่าจะสมาคม ชมรมต่าง ๆ นักวิจารณ์ มากกว่า จะพูดในแง่ของวรรณกรรมเยาวชนอย่างเดียวแล้วกัน เพราะงานประเภทอื่นแทบจะไม่ได้เขียน

เดี๋ยวนี้หาสนามวรรณกรรมเยาวชนยากมาก กลายเป็นว่าแต่ก่อนส่งเรื่องไปไม่นานก็จะได้รับการตีพิมพ์ แต่เดี๋ยวนี้ มักจะถูกดอง ข้ามเป็นปี ๆ โดยได้รับเหตุผลว่า สำนักพิมพ์ยังไม่พร้อม ในแง่การตลาดคิดว่าขายยาก ขอให้รอไปก่อน บางเรื่องรอจนลืมกันไปเลย ก่อนจะตอบมาว่า ไม่พิมพ์แล้ว เดี๋ยวนี้เจอแบบนี้เยอะมาก กลายเป็นคนว่าคนเขียนวรรณกรรมเยาวชนไม่มีสนาม อยากได้รับการตีพิมพ์จะต้องส่งประกวด เป็นอย่างนี้จริง ๆ อย่างเรื่องที่ได้รับรางวัลแว่นแก้ว คิดว่าถ้าไม่ได้ส่งประกวด ส่งไปตามสำนักพิมพ์ธรรมดา รับรองเลย ป่านนี้ก็ยังไม่ได้รับการพิมพ์หรอก ซึ่งแตกต่างจากแต่ก่อน งานเขียนวรรณกรรมเยาวชนคนไทย ได้รับการสนับสนุนมากกว่านี้ สังเกตแต่ก่อนจะมีพิมพ์เยอะกว่านี้ มีงานของสำนักพิมพ์ต้นอ้อ มีของดอกหญ้า แต่เดี๋ยวนี้ งานวรรณกรรมเยาวชนไทยที่จะได้พิมพ์ต้องผ่านการประกวดอย่างรางวัลนายอินทร์อวอร์ด รางวัลแว่นแก้ว ไม่มีสนาม

แล้วงานประกวดแบบนี้ เป็นการประกวดเพื่อทำตลาดของสำนักพิมพ์ รางวัลนายอินทร์อวอร์ดมีทุกปี รางวัลแว่นแก้วมีทุกสองปี ตอนแรกก็ตื่นเต้นดีหรอก พอมีหนังสือได้รางวัลมาก็ซื้ออ่าน แต่ตอนนี้เลิกซื้ออ่านไปแล้ว คนอื่นไม่รู้นะ แต่ตัวเองรู้สึกแบบนี้ ไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ รู้สึกมันการตลาดเกินไป โดยส่วนตัวอยากให้เป็นลักษณะมีรางวัลจากหน่วยงานกลางมากกว่า เลือกจากหนังสือวรรณกรรมเยาวชนทั้งหมดที่ตีพิมพ์ในปีนั้นๆ มาให้รางวัลดีกว่า หรือจะเป็นรางวัลที่ตัดสินโดยจากนักอ่านกันโดยตรงแบบต่างประเทศก็ยิ่งดี คิดว่าทำแบบนี้จะเป็นการสนับสนุนการสร้างนักเขียน และนักอ่านมากกว่า

วงการวิจารณ์บ้านเราด้วย แทบจะไม่มีใครสนใจ พูดถึง เขียนถึงวรรณกรรมเยาวชนไทย คนเขียนวรรณกรรมเยาวชนบ้านเรา เป็นเหมือนประชากรชั้นสอง งานวรรณกรรมเยาวชนในมุมมองของนักเขียนประเภทอื่น และนักวิจารณ์ รวมทั้งคนทั่ว ๆ ไปด้วย จะมองว่าเป็นงานที่ง่าย เขียนไม่ยาก เจอมากับตัวเองเลย คือบ้านเราจะมองว่าเรื่องเกี่ยวกับเด็กเป็นเรื่องง่ายไปหมด เจอหน้าเพื่อนฝูง เพื่อนจะถามไถ่ยังเขียนเรื่องเด็กอยู่หรือเปล่า พอตอบว่ายังเขียนอยู่ เพื่อน ๆ ก็จะพูดทักกันว่า "เฮ้ย ทำไมไม่เขียนเรื่องประเภทอื่นบ้าง นิยงนิยาย" ทำนองเขียนทำไมวะ เรื่องเด็กน่ะ พอเจอเพื่อนที่อยู่ในวงการหนังสือ พอเพื่อนรู้ว่ายังเขียนเรื่องเด็กอยู่ ก็พูดออกมาว่า "เออดีวะ เขียนเรื่องเด็กง่ายดี" หรือนักเขียนเรื่องสั้นบางคนก็จะพูดถึงคนเขียนวรรณกรรมเด็กว่า "เขียนไปเถอะ ไม่ต้องดีอะไรมากมาย เดี๋ยวพ่อแม่ก็ซื้อให้ลูก ๆ อ่านเอง"ก็ถ้าบ้านเรา โดยเฉพาะคนในวงการหนังสือด้วยกันเอง ยังไม่เห็นคุณค่าของวรรณกรรมเยาวชน ไม่สนับสนุนกันเท่าไหร่ ก็ยากที่จะมีงานดี ๆ ในบ้านเรา

มีความเห็นอย่างไรกับเรื่องที่เยาวชนไทยอ่านหนังสือน้อย (เฉลี่ยวันละ 4 นาที)
เป็นเพราะขาดการสนับสนุนที่ดีมากกว่า ครอบครัวขาดการสนับสนุน พอดีมีลูกเล็ก ๆ อยู่ ยังแปลกใจที่ว่าเด็กไทยอ่านหนังสือน้อย เพราะเด็กเล็ก ๆ นี่จะชอบหนังสือมาก จะเปิดดูรูปภาพชอบให้พ่อแม่เล่าเรื่องให้ฟัง แล้วก็ห้องสมุดของโรงเรียน แทบจะไม่มีวรรณกรรมเยาวชนเลย ไม่รู้เดี๋ยวนี้เป็นไงนะ แต่สมัยก่อนน่ะ แทบจะไม่มีเลย ก็ถ้าไม่มีหนังสือสนุก ๆ ใกล้ตัวให้เด็กได้สัมผัส แล้วเด็กจะชอบอ่านหนังสือได้ยังไง โดยส่วนตัวคิดว่าเด็กชอบอ่านหนังสือสนุก ๆ ที่เหมาะกับวัยเขา เคยเจอหลานเพื่อนคนหนึ่ง ลองให้เขาอ่านเรื่องลิฟต์มหัศจรรย์ของโรอัลด์ ดาลห์ เขาไม่อ่านท่าเดียว บอกว่า มีแต่ตัวหนังสือ ไม่หนุกแน่เลย เขาชอบอ่านการ์ตูนมากกว่า เราก็พยายามจะบอกเขาว่าสนุกนะ จนลงทุนนั่งอ่านให้เขาฟังเลย ปรากฏว่าเขาชอบมาก นั่งฟังตาแป๋ว กระตือรือร้นร้องขอให้เราอ่านให้ฟังอีก นี่แสดงว่าเขาไม่ได้รับการสนับสนุน ภาครัฐก็ไม่ได้สนับสนุนอะไร หนังสือแพงมากด้วย น่าจะถูกกว่านี้ หนังสือแพง คนก็มีปัญญาหาซื้ออ่านได้น้อยลง ห้องสมุดประชาชนใกล้บ้านก็ไม่มี ไม่มีการรณรงค์ให้อ่านหนังสือ มีน้อยมาก แล้วจะสู้สื่ออื่นได้ยังไง ที่รณรงค์ให้คนไทยเล่นกีฬาได้ ก็น่าจะรณรงค์ให้อ่านหนังสือได้

มีความเห็นอย่างไรก็กระแสวรรณกรรมแปลที่ทะลักเข้ามา
ส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี เป็นทางเลือกสำหรับคนอ่าน แต่สำนักพิมพ์ต่าง ๆ น่าจะมีส่วนรับผิดชอบกับสังคมบ้าง ไม่ใช่วรรณกรรมแปลขายได้ แล้วทำแต่วรรณกรรมแปล ละเลยวรรณกรรมของคนไทย ถ้าจะไม่ดีก็ตรงนี้ เดี๋ยวนี้เวลาเดินร้านหนังสือ บางทีนึกถึงนักเขียนเก่า ๆ ที่เคยชื่นชอบ อยากหางานใหม่ ๆ ของนักเขียนเหล่านี้มาอ่าน ปรากฏว่าแทบจะหาหนังสือของนักเขียนเก่า ๆ ที่มีคุณภาพไม่ได้เลย หนังสือของคนไทย กลายเป็นหนังสือตามกระแสแฟชั่นไปเสียเกือบหมด

สมัยนี้เข้าร้านหนังสือแล้วเจอแต่วรรณกรรมแปล คนบางกลุ่มก็เกิดอาการ "นิยมของนอก" ไม่อ่านงานเขียนของคนไทย
ตัวเองก็เป็น จะเลือกอ่านวรรณกรรมแปลก่อนของคนไทย เพราะรู้สึกว่างานนอกหลากหลายกว่า ช่างคิด มีมุมมองแปลก ๆ แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่อ่านงานของคนไทยเลย อ่าน แต่อ่านแล้วรู้สึกว่ามันไม่มีอะไรใหม่ แล้วช่วงหลังยังมีงานดี ๆ ของคนไทยออกมาน้อยอีก ยิ่งไปกันใหญ่เลย จริง ๆ ต้องมีปริมาณที่สมดุลกัน ต้องสนับสนุนงานของคนไทยที่มีคุณภาพออกมาด้วย ไม่ใช่คิดแต่ทางการตลาดกันอย่างเดียว ทำแต่หนังสือตามกระแสแฟชั่นอย่างเดียวก็แย่ โดยส่วนตัวยังเชื่อว่า คนไทยก็อยากอ่านงานของคนไทย เพราะยังไงซะ การเสพงานพวกนี้ เสพสิ่งที่เป็นเรื่องราวใกล้ตัว จะเข้าใจความคิดความอ่านกันได้ดีกว่า

คิดว่าน่าจะแก้ปัญหายังไงคะ
สำนักพิมพ์มีส่วนช่วยมาก ไม่ใช่ทำงานแปลแล้วขายได้ ก็ทำแต่งานแปลอย่างเดียว น่าจะคืนกำไรให้แก่สังคมไทยโดยการพิมพ์งานคนไทยบ้าง

อะไรคืองานวรรณกรรมเยาวชนที่ดี
งานวรรณกรรมเยาวชนที่ดี ต้องเป็นงานที่สื่อสารกับเยาวชนได้ ให้มุมมอง ให้แง่คิดที่ดีแก่เด็ก โดยส่วนตัวคิดว่าต้องสนุกด้วย

การเขียนวรรณกรรมเยาวชนยากไหมคะ
ส่วนตัวคิดว่าไม่ยาก เพราะชอบ แล้วก็ถนัด คิดว่าถ้าไปถามคนเขียนนวนิยาย ว่าเขียนนิยายยากมั้ย พวกนั้นก็คงตอบว่าไม่ยาก แต่สำหรับตัวเองคิดว่าเขียนนิยายยาก ขณะเดียวกัน พวกเขียนนิยายบางคนมาลองเขียนวรรณกรรมเยาวชนก็บ่นว่ายาก ขึ้นอยู่กับความถนัดและความชอบมากกว่า

ผลงานชิ้นต่อไป?
ตอนนี้เขียนเรื่องเกี่ยวกับลูกอยู่ เรื่อง "การเดินทางบนโลกใบกลม ๆ ของน้องเต้น" ยังไม่รู้ว่าจะมีใครพิมพ์ให้มั้ย ส่วนผลงานชิ้นต่อไป มีงานแปลเรื่อง the pushcart war (สงครามรถเข็น) ส่งไปให้ที่มติชน คิดว่าคงจะพิมพ์ให้ เพราะทางมติชนบอกกำลังทำเรื่องติดต่อขอลิขสิทธิ์อยู่ แล้วตอนนี้มีโครงเรื่องที่คิดจะเขียนเป็นวรรณกรรมเยาวชนอีกสองเรื่อง

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ