Parris-Lamb : กับหน้าที่ผู้คัดเลือกหนังสือ

Parris-Lamb

Parris-Lamb ผู้คัดเลือกหนังสือ

“เพียงแค่คุณเขียนอะไรออกมา ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การอ่าน

น่าเศร้าใจที่บางคนลืมไปว่าเขาไม่สามารถเป็นนักเขียนที่ดีได้หากเขายังไม่ได้เป็นนักอ่านที่ดีเสียก่อน”

 

นั่นคือคำพูดของ Chris Parris-Lamb เอเจนต์ (หรือตัวแทนขายงานให้นักเขียน) แห่งบริษัท The Gernert บริษัทเอเจนซี่หนังสือแห่งหนึ่งในนิวยอร์ก ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Guernica ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา

ชื่อของเขาเป็นที่กล่าวถึงในหลายๆ สื่อในระยะนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่หนึ่งในนักเขียนคนล่าสุดที่ Parris-Lamb ได้ขายงานให้และได้รับความสนใจอย่างมากก็คือ Garth Risk Hallberg ผู้เขียนหนังสือ City on Fire ซึ่งได้รับค่าลิขสิทธิ์ล่วงหน้า (advance) ไปถึง 2 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ Parris-Lamb ยังเป็นเอเจนต์ที่มีส่วนร่วมในขั้นตอนตรวจทานหนังสืออย่างละเอียดลออ เป็นที่รู้กันว่าเขาใช้เวลาทำงานกับต้นฉบับของนักเขียนถึง 6 ดราฟต์ ก่อนที่จะยอมปล่อยต้นฉบับนั้นออกไปเสนอต่อบรรณาธิการ

แน่นอน เขาเป็นนักอ่านตัวยง เป็นผู้ชี้ชะตาว่าหนังสือเล่มไหนจะได้ไปต่อ หรือหนังสือเล่มไหนจะต้องเก็บกระเป๋ากลับบ้านไป เราจึงคิดว่าบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้น่าจะกระแทกใจนักเขียนและนักอ่านหลายๆ คน (เนื่องจากบทสัมภาษณ์ยาวมาก จึงขอคัดมาบางส่วน)

ปัญหาที่คุณมักพบในกองงานเขียนที่ไม่ได้รับการอนุมัติเหล่านี้คืออะไร
ผมเห็นคนจำนวนมากที่คิดไปว่าการเขียนนวนิยายเป็นเพียงการเอาคำแปดหมื่นคำมาเรียงต่อๆ กัน ผมแค่อยากจะอ่านต้นฉบับที่อ่านแล้วรู้สึกได้ว่านักเขียนใส่ใจมากกว่านี้ ใช้เวลาเขียนมันนานพอ และมีไอเดียที่ดีกว่า หรืออย่างน้อยก็มีไอเดียอะไรบ้างในงานเขียนนั้นที่สื่อสารกับหนังสือเล่มอื่นๆ รวมทั้งต้องมีเอกลักษณ์ด้วย งานเขียนที่ส่งมาส่วนใหญ่ดูเหมือนคนเขียนเพียงแต่ทำขึ้นมาเพื่อจะติ๊กว่าตัวเขียน “เขียนนิยาย” เสร็จแล้วในรายการสิ่งที่ต้องทำ ผู้อ่านไม่อยากจะจ่ายเงิน 300 บาท หรือแม้แต่ 60 บาท เพื่อซื้อหนังสือที่ไม่ให้อะไรกับเขาเลยหรอกนะ หนังสือเหล่านี้ ส่วนใหญ่ไม่ทำให้รู้สึกว่าควรค่าแก่การมีอยู่หรือควรเสียเวลาไปอ่านมันเลย สำหรับนักเขียน มันก็คงมีอะไรแหละ นั่นคือเหตุผลที่เขาเขียนมันขึ้นมา แต่มันไม่มีประโยชน์อะไรเลยสำหรับผู้อ่าน และนั่นก็เป็นเหตุผลที่มันจะไม่ได้ตีพิมพ์เช่นกัน เวลาที่ใช้ไปกับการเขียนนวนิยายนั้นมีค่า แต่เวลาของผู้อ่านก็มีค่าไม่ต่างกัน

เราพูดถึงความผิดหวังของคุณเกี่ยวกับงานเหล่านี้แล้ว เป็นไปได้ไหมว่าปัจจุบัน มีคนเขียนหนังสือเยอะเกินไป ในขณะที่มีคนอ่านน้อยเกินไป
แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะพูดถึงเรื่องนี้โดยที่คนในเน็ตจะไม่มาถล่มด่าผม แต่จะตอบสั้นๆ เลยว่า ใช่… ผมจะให้มุมมองที่เป็นปรัชญาและถนอมน้ำใจหน่อยแล้วกัน ผมต้องการจะบอกว่า เราทั้งหมดต่างก็ต้องตาย เรามีเวลาอยู่บนโลกนี้แค่สั้นๆ เท่านั้น และเราต่างก็ต้องการโดดเด่นไม่ทางใดก็ทางหนึ่งขณะที่เรายังมีชีวิต ในขณะเดียวกัน เราต่างก็มีไมโครซอฟท์เวิร์ดอยู่ในหน้าจอเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรา พวกเราต่างใช้เวลามากมายไปกับการพิมพ์ ทางหนึ่งที่จะประสบความสำเร็จได้ก็คงเป็น… การเขียนงานซิมโฟนีชิ้นเอกออกมา แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้วิธีการอ่านดนตรีให้ออกเลยด้วยซ้ำ ในขณะที่ผู้คนไม่มากก็น้อยมีวิธีการในการจัดวางถ้อยคำลงไปในหน้ากระดาษ บันทึกมัน และแชร์มันออกไป เป็นสิ่งที่ดีนะ ผมก็ไม่ได้ต่อต้านเทคโนโลยีที่มาทลายกำแพงการสื่อสารและการแสดงความเห็นออกไปหรอก แต่มันอาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดๆ ได้ เพียงแค่คุณเขียนอะไรออกมา ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การอ่าน น่าเศร้าใจที่บางคนลืมไปว่าเขาไม่สามารถเป็นนักเขียนที่ดีได้หากเขายังไม่ได้เป็นนักอ่านที่ดีเสียก่อน

คุณบอกว่าสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ สมัยนี้พิมพ์หนังสือน้อยลง และคุณมองว่านั่นเป็นเรื่องดี แต่มันก็เสี่ยงมิใช่หรือว่าเมื่อจำนวนงานที่พิมพ์ลดลง ความหลากหลายของงานเขียนก็ถูกจำกัดมากขึ้น
ผมเห็นด้วยจริงๆ ว่าสำนักพิมพ์ควรพิมพ์งานให้น้อยลง มันอาจจะทำให้การทำงานของผมหรือเอเจนต์คนอื่นๆ ยากลำบากขึ้นในระยะสั้น แต่ประโยชน์โดยรวมจะดีต่อตัวนักเขียน หากคุณเป็นนักเขียน ..นักเขียนที่ดีคนหนึ่งนะ คุณอยากจะไปอยู่ในรายชื่อหนังสือ 24 เล่มของสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์ในรอบหนึ่งๆ หรือเปล่า หรือคุณอยากจะอยู่ในรายชื่อ 36 เล่มกันล่ะ มันก็เป็นแค่สมการง่ายๆ หากคุณตีพิมพ์น้อยลง หนังสือแต่ละเล่มก็น่าจะทำยอดขายได้มากขึ้น

แต่พูดอย่างนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเรา – ในฐานะเอเจนซี่ที่มักจะถูกตราหน้าเป็นผู้คุมประตูของสื่อสิ่งพิมพ์ – จะรู้ดีว่าหนังสือเล่มไหนควรได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณะ จริงๆ เราก็ไม่รู้หรอก นั่นคือสาเหตุว่าทำไมการปล่อยหนังสือที่หลากหลายจึงสำคัญ… หนังสือบางเล่มอย่าง Gone Girl ก็ไม่ได้คาดคิดว่าจะประสบความสำเร็จ หรือหนังสือของนักเขียนที่สำนักพิมพ์คาดหวังกับเขามานานมาก ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ คุณก็ควรดีใจเมื่อมันขายดี นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจนี้สนุก

Parris-Lamb ผู้คัดเลือกหนังสือ

บางส่วนของหนังสือที่มี Parris-Lamb อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ

อย่างหนึ่งที่น่าชื่นใจก็คือในรายชื่อหนังสือที่คุณรวบรวมมาหรือหนังสือที่เสนอขายได้ บ่งบอกว่ายังคงมีบรรณาธิการมากมายทั้งในสำนักพิมพ์ใหญ่หรือสำนักพิมพ์อิสระที่อยากจะให้โอกาสหนังสือดี มีคุณภาพ ซึ่งอาจไม่สอดรับกับการเป็นหนังสือขายดีได้มีโอกาสตีพิมพ์ออกมา คุณคิดว่ามันจะยังคงเป็นอย่างนั้นต่อไปอีกในสิบปีข้างหน้าไหม
ผมคิดว่ามันเป็นแค่ความเชื่องมงายที่ว่าบรรณาธิการไม่อยากได้หนังสือเหล่านี้ หรือเชื่อไปว่าพวกเขาต้องการแค่หนังสือขายดี ผมไม่ได้เข้ามาอยู่ในธุรกิจนี้นานมากนัก แต่ก็เห็นได้ว่ามีบรรณาธิการที่อยากจะลองเสี่ยงพิมพ์งานเขียนดีๆ สักชิ้นเสมอ และก็ไม่คิดว่าสถานการณ์นี้จะเปลี่ยนไปด้วย เมื่อไรก็ตามที่ผมส่งวรรณกรรมชิ้นเอกที่เขียนอย่างทุ่มเทไป บรรณาธิการจะตื่นเต้น ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขาได้รับงานลักษณะนี้น้อยมากๆ ถ้ามันมีงานแบบนี้ที่โดนปฏิเสธโดยเอเจนซี่หรือสำนักพิมพ์ที่ไหนแล้วล่ะก็ ผมก็คงไม่เคยเห็นมันนะ

จริงๆ แล้ว ไม่ค่อยมีต้นฉบับที่ดีให้เลือกนัก และนักอ่านก็ยังต้องอาศัยคนมาคอยคัดเลือกว่าต้นฉบับที่ดีคืออะไร เพราะฉะนั้น ผมไม่คิดว่าหน้าที่ผู้เฝ้าประตูเช่นเราจะตายจากไปเร็วๆ นี้ นักเขียนอาจจะไม่ค่อยชอบ แต่ผู้อ่านชอบแน่นอน ไม่ว่าพวกเขาจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม การอ่านหนังสือต้องใช้เวลามาก มากกว่าการฟังเพลงเยอะ ผู้คนมักเข้าใจผิดไปว่าธุรกิจสำนักพิมพ์มีหน้าที่แค่พิมพ์หนังสือออกมาเป็นเล่มๆ และกระจายมันออกไป ซึ่งดูเหมือนจะไม่จำเป็นเท่าไรในโลกยุคดิจิตอลนี้ ทั้งๆ ที่เห็นได้ว่ายอดขายหนังสือฉบับพิมพ์จะมากขึ้นในปี 2014 …แต่นั่นไม่ใช่สาเหตุสำคัญที่ต้องมีสำนักพิมพ์อยู่ และสำนักพิมพ์ก็ไม่ได้เป็นเพียงแค่ลู่ทางให้นักเขียนได้พิมพ์งานพวกเขาเช่นกัน แม้นักเขียนจะไม่อยากได้ยินความจริงนี้ก็ตาม สำนักพิมพ์มีอยู่ก็เพื่อคัดเลือกหนังสือดีๆ ที่ควรค่าแก่ความสนใจและเวลาที่เสียไปของผู้อ่าน ซึ่งทุกวันนี้ก็ยิ่งเป็นหนังสือที่หาได้ยากและมีค่ามาก เราทำหน้าที่สำรวจงานเขียนแย่ๆ มากมาย เพื่อที่คุณจะได้ไม่ต้องมาเสียเวลาทำอย่างนั้น — ก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบหรอก แต่มันก็เป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้ว

 

 

เนื้อหาบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มนอกจากความคิดเห็นต่อวงการหนังสือข้างต้นแล้ว ยังมีประสบการณ์การอ่านของเขาในวัยเด็ก การเข้าฝึกงานที่บริษัท Burnes & Clegg เสน่ห์ของการทำงานเป็นเอเจนซี่และปัญหาที่พบในการขายหนังสือให้สำนักพิมพ์หลายราย ข้อคิดเกี่ยวกับการได้แอดวานซ์ของนักเขียน รวมถึงมุมมองที่มีต่อเว็บไซต์ขายหนังสือชื่อดังอย่าง Amazon

เข้าไปอ่านแบบจุใจและได้อรรถรสที่ guernicamag.com
ภาพ : The Wall Street Journal

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ