รื่นรมย์ในโรงพิมพ์ : นักเขียนการ์ตูนชื่อ จุก เบี้ยวสกุล

รื่นรมย์ในโรงพิมพ์

          แต่ละวันคืนที่ล่วงเลยในขณะที่ทำงานในโรงพิมพ์นั้น ไม่ต่างจากการแหวกว่ายไปในท้องทะเลแห่งประสบการณ์ที่กว้างใหญ่เท่าใดนัก เสียงแท่นพิมพ์ที่ดังทั้งวันจนกระทั่งดึกดื่นอยู่ที่ชั้นล่างสุด  เปรียบเสมือนเสียงดนตรีที่บรรเลงอย่างมิรู้จักเหน็ดเหนื่อย ส่วนกลิ่นหมึกกลิ่นกระดาษนั่นอีก ก็หอมหวนดั่งกลิ่นของมวลบุปผาที่ล่องลอยมาจากสวนทิพย์เลยทีเดียว

          ขณะเดียวกันในโรงพิมพ์ก็เหมือนตลาดนัดประสบการณ์ที่ดีอย่างยิ่ง สำหรับคนที่ต้องการแสวงหาประสบการณ์และความแข็งแกร่งให้กับชีวิตของตัวเอง

          ในบรรดาคนที่ทำงานอยู่บนชั้นสามในโรงพิมพ์บริษัทพลพันธ์การพิมพ์ “จุก เบี้ยวสกุล” ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ค่อยจะกลับไปนอนบ้าน  แต่ชอบที่จะนั่งทำงานอยู่จนดึกดื่นค่อนคืน หรือแม้บางครั้งจะออกไปเริงสราญกับเพื่อนๆ นักเขียน แต่พอกลับถึงโรงพิมพ์จะต้องนั่งทำงานต่อ โดยบางคืนเกือบฟ้าสางก็ว่าได้

 

จุก เบี้ยวสกุล

 

           “พี่หมู” หรือ “พี่จุก เบี้ยวสกุล” ที่ใครๆ ในโรงพิมพ์เรียกขานนั้น โดยบุคลิกแล้วเป็นคนอารมณ์ดี พูดคุยอะไรดูจะเป็นเรื่องตลกไปหมด ไม่ค่อยพูดเรื่องหนักสมองอะไร แต่ถ้าคุยกันเรื่องหนักๆ ก็จะแถให้มันกลายเป็นเรื่องสนุกๆ  หรือแม้กระทั่งตอนหายป่วยจากเส้นเลือดในสมองแตกแล้วกลับมาทำงานในโรงพิมพ์ตามปกติ พี่จุกก็ยังคุยถึงเรื่องโรคภัยให้กลายเป็นเรื่องตลกได้

            อาจจะเป็นเพราะความเป็นนักเขียนการ์ตูนที่ต้องสอดแทรกอารมณ์ขัน บวกกับอุปนิสัยส่วนตัวที่เป็นคนคิดบวกแบบมีอารมณ์ขันนั่นแหละ ตัวตนของพี่จุก เบี้ยวสกุลจึงเหมือนไม่ทุกข์ร้อนอะไร....ทั้งๆ ที่ในชีวิตจริงของพี่จุกต้องเผชิญกับปัญหามากมาย 

            หรืออย่างคำว่า “กาแฟโบราณ” ที่เริ่มนิยมนำมาใช้กันตามร้านกาแฟในยุคนั้น  พี่จุกก็มองในแง่ของความขบขันให้กับตัวเองได้

           “ไปที่ไหนมีแต่ร้านขายกาแฟโบราณ “ พี่จุกพูดพร้อมครุ่นคิดชั่ณะก่อนบอก “เอ...ถ้ายังงั้นเราก็ต้องขายการ์ตูนโบราณบ้างสิ...เข้าท่าดีนะ...การ์ตูนโบราณ...อ่านการ์ตูนโบราณแล้วจิบกาแฟโบราณไปด้วย ฮ่าๆๆๆ” 

 

(จากซ้าย) ด.ช.นิรัติศัย บุญจันทร์, จุก เบี้ยวสกุล, ทิวา สาระจูฑะ และมนู พีระพันธุ์ นักสะสมหนังสือการ์ตูนไทย

 

          ห้องทำงานของพี่จุกคือห้องนิตยสาร “หลายชีวิต” นอกจากจะทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการแล้ว ยังเขียนสารพัดรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเขียนการ์ตูน ซึ่งเป็นงานที่บ่งบอกถึงตัวตนของความเป็น “จุก เบี้ยวสกุล” ได้เป็นอย่างดี   เวลานั่งวาดตัวการ์ตูนอยู่บนโต๊ะ พี่จุกจะนิ่งอย่างมาก จนกว่าจะวาดเสร็จแต่ละหน้าแต่ละช่องแล้วนั่นแหละ จึงจะหันมาพูดคุยหรือไม่ก็เล่าเรื่องตลกๆ ได้

          ดังที่เคยบอกไว้ว่า ส่วนมากแล้วคนที่ทำงานอยู่บนชั้นสามตามห้องนิตยสารต่างๆ นั้นมักจะเป็นนักเขียนมือเอนกประสงค์ที่สามารถเขียนได้หลากหลายแนว แล้วแต่ว่าใครจะตะโกนให้เรียนเรื่องอะไร...เช่นเดียวกับพี่จุก เบี้ยวสกุล นอกจากจะเขียนการ์ตูนแล้ว ยังเขียนเรื่องขำขัน เขียนบทความ และยังแปลเรื่องอีกด้วย  และเพราะเป็นคนที่มีพื้นภาษาอังกฤษดีนั่นแหละ ในกระเป๋าจะต้องมีนิตยสารฝรั่ง และชอบฟังเพลงสากลด้วย ซึ่งหากจะดูเบื้องหลังชีวิตและระดับการศึกษาของพี่จุกแล้วก็ถือว่าไม่ธรรมดาเลย เนื่องจากเป็นคนกรุงเทพฯ เรียนหนังสือจบชั้นมัธยมที่โรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และจบด้านศิลปะจากโรงเรียนเพาะช่างด้วย 

            และด้วยความเป็นเด็กวัยรุ่นในกรุงเทพฯ ที่ร่วมยุคสมัยเดียวกับ “ยุคโก๋หลังวัง” การฟังเพลงสากลอย่างเพลงของ  Elvis Presley, Cliff Richard และ The Beatles จึงเป็นเรื่องปกติสำหรับวัยรุ่นยุคนั้น เหมือนกับ “พี่หมู” หรือ “จุก เบี้ยวสกุล” โดยบางครั้งหลังจากนั่งดื่มด่ำที่ร้านเจ๊เหลี่ยนเสร็จแล้ว เมื่อกลับถึงห้องทำงานบนชั้นสาม พี่จุกมักจะแปลงเพลงหนึ่งของเอลวิสร้องสนุกๆ ให้ฟังบ่อยครั้งว่า

           “ปี๊บมาแลกกับครก...ครกมาแลกกับปี๊บ....ปี๊บมาแลกกับครก...ครกมาแลกกับปี๊บ”

           แล้วพวกเราที่ซุกหัวนอนบนโรงพิมพ์ก็จะส่งเสียงหัวเราะกันอย่างสนุกสนาน

 

ลายมือเขียนของ “จุก เบี้ยวสกุล”

 

          ในฐานะที่เป็นนักเขียนการ์ตูนไทยระดับตำนาน แน่นอนล่ะว่า “จุก เบี้ยวสกุล” ย่อมมีลูกศิษย์ลูกหาที่ให้ความเคารพแวะเวียนมาหาถึงโรงพิมพ์ หรือไม่ก็ไปเจอกันที่ร้านใดร้านหนึ่งที่ย่านปิ่นเกล้า โดยลูกศิษย์คนสำคัญคนหนึ่งก็คือ “เตรียม ชาชุมพร” นักเขียนการ์ตูนและนิยายภาพชื่อดังอีกคนหนึ่งของเมืองไทย และเป็นผู้วาดภาพประกอบแบบเรียนภาษาไทยระดับประถมศึกษาชุด  “มานะ มานี ปิติ ชูใจ” นั่นเอง 

         เตรียม ชาชุมพร เป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี และเนื่องจากช่วงหนึ่งของชีวิตพี่ จุก เบี้ยวสกุล อยู่ร่วมกับภรรยาที่บ้านจังหวัดอุบลฯ  ในระหว่างที่เตรียมเรียนหนังสืออยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่โรงเรียนสิทธิธรรมวิทยาศิลป์ อำเภอวารินชำราบ จึงมีโอกาสได้รู้จักกับพี่จุก พร้อมฝากตัวเป็นศิษย์ โดยพี่จุกฝึกให้เตรียม ชาชุมพรเขียนการ์ตูนจนกระทั่งประสบผลสำเร็จในเวลาต่อมา

 

“ปุ๊ กรุงเกษม” หรือ “บรรเจิด กฤษณายุธ” คู่ชีวิตของ “แหวน ฐิติมา”

 

          แรกทีเดียวนั้น ผู้เขียนไม่รู้หรอกว่าพี่จุก เบี้ยวสกุลนั้นคุ้นเคยกับจิ๊กโก๋หลังวังบางคน จนกระทั่งเย็นวันหนึ่ง หลังจากที่เสร็จสิ้นงานแล้ว พี่จุกจึงกระซิบบอกกับผู้เขียน

          “ตุ๋ย...คืนนี้ไปกินเหล้าแถวๆ สุขุมวิทกันดีกว่าวะ” พี่จุกชวน และทำให้อดสงสัยไม่ได้

          “ร้านอะไรล่ะพี่จุก” ที่ถามเพราะตามปกติจะไปไม่ไกลจากรัศมีร้านเจ๊เหลี่ยนข้างโรงพิมพ์

          “เหอะน่า...เดี๋ยวไปถึงก็รู้เองแหละ”

          ราวหนึ่งทุ่มพี่จุกกับผู้เขียนลงจากโรงพิมพ์ แล้วเรียกแท็กซี่มุ่งหน้าไปยังถนนสุขุมวิท โดยพี่จุกบอกให้แท็กซี่จอดที่หน้ารานหนึ่งที่มีแสงไฟหลากสีหน้าร้าน

          “Jaguar Cocktail Lounge“ คือร้านจุดหมายที่พี่จุกชวนมานั่ง

         “ร้านใครล่ะพี่จุก” ผู้เขียนอดถามไม่ได้

         “เข้าไปเดี๋ยวก็รู้เองแหละ”

         พี่จุกหันมาบอกแล้วเดินนำเข้าไปในร้านดังกล่าว ซึ่งภายในร้านดูโออ่าหรูหรา และด้วยเวลายังหัวค่ำ จึงยังปลอดลูกค้า ขณะที่ผู้เขียนกำลังกวาดสายตาภายในร้านด้วยความตื่นตาตื่นใจ ก็ได้ยินเสียงทักทายระหว่างเจ้าของร้านกับพี่จุก

          “เฮ้ย...เป็นไงวะไอ้จุก” เจ้าของร้านทักเสียงดัง พร้อมยิ้มร่าถลามาจับมือจับไม้กับพี่จุกด้วยความรู้จักคุ้นเคย

          “แล้วเป็นไงบ้างวะปุ๊” พี่จุกถามไถ่เจ้าของร้านบ้าง ก่อนจะหันมาบอกผู้เขียน “ไอ้ตุ๋ย...รู้จักพี่ปุ๊หน่อยสิ”

          ผู้เขียนยกมือไหว้คนที่ชื่อ “พี่ปุ๊” ตามที่พี่จุกแนะนำ

         “ไอ้ตุ๋ยนี่มันเป็นบ.ก. หนังสือฟ้าเมืองทอง...ทำงานอยู่โรงพิมพ์เดียวกัน” พี่จุกบอกกับพี่ปุ๊แล้วเอียงหน้ามาทางผู้เขียน

         “คนนี้แหละปุ๊....ปุ๊ กรุงเกษม”

         เพียงบอกเท่านั้น ผู้เขียนจึงรู้ว่าร้านนี้เป็นร้านของใคร ที่แท้ก็ของ “พี่ปุ๊ กรุงเกษม” อดีตนักเลงชื่อดังจากฝั่งธนฯยุคโก๋หลังวัง ผู้ถูกกล่าวขานว่า "จิตใจเป็นเอลวิส ความคิดเป็นเจมส์ ดีน" นั่นเอง 

         มิน่า...ตอนอยู่บนโรงพิมพ์ชั้นสาม เวลาเมายามดึกได้ที่ พี่จุก เบี้ยวสกุล มักจะเดินคอเอียงๆ เหมือนเจมส์ ดีน และร้องเพลงเอลวิส เพรสลีย์ให้ฟังด้วย

          “ปี๊บมาแลกกับครก...ครกมาแลกกับปี๊บ....ปี๊บมาแลกกับครก...ครกมาแลกกับปี๊บ”

 

นิรันศักดิ์ บุญจันทร์

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ