ความรักชาติของชาวเหมืองแร่ : ชัยชนะของทุนนิยม : บทวิจารณ์โดย รพิดา จารุจารีต

ความรักชาติของชาวเหมืองแร่ : ชัยชนะของทุนนิยม

            “ความรักชาติของชาวเหมืองแร่”เป็นหนึ่งในเรื่องสั้นของอาจินต์ ปัญจพรรค์ จากหนังสือรวมเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ ที่เล่าเรื่องราวชีวิตการทํางานในเหมืองแร่ของอาจิน โดยในเรื่องสั้นเรื่องนี้ได้เล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์จากการได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติหน้าที่จับหัวขโมยแร่ ซึ่งนายฝรั่งได้มอบหมายให้อาจินเป็นตัวแทนในการเฝ้าดักจับครั้งนี้ ความลําบากใจในการจับโจรของอาจินต์เกิดขึ้นเมื่อตัวเขาจับได้ว่า “ก้อง”หัวหน้าคนงานเป็นหัวขโมย เขาได้อธิบายเหตุผลในการกระทําความผิดครั้งนี้เพื่อชักจูงให้อาจินต์เปลี่ยนใจมาเป็นพวกเดียวกับเขา คําพูดของก้องทําให้อาจินต์ตระหนักถึงปัญหาระหว่างนายทุนและแรงงาน แต่ถึงอย่างนั้นความซื่อสัตย์ในหน้าที่ก็ทําให้อาจินต์เลือกที่จะนําเรื่องการขโมยแร่ในครั้งนี้ไปบอกแก่นายฝรั่งแล้วจึงใคร่ขอลาออกเพื่อสานต่ออุดมการณ์ความรักชาติของตนเอง การปิดจบเรื่องราวด้วยการเปิดเผยแผนการของนายฝรั่งที่ให้นายก้องสวมบทบาทเป็นขโมยเพื่อทดสอบความซื่อสัตย์ของอาจินต์จึงเป็นการเปิดประเด็นที่ทําให้ผู้อ่านตั้งข้อสงสัยและข้อสังเกตเกี่ยวกับการนําเสนอแนวคิดหรือส่วนประกอบที่แฝงเรื่องราวเกี่ยวกับทุนนิยมในมิติต่าง ๆ ที่ค่อย ๆ กลืนกินวิถีชุมชนชนบท ธรรมชาติ และความเป็นมนุษย์ ตลอดจนสะท้อนให้ผู้อ่านเห็นถึงชัยชนะของทุนนิยมในสังคมไทย


             การเปิดเรื่องด้วยการบรรยายให้เห็นถึงภูมิหลังวิถีชีวิตของแรงงานเหมืองแร่ จากบท “หลายปีในบ่อดีบุกคือเบ้าใหญ่หล่อหลอมชีวิตของพวกเราให้เกี่ยวโยงและมีธาตุผสมคล้ายคลึงกัน การคลุกคลีกับเหงื่อไคลและโคลนตม การสมาคมในกลุ่มกรรมกรเป็นชีวิตแบบใหม่”การที่ทุนนิยมได้เข้าไปกลืนกินวิถีชีวิตดั้งเดิมส่งผลให้คนในชุมชนต้องผันตัวเองไปเป็นแรงงานในเหมืองแร่ สะท้อนให้เห็นทุนนิยมในฐานะพลังที่เข้าไปผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและนําไปสู่ความล่มสลายของวิถีชีวิตดั้งเดิมจากพลังของทุนนิยมที่เข้ามาอย่างเข้มข้น รุนแรงจนทําให้ชาวบ้านไม่อาจต้านทานการเข้ามาของทุนนิยมได้


             การใช้ฉากแร่เหมืองเป็นการนําเสนอความเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายธุรกิจที่ต้องอาศัยแหล่งธรรมชาติซึ่งเป็นการประกอบการในพื้นที่ชนบท จึงสามารถอนุมานได้ว่าความเจริญจากทุนนิยมเป็นบ่อเกิดแห่งการทําลายธรรมชาติ จากบท “เสียงเครื่องจักรบนเรือขุดดังชัดเจนหนักแน่นขึ้น ทุกอย่างที่ก้าวใกล้เข้าไป มันเป็นเสียงข้อเสือที่หมุนควงแครงก ชาฟต์มันเป็นเสียงพลูเลต์เหวี่ยงสายพานเสียงเกียร์บดไปบนเกียร์ มันเป็นเสียงเหล็กกระทบเหล็ก นี่คืองานเหมืองแร่งานที่ไม่มีชั่วโมงหยุดของงานเหล็ก งานของดิน งานของไฟ งานของน้ํามันขี้โล้” แสดงให้เห็นการมุ่งเสนอระบบการทํางานของเหมืองแร่จากการเข้ามาของสังคมทุนนิยม ซึ่งทําให้เห็นการนําทรัพยากรทางธรรมชาติจากการทําลายธรรมชาติมาใช้เป็นทรัพยากรในการประกอบธุรกิจ


            ผลพวงหรือผลกระทบจากทุนนิยมคือการสูญเสียความเป็นมนุษย์ หรือมนุษยธรรม (humanity) คือ ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ หรือมีความตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ที่มีเกียรติภูมิศักดิ์ศรี มีคุณค่า มีความดีงาม เหยื่อของทุนนิยมมักถูกนําเสนอว่าเอารัดเอาเปรียบและตกอยู่ในสภาวะจํายอมที่จะต้องสูญเสียความเป็นมนุษย์ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ในงานวรรณกรรมมักแสดงให้เห็นว่าฝ่ายนายทุนเป็นฝ่ายที่ไม่คํานึงถึงความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นทว่าในเรื่องสั้น“ความรักชาติของชาวเหมืองแร่” ได้นําเสนอการถูกทุนนิยมกลืนกินความเป็นมนุษย์ของตัวละครทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนายทุนอย่างนายฝรั่ง หรือฝ่ายแรงงานอย่างก้องก็ตามที จากบท “งั้นคุณก็ลืมชาติเสียแล้ว เห็นเขาให้ที่พักที่อยู่ให้เงินเดือนกินก็หลงสวามิภักดิ์เขาเสียจนเกินการณ์ คุณอยู่ส่วนคุณเถอะน่า อย่ามายุ่งกับพวกผม งานน่ะผมก็ทําให้ แร่นี่ก็ใช่ว่าผมจะขนเสียทั้งหมด ผมแบ่ง ๆ เอาไปนิดหน่อย เงินที่ได้มาก็เฉลี่ยทั่วทุกคนบนเรือขุด ไอ้จ้อย ไอ้เจิม ไอ้แถม ไอ้หีด คนละนิดคนละหน่อยเอาไปเลี้ยงลูกเมียมัน เบี้ยเลี้ยงมันวันละสิบบาทเท่านั้น นี่แบ่งกันได้คนละไม่กี่สิบบาทหรอก ยังจะหวงอีกหรือ บริษัทได้กําไรปีละเป็นล้าน ๆ จะว่ายังไง ดึง ๆ ของเขาไว้มั่งซีคุณ อีกปีสองปีประทานบัตรก็จะหมด ที่ขุดแร่ก็หมด เขาก็กลับเมืองเขาไปพวกเราจะเอาที่ไหนกิน" การอธิบายเหตุผลการโกงแร่ของนายก้องสะท้อนให้เห็นการตกเป็นเหยื่อของระบบทุนนิยมของชนชั้นแรงงาน ที่มักถูกเอารัดเอาเปรียบจนต้องตกอยู่ในสภาวะจํายอมที่จะต้องสูญเสียความเป็นมนุษย์ กลายเป็นฟันเฟือนหนึ่งของระบบทุนนิยมไม่ว่าจะโดยเต็มใจหรือไม่ก็ตาม ชัยชนะของทุนนิยมถูกแสดงออกให้เห็นอย่าชัดเจนที่สุดผ่านการปิดจบเรื่องราวด้วยการเปิดเผยแผนการของนายฝรั่งที่ให้นายก้องสวมบทบาทเป็นขโมยเพื่อทดสอบความซื่อสัตย์ของอาจิน จากบท “เมื่อตอบไม่ได้ฉันก็จะตอบให้ฟังเอง การที่นายก้องขโมยแร่นั้นเป็นละครที่ฉันจัดขึ้น และหลายคนมาแล้วถูกฉันพิสูจน์จากความซื่อสัตย์ด้วยการให้ไปรู้ไปเห็น คนเหล่านั้นกลับไปขอส่วนแบ่งจากก้อง และฉันก็ให้ออกจากงานไป เมื่อเช้ามืดก้องไปหาฉันและเล่ารายละเอียดให้ฉันฟังแล้ว ฉันจะขึ้นเงินเดือนให้เธอ ขอโทษด้วยที่ฉันใช้วิธีขึ้นเงินเดือนให้ทุกคนในเหมืองนี้โดยแบบนี้” การนําเสนอความจริงว่าหน้าที่ซุ่มดักโจรเป็นเพียงบททดสอบวัดความซื่อสัตย์ สะท้อนให้เห็นความจริงจากเรื่อง ที่แสดงให้เห็นว่าไม่มีใครสามารถชนะระบบทุนนิยมได้ แม้แต่นายก้องเองที่ตามบทบาทจะเล่นเป็นผู้โดนเอารัดเอาเปรียบจากนายทุนจนนํามาสู่บทบาทของโจรผู้อ้างวาทกรรมความรักชาติ และอาจินต์ผู้มีอุดมการณ์แรงกล้าว่าจะไม่ขอเห็นด้วยกับนายฝรั่ง ท้ายที่สุดก็ต้องยอมศิโรราบให้กับคําขอโทษจากฝ่ายทุนนิยม การเอ่ยคําขอโทษและการขึ้นเงินเดือนจากการผ่านบททดสอบ จึงเป็นการแสดงให้เห็นอํานาจของทุนนิยมที่ควบคุมคนในสังคม


             ชัยชนะของทุนนิยมจากเรื่องสั้น “ความรักชาติของชาวเหมืองแร่” สะท้อนให้เห็นการที่ทุนนิยมได้กลืนกินวิถีชุมชนชนบท ธรรมชาติ และความเป็นมนุษย์ โดยอาจินต์ ปัญจพรรค์ ได้นําเสนอแนวคิดดังกล่าวไว้เป็นแนวคิด แฝงที่ถูกถ่ายทอดผ่านฉากและตัวละครผู้ถูกควบคุมจากระบบทุนนิยมจนไม่สามารถเอาชนะระบบดังกล่าวได้

 

ความรักชาติของชาวเหมืองแร่ : ชัยชนะของทุนนิยม
บทวิจารณ์โดย รพิดา จารุจารีต
โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 7

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ