จักรพันธุ์ กังวาฬ : หนุ่ม หนังสือเดินทาง ผมอ่าน เขียน และขายหนังสือ

จักรพันธุ์ กังวาฬ

“เดินที่สูง” และ “ประเทศของเราเหมือนสวนดอกไม้” เป็นหนังสือ 2 เล่มของ “สำนักพิมพ์หนังสือเดินทาง” สำนักพิมพ์ที่มีชื่อเดียวกับ “ร้านหนังสือเดินทาง” บนถนนพระอาทิตย์ แน่นอนว่าที่กล่าวมาทั้งหมดมี “หนุ่ม” หรือ อำนาจ รัตนมณี เป็นเจ้าของ เดียวกัน หลังจบจาก คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เขาเคยทำข่าวให้กับสถานีโทรทัศน์ของสิงคโปร์ประจำภูมิภาคอินโดจีน และทำงานให้กับธนาคารโลกประจำประเทศไทย ก่อนที่จะลาออกมาเปิดร้านหนังสือเดินทาง ร้านที่เขาดูแลด้วยตนเองทุกวันถ้าอย่างนั้นคนทำร้านหนังสือเดินทางก็ไม่ได้เดินทางล่ะสิ เปล่าเลยเขาบอกว่าการทำร้านหนังสือเป็นการเดินทางอย่างหนึ่ง เป็นการเดินทาง “ภายใน” ที่ “ทักษะ” และ “วุฒิภาวะ” เคลื่อนไหวอยู่ตลอด

ในหนังสือ“ประเทศของเราเหมือนสวนดอกไม้” ที่ “หนุ่ม หนังสือเดินทาง” เป็นผู้เขียนนั้น เขาเล่าว่ากิจวัตรประจำวันของเขาคืออ่านเขียน และขายหนังสือเราอยากแนะนำให้ท่านรู้จักผู้ชายที่ไม่ดูทีวี ไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มเหล้า แต่น่าสนใจมากๆนี้

คุณเริ่มเขียนหนังสือยังไง
เริ่มเขียนก่อนที่จะมาเปิดร้านอีก เพียงแต่ว่าไม่มีชื่อเสียง พอชอบหนังสือก็เลยมีวิถีของมัน การเขียนหนังสือก็เป็นวิธีหนึ่ง เขียนลงกรุงเทพธุรกิจเป็นหลักเป็นเรื่องเดินทางท่องเที่ยวนี่แหละ ไม่ได้บ่อยมากแต่ก็มีเรื่องไปลงอย่างสม่ำเสมอ วันหนึ่งมาเปิดร้านหนังสือ ความสนใจในการเขียนก็ถูกย้ายมาอยู่ที่ร้านชั่วคราว พอเริ่มอยู่ตัวก็เริ่มเขียนอีก ก็เลยกลายมาเป็นเล่มนี้

เขียนหนังสือตอนไหน
เขียนเล่มนี้หลังจากทำร้านมาแล้ว 3 ปี ใช้เวลาเขียนนานมาก มีเรื่องให้เขียนนานแล้ว เพียงแต่ว่าเงื่อนไขชีวิตไม่ได้เอื้อให้เรามีเวลามากอย่างนั้น หนึ่งคือเขียนกลางคืน สองเขียนเวลาลูกค้าไม่อยู่ในร้าน ค่อยๆทีละนิดทีละหน่อย รวมเวลาแล้ว 11 เดือน ก็ไม่ถือว่านาน ประเด็นที่จะเขียนมันมีอยู่แล้ว รู้สึกตั้งแต่ตอนที่ไปประสบมาแล้ว หมักหมมมาทั้งชีวิต บางเรื่องไม่ได้เกิดที่เนปาล แต่เล่าได้โดยใช้เนปาลเป็นสื่อ ดำเนินเรื่อง จะใช้คำว่าสารคดีก็ไม่เชิง รูปแบบมันกึ่งๆเรื่องสั้น สายส่งหนังสือยังโทรมาถามว่าสารคดีหรือเรื่องสั้นดี


ไปเที่ยวเนปาลเมื่อไหร่
ไปเที่ยวเนปาลหลังเปิดร้านแล้ว ผมหาวิธีเบรกตัวเองจนได้ ไปมาสักปี กับ 5 เดือนได้แล้ว แล้วก็เอากลับมาเขียนพอใจกับงานเขียนชิ้นนี้แล้วหรือยัง พอใจแล้ว พร้อมจะให้มันออกมาสู่คนอ่านแล้ว ไม่ได้รู้สึกว่าต้องรีบทำให้เสร็จเพื่อที่จะรีบขาย ทำจนอิ่มแล้ว ไม่มีเรื่องที่จะเล่าแล้วนะ อาร์ตเวิร์คได้ตามที่เราต้องการแล้วนะ เล่มนี้ไม่ได้ผ่านการตีพิมพ์ตามนิตยสารมาก่อน จริงๆมีเรื่องที่จะรวมเล่มจากงานเขียนที่ตีพิมพ์ไปแล้ว แต่เก็บไว้ก่อนเพราะยังไม่ผ่านมาตรฐานของตัวเอง ตอนไปเนปาลก็ไม่ได้คิดว่าจะกลับมาเขียน แต่มันมีหลายเรื่องที่กระทบความรู้สึก บางเรื่องก็คิดไว้ก่อนแล้ว เมื่อผ่านการเดินทางทำให้รู้ว่าเราก็ไม่ได้คิดไปคนเดียว มันชัดขึ้น มีหลายประเด็นที่โยงไปเรื่องอื่นได้อีก เขียนได้กว่าสิบเรื่อง เรียงเป็นประเด็น ไม่ได้เขียนว่าวันที่หนึ่งไปไหน วันที่สองไปไหน เช่นเล่าถึงผู้ชายบางคนที่เป็นลูกหาบอยู่บนภูเขา เห็นแล้วรู้สึกถึงพ่อตัวเอง ผู้ชายคนนี้ทำไมต้องมาลำบากขนาดนี้ นึกถึงเด็กชาวเขาคนหนึ่งที่เคยพบเมื่อ 7-8 ปีที่แล้วที่เชียงใหม่ ที่พาลูกจากบนเขาลงมาสอนให้ทำมาค้าขายข้างล่าง มันเชื่อมโยงกันได้

วิธีการเขียนของคุณเป็นอย่างไร
จะเขียนเรื่องอื่นไหมในอนาคตก็ไม่แน่ แต่หลักๆคือเขียนในสิ่งที่ตนเองรู้ก็เท่านั้น ถ้าไม่รู้ก็จะไม่ไปพยายามขนขวายเขียน เขียนเรื่องที่อยากจะเขียน เรื่องที่มีประสบกับมันจริงๆ หนึ่ง คือผมไม่ใช่คนที่อ่านข้อมูลแล้วเอามาเขียนได้ ยอมรับว่าไม่มีความสามารถตรงนั้น เขียนได้ก็อาจจะไม่ดี ในแง่ข้อมูลเราอาจจะสู้กับคนที่มาทางสายวิชาการไม่ได้ แต่เรื่องที่ไปเจอมากับตัวเองเป็นประสบการณ์เฉพาะ ที่เดียวกัน คุณไปก็ไม่เจอประสบการณ์เหมือนผมหรอก เจอคนเดียวกัน สิ่งที่เขาพูดกับผมก็ไม่เหมือนกับคุณหรอก นั่นคือเสน่ห์ แล้วผมก็ชอบวิธีอย่านั้น

การเดินทางสำคัญกับการเขียนหนังสือแค่ไหน
การเดินทางสำคัญกับการเขียนของผมมาก มันคงเป็นแนวของแต่ละคนที่จะหาที่ทางให้กับตนเอง หลายคนถนัด กวี เรื่องสั้น ก็ว่ากันไป สารคดีเองก็มีหลากหลาย บางคนก็เน้นบันเทิงในแนวของเรียกเสียงหัวเราะเฮฮา บางคนก็เน้นความรู้ในเชิงศิลปวัฒนธรรมที่ลงลึกไปเลย แต่ผมก็ถนัดอีกแบบหนึ่ง ผมชอบคุยกับคน มันได้เรื่องได้ราว การเดินทางสำคัญกับผมเพราะเป็นวิธีเดียวที่ได้เรื่องมาเขียน จริงๆเวลาไปก็ไม่ได้บอกว่าไปครั้งนี้จะต้องได้เรื่องมาเขียน ถ้าทำอย่างนั้นมันเป็นหน้าที่ ไม่ได้รู้สึกไปทำงาน ไปคือไปเที่ยว สไตล์การเที่ยวของผมเป็นแนวนั้นจึงมีโอกาสเจอหลายอย่าง มีโอกาสได้เจอหลายเรื่องที่ทำให้เมื่อกลับมาเขียนมีเรื่องเขียน

การทำร้านหนังสือทำให้ได้เที่ยวน้อยลงไหม
มองได้ 2 แบบ คือ 1 รูปธรรมคือได้เที่ยวน้อยเพราะภาระหน้าที่บังคับให้เราต้องอยู่กับร้านตลอด แต่ในแง่ความรู้สึกไม่ได้ขาดแคลนตรงนั้น เพราะปีหนึ่งผมเบรกตัวเองไปเที่ยวไกลๆครั้งหนึ่งแน่ๆ และทำมาตลอดตั้งแต่ทำร้านหนังสือ ถามว่าตลอดหนึ่งปีไม่อยากไปไหนบ้างหรือ ผมรู้สึกว่าการอยู่กับที่และการพยายามสร้างอะไรอย่างหนึ่งขึ้นมากับมือก็คือการเดินทางอย่างหนึ่ง ความรู้สึกของตนเอง ถ้ามองย้อนกลับไปตั้งแต่วันแรกที่ทำร้านหนังสือ กับตลอดเส้นทาง 4 ปีตรงนั้นที่ทำร้านหนังสือก็มองเห็นว่าที่ผ่านมาทำอะไรบ้าง ก็สนุกไปอีกแบบ มันอยู่กับที่ก็จริง แต่ว่าข้างใน เรื่องความรู้สึก หรือวุฒิภาวะของเราเคลื่อนไหวตลอดเช่นกัน บางทีมันไม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายสถานที่ก็รู้สึกว่าเดินทางอยู่เช่นกัน

เรื่องการทำร้านหนังสือก็น่าจะถ่ายทอดเช่นกัน ใช่ไหม
ยังไม่ถึงเวลา (หัวเราะ) เรื่องนี้ก็คิดอยู่เหมือนกัน แต่รอให้มีสิ่งที่ชัดเจนกว่านี้ เพราะตอนนี้ผมก็ยังเรียนรู้อยู่ การสรุปเป็นบทเรียนให้คนอื่นรู้ก็น่าจะชัดเจนกว่านี้ เพราะมันก็มีเสน่ห์ของมันเพราะผมก็ได้สิ่งจรรโลงใจ ได้เรื่องราวดีๆจาก คนที่มาในร้านมากมาย ถ้ามาแบ่งปันก็คงเป็นแรงบันดาลใจให้กันและกันได้ อย่างน้อยถ้าใครจะทำร้านหนังสือก็อย่าทำวิธีที่ผมทำ อาจจะมีวิธีทำที่ดีว่านี้ก็ได้ ถามว่าคิดจะเล่าเรื่องร้านหนังสือไหม ก็คงไม่เร็วๆนี้ ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่

สำนักพิมพ์หนังสือเดินทางมีที่มายังไง
การเขียนเรื่องนี้ออกมาโยงกับประเด็นที่ว่าเราอยากทำสำนักพิมพ์ ไม่ใช่ทำมาเพื่อพิมพ์งานของตนเอง เพียงแต่คิวนี้เป็นคิวที่งานของตนเองพร้อม อย่างเล่มแรกก็เป็นงานของคนอื่นมารวมกัน ยังมีคนส่งต้นฉบับมาเลย ถ้ามีงานน่าสนใจผมก็พิมพ์ เราเป็นสำนักพิมพ์เริ่มต้น ไม่ใหญ่โต เราทำตามกำลังความสามารถ ไม่ได้ตั้งความหวังว่าปีหนึ่งต้องทำสิบปกเป็นอย่างต่ำ เราอยากทำงานด้วยความสุข ไม่อยากให้วงจรมาเร่งรัดเราภายหลัง หมายความว่าเมื่อเรามีเงินพร้อมและมีต้นฉบับดีๆเราก็พิมพ์ การพิมพ์หนังสือปีละเล่มสำหรับผมถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ผมมองยาวๆ ถ้าเราทำได้ทุกปี สิบปีก็มีสิบเล่ม ยี่สิบปีก็มียี่สิบเล่ม ยี่สิบปีข้างหน้าเราอายุ 50 กว่า ถ้ามีหนังสือ 20 เล่มที่เป็นหนังสือดี แล้วยังขายได้ตลอดเราก็น่าจะอยู่ได้ ผมไม่อยากทำหนังสือที่ขายดีวูบหนึ่งแล้วหายไปจากท้องตลาดเลย มันน่าเสียดาย ถ้าเป็นไปได้ก็อยากทำหนังสือที่ออกมาแล้วมันอยู่กับกาลเวลาได้ ในความหมายที่ว่า 5-10 ปีผ่านไปกลับมาอ่านก็ยังได้อะไรกับมัน

เกณท์ในการเลือกหนังสือที่จะพิมพ์เป็นอย่างไร
คงคล้ายกับการเลือกหนังสือเข้าร้าน หนึ่งใช้รสนิยมหรือความชอบส่วนตัวเป็นปัจจัยแรก คงให้ความสำคัญกับแนวเดินทางเป็นหลัก เพราะเราถนัดแนวนี้ และอยากทำให้มันชัดเจนยิ่งขึ้น คงไม่หันไปตามกระแส เพราะอยากนั้นมันสะเปะสะปะไปสำหรับผม แล้วเราก็ไม่ได้มีความสามารถทุกอย่าง โจทย์มันคล้ายร้านหนังสือเดินทางมันอยู่มาได้ตอนนี้เพราะเราอธิบายชัดเจนว่าเราเป็นใคร เมื่อเราทำสำนักพิมพ์ก็ต้องการคงสิ่งนี้ไว้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเดินทางท่องเที่ยว ถ้าเจอวรรณกรรมดีๆ ที่เกี่ยวกับการเดินทางก็เอา หรือประวัติบุคคลดีๆน่าสนใจ และมีนัยยะของการออกไปดูโลกกว้าง มีความทะเยอทะยาน สร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้ ก็เอา ไม่จำเป็นต้องนักเขียนมีชื่อ ผมบอกคนที่ทำหนังสือทำมือมาฝากขายว่าเขียนไปเรื่อยๆสิ ถ้าวันหนึ่งมันโอเคจะได้ร่วมงานกันสักอย่างก็ได้ เราก็เรียนรู้ไปด้วยระหว่างที่ทำ

สำหรับงานเขียนส่วนตัววางแผนยังไง
วันก่อนคุณจักรภพ เพ็ญแขมาที่นี่ เขาซื้อหนังสือหลายเล่มแล้วก็ได้คุยกัน ถามเขาว่ามีเวลาอ่านหนังสือหรือ เขาบอกว่าสำหรับสิ่งที่ชอบเรามีเวลาให้เสมอ ก็เหมือนกัน สำหรับสิ่งที่ชอบถ้าจะมีหน้าที่การงานยุ่งขนาดไหนก็หาเวลามาทำจนได้ ผมไม่ได้บอกว่าจะออกงานเขียนปีละเล่มหรือสองปีเล่ม คงยึดความคิดเดียวกับเมื่อครู่คือเมื่อรู้สึกว่าตนเองมีเรื่องเล่าเมื่อไหร่ เนื้อหาโอเค มีประเด็นเล่าแตกต่างจากที่เคยเล่า ก็อาจจะมีโอกาสทำอีกเล่มหนึ่ง ทุกวันผมก็คิดอยู่ตลอด เพียงแต่ว่าเรายังไม่เขียนออกมาเป็นตัวหหนังสือ เขียนในสมองก่อน บางทีก็จดประเด็นไว้ก่อนยังไม่เขียนทันที วันหนึ่งเราไปเจอเหตุการณ์บางเหตุการณ์ที่มันคล้ายๆกันสามารถนำมาผูกโยงเป็นเรื่องเดียวกันได้ ก็น่าจะได้เรื่องขึ้นมาในอนาคต ตอนนี้ผมจึงมีสมุดโน๊ตที่ค่อนข้างเขียนเรื่องสะเปะสะปะ บางคนถามว่าไปไม่เท่าไหร่ เขียนเรื่องได้ตั้งเยอะ ผมว่าเป็นวิธีของแต่ละคน ผมก็ไม่รู้จะบอกยังไง บางคนถามว่าพี่ไม่ลืมบ้างเลยหรือ บางทีพี่นักเขียนเข้ามาในร้านบางคำพูดดีๆผมก็จดไว้

การทำร้านหนังสือ เขียนหนังสือ และทำสำนักพิมพ์ ชอบอันไหนมากกว่ากัน
แต่ละอันมีเสน่ห์ต่างกัน ชอบก็คือชอบ ตั้งแต่ตัดสินใจที่จะมาแนวนี้แล้วด้วยซ้ำ ย้อนกลับไปว่าทำไมเรามาทำร้านหนังสือ เขียนหนังสือ ไม่ทำอาชีพอื่น ก็เพราะเราชอบหนังสือ เราก็เลยมาทางนี้ เป็นไปตามที่ต้องการ ทำร้านได้ ทำสำนักพิมพ์ได้ ส่วนจะนานแค่ไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง สามารถเขียนงานออกมาได้ ผมรู้สึกว่ามันมีขั้นของความสำเร็จ ทีละขั้น ๆ ไม่ได้ชอบอันไหนมากกว่ากัน แต่ละส่วนจะเป็นบันไดก้าวขึ้นไปสู่อันอื่นได้ ในรายละเอียดการเปิดร้านหนังสือแง่หนึ่งคือการทำความรู้จักกับหนังสือ กลุ่มลูกค้า เราต้องเจอคนไม่รู้กี่ประเภทในแต่ละวัน แล้วต้องมีความอดทนมาก ไม่ได้บอกว่าจะยอมสูญเสียความเป็นตัวตนเพื่อจะเอาใจเขา แต่ในแง่หนึ่ง ก็ต้องเข้าใจคน นานไปทำให้เรานิ่งขึ้นเยอะ เป็นการฝึกอย่างหนึ่ง
การมาเขียนหนังสือคือการอ่านความคิดของตนเอง คือการเอาสิ่งที่เราเจอในแต่ละวันมาสังเคราะห์ใหม่ ทำให้มันชัดเจนขึ้น ทำให้เราไม่หลง ว่าเราเป็นคนแบบไหน ควรทำอะไร เพราะสิ่งที่เราเขียนก็ควรเป็นสิ่งที่เรารู้สึกจริงๆ เพราะผมรู้สึกว่าเราเขียนสิ่งที่ไม่ใช่ก็ไม่น่าจะเขียนออกมาได้ เขียนออกมาได้ก็ไม่น่าจะดี ก็เลยโอเคหมด ไม่ได้รู้สึกว่าชอบอันไหนมากกว่ากัน เพราะมันเอื้อต่อกัน พูดในแง่ธุรกิจการทำร้านหนังสือและการทำสำนักพิมพ์มันก็คงมองเห็นตลาด ว่าตอนนี้หนังสือที่ขายได้คือแนวไหน คนอ่านอะไรกันอยู่ เมื่อทำสำนักพิมพ์จะให้มันมีที่อยู่ที่ยืนตรงไหน การเปิดร้านช่วยได้ หนึ่งคือคุณติดต่อกับตลาดจริงๆ สองคุณรู้แนวโน้ม สามหนังสือที่ขายได้อาศัยองค์ประกอบทุกอย่าง ชื่อเรื่องรูปเล่ม คนเขียนคำนำ อาร์ตเวิร์ค ไซซ์ใหญ่หรือเล็ก มีผลหมด ไม่รู้ว่าคนที่ทำหนังสือคิดหรือเปล่า เดินร้านหนังสือบ้างหรือเปล่า หนังสือบางเล่มดี แต่ขายไม่ได้เพราะว่าไม่ดึงดูด ไม่มีความประทับใจแรกเห็น ตอนทำคิดถึงแต่หนังสือของตนเองเล่มเดียว ไม่คิดถึงจุดที่ไปวางบนชั้นกับหนังสืออื่นอีกเป็นพันๆเล่ม บางทีคิดว่าสวยของเราแล้ว บางคนทำหนังสือไซซ์แปลก แต่ชั้นหนังสือไม่มีที่วางให้ ต้องเอาไปไว้ที่อื่น นี่คือสิ่งที่ต้องคิด คือสิ่งจำเป็น

นามปากกาหนุ่ม หนังสือเดินทาง กับอำนาจ รัตนมณีมีวาระการใช้ต่างกันยังไง
เราจะใช้คำว่าหนุ่ม หนังสือเดินทาง เพราะเล่มแรกเรายืนยันให้คนอื่นใช้ แต่เขาไม่ใช้ให้เรา เพราะไม่มีใครรู้จักชื่อจริงของผมเลย ทำไมเราไม่ใช้ชื่อที่เขารู้จักเราอยู่แล้ว มันอธิบายได้ ใช้ชื่อนี้คนนึกถึงเราทันที ผมว่าเราน่าจะใช้ชื่อซึ่งเป็นที่รู้กันในชั่วขณะที่เห็นดีกว่า ชื่อจริงเคยใช้ทำงานประจำมาก็อยากให้อยู่ในวงการตรงนั้น ชื่อใหม่ก็อยากให้อยู่อีกแบบหนึ่ง ไม่ได้มีนัยยะอะไร
สังเกดว่าคุณเขียนหนังสือโดยใช้สรรพนามบุคคลที่สาม ทำไมต้องเป็นอย่างนั้น
โดยส่วนตัวไม่อยากตอบว่าดีหรือไม่ดี ผมว่ามันแล้วแต่สไตล์ของแต่ละคน บางคนบอกว่าพี่เหมือนไม่พูดเรื่องของตัวเองแต่พี่พูดเรื่องของตัวเองตลอด มันขึ้นอยู่กับวิธีการเขียน แง่หนึ่งผมอยากให้คนอ่านรู้สึกว่า “ชายคนหนึ่ง” ในหนังสืออาจจะเป็นตัวเขาก็ได้ ผมว่าการพูดว่าผมอย่างนั้นอย่างนี้เป็นการเอาตัวเองเป็นที่ตั้งเกินไป ผมไม่ชอบอย่างนั้น ยิ่งเราข่มตัวเองลงคนอาจจะยกเราขึ้น สำหรับหนังสือประเทศของเราเหมือนสวนดอกไม้จะอ่านบทไหนก่อนก็ได้ แต่ถ้าอ่านทั้งเล่มก็จะได้ภาพรวมอีกภาพหนึ่ง มันมีกลิ่นของการเป็นเรื่องสั้นหรือเรื่องแต่งแยะ

ผู้อ่านจะได้อ่านแนวเรื่องสั้นจากคุณไหม
ไม่ถนัดอย่างนั้น ไม่สามารถนั่งนึกพล็อตแล้วเขียนได้ ถนัดไปเจอมาจริงๆแล้วเขียน เล่าให้ฟังรูปแบบจะอิงไปทางเรื่องสั้นก็ไม่น่าจะผิด โดยส่วนตัวอ่านเรื่องสั้นและแนววรรณกรรมอยู่เยอะ ทำให้มันอาจจะมีกลิ่นอยู่บ้าง


โดย...นายอยู่ดี

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ