อินทนิล : โรงเรียนคนทำหนังสือ ผลิตคนสื่อสิ่งพิมพ์

อินทนิล

อินทนิล โรงเรียนคนทำหนังสือ ผลิตคนสื่อสิ่งพิมพ์
วงการหนังสือในบ้านเรา มีสำนักพิมพ์หลากหลายรูปแบบ ผลิตตำรามากมายให้ผู้อ่านได้เลือกสรรตามความสนใจ แต่จะมีสักกี่สำนักพิมพ์ ที่นอกจากจะผลิตหนังสือแล้วยังผลิต ‘คนทำหนังสือ’ อย่าง‘อินทนิล’ สำนักพิมพ์เล็ก ๆ จากแดนตักศิลา มหาสารคาม ‘อินทนิล’ถือได้ว่าเป็นสำนักพิมพ์ฝึกหัดสำหรับนิสิต สาขาวิชาภาษาเพื่อการสร้างสรรค์งานสื่อสิ่งพิมพ์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หวังเพียงเป็นพื้นที่เล็ก ๆ พัฒนาคนทำหนังสือให้มีคุณภาพก่อนออกสู่ตลาด

‘ธุรกิจหนังสือ’ได้ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดจาก ‘อาจารย์ภาคภูมิ หรรนภา’ บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์อินทนิลว่า “มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ต้องการก่อตั้งสำนักพิมพ์ เพื่อผลิตตำราวิชาการอันเป็นภูมิปัญญาของมหาวิทยาลัย แรกเริ่มก็มี อาจารย์ธัญญา (ผศ.ดร. ธัญญา สังขพันธานนท์) เป็นบรรณาธิการคัดเลือกต้นฉบับ มีลูกศิษย์ที่ไปทำงานด้านกราฟิกหรือไปทำหนังสือ ก็ได้เรียกตัวกลับมา 4 - 5 คน ช่วงแรกเป็นหน่วยงานอิสระ สามารถจัดสรรงบประมาณได้อย่างเต็มที่ ไม่นานก็ต้องไปขึ้นตรงกับอีกหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัย ทำให้กระบวนการพิจาณาและการจัดพิมพ์ล่าช้า กว่าจะตัดสินใจได้ต้องใช้เวลานาน ยุ่งยากมากขึ้น”

 

จากปัญหาด้านการจัดสรรงบประมาณ และกระบวนการจัดพิมพ์ล่าช้า บวกกับเสาหลักอย่างอาจารย์ธัญญา ต้องเดินทางไปศึกษายังประเทศอังกฤษ ปัญหาหลาย ๆ อย่างสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงเกิดแนวคิดก่อตั้งสำนักพิมพ์ ‘อินทนิล’ โดยใช้คอนเน็คชั่นเก่าที่เคยประสานงานร่วมระหว่างสายส่งและโรงพิมพ์

สำนักพิมพ์อินทนิลจึงก่อตั้งขึ้น โดยมีทีมงานเป็นอาจารย์และนิสิตในภาควิชาภาษาเพื่อการสร้างสรรค์งานสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งจะได้เรียนรู้ทุกกระบวนการของการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ตลอดหลักสูตร สำนักพิมพ์นี้จึงเปรียบเสมือนเวทีให้นิสิตได้แสดงฝีมือ ฝึกฝน ใช้ความสามารถที่ได้ศึกษา มาสู่การปฏิบัติงานจริง อีกทั้งสามารถนำผลงานที่ทำนี้ เก็บเป็นผลงานตอนสมัครงานได้อีกด้วย

“ตอนแรกเราจะทำเป็นสำนักพิมพ์จำลอง โดยจะมีอาจารย์คอยสอนและให้คำแนะนำทุกขั้นตอน เริ่มด้วยการรับต้นฉบับจากนักเขียนก่อน แล้วให้อาจารย์และนิสิตนำต้นฉบับไปอ่าน จากนั้นก็สอบถามความคิดเห็น วิเคราะห์ข้อมูล แลกเปลี่ยนระหว่างกัน ถ้าผ่านกระบวนการขั้นต้นแล้ว ก็ส่งต่อให้ฝ่ายพิสูจน์อักษรแก้ไขคำผิด ก่อนจะไปให้ฝ่ายอาร์ตฯ จัดหน้า กระบวนการเหมือนสำนักพิมพ์ทั่วไปทุกประการ”

ส่วนรูปแบบ และขนาดของตัวเล่ม จะเป็นไปตามมาตรฐานของสำนักพิมพ์อินทนิล ช่วงแรก ๆ ใครมีหนังสืออะไร สามารถนำมาทดลองตีพิมพ์ หรือนิสิตคนไหนอยากทำหนังสือทำมือ ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ในการแสดงความสามารถ ผลงานเล่มแรกของสำนักพิมพ์ คือ ‘โลกของเธอมีเพียงเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม’ ได้รับรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด เป็นผลงานของศิษย์เก่า จากสาขาวิชาภาษาไทย

ในยุคที่เศรษฐกิจกำลังประสบปัญหา การเลือกผลิตตำราเรียนจึงเป็นหนึ่งทางเลือกในการเพิ่มรายได้ให้สำนักพิมพ์ดำเนินกิจการได้ต่อไป เพราะตำราเป็นสิ่งจำเป็นที่นิสิตใช้ประกอบการเรียน เช่น ตำราด้านภาษาและวรรณคดี อาทิ ภาษาเขมรในชีวิตประจำวัน, สนทนาภาษาเขมร, การเขียนสารคดีเชิงปฏิบัติ และด้านสถาปัตยกรรม เช่น หลักการออกแบบเบื้องต้น หรือผลงานของนิสิต เช่น โลกใบใหญ่ของคนตัวเล็ก เป็นการรวบรวมงานเขียนสารคดีเชิงข่าวของนิสิต สาขาวิชาวารสารศาสตร์ นอกจากนี้ยังได้มีอาจารย์จากสถาบันอื่นส่งต้นฉบับมาพิมพ์กับทางสำนักพิมพ์อีกด้วย

“หนังสือที่ผลิตออกมาจะวัดผลตอบรับได้ดี ก็คงอยู่ที่ตัวผู้อ่าน ทางสำนักพิมพ์อินทนิลทำหนังสือมา 4 ปีแล้ว บางเล่มคาดว่าจะขายได้ แต่กลับไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง จนกระทั่งกระแสอาเซียนมาแรง ทำให้สำนักพิมพ์ได้รับความสนใจอีกครั้ง เนื่องจากพิมพ์หนังสือเรียนวิชาภาษาอาเซียน เช่น เขมร ลาว เวียดนาม พม่า ฯลฯ ขายดีมาก บางเล่มจัดพิมพ์เป็นครั้งที่สามแล้ว”

 

 

‘อินทนิล’ สำนักพิมพ์แห่งภาคอีสาน สะท้อนวัฒนธรรม ‘การอ่าน’ และตัวตนคนอีสาน ที่หันมาให้ความสำคัญกับการอ่านมากขึ้น วัดได้จากปริมาณหนังสือในห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ หรือตามร้านหนังสือทั่วไป ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน แม้อินทนิลจะเป็นเพียงสำนักพิมพ์เล็ก ๆ ในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม แต่ก็มีไอเดียที่ยิ่งใหญ่ ด้วยความหวังว่าอยากจะผลิต ‘คนทำหนังสือ’ เพื่อให้คนเหล่านั้น ได้สร้างสรรค์ความคิด และสร้างจิตนาการแก่ผู้อ่านต่อไป

 

 

ขอบคุณที่มา : all-magazine.com

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ