ลอว์เรนซ์ แลร์รี เพจ เขาเป็นนักวิทยาการคอมพิวเตอร์ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ และผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิลคู่กับ เซอร์เกย์ บริน ลองไปดูหนังสือที่เขาแนะนำ ว่ามีแนวคิดไหนที่หล่อหลอมตัวตนของเขา ในการพา Google ให้เติบโตอย่างมาก ณ ปัจจุบันนี้
นิโคลา เทสลา เป็นนักประดิษฐ์, นักฟิสิกส์, วิศวกรเครื่องกล, วิศวกรไฟฟ้า และ นักทำนายอนาคต เขาเกิดที่ Smiljan ในอดีตออสเตรีย - ฮังการี ซึ่งปัจจุบันคือสาธารณรัฐโครเอเชีย ภายหลังเขาได้รับสัญชาติเป็นพลเมืองอเมริกัน ผลงานของเทสลาที่ทำให้เขาเป็นที่สนใจในสมัยนั้นอาทิเช่น การทดลองเกี่ยวกับ คลื่นความถี่สูงและแรงดันไฟฟ้าแรงสูง ใน นิวยอร์ก และ โคโลราโด สปริงซ์, สิทธิบัตรของอุปกรณ์และทฤษฎีที่ใช้ในการสร้างวิทยุสื่อสาร, การทดลอง X-ray ของเขา, เขายังเป็นผู้คิดค้นตัวกำเนิดสัญญาณ (oscillator) หลากหลายรูปแบบอีกด้วย และ โครงการ Wardenclyffe Tower ซึ่งเป็นความพยายามในการส่งสัญญาณไร้สายข้ามทวีปแต่โชคร้ายที่โครงการนี้ไม่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ เทสลายังถือเป็นวิศวกรที่สร้างนวัตกรรมล้ำยุคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 สิทธิบัตรของเทสลาและผลงานเชิงทฤษฎีของเขากลายเป็นพื้นฐานของระบบไฟฟ้ากระแสสลับ ได้แก่ ระบบจ่ายกำลังหลายเฟส และมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ ซึ่งเขามีส่วนผลักดันเป็นอย่างมากในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สอง ผู้อ่านจะมีส่วนร่วมไปกับเรื่องราวชีวิตของเขาด้วยอารมณ์ขำขัน คำพูดเด็ดๆ เกี่ยวกับความฝันที่ยิ่งใหญ่ของเขา
"ริชาร์ด ฟายน์แมน" นักฟิสิกส์อารมณ์ดี สนใจทั้งโลกดนตรีและโลกศิลปะ เขาชื่นชอบในการคิดแก้ปัญหาจากจินตนาการสู่ความเป็นไปได้ ไม่เพียงแต่เป็นหนึ่งในทีมนักวิจัยโครงการแมนฮัตตันและนักฟิสิกส์รางวัลโนเบล เขายังเป็นผู้ริเริ่มการศึกษาอนุภาคฯพื้นฐานโครงการนาโนเทคโนโลยี และได้รับสมญาว่าเป็นบิดาแห่งนาโนฯ
ในหนังสืออัตชีวประวัติที่น่าสนใจเล่มนี้ นอกจากจะได้เห็นความอัจฉริยะของฟายน์แมนแล้วยังจะประทับใจและอึ้งกับความคิดที่ว่า "ประสบการณ์และการเรียนรู้สำคัญกว่าการท่องจำในหน้ากระดาษ"
ในหนังสือ Surely You re joking Mr.Feynman (ฟายน์แมน อัจฉริยะโลกฟิสิกส์) ริชาร์ด ฟายน์แมน พาผู้อ่านเข้าไปสัมผัสกับความสนุกของชีวิต ทำให้เรามองโลกได้มากกว่า 3 มิติ และชี้ชวนให้เราเห็นว่า โลกใบนี้ยังมีสิ่งที่ต้องค้นหาอีกมากมาย บรรดาผู้คนที่รู้จักชายผู้นี้ ไม่ได้ชื่นชมเขา เพียงเพราะเป็นนักฟิสิกส์รางวัลโนเบล เป็นครูที่สอนหนังสือสนุก เป็นจิตรกรที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นนักดนตรีที่มีพรสวรรค์ หรือเป็นนักฟิสิกส์ที่สร้างคุณูปการมากมายให้กับแวดวงวิทยาศาสตร์ แต่ทุกคนชื่นชอบฟายน์แมนเพราะ ความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งเป็นแรงขับดันให้เขามีความกระตือรือร้นที่จะทำตามความฝันและมุ่งมั่นสร้างความสุขให้คนรอบข้าง
สำหรับ What Do You Care What Other People Think (ฟายน์แมน อัจฉริยะอารมณ์ดี ) เล่มนี้ ฟายน์แมนในวัยใกล้เกษียณเล่าที่มาที่ไปซึ่งทำให้เขาสนใจวิทยาศาสตร์ และการผจญภัยในระหว่างที่เป็นคณะกรรมการตรวจสอบปัญหาของกระสวยอวกาศชาลเลนเจอร์ แม้เขาจะไม่ใช่คนหนุ่ม ที่มีพลังงานเหลือเฟือเหมือนเมื่อหลายสิบปีที่ก่อน แต่การมองโลกในแง่ดี ความขี้เล่น และความสนุกสนานก็ไม่ได้ลดน้อยถอยลงตามวัยที่เพิ่มขึ้น เขายังเป็นฟายน์แมนนักอำ ตาลุงขี้สงสัย หรือครูผู้มีกลเม็ดเด็ดพรายในการสอนเหมือนเดิม สำหรับผู้ที่ได้อ่าน ฟายน์แมน อัจฉริยะโลกฟิสิกส์ มาแล้ว หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังภาคต่อเรื่องเยี่ยม และตัวละครที่คุณรักนั้นก็ยังสร้างความสุขและเสียงหัวเราะได้เช่นเคย
คิว-อี-ดี ทฤษฎีมหัศจรรย์ของแสงและสสาร เป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมในหมู่นักศึกษาวิชาฟิสิกส์ ตลอดจนผู้ที่สนใจเรื่องราวในโลกฟิสิกส์ทั่วโลก หนังสือเล่มนี้ปรับมาจากการบรรยายของริชาร์ด ฟายน์แมน นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล และครูผู้มีชั้นเชิงการสอนอันปราดเปรื่อง ฟายน์แมนหยิบเรื่องราวของ ทฤษฎีควอนตัมอิเล็กโตรไดนามิกส์ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า คิว-อี-ดี ซึ่งเป็นทฤษฎีที่อธิบายอันตรกิริยาระหว่างแสงและอิเล็กตรอน รวมทั้งฉายให้เห็นปริศนาที่ลึกซึ้งและซับซ้อนที่สุดที่ซ่อนอยู่ในสิ่งต่างๆรอบตัวเรา
คิว-อี-ดี เป็นทฤษฎีที่ขึ้นชื่อว่ายุ่งยากและซับซ้อนพอสมควร ทั้งยังมีคำถามอีกมากมายให้นักฟิสิกส์ต้องขบคิดและหาคำตอบกันต่อไป ทว่าการบรรยายของฟายน์แมนสามารถทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าพื้นฐานของทฤษฎีนี้คืออะไร มันอธิบายอะไร และมันจะพัฒนาไปเช่นไรในอนาคต ด้วยความที่ฟายน์แมนเชี่ยวชาญในสาขานี้ บวกรวมกับกลเม็ดเด็ดพรายในการเล่าเรื่อง การยกตัวอย่างที่เราคุ้นเคยในชีวิตประจำวันมาประกอบการบรรยาย ทำให้ คิว-อี-ดี กลายเป็นเรื่องสนุกขึ้นมาโดยฉับพลัน
หนังสือรวมงานเขียนสั้นๆ ของ Richard Feynman ในหนังสือ Pleasure of Finding Things Out เขาถูกถามว่า “การเข้าใจทฤษฎีพฤติกรรมของอนุภาคอะตอม จะเอาไปทำอะไรได้ต่อในทางปฏิบัติ?” Feynman อธิบายว่า การนำไปใช้ (application) ไม่ใช่สิ่งสำคัญสิ่งเดียวบนโลก การการเข้าใจว่าโลกประกอบด้วยอะไรก็สำคัญเช่นกัน จริงๆ เขาก็ไม่รู้ว่า การค้นพบจักรวาลมีประโยชน์ใดกับมนุษย์ จะนำไปทำอะไรได้ ตัวเขาอาจโง่เกินกว่าจะตอบได้ว่าจะนำไปทำอะไรต่อได้ แต่การวิ่งไล่ตามหาคำตอบและความจริง เพราะความสงสัยและเพราะมันน่าสนใจก็เพียงพอแล้ว หากแก่นของมนุษยชาติคือการค้นพบและเข้าใจความจริงของโลกและจักรวาลที่เราดำรงอยู่
Snow Crash นิยายปี 1992 ของ Neal Stephenson ซึ่งพูดถึงการใช้ชีวิตในโลกอนาคต ที่ซึ่งระบบการปกครองหายไป รัฐบาลกลายเป็นการรวมตัวทางธุรกิจแทน พระเอกชื่อ Hiro Protagonist (ชื่อนี้จริงๆ นะ) เรียกตัวเองว่า "แฮ็กเกอร์อิสระคนสุดท้ายและนักดาบมือดีที่สุดในโลก" ตกงานจากการเป็นคนส่งพิซซ่าให้มาเฟีย มาจับคู่กับสาวน้อยสุดฉลาดนาม Y.T เด็กส่งของเหมือนกัน
ฟังจากพล็อตเรื่องแล้วน่าอ่านเนอะ นั่นแหละ การจำลองภาพอันสมจริงของนิยายเรื่องนี้เลยเป็นแรงบันดาลใจให้ Philip Rosedale สร้างสังคมจำลองในอินเทอร์เน็ตขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า Second Life
อ้างอิงจาก : http://favoriteof.com/larry-page/books
เรียบเรียงโดย : ศิริรัตน์ สุ่นสกุล
.