หนังสือแนะนำโดย Reid Hoffman : ผู้ก่อตั้ง Linkedin

หนังสือแนะนำโดย Reid Hoffman

       ถ้าพูดถึง Linkedin นั้นก็คงจะต้องกล่าวถึง Reid Hoffman ผู้ก่อตั้งชื่อดัง ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่ม Founder Paypal ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในวงการดอทคอมของสหรัฐอเมริกาหลังยุคฟองสบู่ดอทคอมในปี 2000

       สำหรับประวัติของ Reid Hoffman นั้นเป็นคนที่ไม่ได้จบมาทางด้าน computer science โดยตรงแต่มีความชอบในเรื่องของ game มาตั้งแต่เด็ก จากการที่ได้มาพบกับ Peter Thiel โดยเป็น classmate ที่ Standford นั้นก็ทำให้ Reid Hoffman หันเหชีวิตเข้ามาสู่การทำงานทางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ซึ่งต่อมา Peter Thiel และ Elon Musk ก็ได้ตัดสินใจร่วมมือกันแทนที่จะแข่งกัน และรวมตัวกันใหม่ภายใต้ชื่อ Paypal.com ทำให้เขาได้รับส่วนแบ่งเป็นจำนวนมากพอที่จะมาตั้งบริษัทใหม่ที่ใจเขาต้องการคือ Linkedin

       เนื่องจากเป็นคนที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว เมื่อทำการสร้าง Linkedin ซึ่งเขาให้สโลแกนของ Linkedin คือ Online social network for Professional ก็ถือได้ว่าเป็นจุดแตกต่างจาก social network อื่น ๆ ในสมัยนั้น โดยเน้นกลุ่มไปที่ลูกค้าที่เป็นกลุ่มคนทำงานแทน จึงได้รับผลตอบรับจากนักลงทุนเป็นจำนวนมาก และทำให้สามารถขยายกิจการได้อย่างรวดเร็ว

 

หนังสือแนะนำโดย Reid Hoffman
 

More Human: Designing a World Where People Come First เขียนโดย Steve Hilton,  Scott Bade,  Jason Bade

      หนังสือมาเล่มนึง More Human’  หลักการที่พูดในหนังสือเล่มนี้คือ ‘การออกแบบ’ - Designing a World Where People Come First เขียนโดย Steve Hilton เป็นทั้ง ผู้ประกอบการ อาจารย์มหาวิทยาลัย และ ที่ปรึกษาทางการเมือง

      ตั้งแต่อดีตเรามักจะคุ้นเคยกับ ระบบ ระเบียบ ตั้งแต่ การเมือง , ระบบเศรษฐกิจ ที่เอาระบบเป็นที่ตั้ง ส่วนคน เป็นเหมือน กลไก ส่วนหนึ่งในระบบ ยิ่งเทคโนโลยีพัฒนามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น AI และ Cloud ...ก็ยิ่งทำให้ คนเป็นส่วนเกินของระบบ ...พูดง่ายๆ เทคโนโลยี พยายามกำจัด ความผิดพลาด และ ตัวถ่วง ...นั่นก็คือ มนุษย์นั่นเอง ถ้าโรงงาน ไม่ต้องใช้คน ...ต้นทุนจะถูก ความผิดพลาดจะลดลง สุดท้ายเจ้าของจะรวยขึ้น ฟังดูดี ที่ธุรกิจจะสามารถดำเนินไป ไร้ข้อผิดพลาด มีประสิทธิภาพ แต่เอาเข้าจริง มันเป็นแนวคิดที่ผิดทางแบบสุดๆ  เราลืมไปแล้วหรือว่า ‘เทคโนโลยีและระบบต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นมา ก็เพื่อช่วยเหลือมนุษย์ ..ไม่ใช่สร้างขึ้นมาเพื่อทดแทนมนุษย์’

      การออกแบบที่ดี จึงต้องเริ่มจากการเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง ...คือ แทนที่จะคิดแบบ Top Down ..มองจากอุดมคติ ลงมา ...เราต้องคิดแบบ Bottom Up คือ เริ่มคิดโดยเอามนุษย์เป็นที่ตั้ง แล้วคิดแทนว่า เทคโนโลยีจะช่วยให้มนุษย์ทำงานได้ดีขึ้นอย่างไร


 

หนังสือแนะนำโดย Reid Hoffman
 

The True Believer: Thoughts on the Nature of Mass Movements เขียนโดย Eric Hoffer

       มวลชนปฏิวัติ คือ มวลชนที่มีอานุภาพพลิกสังคม เป็นขบวนการต่อสู้ของกลุ่มคนที่หลอมตัวเองแล้ว ภายใต้ขบวนการอันทรงอำนาจนี้ ชีวิตส่วนตัวของผู้ร่วมขบวนการจะถูกสลายกลายมาเป็นชีวิตปฏิวัติที่ผนึกแน่นห้าวหาญ กล้าที่จะอุทิศแม้ชีวิตของตนเพื่อแนวทางอันศักดิ์สิทธิ์ ชีวิตเซ็งๆ ธรรมดาสามัญ จะถูกปลุกให้คลั่งไคล้และโลดเร่า มีทั้งความฝันถึงอนาคตอันบรรเจิด และ ความจงเกลียดจงชังต่อปัจจุบันปนเปี่ยมอยู่ในหัวใจ

       ขบวนการปฏิวัติทุกชนิดและทุกสมัย แม้จะชูธงกล่าวอ้างเป้าหมายแตกต่างกันออกไปเป็น ทางศาสนา เศรษฐกิจการเมือง หรือ ชาตินิยมก็ตาม แต่ก็ล้วนจะต้องอาศัยมวลชนปฏิวัติเป็นพลังอยู่ทุกขบวนการ มวลชนปฏิวัติจึงเป็นลักษณะร่วม หรือ ธรรมชาติของขบวนการปฏิวัติทุกรูปแบบและทุกสูตรเลยทีเดียว

 

มวลชนปฏิวัติเหล่านี้มาจากไหนและเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

      คำถามนี้เป็นปัญหาสำคัญที่เราจะต้องช่วยกันตอบให้ได้ เพราะโลกจะต้องถูกสร้างหรือทำลายโดยมวลชนปฏิวัติอยู่ตลอดไปเป็นวัฏจักร การที่เราฮึกเหิมกันในปัจจุบันว่า "พระเจ้าเน่าไปแล้ว" นั้น ก็มิได้หมายความว่ายุคของเราจะเป็นยุคของสัตว์ที่ปราศจากความเชื่อมันแต่อย่างใด ตรงกันข้าม ทุกหนทุกแห่งในโลกกลับกระหึ่มก้องไปด้วยฝีเท้าของมวลชนปฏิวัติ ที่กำลังลุกฮือขึ้นกำหนดชะตากรรมของโลกอยู่อย่างเอาเป็นเอาตาย

      หนังสือเล่มนี้มีขึ้นเพื่อเสนอคำตอบปัญหาสำคัญดังกล่าว ซึ่งก็จะเริ่มตอบ โดยอ้างอิงถึงข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า มวลชนปฏิวัติทั้งหลายนั้นจะมีธรรมชาติเป็นคนที่ผิดหวังในตัวของตนเองอยู่เป็นอย่างยิ่ง

จากนั้นก็จะถือเป็นข้อสันนิษฐานและพิสูจน์เป็นบทกำเนิดของมวลปฏิวัติไว้สองประการ คือ

1. ความผิดหวังเหล่านี้นี่เอง คือ สาเหตุสำคัญที่ผลักคนให้เข้าร่วมมวลชนปฏิวัติได้

2. เทคนิคการจัดตั้งและการทำงานของมวลชนปฏิวัตินั้น จะต้องฉกฉวย หรือ เก็บเกี่ยวประโยชน์จากความผิดหวังเหล่านี้เสมอ


 

หนังสือแนะนำโดย Reid Hoffman
 

The Art of War เขียนโดย Sun Tzu

      "ตำราพิชัยสงครามของซุนวู" นั้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้มากมายหลากหลายแง่มุม ที่แน่นอนก็คือการนำไปใช้กับการดำเนินกิจการสงคราม การทหาร และการบริหารประเทศ ตำราพิชัยสงครามของซุนวูให้ข้อคิดที่ดีมากมายในเรื่องของการทำสงครามกับฝ่ายตรงข้าม และมิได้มุ่งเน้นไปที่การใช้กำลังและความรุนแรง หากแต่เป็นการใช้กลยุทธ์และสติปัญญา จนมีผู้กล่าวไว้ว่า หากในการทำสงครามของมนุษยชาติที่ผ่านมา ได้มีการศึกษาตำรายุทธของซุนวูอย่างแตกฉานแล้วล่ะก็ คงไม่เกิดการนองเลือดขึ้นมากมายอย่างที่เป็น ด้วยเหตุที่ขาดความเข้าใจในธรรมชาติของการชิงชัยที่แท้จริง เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางว่าไม่เพียงแต่ใช้ได้ในการดำเนินศึกสงคราม และกลเกมการเมืองเท่านั้น หากแต่ยังมีประโยชน์มากมายสำหรับการดำเนินชีวิตประจำวัน การบริหารบุคคล องค์กรและการดำเนินธุรกิจอีกด้วย

     คำสอนของซุนวูนั้นแพร่หลายอยู่ในชีวิตประจำวันโดยทั่วไป คงยากที่ผู้ใดจะมิเคยได้ยินประโยคที่ว่า "รู้เขารู้เรา รบร้อยชนะร้อย" คำกล่าวอันเป็นอมตะนี้ก็นำมาจากตำราพิชัยสงครามของซุนวูนั่นเอง ปัจจุบันนี้ตำราพิชัยสงครามของซุนวูได้กลายเป็นปรากฏการณ์ของการบริหารไปทั่วโลก ความเข้าใจและการใช้หลักการของซุนวูเป็นความปรารถนาของทุกคนที่ต้องการประสบความสำเร็จในการสร้างองค์กร ผู้นำ และธุรกิจทุกที่ทั่วโลก หากผู้ใดได้ศึกษาอย่างถ่องแท้และเข้าใจถึงปรัชญาของตำราแล้วจะก่อเกิดประโยชน์ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมอย่างมหาศาล

 

หนังสือแนะนำโดย Reid Hoffman
 

On War เขียนโดย Carl Von Clausewitz

      หนังสือ ON WAR ของ Carl Von Clausewitz ถือว่าเป็นแนวคิดต้นแบบของทหารทั่วโลกก็ว่าได้ โดยเฉพาะทหารตะวันตกที่นำแนวคิดดังกล่าวมาประยุกต์ในตำราทางทหาร เป็นจำนวนมากในปัจจุบัน

     Clausewitz มีชีวิตอยู่ในยุคของสงครามนโปเลียน รับราชการในกองทัพปรัสเซียและรัสเซีย โดยเริ่มเขียน On War เมื่ออายุ 36 ปี และได้เรียบเรียงทบทวนแก้ไขจนสิ้นอายุไข รวมเวลาที่ใช้ในการเรียบเรียง 15 ปี

     ซึ่งในทัศนะของนักรัฐศาสตร์ที่สำคัญ เช่น ฮันติงตัน กล่าวว่า “..นักวิจารณ์การทหารเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์ที่จะยกย่องให้ Clausewitz เป็นสุดยอดนักคิดทางทหารของสังคมตะวันตก เป็นเช็คสเปียร์ (Shakespeare) หรือ เกอร์เธ่ (Goethe) ของนักเขียนทางทหาร และยกย่องงานเขียนของท่านว่าเป็นไบเบิล (Bible) ของศาสตร์ทางทหาร…”

     On War เป็นงานเขียนที่ยาวมากของ Clausewitz นำเสนอในลักษณะวิภาษวิธี (Diactic) ด้วยการเสนอบท Thesis ต่อด้วย Anithesis แล้วจึงสรุปด้วย Synthesis ในที่นี้จะนำมาเฉพาะบท Synthesis ที่เป็นประเด็นหลักการเกี่ยวกับการสู้รบที่แพร่หลายในวงการทหาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในวิทยานิพนธ์ “การสงครามเพื่อผลประโยชน์ของชาติ” ของ พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา อดีตรองเลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่เคยเสนอต่อโรงเรียนเสนาธิการทหารบกและได้นำมาใช้สอนในวิชายุทธศาสตร์ภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (นอกเวลาราชการรุ่นที่ 2) คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 

หนังสือแนะนำโดย Reid Hoffman


So Good They Can't Ignore You เขียนโดย Cal Newport 

      หนังสือเล่มนี้เขียนไว้อย่างสนใจถึงสิ่งที่คนส่วนใหญ่มองข้ามและลืมคิดไไตร่ตรองก่อนยื่นซองจดหมายลาออกจากงาน คือทักษะชั้นยอด ที่มีความแตกต่าง โดดเด่นอย่างหาคนเทียบได้ยาก และมีคุณค่าต่อผู้อื่นอย่างยิ่ง หรือเรียกตามหนังสือว่า Career Capital

     เขาบอกว่าคนส่วนใหญ่เข้าใจผิดเกี่ยวกับคำว่าความรักและหลงไหลในสิ่งที่ทำ หรือ Passion มากเสียจนมีแต่คนลาออกจากงานประจำเต็มไปหมด อาจเป็นเพราะความเข้าใจผิด หรือฟังต่อ ๆกันมาว่า ถ้าอยากประสบความสำเร็จ และมีความสุขกับงานที่ทำ จำเป็นจะต้องค้นหาสิ่งที่ตนเองชื่นชอบ และทำงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งนั้น

      คนส่วนใหญ่ลาออกจากงาน ตามหาสิ่งที่ตนเองรัก และชื่นชอบ กลับต้องผิดหวัง เพราะความชื่นชอบในสิ่งใดสิ่งหนึ่งสามารถเพิ่มขึ้น หรือลดลงได้ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม และปัจจัยหลายอย่าง อีกทั้งไม่มีทักษะที่เก่งกาจอันเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกล่าวถึงต่อไปที่ส่งผลต่อความรัก ความชื่นชอบในงานที่ทำ

     เพราะฉะนั้นจึงอาจสรุปได้ว่าการทำสิ่งที่รัก ไม่การันตีความสำเร็จเสมอไป แต่การมีทักษะที่เก่งกาจต่างหากถึงจะการันตีความสำเร็จ!

     คาร์ล นิวพอร์ตแนะนำให้คิดแบบ Craftsman mindset กล่าวคือคิดแบบช่างฝีมือที่ค่อยๆประดิษฐ์ ตกแต่งเสริมทักษะความสามารถให้ดียิ่งขึ้นจนเป็นทักษะชั้นยอด หรือ Career Capital อันนำไปสู่ความสำเร็จในอาชีพ และส่งผลต่อความสุขในการทำงาน


 

หนังสือแนะนำโดย Reid Hoffman
 

The Airbnb Story: How Three Ordinary Guys Disrupted an Industry, Made Billions . . . and Created Plenty of Controversy เขียนโดย Leigh Gallaher

     หนังสือเล่มนี้ จะพาคุณไปพบกับเบื้องลึกเบื้องหลังของบริษัทเทคโนโลยีที่สั่นสะเทือนโลก สั่นสะเทือนอุตสาหกรรมโรงแรม และทำให้สามหนุ่มที่ต่างกันคนละขั้ว กลายเป็นมหาเศรษฐีหมื่นล้านตั้งแต่อายุสามสิบต้น ๆ "Airbnb" เป็นผู้ให้บริการที่พักใหญ่ที่สุดในโลกได้ ในเวลาไม่ถึงหนึ่งทศวรรษ เป็นบริษัทที่มีมูลค่ากว่าสามหมื่นล้านดอลลาร์ เป็น "ยูนิคอร์น" มาแรงที่สุดในบรรดาบริษัทสตาร์ทอัพแห่งซิลิคอนแวลลีย์

     ความสำเร็จนี้ไม่ใช่ปาฏิหาริย์ แต่เกิดจากสมองและสองมือของสามหนุ่มรุ่นใหม่ผู้เริ่มต้นจากศูนย์ จนกรอบจนต้องกินซีเรียลเปล่าๆ เพราะไม่มีเงินซื้อนม ความสำเร็จนี้เกิดได้ด้วยความคิดแหวกแนว เริ่มด้วยการให้เช่าเบาะลมนอนในห้องรับแขกหรือห้องครัวก็ได้ แต่ต้องแฝงความรู้สึกที่ว่า "ไปที่ไหนก็รู้สึกไม่ห่างเหิน" อยู่เสมอ นี่คือนวัตกรรมแห่งศตวรรษที่เปลี่ยนความคิดเรื่องการไปค้างอ้างแรมในบ้านของคนแปลกหน้าไปโดยสิ้นเชิง!

 

Measure What Matters: How Google, Bono, and the Gates Foundation Rock the World With OKRs เขียนโดย John Doerr

      หนังสือเล่มนี้ กล่าวถึง ระบบ "OKRs" ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการองค์กรสมัยใหม่ เป็นกระบวนการง่ายๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กรต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายให้ก้าวไปข้างหน้า และช่วยให้เห็นสิ่งต่าง ๆ ในองค์กรได้ชัดเจนมากขึ้น และที่สำคัญช่วยนำพาให้องค์กรเติบโตเป็น 10 เท่า ระบบนี้ช่วยทำให้ภารกิจที่สุดโต่งและท้าทายของการจัดระเบียบโลกใหม่มีโอกาสเป็นไปได้และประสบความสำเร็จ ระบบนี้ช่วยให้บริษัททำสิ่งสำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นได้อย่างทันเวลา ถูกที่ และถูกทาง

      แม้ผู้เขียนจะรู้ว่าแนวทางไหนดีที่สุด แต่ไม่ได้ชี้แนะ ชี้นำ และบอกว่าต้องทำแบบนั้นแบบนี้ แต่จะเล่าให้ฟังว่าแต่ละองค์กรเขานำเอา "OKRs" ไปใช้อย่างไร ปรับให้เข้ากับองค์กรนั้น ๆ อย่างไร และทิ้งท้ายไว้เสมอว่าทุกอย่างไม่ใช่สูตรสำเร็จตายตัวที่จะนำไปใช้ได้กับทุกองค์กร แต่ละองค์กรจะต้องศึกษา ทดลองนำไปใช้จริง และปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับแต่ละองค์กร เนื้อหาในเล่มจะช่วยไขปริศนาเรื่องการบริหารผลงานขององค์กรได้ในหลาย ๆ เรื่องที่องค์กรต่าง ๆ กำลังเจออยู่ และหากนำไปใช้จริงก็จะยิ่งช่วยยืนยันได้ว่า เรื่องราวและแนวคิดของหนังสือเล่มนี้เป็นแนวทางที่เหมาะสมกับการพัฒนาและยกระดับผลงานขององค์กรให้ก้าวหน้าไปได้ดีกว่า เร็วกว่า และยั่งยืนกว่าที่เดินไปด้วยแนวคิดแบบเดิม!

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ