รื่นรมย์ในโรงพิมพ์ 101 : สีสันวันพุธ เดดไลน์ต้นฉบับและร้านเจ๊เหลี่ยน

รื่นรมย์ในโรงพิมพ์ 101

บทความโดย : นิรันศักดิ์ บุญจันทร์

เฮียชิวกับอาจินต์ ปัญจพรรค์ ท่ามกลางนักเขียนค่ายฟ้าเมืองไทย คนที่นั่งอยู่ใกล้ที่สุดนั่นคือ “คำพูน บุญทวี”

 

          ในโรงพิมพ์ไม่ต่างจากโรงละครเท่าใดนัก ทุกคนที่โลดแล่นอยู่ในโรงพิมพ์เปรียบเสมือนตัวละครที่มีเลือดเนื้อ มีลมหายใจ และมีที่มาที่ไปที่แตกต่างกัน แต่ถึงอย่างไรทุกคนก็ต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ของวันเวลา โดยเฉพาะเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

           ในวงการหนังสือ ชื่อของ “สุพล เตชะธาดา” นั้นเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เช่นเดียวกับอาณาจักรประพันธ์สาส์นที่ถือว่าเป็นสถานที่แจ้งเกิดให้กับนักเขียนไทยหลายคนนับตั้งแต่ยุคแรกก่อตั้ง จนถึงยุคที่สองและในยุคที่สามที่มาปักหลักอยู่ที่ถนนอรุณอมรินทร์   นอกจากผลิตหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ค ที่นี่ยังมีนิตยสารอีกหลายหัวที่ใช้อาคารโรงพิมพ์พลพันธ์การพิมพ์เป็นที่ตั้งสำนักงาน ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งรวมนักเขียนหลายหน้าหลายแนวอีกด้วย

            เจ้าของโรงพิมพ์นั้น แน่นอนว่าภาพลักษณ์ที่คนทั่วไปรับรู้ก็คือนายทุน หรือไม่ก็นักธุรกิจ

 

ลีลาชิวชิวแบบ “เฮียชิว”

 

            แต่ภาพลักษณ์ของ “เฮียชิว” หรือ “สุพล เตชะธาดา” จะแตกต่างจากเจ้าของโรงพิมพ์ทั่วๆ ไปอย่างสิ้นเชิง เพราะมีโลกหลายด้านจนไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นอะไรกันแน่ ระหว่างนายทุนโรงพิมพ์,  นักบริหาร, ศิลปิน, นักเขียน หรือเพื่อนนักเขียน?  เนื่องจากภายในหนึ่งวันตั้งแต่เช้าจนกระทั่งดึก ภาพของเฮียชิวจะเปลี่ยนไปตามอารมณ์และเข็มนาฬิกานั่นเอง

             โดยเฉพาะทุกวันพุธซึ่งเป็นวันที่นักเขียนจะมาส่งต้นฉบับพร้อมรับค่าเรื่อง

             เฮียชิวจะมาถึงโรงพิมพ์ในช่วงสายๆ พร้อมกับคุณ “ประพันธ์ เตชะธาดา” คู่ชีวิต   สำหรับคุณประพันธ์นั้น คนในโรงพิมพ์เรียกกันจนติดปากว่า “ซ้อ” ในวันพุธ ภายในห้องกระจกที่เป็นห้องของผู้จัดการ เลขา ฝ่ายบัญชี และแม่บ้านจะคึกคักเป็นพิเศษ เนื่องจากมีนักเขียนนักแปลมาส่งต้นฉบับและเบิกค่าเรื่อง ซึ่งนอกจากซ้อแล้ว ยังมีอีกคนที่บรรดานักเขียนรู้จักกันเป็นอย่างดี นั่นคือพี่ “วารุณี” เพราะพี่วารุณีดูแลฝ่ายบัญชีทั้งโรงพิมพ์ พร้อมทำหน้าที่จ่ายค่าเรื่องให้กับนักเขียนทุกคนนั่นเอง

              ก่อนเที่ยงเฮียชิวจะอยู่ในมาดนักบริหาร ใส่เสื้อแขนยาวสีขาวกลัดกระดุมปลายแขน ชายเสื้อเข้าในกางเกง แต่งตัวดูภูมิฐานยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเข็มขัด รองเท้า รวมทั้งทรงผมก็หวีเรียบร้อย จนกระทั่งหลังเที่ยงซึ่งเริ่มมีนักเขียนเข้ามาในโรงพิมพ์มากขึ้น เฮียชิวจะขึ้นมาที่ชั้นสามเพื่อพบปะพูดคุยกับนักเขียนอย่างสนิทสนม

 

คนขวามือคือ “ราช เลอสรวง” ในยุคที่ทำนิตยสาร “เรื่องจริง” มียอดขายทะลุหลักแสน   ส่วนคนซ้ายมือคือ “ลำเนา ศรีมังคละ” บ.ก.บริหาร “ฟ้าเมืองทอง” อีกคนหนึ่งที่รับช่วงต่อจาก “ละเอียด นวลปลั่ง”

 

              อย่างที่บอกไว้นั่นแหละ ทุกวันพุธจะมีนักเขียนมาพบเจอกันที่โรงพิมพ์ มิได้นัดหมาย แต่ต้องมาโดยอัตโนมัติ เพราะเป็นวันเดดไลน์ส่งต้นฉบับและต้องมารับค่าเครื่อง ดังนั้นห้องทำงานของนิตยสารแต่ละหัวจึงคึกคักเป็นพิเศษ โดยเฉพาะห้องกองบรรณาธิการนิตยสาร “เรื่องจริง” ที่มีพี่ “ราช เลอสรวง” เป็นบรรณาธิการ จะมีนักเขียนมานั่งพูดคุยกัน หรือใครยังทำต้นฉบับไม่เสร็จ ก็จะมานั่งตอกพิมพ์ดีดรัวเหมือนข้าวตอกแตกเลยทีเดียว

              สีสันวันพุธในโรงพิมพ์นั้นหลากหลายด้วยนักเขียนหลายแนว ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนแนวบู๊อย่าง ชาครีย์ ชนาธิป, เชษฐ์ ชัชวาล, บรรณ ศักดิ์ศรี, แหลม หญ้าคา, ชลาลัย แสงเรืองรอบ, ชาตรี อนุเธียร, สุริยัน ศักดิ์ไธสง ฯลฯ  หรือนักแปลอย่าง มาลา แย้มเอิบสิน, สวาท ธนามี, ม. เกิดสว่าง  ฯลฯ ตลอดจนนักเขียนการ์ตูนอีกหลายคน รวมทั้งนักเขียนที่เขียนประจำในนิตยสาร “หลายชีวิต” และนิตยสาร “ฟ้าเมืองทอง”   ส่วนรอบค่ำๆ ก็ยังมีนักเขียนบางคนที่แวะเอางานมาส่งเป็นประจำ และที่จะขาดไม่ได้ก็คือ “ว. ณ เมืองลุง”

 

 (จากซ้าย) อาทร เตชะธาดา, สุพล เตชะธาดา และ ว. ณ เมืองลุง

 

              เฮียชิวจะเดินเข้าห้องนั้นออกห้องนี้เพื่อทักทายพูดคุย ซึ่งส่วนมากล้วนแล้วแต่เป็นนักเขียนทั้งสิ้น จนกระทั่งบ่ายคล้อยมากขึ้น มาดนักบริหารธุรกิจของเฮียชิวที่เห็นในห้วงเวลาก่อนเที่ยงวันก็เริ่มแปรเปลี่ยนไป หลังนั่งคุยกับบรรดานักเขียนอย่างออกรสออกชาติครั้นล่วงบ่ายสามโมงกว่าๆ นั่นแหละ จึงทยอยลงจากตึกมานั่งที่ “ร้านเจ๊เหลี่ยน” ซึ่งเป็นร้านขายของสารพัดอย่างที่อยู่ใกล้ๆ เดินแค่ไม่กี่ก้าวก็ถึง

 

ซ้ายมือ-จุก เบี้ยวสกุล ขณะนั่งเขียนการ์ตูน ส่วนคนที่ยืนดูคือผู้เขียน

 

               ร้านเจ๊เหลี่ยนไม่ได้ใหญ่โตอะไร เป็นตึกสองชั้นคูหาเดียว โดยคูหาที่อยู่ติดกับร้านก็คือสำนักงานมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่มี อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นกรรมการและเลขานุการมูลนิธินั่นแหละ   นอกจากร้านเจ๊เหลี่ยนจะขายของสารพัดอย่างแล้ว ยังขายอาหารตามสั่ง รวมทั้งถ้าลูกค้าเรียกร้องก็สามารถแปรสภาพเป็นร้านขายเหล้าเบียร์ได้อีกด้วย ซึ่งส่วนมากลูกค้าหลักที่เป็นขาประจำก็ล้วนแต่เป็นนักเขียนจากค่ายประพันธ์สาส์นทั้งสิ้น

               เพราะร้านเจ๊เหลี่ยนนั้นคับแคบจึงสามารถตั้งโต๊ะกลมภายในร้านได้โต๊ะเดียว แต่ถ้ามีนักเขียนมาเพิ่มเยอะ เจ๊เหลี่ยนก็จะบริการ นำโต๊ะมาตั้งหน้าร้านให้อีกหนึ่งโต๊ะ หรือถ้าบางทีลูกค้ามากันมากๆ ก็จัดอีกโต๊ะ ล่วงล้ำบริเวณหน้าสำนักงานมูลนิธิโครงการตำราฯ ที่อยู่ติดกันเล็กน้อย หลังจากสำนักงานปิดและเจ้าหน้าที่กลับกันหมดแล้ว

              ในเย็นวันพุธ “ร้านเจ๊เหลี่ยน” จะกลายเป็นแหล่งสโมสรที่ครึกครื้นด้วยนักเขียนหลากหลายแนว ทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ และคนที่ขาดไม่ได้ก็คือเฮียชิวที่จะเดินไปๆ มาๆ ระหว่างโรงพิมพ์กับร้านเจ๊เหลี่ยนบ่อยครั้ง เพื่อนั่งจิบและพูดคุยกับเพื่อนพ้องน้องพี่นักเขียนอย่างกันเอง โดยไม่มีมาดนักบริหารธุรกิจโรงพิมพ์ให้เห็นเหมือนตอนช่วงสายๆ เพราะเฮียชิวจะพับแขนเสื้อขึ้น ชายเสื้อก็ถูกดึงออกมานอกกางเกง และมีเสียงพูดอันแหบพร่าดังสลับกับเสียงหัวเราะ

               แม้ “ร้านเจ๊เหลี่ยน” จะเป็นร้านขายของเล็กๆ แต่ก็มีเรื่องเล่าและมีคุณูปการมากมายต่อนักเขียน

               แล้วผมจะเขียนบอกเล่าในครั้งต่อไป...

 

ขอบคุณที่มา : https://www.thepaperless.co/single-post/2018/01/27/รื่นรมย์ในโรงพิมพ์-101-สีสันวันพุธ-เดดไลน์ต้นฉบับและร้านเจ๊เหลี่ยน

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ