เมื่อตะวันลับฟ้า : บทวิจารณ์วรรณกรรม เรื่อง เมื่อตะวันลับฟ้า

เมื่อตะวันลับฟ้า

จำได้ไหม คุณอ่านหนังสือครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ? หลายคนอาจตอบว่า หนึ่งปี บางคนอาจตอบว่าหนึ่งเดือน หรือแม้กระทั่งหนึ่งวัน แต่สำหรับข้าพเจ้าคำตอบนั้นคงเป็นหนึ่งชั่วโมง เป็นหนึ่งชั่วโมงที่ยังยิ้มด้วยความอิ่มเอมใจที่ได้สัมผัสหนังสือที่มีคุณค่า หนังสือปกสีเขียวเล่มน้อยให้ความสบายตาทุกครั้งเมื่อได้มอง ภาพปกที่เย็นตาผสมกับเงาภาพคนสองคนช่วยกันปลูกต้นไม้นั้นชวนให้ข้าพเจ้าเดาว่าเนื้อหาข้างในคงเป็นเรื่องของความรักของหนุ่มสาวเป็นแน่ ด้วยชื่อหนังสือที่ดูเหมาะกับความรักและรูปภาพที่ชวนให้จินตนาการตาม แต่หากท่านผู้อ่านได้พลิกไปดูข้างหลังของเล่ม คงต้องร้องอ๋อดั่งที่ข้าพเจ้าได้ทำ เพราะหนังสือเรื่องนี้มิได้เป็นเรื่องความรักของคนเพียงสองคนเท่านั้น หากแต่เป็นความรักที่แสนจะยิ่งใหญ่ เป็นรักที่มาพร้อมกับความเสียสละ และเป็นรักที่ไม่หวังครอบครองแม้แต่เศษเสี้ยว นั่นคือความรักที่รักเพื่อนร่วมโลกด้วยกันเอง

ข้อความหลังปกที่ดึงดูดสายตาของข้าพเจ้าให้จ้องมองและกวาดสายตาอ่านจนจบนั้น คงเป็นการนำวิถีชีวิตของคนที่อาศัยในป่าเขามานำเสนอ ด้วยภาษาที่เรียบง่ายแต่กินใจทำให้ข้าพเจ้ามีความอยากรู้เรื่องราวภายในเล่มจนต้องรีบเปิดอ่านเนื้อหาด้านใน และคงเป็นข้อความนี้ที่ข้าพเจ้ายินดีที่ได้นำเสนอแก่ท่านผู้อ่าน " พวกเขามีทุ่งนาป่าเขาเป็นโรงเรียน มีท้องฟ้าสายลมแสงแดดเป็นครู อยู่ร่วมกับมดแมลงสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ ใบไม้ ผักหญ้าและพืชไม้นานาพรรณ สร้างรังอยู่อย่างนกหัวโต โผบินออกไปสร้างป่าและชีวิต" แม้จะเป็นเพียงข้อความสั้นๆ ที่แทรกอยู่ในบทความหนึ่งหลังปก ทว่าสิ่งนี้กลับมีคุณค่าต่อข้าพเจ้าจนสามารถเข้าไปอยู่ในก้นบึ้งหัวใจได้อย่างง่ายดาย

"เมื่อตะวันลับฟ้า "คือ ชื่อหนังสืออันทรงคุณค่าที่ข้าพเจ้ากำลังกล่าวถึง ผลงานของ อุดม วิเศษสาธร นักเขียนผู้มีความคุ้นเคยกับธรรมชาติ และมีความประทับใจผู้ที่รักษาธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง จึงได้นำเสนอมุมมองของคนปลูกต้นไม้ คนรักป่า พร้อมทั้งถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องราวชีวิตของพวกเขาในรูปแบบวรรณกรรมที่มีเนื้อหาสอนใจคนทุกเพศ ทุกวัย

"เมื่อตะวันลับฟ้า" วรรณกรรมเยาวชนที่มุ่งเน้นความสำคัญของธรรมชาติ หนังสือที่สะท้อนเรื่องราวของมนุษย์ที่มีต่อธรรมชาติในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ผู้เขียนได้แฝงเรื่องราวของคนในอดีตผ่านบทสนทนาของตัวละครในเรื่องไว้ เพื่อเป็นความรู้แก่ผู้อ่าน

ผู้เขียนดำเนินเรื่องโดยการเล่าเรื่องราวผ่านตัวละครเอกที่ชื่อว่า ปู ชายหนุ่มเมืองกรุงผู้มีชีวิตหรูหรา ผู้ติดอยู่กับการเล่นหุ้น ชีวิตของเขาในแต่ละวัน มีเพียงแต่หุ้นและการคิดคำนวณ ตรงข้ามกับพ่อของปู ที่เป็นลูกชาวป่า พ่อใช้ชีวิตอยู่กับภูเขา ต้นไม้ และสัตว์น้อยใหญ่ในป่า พ่อบอกกับปูทุกครั้งว่าธรรมชาติเปรียบเสมือนยาวิเศษ ที่ช่วยให้ชีวิตกลับมามีพลังอีกครั้ง ทุกครั้งที่พ่อมีปัญหาจึงมักจะกลับบ้านป่าเพื่อเติมพลัง และทุกครั้งที่กลับมาพ่อก็มักจะเล่าเรื่องราวความงามของธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นความน่ารักของสัตว์ หรือแม้กระทั่งความท้าทายของชีวิตที่ต้องอยู่กับความลำบากให้ปูฟัง แต่น่าเศร้าใจเมื่อทุกครั้งที่พ่อเล่าเรื่องราวเหล่านั้นอย่างภาคภูมิใจ ปูทำเพียงแต่เออออ และยิ้มให้พ่ออย่างแห้งๆเท่านั้นมิได้มีความบันเทิงใดๆปรากฏให้ผู้เป็นพ่อได้เห็น เพราะตนไม่มีความคิดจะไปใช้ชีวิตอย่างที่พ่อหวังเอาไว้สักครา

แต่ชีวิตก็คือชีวิต เมื่อมีขึ้นย่อมมีลง จะโชคชะตาหรือฟ้าลิขิตก็มิอาจทราบ เมื่อวันหนึ่ง โชคร้ายได้เข้ามาเยือนชีวิตที่แสนจะสมบูรณ์ของปู ให้มีส่วนที่สึกหรอ ปูได้พบกับความผิดหวังที่ร้ายแรงที่สุดของชีวิตหุ้นที่กำลังตกพาชีวิตเขาตกไปด้วย คนรักที่ร่วมทางมาด้วยกันก็พลันตีตัวออกห่าง ชีวิตของปูจึงเหลือเพียงพ่อและแม่เท่านั้น

เมื่อคิดว่าชีวิตที่มีนั้นตกต่ำ ปูจึงคิดประชดชีวิตด้วยการไปอยู่หมู่บ้าน " ป่าเสือร้าย" บ้านป่าที่พ่อเขามักเล่าให้ฟัง และชีวิตเขาก็เปลี่ยนไป เมื่อได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ บ้านป่าเสือร้ายมิได้ร้ายเหมือนอย่างชื่อที่ได้ยิน ตรงกันข้ามสัตว์ทุกตัวที่นี่คือเพื่อนของเขา ไม่เว้นแม้แต่จิ้งจก ตุ๊กแก ที่เขาเคยเกลียดและกลัวเป็นหนักหนา ชีวิตของปูคงไม่เปลี่ยนอะไรมากนัก หากไม่ได้รับการเรียนรู้จากสองตายายที่เป็นดั่งครูในเรื่องนี้ นั่นก็คือตาเปลื้องและยายเป็ด

ผู้เขียนถ่ายทอดมุมมองความรักที่มีต่อธรรมชาติผ่านตัวละครทั้งสอง ตาเปลื้อง และยายเป็ดเป็นตัวแทนของคนในป่าที่มีความใฝ่รู้ใฝ่เรียนสูง เห็นได้จากการที่ทั้งคู่หมั่นอ่านหนังสือ ฟังวิทยุ เพื่อต้องการรู้ให้ทันข่าวสารบ้านเมือง ไม่เพียงรู้เพื่อตนเองเท่านั้น แต่ทั้งสองยังอ่านและฟังเพื่อผู้อื่นอีกด้วย กระบวนการ "นกหัวโต "จึงได้เกิดขึ้นจากคนทั้งสองเพราะได้ทราบปัญหาของเพื่อนร่วมโลก อ่านมาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงสงสัยแล้วว่า" นกหัวโต " คืออะไร เป็นนกสายพันธุ์ไหน? จากบทความหนึ่งในหนังสือดีเล่มนี้ที่ข้าพเจ้าจะขอหยิบยกมา คงเป็นคำตอบต่อท่านผู้อ่านได้ " คนที่ปลูกต้นไม้อย่างนก คือปลูกโดยไม่ยึดถือเป็นของตน ปลูกให้กับทุกชีวิต ปลูกให้กับแผ่นดิน จึงควรจะเรียกนกหัวโต"

นอกจากเนื้อเรื่องของหนังสือเรื่องนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของต้นไม้ และความงามธรรมชาติแล้ว ในด้านการใช้ภาษาผู้เขียนเลือกใช้ภาษาที่เรียบง่ายแต่แสนจะกินใจมาใช้ในการถ่ายทอดเรื่อง ซึ่งข้อความหนึ่งที่ข้าพเจ้าอยากนำเสนอแก่ท่านผู้อ่านคือข้อความที่สอนเรื่องการเข้าใจต่อชีวิต แม้ชีวิตจะตกอยู่ในช่วงที่ต่ำที่สุดก็ตาม " ต้องเป็นคืนท้องฟ้าดำมืดที่สุด ดาวจึงจะสว่างที่สุด สวยที่สุด ดวงอาทิตย์จะสวยที่สุด ต้องเป็นขณะตกต่ำที่สุด บางครั้งชีวิตของเรา ไม่ต่างจากดวงดาวและดวงอาทิตย์ " นับว่าเป็นข้อความที่ทำให้ข้าพเจ้าได้เห็นมุมมองใหม่ๆในชีวิตอีกหนึ่งมุมมอง เพียงแค่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้

ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่าหนังสือเรื่องนี้เป็นหนังสือดี มีคุณค่า ทั้งในด้านภาษาที่ได้ฝากคำคมสอนใจไว้อย่างมากมาย แต่อีกหนึ่งประการที่ข้าพเจ้ามิพูดถึงคงจะมิได้ นั่นคือ แนวคิดหลักของเรื่องนี้ เป็นแนวคิดอันยอดเยี่ยมที่คนในสังคมควรได้อ่าน นั่นคือการเป็นคนรู้จักให้ นับว่าเมื่อตะวันลับขอบฟ้า เป็นหนังสืออีกเรื่องหนึ่งที่สอนคนให้เป็นคนดีได้อีกหลายคน สำหรับข้าพเจ้า นอกจากการปลูกต้นไม้ที่เป็นกระบวน "นกหัวโต"แล้ว การได้อ่านหนังสือเรื่องนี้ก็ถือว่าได้เป็น "นกหัวโต" เช่นเดียวกัน อยู่ที่ว่า "คุณพร้อมจะเป็นนกหัวโต " แล้วหรือยัง ?

 

พรรณภา แสงยะรักษ์

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ