จากภาพห้องสมุดที่เป็นห้องหรืออาคารขนาดใหญ่ที่ใช้รวบรวมหนังสือประเภทต่างๆ อย่างเป็นสัดเป็นส่วนสำหรับการค้นคว้าหาความรู้ มาสู่ในยุคปัจจุบันภาพเดิมๆ ที่เราเห็นก็ถูกตีความออกมาในรูปแบบใหม่ๆ ทั้งห้องสมุดแบบดิจิตอล ไปจนถึงห้องสมุดเคลื่อนที่ที่ถูกนำมาติดตั้งในย่านชุมชนหลายๆ แห่งทั่วโลก
Little Free Library คือ หนึ่งในโครงการประเภทหลังที่เป็นความร่วมมือกันระหว่าง The Architectural League of New York และ PEN World Voices Festival ที่คัดเลือกนักออกแบบและสถาปนิกจำนวน 10 ทีมมาร่วมสร้างสรรค์ห้องสมุดสาธารณะสำหรับบรรดานิวยอร์คเกอร์ที่จะกระจายตัวตามแหล่งชุมชนทั่วนิวยอร์ค หนึ่งในผลงานที่โดดเด่น คือ ห้องสมุดที่ออกแบบขึ้นโดยทีมสถาปนิกสัญชาติเวเนซูเอล่าอย่าง Stereotank ที่ประกอบไปด้วย Marcelo Ertorteguy และ Sara Valente ทีมนี้ ทั้งคู่ได้รับโจทย์ให้สร้างสรรค์ห้องสมุดบริเวณด้านหน้าโรงเรียน St. Patrick ที่ตั้งอยู่ใกล้กับย่านโนลิต้า โดยหยิบเอารูปแบบการสร้างงานที่เน้นให้ผู้ใช้มีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่มาเป็นไอเดียหลักในการออกแบบครั้งนี้ พวกเขาดีไซน์ให้ตัวห้องสมุดมีฟอร์มเป็นรูปทรงกระบอกตัดครึ่งคล้ายกะละมังคว่ำ ผลิตจากพลาสาติก
โดยครอบลงบนโครงสร้างไม้ ส่วนองค์ประกอบภายในนั้น นอกจากจะมีแนวคิดของโครงการอย่าง ‘Take a Book, Return a Book’ กำกับอยู่ใกล้กับชั้นวางหนังสือแล้ว ทีมออกแบบยังเพิ่มช่องกลมเล็กๆ ในหลายๆ จุดเพื่อให้ผู้ใช้ที่อยู่ภายในสามารถดูความเป็นไปรอบๆ เจ้าห้องสมุดขนาดย่อมนี้ได้ ขณะเดียวกัน ก็เปิดโอกาสให้คนที่อยู่ด้านนอกสามารถมองลอดเข้ามาสำรวจหนังสือและบรรยากาศภายในพื้นที่ได้เช่นเดียวกัน ใครที่อยากเข้ามาลองใช้งานก็สามารถใช้เวลาอยู่ที่ห้องสมุดแห่งนี้เลือกหนังสือที่ต้องการได้อย่างอิสระและนำมาคืนเมื่ออ่านเสร็จ และงานนี้ยังเปิดโอกาสให้คนที่ต้องการแลกเปลี่ยนหนังสือระหว่างกันใช้ห้องสมุดแห่งนี้เป็นศูนย์กลางได้ด้วย
Free Little Library มีความน่าสนใจตั้งแต่ไอเดียเริ่มต้นที่อยากจะสร้างห้องสมุดเล็กๆ กระจายตัวไปตามพื้นที่สาธารณะทั่วนิวยอร์กเพื่อให้คนเมืองเข้าถึงแหล่งความรู้กันได้ง่ายๆ แถมแต่ละที่ก็ได้สถาปนิกและนักออกแบบมาใส่ความคิดสร้างสรรค์จนได้ห้องสมุดที่มีภาพลักษณ์ชวนให้คนอยากเข้าไปทดลองใช้งานและมีส่วนร่วม ซึ่งเวอร์ชั่นของ Stereotank ก็ดูจะสร้างบทสนทนาชั้นดีกับบรรดาหนอนหนังสือไปได้ไม่น้อยกับความจัดจ้านของสีสันที่ดูจะไปในทิศทางเดียวกับสีของแท็กซี่บนท้องถนนในนิวยอร์ค
สำหรับเมืองที่มีอาคารสูงถี่ยิบ ตลอดจนมีวิถีแบบคนเมืองจ๋าๆ (ที่ผู้คนดูแห้งแล้งซะเหลือเกิน) การมีโครงการดีๆ อย่าง Free Little Library เกิดขึ้น ก็ทำให้คนในพื้นที่มีโอกาสสูดอากาศไปพร้อมๆ กับการอ่าน หยิบยืม แลกเปลี่ยน และแบ่งปัน ทั้งในแง่ของความรู้ การพูดคุย ที่สำคัญ คือ การสร้างโอกาสให้คนเมืองที่มีวิถีแบบคนต่างคนต่างอยู่ดูมีระยะห่างระหว่างกันแคบลงไปอีกนิด
Read more: http://www.creativemove.com/creative