2 โมเดลบุ๊กแฟร์ภูมิภาคที่น่าภูมิใจ : ‘สัปดาห์หนังสือและการเรียนรู้ อุบลราชธานี ครั้ง 5’ + ‘สัปดาห์หนังสือภาคใต้ ครั้งที่ 1’

2 โมเดลบุ๊กแฟร์ภูมิภาคที่น่าภูมิใจ

การจัดงานหนังสือในส่วนภูมิภาคเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ที่เห็นว่า หากจะให้คนไทยหันมาสนใจและร่วมกันสร้างวัฒนธรรมการอ่านจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรณรงค์ไปยังภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมา มีงานบุ๊กแฟร์หรืองานแสดงหนังสือค่อนข้างถี่ทั้งในกรุงเทพฯ เอง และในส่วนภูมิภาค ซึ่งก็เป็นนโยบายในการกระจายบุ๊กแฟร์ลงสู่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่ๆ ที่มีศักยภาพในการจัดงานบุ๊กแฟร์ให้มากขึ้น'

จุดที่น่าสนใจจากงานบุ๊กแฟร์ภูมิภาคที่จัดขึ้นนั้น สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือเอง ไม่ได้เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงาน แต่เป็นภาคีเครือข่ายหลักในการประสานงาน ในฐานะแม่งานผู้เชี่ยวชาญในการจัดงานบุ๊กแฟร์ พลังของภาคีเครือข่ายในท้องถิ่นทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญในการสร้างความตื่นตัวให้กับคนในจังหวัดนั้นๆ หรือใกล้เคียงที่งานบุ๊กแฟร์ไปจัดต่างหาก ที่ทำให้งานบุ๊กแฟร์ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ หรือในบางที่ก็เกินเป้าหมายที่คาดหวังไว้อย่างไม่น่าเชื่อ และเป็นแรงกระตุ้นในการจัดบุ๊กแฟร์อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี

2 โมเดลบุ๊กแฟร์ภูมิภาคที่น่าภูมิใจ

2 โมเดลบุ๊กแฟร์ภูมิภาคที่น่าภูมิใจ

 

ในที่นี้ จะพูดถึงงานบุ๊กแฟร์ 2 งาน ที่เพิ่งจัดผ่านพ้นไป และประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นใจ นั่นคือ งานสัปดาห์หนังสือและการเรียนรู้ อุบลราชธานี ครั้ง 5 (UBON Book Fair 2013) ซึ่งถูกเรียกว่า ‘อุบลฯ โมเดล’ มาหลายปีแล้ว เพราะประสบความสำเร็จตั้งแต่จัดงานครั้งแรกในปี 2552 และรักษามาตรฐานที่ดีนั้นไว้ได้อย่างมั่นคง รวมถึงมีพัฒนาการอย่างค่อยเป็นค่อยไปในทุกปี เห็นได้ชัดถึงความร่วมมือของภาคีเครือข่ายในการจัดงานจากทุกภาคส่วนที่เข้ามาช่วยจัดงานบุ๊กแฟร์ที่นี่มากยิ่งขึ้น จนเป็นหมุดหมายที่สำคัญของงานแสดงหนังสือหรือบุ๊กแฟร์ในทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สำคัญในปฏิทินประจำปีไปเสียแล้ว

อีกงานที่ถือว่าเปิดใหม่ซิง เป็นน้องใหม่บุ๊กแฟร์ล่าสุด นั่นคือ งานสัปดาห์หนังสือภาคใต้ ครั้งที่ 1 (Southern Book Expo 2013) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของการจัดงานบุ๊กแฟร์อย่างเป็นทางการในภาคใต้ จากความร่วมมือของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ และภาคีเครือข่ายท้องถิ่นที่รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพหลักอย่างภาคภูมิใจ เป็นนิมิตหมายใหม่ของงานบุ๊กแฟร์ในภาคใต้ตอนล่างที่ประสบความสำเร็จอย่างน่าพึงพอใจ และกำลังขยับก้าวเคลื่อนสานต่อไปทุกปีในอนาคตด้วย

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับความสำเร็จของงานบุ๊กแฟร์ภูมิภาคทั้ง 2 จังหวัด ที่อยู่คนละภาคห่างไกลกันตามหลักภูมิศาสตร์ แต่มีจุดร่วมที่น่าชื่นชมก็คือ พลังความสามัคคีอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจากภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ประสานมือกับภาคราชการและส่วนกลางอย่างสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ที่นำฮาว ทู? หรือความชำนิชำนาญในการจัดงานบุ๊กแฟร์ไปถอดบทเรียนให้กับแต่ละที่ และยืดหยุ่นตามความเหมาะสมของบริบทท้องถิ่นนั้นๆ จนประสบความสำเร็จอย่างน่าพึงพอใจ

 

2 โมเดลบุ๊กแฟร์ภูมิภาคที่น่าภูมิใจ

 

งานสัปดาห์หนังสือและการเรียนรู้ อุบลราชธานี ครั้ง 5 อีกครั้งกับความสำเร็จ ‘อุบลฯ โมเดล’

‘อ่านเพื่อเปลี่ยน ร่วมเรียนรู้ ก้าวสู่อาเซียน’ เป็นธีมหลักในการจัดงานบุ๊กแฟร์ในปี 2556 ของอุบลราชธานี เพื่อให้สอดรับกับการที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะรวมกันเป็นหนึ่งเดียว และเปิดเสรีในปี 2558 ณ ศูนย์การเรียนรู้ CK สุนีย์ทาวเวอร์ ชั้น 2,3,4 ถ.ชยางกูร อ.เมือง จ.อุบลราชธานี นอกจากบูธจำหน่ายหนังสือจากสำนักพิมพ์จากส่วนกลาง กว่า 120 สำนักพิมพ์ การแข่งขันทักษะทางวิชาการรวมทั้งสิ้น 86 ทักษะ และการจัดบูธนิทรรศการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ยังมีกิจกรรมมากมายพบกับ นักเขียน ดารา นักวิชาการ ติวเตอร์ นักธุรกิจ โหราศาสตร์ อาทิ ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ,หนุ่ม เมืองจันท์ ,ครูสลา คุณวุฒิ ,ริว จิตสัมผัส ,อ.หม่อม คนเปิดกรรม ,ครูลูกกอล์ฟ ,ดร.ป๊อป ,เจน ญาณทิพย์ ,เอ๊าะ ขายหัวเราะ ,พระอาจารย์เสริม และกาละแมร์ การจัดงานในครั้งนี้ กำหนดคำขวัญและเนื้อหาสาระให้สอดคล้องกับ ยุคสมัย คือ อ่านเพื่อเปลี่ยน ร่วมเรียนรู้ ก้าวสู่อาเซียน มีการพัฒนารูปแบบงานที่เน้นการให้ความรู้ ความเข้าใจ และสร้างกระแสให้ประชาชน ชาวอุบลฯ และจังหวัดใกล้เคียง ตื่นตัวที่จะอ่านและศึกษาเรียนรู้เพื่อให้ก้าวทันกับการเป็นประชาคมอาเซียน และอาเซียน บวก 3 โดยมีการสื่อสารเชิญชวนประชาชนให้รับทราบอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

ภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชนทั้งในจังหวัดอุบลราชธานี และส่วนกลางได้ร่วมมือร่วมใจกันในงานสัปดาห์หนังสือและการเรียนรู้ อุบลราชานี ครั้งที่ 5 กันอย่างเต็มที่ เช่นเดิมที่คุณสุนีย์ ตริยางกูรศรี เป็นประธานจัดงาน โดยมีบริษัทสินทรัพย์ก้าวหน้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด (โครงการสุนีย์ทาวเวอร์) เป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคเอกชน คือ สมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย สำนักพิมพ์ หอการค้า สมาคม สโมสรต่างๆ ได้ร่วมกับภาครัฐ คือ สำนักงาน กศน.จังหวัดอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทุกเขตในจังหวัดอุบลราชธานี

ความสำเร็จในงานครั้งที่ 5 ที่อุบลราชธานี เป็นอีกครั้งที่ทำให้เห็นพลังของท้องถิ่นอุบลฯ อย่างแท้จริง “เพราะเราร่วมใจกัน ทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือกันดี โดยเฉพาะทุกภาคส่วนมาช่วยอย่างทุ่มตัวทุ่มใจ ในด้านสังคมให้ความช่วยเหลือทุกหน่วยงาน แล้วก็เป็นตัวตั้งตัวตีช่วยด้วย ทำให้งานนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แล้วทุกหน่วยงานทุกคนต่างทุ่มเทอย่างจริงใจ ไม่ใช่แต่เรา ก็มีหน่วยงานอื่นๆ ที่ทำให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ฉันคิดว่าครั้งที่ 5 ก็ต้องดีกว่าครั้งที่ 4” คุณสุนีย์เริ่มต้นพูดคุยถึง ‘อุบลฯ โมเดล’ ในการจัดงานบุ๊กแฟร์ที่ประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้นในแต่ละปี การจัดงานหนังสือที่ประสบความสำเร็จจนมีเรียกว่า ‘อุบลโมเดล’ คุณสุนีย์มีความรู้สึกว่า นี่คือสิ่งที่ใช่ สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี ในการที่จะก้าวสู่สังคมการอ่านและการเรียนรู้ โดยเฉพาะการปลูกฝังบรรดาเด็กและเยาวชนในจังหวัดให้ซึมซาบตรงนี้อย่างเต็มที่ ผ่านงานบุ๊กแฟร์ที่จัดขึ้นในแต่ละปี “ฉันว่ามันก็ถูกต้องแล้ว เพราะเราได้พัฒนา ซึ่งไม่หยุดแค่นี้ โดยเฉพาะตัวดิฉันเอง ไม่ว่าอยู่ตรงนี้หรือที่ไหน ก็จะพยายามช่วยตรงนี้ สำคัญที่สุด ทำอย่างไรให้เด็กอ่านหนังสือกันมากๆ จะเป็นภาษาไทยภาษาอังกฤษก็ดี อ่านมากก็จะพูดได้ การอ่านก็คือการพูด การอ่านหนังสือเยอะๆ มันก็ซึมซับเข้าไป เราก็สามารถพูดได้ ไม่จำเป็นต้องไปเมืองนอกเราก็สามารถพัฒนาตัวเองได้ การอ่านหนังสือทำให้เด็กมีความคิดพัฒนาเร็วขึ้นกว่าคนที่ไม่ได้อ่าน ทำให้มีพัฒนาการที่ดี” ในทุกปี คุณสุนีย์ ในนามของสุนีย์ทาวเวอร์ จะมีการมอบทุนให้เด็กๆ ซื้อหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือและการเรียนรู้ อุบลฯ ปีนี้ก็เช่นกัน

“แต่ไม่ได้ให้เป็นเงิน ให้เป็นคูปองแทน เพราะถ้ามอบเป็นเงินไปเขาก็เอาไปซื้ออย่างอื่นได้ นี่ก็เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ให้เด็กๆ ได้มีหนังสืออ่านเป็นของตัวเอง แล้วให้ไปเลือกซื้อเองตามใจชอบ โดยมอบทุนให้กับโรงเรียน โรงเรียนก็จะพาเด็กมาเลือกซื้อหนังสือ รวมถึงได้มาทำกิจกรรมในการแสดงออกเชิงสร้างสรรค์ แล้วก็ได้คูปองไปซื้อหนังสือ” ปัจจุบัน ทุนที่มอบให้เด็กๆ นำไปซื้อหนังสือตกปีละ 400,000 บาทนั้น โดยไม่นับการสนับสนุนเรื่องค่ารถค่าน้ำมันที่จะนำเด็กๆ ซึ่งเป็นนักเรียนจากโรงเรียนในพื้นที่ไกลๆ ของอุบลฯ มาร่วมงานในตัวจังหวัด “นี่เป็นการส่งเสริมการอ่านจริงๆ ซึ่งเห็นเป็นรูปธรรมที่สุด ในงานหนังสือก็มีการมอบทุนเป็นคูปองให้นักเรียนไปซื้อหนังสือที่ตัวเองจะซื้อแล้วนำเข้าห้องสมุด ส่วนเด็กที่ชนะการแข่งขันทักษะวิชาการก็จะให้คูปองไปเลือกซื้อหนังสือเช่นเดียวกัน นี่เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่ใช้ในงานสัปดาห์หนังสือทุกครั้งที่อุบลฯ ชื่อโครงการมอบทุนสำหรับซื้อหนังสือให้ห้องสมุดโรงเรียน”

สำหรับเกณฑ์ในการคัดเลือกโรงเรียนที่จะนำเด็กมารับคูปองซื้อหนังสือในงานนั้น คุณสุนีย์บอกว่า “เราให้เกียรติพื้นที่การศึกษา เพราะเป็นต้นสังกัดของเขาได้คัดเลือกโรงเรียน แต่ต้องมีคุณสมบัติเป็นโรงเรียนที่ขาดแคลนมารับทุนและให้เด็กมีโอกาสมาแสดงออก แม้ทุนที่ให้เป็นคูปองซื้อหนังสืออาจจะไม่มากแต่เขาก็ภูมิใจ ซึ่งน่ารักมาก โรงเรียนเล็กๆ เขาจะดีใจมากมากันแบบเต็มที่ แล้วมาช่วยกันเลือกหนังสือ ตรงนี้เป็นความสุขอย่างหนึ่งสำหรับเด็กที่อยากอ่านหนังสืออะไรก็ได้เลือกเอง นี่เป็นรูปธรรมที่สุดในการสนับสนุนส่งเสริมในเรื่องการอ่าน” ทุกครั้งที่จัดงานสัปดาห์หนังสือและการเรียนรู้ อุบลฯ จะได้รับความสนใจจากประชาชนทั้งในจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ ยโสธร และมุกดาหาร มากขึ้นเป็นลำดับทุกปี เนื่องจาก มีกิจกรรมการให้ความรู้ ที่หลากหลาย ที่สำคัญคือมีภาคีเครือข่ายร่วมมือร่วมใจกันจัดงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ จึงทำให้งานเกิดผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล คุณสุนีย์บอกถึงเคล็ดลับว่า

“จริงๆ เรามาจากจริงใจเลย ไม่ว่าจะทำอะไร มันสะสมมา เวลาเราพูดหรือทำอะไรก็มีคนเชื่อเรา ต้องพูดเรื่องจริงแล้วก็ซื่อสัตย์ ก็จะทำให้เราก้าวไป ทุกอย่างต้องมีความซื่อสัตย์และจริงใจอยู่ ต้องทำให้คนเชื่อในคำพูด ทำสิ่งที่ดีๆ ซื่อสัตย์ มีความตั้งใจและจริงใจที่จะช่วยและทุ่มเทให้กับงานนี้มาก ภาคเอกชนเทใจให้แบบเต็มๆ การทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต้องมีการให้เกียรติคนอื่น เป็นความร่วมมือกันของทุกคนทุกภาคส่วน ขาดใครไปคนเดียวไม่ได้ ต้องมีหลายๆ ส่วนมาร่วมมือกันมาช่วยกันให้เกิดขึ้น

“ถ้าทำคนเดียวคงทำไม่ได้ ถึงตัวดิฉันเองจะมีเงินก็ทำไม่ได้ต้องมีแรงใจแรงกายหลายๆ ฝ่ายมาร่วมกัน มาทำงานด้วยใจ ไม่ใช่เอาเงินไปซื้อใจ ทำงานร่วมกันเป็นทีม หลายๆ ส่วนเป็นฟันเฟืองใหญ่เล็กมาร่วมกัน ทุกคนมาร่วมมือร่วมใจกัน และเสียสละกันทุกคน โดยไม่หวังผลตอบแทน หวังจะให้งานออกมาดีที่สุด ขับเคลื่อนไปด้วยกัน นี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ส่วนของดิฉันเป็นการตอบแทนสังคม เสริมสังคมให้ดีขึ้น ทำให้เขามีความสุข สนุกสนาน อยากให้สังคมเมืองอุบลฯ ได้รับสิ่งดีๆ ตอบแทนกลับไป กระจายให้กับชุมชนได้รับประโยชน์เท่าๆ กัน นี่คือหัวใจ” การจัดงานบุ๊กแฟร์ในสูตรของ ‘อุบลฯ โมเดล’ เป็นไปในลักษณะการทำงานเชิงบูรณาการระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รูปแบบของการจัดกิจกรรม ใช้กระบวนการ ABC ( A=ART , B=BOOK , C=CULTUR) เป็นกิจกรรมที่เชื่อมโยงเรื่องศิลปะ วัฒนธรรม เข้าสู่หนังสือเพื่อการอ่านและ การเรียนรู้ ทำให้ประสบความสำเร็จอย่างสูง มีจำนวนผู้มาร่วมงานตั้งแต่วันที่ 10-18 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา เท่าที่ประเมินประมาณ 135,000 คน หรือตกวันละประมาณ 15,000 คน

“ยินดีให้ใช้พื้นที่ของสุนีย์ทาวเวอร์แบบเต็มที่สำหรับงานสัปดาห์หนังสืออุบลฯ ยินดีที่จะทุ่มเทให้ตลอด ไม่ได้คิดอะไรมากมาย คิดว่าไม่อยากได้อะไรกลับคืน อายุ 72 ปีแล้ว เป็นคนไม่คิดมาก ตอนนี้ขยายเครือข่ายจากภาคเอกชนมาสนับสนุนมากขึ้น แรกๆ ก็มีแต่ทางสุนีย์ทาวเวอร์กับภาคราชการ ซึ่งทางจังหวัดก็สนับสนุนเต็มที่ เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก สำหรับงานสัปดาห์หนังสืออุบลฯ เป็นจุดศูนย์รวมของสิ่งดีๆ ในเมืองอุบลฯ สำหรับภาคีเครือข่ายอยากมีส่วนร่วม ก็มีใหม่ๆ ทุกที่สมัครใจเข้ามาเอง” ท้ายสุด คุณสุนีย์ ได้ฝากถึงเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ทั้งในอุบลฯ และเมืองไทยด้วยความเป็นห่วงในเรื่องของการอ่านที่ดูเหมือนลดน้อยถอยลง

 

งานสัปดาห์หนังสือภาคใต้ ครั้งที่ 1 ครั้งแรกที่น่าชื่นใจของ ‘หาดใหญ่โมเดล’

งานสัปดาห์หนังสือภาคใต้ ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘อ่านเพื่อรู้ มุ่งสู่สังคมอาเซียน’ ระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม - 2 กันยายน 2556 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ณ คอนเวนชั่นฮอลล์ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างน่าพึงพอใจ นับได้ว่าเป็น ‘หาดใหญ่โมเดล’ ขึ้นมาอีกโมเดลหนึ่งในการจัดงานบุ๊กแฟร์ภูมิภาค จากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) สำนักงานจังหวัดสงขลา องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เทศบาลนครหาดใหญ่ และชมรมร้านหนังสือภาคใต้ โดยมีสำนักพิมพ์ และร้านหนังสือในภาคใต้ ร่วมออกบูธแสดงและจำหน่ายหนังสือ มากกว่า 300 บูธ และกิจกรรมหลากหลาย

 

2 โมเดลบุ๊กแฟร์ภูมิภาคที่น่าภูมิใจ

สำหรับครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการมาจัดงานบุ๊กแฟร์ในภาคใต้ ซึ่งพี่น้องส่วนใหญ่ในภาคใต้ตอนล่างนับถือศาสนาอิสลาม ดังนั้นจึงมีการกำหนดแนวคิดเพิ่มเติมอีกหัวข้อหนึ่งคือ ‘เปิดโลกมุสลิมและโลกมลายูสู่การเรียนรู้’ เพื่อให้พี่น้องมุสลิมได้มีโอกาสเข้าถึงหนังสือหลากแนวมากขึ้น ซึ่งความรู้ต่างๆน่าจะช่วยสร้างความเข้าใจระหว่างกันได้มากขึ้นด้วย จากวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์สร้างกระแสการอ่านและการเรียนรู้ให้กับเยาวชนและประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพครูท้องถิ่น รวมทั้งส่งเสริมการค้าและสำนักพิมพ์ท้องถิ่น ทำให้เกิดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาชีวิตและสังคมของคนทุกกลุ่มในจังหวัดสงขลา จังหวัดใกล้เคียง รวมทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้งานสัปดาห์หนังสือภาคใต้ ครั้งที่ 1 มีมิติของงานบุ๊กแฟร์ที่น่าสนใจเป็นอย่างสูง

ความสำเร็จในระดับที่น่าพึงพอใจนั้น กุญแจสำคัญที่ช่วยไขให้เกิดความกระจ่างก้น่าจะมาจากตัวแทนคนในพื้นที่เอง ที่เป็นแม่งานคอยขับเคลื่อนที่สำคัญ หนึ่งในนั้นก็คือ คุณไพรัช ทองเจือ เจ้าของร้านนายอินทร์หาดใหญ่ หรือร้านเพลินอักษรบุ๊คเซ็นเตอร์เดิม เขาเป็นผู้ประกอบธุรกิจร้านหนังสือในท้องถิ่นหรือหาดใหญ่ที่จะมาสรุปภาพรวมของงานสัปดาห์หนังสือภาคใต้ ครั้งที่1

 

2 โมเดลบุ๊กแฟร์ภูมิภาคที่น่าภูมิใจ

“สำหรับผมคิดว่า งานสัปดาห์หนังสือภาคใต้ ครั้งที่ 1 ที่ผ่านไป บทสรุปก็น่าจะบอกได้ว่า เป็นความสำเร็จกว่าทุกครั้งที่เคยจัดกิจกรรมเกี่ยวกับงานหนังสือในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะที่หาดใหญ่ในแง่ของผู้เข้าร่วมงานครั้งนี้ ถือว่ามากกว่าทุกครั้งครับ “สำหรับยอดขายที่เกิดขึ้น ผมในฐานะที่ร่วมเป็นกรรมการจัดงานและร่วมออกบูธขายในงานครั้งนี้ ก็ถือว่ามียอดขายที่ดี และสำหรับบูธของสำนักพิมพ์อื่นที่ร่วมงาน เท่าที่ผมได้มีการสอบถามยอดขายก็มียอดขายที่ดีขึ้นทุกวันครับ สำหรับการตอบรับในเชิงคุณภาพเกี่ยวกับการส่งเสริมการขายเท่าที่ผมได้สังเกตผู้ร่วมงานมีความตื่นตัวในการสนใจงานหนังสือมากขึ้นครับ”

โดยพื้นฐานเดิมของคุณไพรัช ทั้งตัวของเขาเองและคนครอบครัว ล้วนเป็นนักอ่าน เขาจึงเป็นเจ้าของร้านหนังสือที่เข้าใจนักอ่านในภาคใต้ในระดับที่สูงมากคนหนึ่ง “ผมชอบอ่าน เพราะภรรยาและลูกๆ ชอบอ่านครับ ที่มาทำธุรกิจร้านหนังสือ ผมและภรรยามีอาชีพเป็นครูมาก่อนเราอยู่ในวงการศึกษา เป็นธุรกิจที่ภรรยาใฝ่ฝันครับ เราเริ่มเปิดร้านเล็กๆ พื้นที่ 120 ตารางเมตร ในปี 2538 ทำแล้วเจอปัญหาและอุปสรรคมากมาย แต่คนในอาชีพหนังสือมีน้ำใจและมีคุณธรรมคอยช่วยเหลือและให้กำลังใจ ทำให้เราไม่ยอมแพ้แม้จะโดนน้ำท่วมมา 2 ครั้งเสียหายเกือบหมดตัว แต่เพราะความดีของคนในวงการหนังสือเราจึงอยู่ได้และสู้มาถึงวันนี้” เมื่อมีงานหนังสือในหาดใหญ่ เขาจึงทุ่มทั้งแรงกายแรงใจให้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการสัปดาห์หนังสือภาคใต้ครั้งนี้ “หอประชุมนานาชาติฉลองสิริราชครบ 60 ปี ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เป็นสถานที่ที่เหมาะในการจัดงานที่ดี การดำเนินงานในลักษณะของภาคีเครือข่ายในการจัดงานครั้งนี้ ผมถือว่าเป็นแนวทางและรูปแบบที่จะใช้ในการจัดงานในต่างจังหวัดในครั้งต่อไป เพราะการจัดงานโดยไม่มีภาคีเครือข่ายมาร่วมมือในต่างจังหวัดคงจัดได้ยาก”

ด้วยความที่เป็นคนขายหนังสือ อยู่ในธุรกิจนี้ในหัวเมืองที่ถือกันว่า เป็นเมืองธุรกิจของภาคใต้อย่างหาดใหญ่ คุณไพรัชวิเคราะห์ในมุมนี้ว่า ความสำเร็จเกิดจาก... “ก็เป็นของแปลกครับทำให้คนสนใจ กลุ่มคนซื้อในการจัดงานครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่เสีย 90 เปอร์เซ็นต์ จังหวัดอื่นๆ มาน้อย เพราะงานครั้งนี้การประชาสัมพันธ์ยังไม่ทั่วถึงครับ เท่าที่ผมสำรวจคนที่มาเดินในงาน แล้วเดินออกจากงานใน 10 คน จะซื้อหนังสือกลับไปถึง7 คน”

เมื่อถามถึงการจัดครั้งแรกของงานสัปดาห์หนังสือภาคใต้ มีผลกระทบหรือมีอุปสรรคอะไรต่อธุรกิจจำหน่ายหนังสือในแบบปกติของท้องถิ่น คุณไพรัช ก็แจกแจงอย่างลึกซึ้งว่า “สำหรับผมในเรื่องนี้ ผมมองว่าผู้อ่านและสำนักพิมพ์หรือผู้จัดจำหน่ายได้ประโยชน์สูงสุดส่วนร้านหนังสือในพื้นที่จัดงานได้รับผลกระทบด้านยอดขายและภาพลักษณ์ค่อนข้างมาก ที่ผมกล่าวเช่นนี้ ผมหมายความว่าในช่วงก่อนการจัดงาน 15 วัน เมื่อมีการประชาสัมพันธ์ออกไป และช่วงจัดงาน 7 วัน กับช่วงหลังจัดงานประมาณ 15 วัน ยอดขายในร้านผมเองและร้านเพื่อนๆ ในหาดใหญ่ เท่าที่สอบถามมายอดขายลดลงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์จากยอดขายปกติของวันเวลาและเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา

“สำหรับคำว่าภาพลักษณ์นั้น ผมอยากจะอธิบายให้เห็นเป็นสองลักษณะดังนี้ ลักษณะที่ 1 ในการจัดงานครั้งนี้ มีร้านหนังสือเก่ามาร่วมงานหลายร้าน และมีบูธหลายบูธดูดีและใหญ่กว่าสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ เสียอีก ถามว่าร้านหนังสือเก่าทำให้ร้านค้าในพื้นที่จัดงานมีผลกระทบภาพลักษณ์อย่างไร? ร้านหนังสือเก่าส่วนใหญ่ซื้อหนังสือในราคาถูกๆ จากสำนักพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายแล้วนำมาขายลดราคามากๆ ในงานแต่หนังสือเหล่านี้ บางปกร้านค้าในพื้นที่ยังวางขายราคาปกติอยู่ เพราะทางสำนักพิมพ์ยังไม่ได้แจ้งให้เก็บคืนจากร้านค้าหรือทางร้านค้ายังไม่ได้เก็บคืน เพราะยังเห็นว่าเป็นหนังสือที่อยู่ในสภาพดีอยู่ ยังพอจะขายได้ก็พยายามวางเพื่อขายให้สำนักพิมพ์อยู่

“ลักษณะที่ 2 เช่นเดียวกันสำนักพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายที่มาออกบูธขายหนังสือในงานก็ช่วยสร้างผลกระทบทางด้านภาพลักษณ์ต่อร้านค้าในพื้นที่จัดงานเช่นเดียวกับร้าหนังสือเก่า โดยเฉพาะหนังสือเก่าที่เอามาลดราคา แต่ในร้านยังวางขายราคาปกติอยู่ แต่ที่แย่กว่านั้นก็เป็นหนังสือใหม่บางเล่มที่ร้านค้ายังไม่ได้วางขาย แต่ในงานสำนักพิมพ์เอามาขายแล้ว และลดราคามากกว่าการลดราคาสมาชิกชองร้านเสียอีก นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ผมยกตัวอย่างมาให้เห็นเพื่อเป็นแนวทางที่จะช่วยไม่เกิดผลกระทบแบบนี้ จะช่วยกันอย่างไร? ผมก็ฝากเป็นปัญหาไว้ครับ ไม่เช่นนั้นถ้าเกิดแบบนี้ทุกปีๆ ร้านค้าในพื้นที่จะอยู่อย่างไร? ที่ผมพูดมานี่ไม่ได้ตั้งใจจะตำหนิใครแต่ฝากให้คิดว่าจะทำอย่างไรให้การจัดงานแล้ว Win Win ครับ”

นั่นเป้นความในใจของคุณไพรัชและบรรดาเพื่อนร้านหนังสือในหาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องยอดขายที่หายไปใน 1 เดือนคาบเกี่ยวของการจัดงานสัปดาห์หนังสือภาคใต้ ซึ่งเป็นการสะท้อนปัญหาที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษด้วยเช่นกัน ส่วนการพัฒนางานหนังสือของที่นี่ก็ต้องมองบริบทแวดล้อมรอบด้านด้วยสายตาที่เป็นจริง “การจัดงานในต่างจังหวัดคงจะเทียบกับการจัดที่กรุงเทพฯ ไม่ได้หรอก เราต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้ง จำนวนประชากร กำลังซื้อ และการคมนาคม และจำนวนผู้ขายหรือสำนักพิมพ์ สำหรับกิจกรรมน่าจะจัดให้ทัดเทียมกันได้ในอนาคต ผมว่าคำว่าภาคใต้ดูจะกว้างไปหน่อย เพราะโดยพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ยังเป็นอุปสรรคในการเดินทางมาชมงาน และคนมาชมงานก็ยังขาดแรงจูงใจที่จะลงทุนเดินทางมาชมงาน อาจต้องแยกจัดเป็นโซนๆ ในกลุ่มจังหวัดที่มีพื้นที่สะดวกในการเดินทาง หรือการจัดที่ร่วมกับการจัดงานอื่นๆ ที่ให้เป็นงานใหญ่ๆ และร่วมกันทั้งภาคใต้อย่างนี้ก็พอใช้คำว่าภาคใต้ได้ “สำหรับผมคิดว่านิยามที่จะใช้น่าจะเป็น สงขลา บุ๊กแฟร์ หรือ มอ.บุ๊กแฟร์ น่าจะเหมาะสมกว่าครับก็แล้วแต่ใครเป็นเจ้าภาพหลัก คิดว่าการจัดงานครั้งนี้ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีเพื่อการปรับปรุงในครั้งต่อไป แต่ก็ต้องรับฟังข้อเสนอแนะและแนวคิดผู้เกี่ยวข้องอีกหลายคน”

สำหรับการจัดงานสัปดาห์หนังสือภาคใต้ คุณไพรัชย้ำว่า สมควรจัดเป้นอย่างยิ่งและพร้อมที่จะสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและจริงจัง พร้อมฝากทิ้งท้ายไว้ว่า “คนใต้เป็นคนชอบอ่านอยู่แล้วครับ สำหรับในหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นแหล่งที่มีสถาบันการศึกษามากที่สุดในภาคใต้ อยากให้ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ชมรมส่งเสริมการจัดจำหน่ายหนังสือหรือสายส่งซึ่งเป็นสำนักพิมพ์และผู้จัดจำหน่าย และร้านหนังสือ หันหน้าเข้ามาคุยกันเพื่อพัฒนาวงการหนังสือให้เป็นธุรกิจที่อยู่ต่อไปอย่างมั่นคง”

การอ่านเป็นพื้นฐานของการศึกษาเรียนรู้ หากคนในสังคมไทยมีนิสัยรักการอ่านย่อมจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ชีวิตประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาตนเอง พัฒนาสังคม และพัฒนาประเทศชาติในที่สุด ตลอดจนการส่งเสริมให้ เด็ก เยาวชน ตลอดจนประชาชน เห็นคุณค่าของการแสวงหาความรู้ผ่านการอ่าน จากสื่อ หนังสือ สิ่งพิมพ์ และสื่ออื่นๆ เป็นเรื่องที่ดี

การจัดงานหนังสือในหัวเมืองใหญ่หรือต่างจังหวัด ซึ่งเป็นนโยบายที่เรียกว่า ‘บุ๊กแฟร์ภูมิภาค’ ของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย นับว่าได้ผลในเชิงการกระตุ้นความตื่นตัวของนักอ่านในท้องถิ่นได้พอสมควร ถ้ามีการจัดงานอย่างต่อเนื่องและสามารถดึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในท้องถิ่นให้หันมาใส่ใจและเห็นความสำคัญของการอ่าน คนไทยน่าจะหันมาอ่านหนังสือกันมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลถึงการพัฒนาบุคลากรของประเทศด้วย เพราะฉะนั้น การประมวลผลจาก 2 โมเดลล่าสุดของบุ๊กแฟร์ภูมิภาคคือ ‘สัปดาห์หนังสือและการเรียนรู้ อุบลราชธานี ครั้ง 5’ + ‘สัปดาห์หนังสือภาคใต้ ครั้งที่ 1’ 07’จึงมีคุณค่าที่จะเป็นกุญแจไขสู่ความสำเร็จให้มากยิ่งขึ้นในครั้งต่อๆ ไป โดยเพิ่มจุดเด่น ลบจุดด้อย ค่อยๆ พัฒนาอย่างมีขั้นตอนและรอบคอบจนได้ผลสมบูรณ์แบบที่สุด และที่สำคัญโมเดลบุ๊กแฟร์ภูมิภาคเหล่านี้จะเป็นต้นแบบหรือพิมพ์เขียวให้จังหวัดต่างๆ ที่อยากจัดงานบุ๊กแฟร์ในจังหวัดของตัวเองได้นำไปใช้ต่อไปในอนาคต

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ