Elite+ นิตยสารราย 2 เดือน ในเครือของสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านนิตยสารนำเสนอแนวคิดและมุมมองจากนักคิดชั้นนำระดับ Exclusive จัดงานกาล่าดินเนอร์ฉลองครบรอบ 9 ปี โดยครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มากล่าวปาฐกถา เรื่อง STIR the DOT: ผลกระทบของนวัตกรรมและ เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับประเทศไทย โดยมีเหล่านักธุรกิจชั้นนำของเมืองไทย อาทิ ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่/กรรมการบริหาร บมจ.ธนาคารกรุงเทพ, กีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย, พันฤทธิ์ เตชะธาดา, ศุภลักษณ์ อัมพุช และ ท่านทูตพร้อมด้วยภริยา จากนานาประเทศมาร่วมงานอย่างคับคั่ง พร้อมกันนี้ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บมจ. ธนาคารกรุงเทพ และ กวิน กิตติบุญญา กรรมการผู้จัดการ บริษัท กวิน อินเตอร์เทรด จำกัด ได้มอบเงินให้แก่ มร.ชิเงรุ อาโอยากิ ผู้อำนวยการ UNESCO เพื่อสนับสนุนกิจกรรมต่างของ UNESCO อีกด้วย ณ ห้องบอลรูม โรงแรมชาเทรียม ริเวอร์ไซด์ เมื่อวันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2566 อาทร เตชะธาดา ผู้ก่อตั้งนิตยสาร Elite+ เผยว่า ตลอดระยะ 9 ปี Elite+ มุ่งมั่นนำเสนอแนวคิดและมุมมองของนักคิด นักธุรกิจชั้นนำ นักการทูตที่ประสบความสำเร็จทั้งเรื่องชีวิตและการงาน รวมถึงข่าวคราว ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการลงทุน ตลอดจนความบันเทิง สถานที่ท่องเที่ยว อาหาร ศิลปวัฒนธรรม สุขภาพ ฯลฯ เพื่อให้ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และแรงบันดาลใจแก่นักอ่านชาวไทยและต่างประเทศ สำหรับงานกาล่าดินเนอร์ในครั้งนี้ได้จัดการแสดงโขนจากน้องๆ เยาวชนไทย นับเป็นโอกาสที่ดีที่ได้แสดงให้กับคณะทูตและภริยาจากนานาประเทศ รวมถึงแขกผู้มีเกียรติจาก UNESCO ได้ชื่นชมความงดงามและเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะชั้นสูงของไทย รวมถึงยังได้ร่วมมือกับ มร.ชิเงรุ อาโอยากิ ผู้อำนวยการ UNESCO จัดนิทรรศการ ภายใต้แนวคิด “ภูมิอากาศวิทยา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อสะท้อนถึงปัญหาที่เราทุกคนต้องร่วมใจ รวมพลังกันแก้ไข
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บมจ. ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพได้จับมือเป็นพันธมิตรกับนิตยสาร Elite+ และสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นมาอย่างยาวนาน ร่วมกันสร้างสรรค์โครงการต่างๆ มากมาย อาทิ โครงการรางวัลชมนาด คือรางวัลแห่งความสำเร็จของสตรีที่มีใจรักในงานประพันธ์ รวมถึงโครงการมอบหนังสือให้กับห้องสมุดที่ขาดแคลนทั่วประเทศ ในนามของธนาคารกรุงเทพ ขอแสดงความยินดีที่ นิตยสาร Elite+ ยืนหยัดนำเสนอสาระคุณภาพสูงระดับนานาชาติ เพื่อมอบแรงบันดาลใจ ความรู้ให้กับผู้อ่านได้ร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้แข็งแกร่งและมั่นคงอย่างยั่งยืน
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวปาฐกถา เรื่อง STIR the DOT: ผลกระทบของนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับประเทศไทย ว่า ประเทศไทยอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เข้มข้นและรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่และภาวะเศรษฐกิจที่ต้องบริหารจัดการในทุกระดับ ดังนั้นโจทย์ของประเทศและสังคมจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องเข้าใจร่วมกัน ช่วยกันคนละไม้ละมือแก้ปัญหาและร่วมกันพัฒนาให้ประเทศไทยมีโอกาสในการก้าวไปข้างหน้าให้หลุดพ้นความยากจน และกับดักรายได้ปานกลาง ดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญที่ต้องส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง เพื่อรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยการนำนวัตกรรมด้านดิจิทัลที่มีอิทธิพลในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงที่มีพลังมาประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ใน 5 ด้าน ได้แก่ สั่งสมประสบการณ์, การทำความเข้าใจเชิงลึก, การออกแบบฐานเทคโนโลยี, การวางระบบเครือข่ายเชื่อมโยง, และความน่าเชื่อถือ
อย่างไรก็ตามโจทย์ของประเทศไทยมีหลากหลาย ซับซ้อน และต้องการการบูรณาการ ไม่ว่าจะเป็นการก้าวย่างเข้าสู่ภาวะสูงวัยของสังคมไทย, ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ เชิงรายได้ และการศึกษา, โอกาสจากการลงทุน, โครงสร้างพื้นฐานระบบราง โทรคมนาคม ตลอดจนการพัฒนาด้านการเกษตรอาหาร และชนบท ไปถึงสภาพภูมิอากาศที่มีความเปลี่ยนแปลงรุนแรงต่อเนื่อง
แนวคิดในปาฐกถาครั้งนี้ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของไทย คือ การ “ขยายผล” จากต้นทุนที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสายสื่อสารใยแก้วนำแสง อุทยานดิจิทัล กฎหมายดิจิทัล หรือการให้บริการแบบจุดเดียว ที่ใช้เครือข่ายดิจิทัลเชื่อมต่อหน่วยงานราชการต่างๆ องค์กรใหม่ๆ ที่ท้าทายต่อการก้าวกระโดด เช่นสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่, โครงการเมืองอัจฉริยะ, กฎหมายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์, กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น
การประยุกต์ใช้ดิจิทัลรายสาขา เป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศจะสร้างความสามารถในการแข่งขันพร้อมๆกับเตรียมภูมิคุ้มกันให้กับสังคมยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการใช้ดิจิทัลทันสมัยเพื่อการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั้งทางบก เคเบิลใต้น้ำ และทางอากาศ การเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งมีส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก การใช้ Big Data เพื่อให้บริการประชาชนและธุรกิจ การใช้ 5G เพื่อการแพทย์และโลจิสติกส์ การใช้ระบบอัตโนมัติในวงการอุตสาหกรรมการผลิต หรือแม้แต่บทบาทของดิจิทัลในการลดภาวะโลกร้อน อย่างไรก็ตาม เมื่อเทคโนโลยีมีประโยชน์ก็ตามมาด้วยจุดอ่อนกับภัยอันตรายของเทคโนโลยีที่สังคมต้องช่วยกันดูแล
ตัวอย่างการพัฒนาภูมิภาคอีสานเชิงระบบ เพื่อสร้างจุดแข็งและเพื่อความยั่งยืน (Isan 2030) ซึ่งเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญ แต่ก็ต้องออกแบบวิธีคิดเชิงบูรณาการเพื่อประโยชน์สูงสุดตามบริบทของพื้นที่ และความยั่งยืนในการพัฒนา ด้วยข้อเสนอ 3 ประการ ประกอบด้วย 1. การมุ่งพัฒนาจังหวัดในอีสานให้เติบโตด้วยอุตสาหกรรม และบริการด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งสามารถปรับเข้ากับการพัฒนาด้านเกษตร อาหาร พลังงาน การแพทย์ ท่องเที่ยว และอื่นๆ 2. การสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่การค้าชายแดนและระเบียงเศรษฐกิจอีสาน โดยเน้นมาตรการส่งเสริมการลงทุน ห่วงโซ่การผลิตและบริการ การวิจัยและพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานทั้งทางกายภาพและกำลังคน 3. การพัฒนาอีสานให้มีความก้าวหน้าทันสมัย โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นระบบเกษตรแม่นยำ ระบบการผลิตอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการพัฒนาชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรองรับศูนย์ข้อมูล การให้บริการคลาวด์ ตลอดจนส่งเสริมผู้ประกอบการ Startupในสาขาต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่ใช้ระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มทั้งสิ้น
สำหรับนิทรรศการ “ภูมิอากาศวิทยา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เป็นนิทรรศการที่ต้องการสื่อสารให้ทุกคนได้ตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศร้อนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อความแปรปรวนของสภาพอากาศ ซึ่งเกิดจากการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีนับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจัยที่เร่งให้โลกร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว คือ การเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล การตัดไม้ทำลายป่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก ทำให้ความร้อนสะสมในชั้นบรรยากาศและมหาสมุทร ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตที่ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ อาทิ แหล่งน้ำจืดน้อยลง ขาดแคลนอาหาร เกิดอุทกภัย ภัยแล้ง และพายุไซโคลนรุนแรง
ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจและสังคม อาทิ การเพิ่มความยากจน วิกฤตความหิวโหย ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ ความไม่เท่าเทียมทางเพศ และอื่นๆ อีกมากมาย อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการใช้นวัตกรรมสีเขียวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ช่วยลดคาร์บอน สร้างเศรษฐกิจสะอาด สามารถเชื่อมโยงกับการส่งเสริมสันติภาพ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้เป็นเพียงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาทางสังคมและการเมือง ทำให้ความยากจนและความเหลื่อมล้ำทั่วโลกทวีความรุนแรงขึ้น การที่ทุกประเทศทั่วโลกร่วมมือกันในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจมีส่วนช่วยในการสร้างและผดุงสันติภาพได้เป็นอย่างดี โครงการริเริ่ม ‘Together for Peace’ ของ UNESCO มีเป้าหมายเพื่อสร้างและรักษา ‘สันติภาพเชิงบวก’ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ชมภาพนิทรรศการเพิ่มเติมได้ที่ : https://bangkok.unesco.org/content/climate-science-literacy-asia-pacific
Elite+ 9th Anniversary by Praphansarn
สามารถติดตามข่าวสารจาก นิตยสาร Elite+ ได้ที่ https://www.eliteplusmagazine.com