ขังหญิง : ขังหญิง ฤาจะขังสิทธิมนุษยชน

ขังหญิง

 

               ขังหญิง เป็นหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของ ธนัดดา สว่างเดือน ผู้เขียนในพื้นที่หลังกำแพงสูงใหญ่ที่กั้นระหว่างเธอและโลกภายนอก สถานที่ที่เราเรียกกันอย่างคุ้นเคยว่า “เรือนจำ” สำหรับเธอแล้วเรือนจำหรือสิ่งที่คนที่อยู่ข้างในเรียกว่า “บ้านใหญ่” เปรียบเสมือนโลกอีกใบหนึ่งเลยทีเดียว โลกที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก ความทุกข์ การต่อสู้ดิ้นรนเอาชีวิตรอด และความหวังที่จะได้อิสรภาพอีกครั้งหนึ่ง

 

               ผู้เขียนเล่าเรื่องราวชีวิตของเธอตั้งแต่ตอนใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่น ก่อนจะถูกจับข้อหาวางยาชิงทรัพย์และมีสารเสพติดไว้ในครอบครอง และถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ จนถึงวันที่เธอได้รับอิสรภาพด้วยภาษาที่สละสลวย แต่เข้าใจง่ายและเห็นภาพ ความประทับใจแรกที่ฉันมีต่อผู้เขียนคงจะเป็นตอนเล่าถึงชีวิตของเธอในญี่ปุ่นก่อนถูกจับ เมื่อเธอบรรยายถึงเมืองที่อยู่อาศัยและชีวิตแสนสุขที่เธอเคยมี เธอเล่าถึงเมืองที่เธอเคยอยู่ว่า “ละอองฝนที่กลายเป็นเกล็ดหิมะฟุ้งกระจายไปทั่วเมืองเมื่อฤดูหนาวมาเยือน” การใช้ภาษาของเธองดงามและสร้างจินตภาพ

 

               ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้นอกจากภาษาที่สละสลวยคือเนื้อเรื่อง การหยิบยกประเด็นต่าง ๆ มาเล่าได้อย่างน่าสนใจ แต่ผู้เขียนก็ “เลือก” ที่จะเล่าในสิ่งที่ผู้เขียนอยากเล่าเท่านั้นเช่นกัน สังเกตได้จากการหลีกเลี่ยงที่จะเล่าที่มาที่ไปสาเหตุที่ทำให้เธอถูกจับในข้อหาดังกล่าว สำหรับฉันแล้วจุดนี้เป็นจุดบกพร่องเล็ก ๆ ของหนังสือเรื่องนี้ เพราะทำให้ฉันรู้สึกเหมือนมีอะไรบางอย่างขาดหายไป ถ้าผู้เขียนเล่าถึงที่มาที่ไปสักหนึ่งบทหรือแม้เพียงหนึ่งย่อหน้าจะทำให้เนื้อเรื่องสมบูรณ์และสร้างอารมณ์ร่วมให้ผู้อ่านมากกว่านี้ ในแต่ละบทผู้เขียนจะพาเราเข้าไปสัมผัสชีวิตภายใน “บ้านใหญ่” ในแง่มุมที่ต่างกัน ตั้งแต่ตลาดมืดในเรือนจำไปจนถึงสภากาแฟที่เป็นวงสนทนาปรับทุกข์ของเพื่อนร่วมชะตาเดียวกัน แต่ประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนมักจะกล่าวถึงในทุกบทเห็นจะเป็นเรื่องชีวิตที่ยากลำบาก ศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่ถูกลดทอน บ่อยครั้งที่เธอรู้สึกว่าตนเองถูกปฏิบัติราวกับไม่ใช่มนุษย์เท่าเทียมกับคนอื่นเพียงเพราะเธอมีคำนำหน้าว่า น.ญ. (นักโทษหญิง) ฉันสัมผัสถึงความรู้สึกนี้ของเธอได้ตั้งแต่เธอเล่าถึงวันแรกที่เธอมาถึงเรือนจำแล้วถูกล้วง “เซีย” (ศัพท์ในหมู่นักโทษที่ใช้เรียกช่องคลอด) เพื่อตรวจดูว่าเธอซุกซ่อนอะไรไว้ข้างในนั้นหรือไม่ จากนั้นได้เห็นการอาบน้ำกลางแจ้งของเหล่านักโทษที่ถูกจำกัดเวลาเพียงแค่ 2-3 นาที หากใครอาบนานเกินกว่าเสียงนกหวีดที่เป็นสัญญาณให้หยุดใช้น้ำจะถูกลงโทษทันที แม้คน ๆ นั้นจะมียาสระผมอยู่เต็มศีรษะก็ตาม นอกจากนี้ห้องนอนก็แออัดมากเสียจนไม่มีที่ให้ขยับตัว เธอเล่าว่าหากเผลอขยับตัวนอนตะแคงแม้เพียงครู่เดียว ที่ว่างข้างตัวเธอจะถูกนักโทษคนอื่นเขยิบเข้ามาแทนที่ทันที

 

                ประเด็นสำคัญที่สัมพันธ์กับความยากลำบากในเรือนจำคือเรื่องความเหลื่อมล้ำของนักโทษ ในช่วงแรกที่ผู้เขียนเข้ามาอยู่ในเรือนจำใหม่ ๆ เธอไม่ต้องกิน “ข้าวแดง” ที่ทั้งแข็ง มีทั้งมอดและหนอนข้าวยั้วเยี้ย เพราะเธอมีเงินซื้อข้าวขาวกิน นักโทษที่มีเงินจะมีสภาพความเป็นอยู่ดีกว่านักโทษที่ขัดสน มีเงินซื้อเบาะรองนอน จ้างนักโทษคนอื่นซักผ้า ทำงานให้ มีเงินซื้อยาสูบ เงินมีอำนาจมากเสียกระทั่งจ้างคนรับโทษแทนได้ หากผู้คุมตรวจเจอสิ่งผิดกฎหมาย ผู้เขียนยังชี้ให้เห็นอีกด้วยว่าในโลกหลังกำแพงแห่งนี้ก็มีสิ่งที่โลกภายนอกมีเช่นกัน เช่น หวยใต้ดิน การขายของแบบเอารัดเอาเปรียบ การค้าขายสารเสพติดผิดกฎหมาย

 

                นอกจากนี้เรื่องเพศวิถีก็เป็นประเด็นสำคัญที่เธอหยิบยกมาเล่าได้อย่างน่าสนใจ เธอเล่าถึงความยากลำบากที่ทำให้เหล่านักโทษเปลี่ยนเพศวิถีของตนเพื่อความอยู่รอด ไม่ว่าจะเปลี่ยนตนเองจากหญิงสาวเป็นชายหนุ่มเพื่อคบหากับเหล่านักโทษหญิงที่ร่ำรวย หรือเปลี่ยนมาคบหากับผู้หญิงด้วยกันเพราะความเหงาเปล่าเปลี่ยวในเรือนจำหญิงที่แห้งแล้งแห่งนี้ ผู้เขียนทำให้ฉันเข้าใจความทุกข์และเหตุผลการกระทำของนักโทษเหล่านี้มากขึ้น หลายคนเลือกคบหากับนักโทษหญิงที่ร่ำรวยเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ต้องลำบาก ไม่ต้องกินข้าวแดง เพราะเงินสามารถบันดาลให้ “นรกบนดิน” แห่งนี้กลายเป็นสวรรค์น้อย ๆ ได้ทีเดียว แม้จะเป็นสวรรค์จำแลงในเรือนจำก็ตาม

 

                นอกจากเรื่องความทุกข์ยากที่ผู้เขียนประสบในเรือนจำหรือ “นรกบนดิน” ตามที่ผู้เขียนเรียก แต่ที่แห่งนี้ก็มีอีกแง่มุมที่ผู้เขียนหยิบยกมาเล่า เป็นแง่มุมที่ต่างออกไป เปรียบเสมือนยาชูกำลังที่ทำให้เธอมีกำลังใจใช้ชีวิตในขุมนรกแห่งนี้ต่อไป ตลอดระยะเวลาที่เธออยู่ในเรือนจำ เธอเป็นทั้งผู้ให้มิตรภาพ ความปรารถนาดี และความสุขแก่เหล่านักโทษคนอื่น และเธอก็ได้รับสิ่งเหล่านี้กลับมาเช่นกัน ถ้อยคำที่เธอกล่าวถึงเหล่านักโทษหญิงในเรือนจำล้วนเป็นถ้อยคำที่เคารพ ให้เกียรตินักโทษเหล่านั้นในฐานะมนุษย์ทำให้ฉันประทับใจ ท่ามกลางผู้คนรอบนอกที่ปฏิบัติกับคนเหล่านี้อย่างไร้มนุษยธรรม ทั้งด้านสิทธิในฐานะมนุษย์ และสภาพความเป็นอยู่ วิธีการเล่าของเธอทำให้ฉันมองนักโทษหญิงเหล่านี้ด้วยใจเป็นกลาง และเข้าใจเหตุผลการกระทำของนักโทษหญิงเหล่านี้มากขึ้น

 

                “ขังหญิง” เป็นหนังสือที่งดงาม วิธีการลำดับเรื่อง กลวิธีการเล่าของผู้เขียนเป็นธรรมชาติ เป็นตัวของตัวเอง ภาษาที่ใช้เรียบง่ายแต่สละสลวย และอีกสิ่งที่โดดเด่นมากของหนังสือเล่มนี้คือทัศนคติของผู้เขียน ตลอดทั้งเล่มจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของผู้เขียนทีละเล็กละน้อย ด้านความคิดจากอคติที่มีต่อนักโทษ หรือ “คนคุก” ที่เธอเคยมองว่าพวกเขาเป็นคนเลวร้ายและไม่ควรคบหาในตอนแรก แต่เมื่อเธอได้มาสัมผัสกับพวกเขาแล้วเธอกลับพบว่าเขาเป็นมนุษย์ปุถุชนเฉกเช่นเรา บางคนอาจหลงผิด บางคนไม่เคยได้รับโอกาสเพื่อกลับตัวจากสังคม บางคนไม่มีโอกาสแม้แต่จะทำความดี ชีวิตต้องวนอยู่ในวงจรอุบาทว์ วนเข้าเรือนจำซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพียงเพราะไม่มีใครมอบโอกาสให้เหล่านักโทษพวกนี้ นอกจากนี้ยังมีผู้บริสุทธิ์ที่ต้องกลายเป็นแพะ และเข้ามารับผลกรรมที่พวกเขาไม่ได้ก่อเสียด้วยซ้ำ เฉกเช่นตัวผู้เขียนนั่นเอง

 

                ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ “ขังหญิง” จะเป็นหนังสือชนะเลิศรางวัลชมนาด เพราะหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เพียงหนังสืออ่านสนุกทั่วไป แต่หนังสือเล่มนี้มอบคุณค่าทางจิตใจแก่ผู้อ่าน เรียกได้ว่าเปิดโลกใหม่ที่น้อยคนเคยได้สัมผัส พาผู้อ่านเข้าไปสัมผัสโลกและผู้คนในโลกนั้นและย้ำเตือนกับเราอยู่เสมอว่าเขาเป็นมนุษย์เฉกเช่นเราที่ต้องการโอกาส ความรัก ความสุข และความหวังอยู่เสมอ และเตือนเราให้มีสติกับการใช้ชีวิต อย่าทำผิดจนต้องเข้าไปอยู่ที่ขุมนรกบนดินที่เรียกว่าเรือนจำเลย หนังสือเล่มนี้เป็นบทเรียนที่ดีที่สอนให้ผู้อ่านอย่าริเผลอทำตัวพลาดพลั้งจนต้องถูกลงโทษด้วยการใช้ชีวิตในเรือนจำที่เปรียบเสมือนนรกคนเป็น แต่ในทัศนคติของฉันแล้วไม่ว่าจะเป็นนักโทษหรือไม่ก็ควรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้ในฐานะมนุษย์ เพราะเหล่านักโทษก็มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เฉกเช่นฉัน และเราทุกคน

 

                หลังอ่านจบ ท่ามกลางความเงียบสงัดยามดึก ความรู้สึกนึกคิดของฉันยังอยู่กับหนังสือ ฉันเปิดเว็บเบราเซอร์เพื่อค้นวิธีเขียนจดหมายคุยกับนักโทษ และการบริจาคสิ่งของเข้าเรือนจำ จนพบกับมูลนิธิแห่งหนึ่งที่เป็นสื่อกลางระหว่างนักโทษและบุคคลทั่วไป รวมถึงยินดีรับบริจาคหนังสือเข้าเรือนจำ และมูลนิธิหนึ่งของคณะสงฆ์คาทอลิกที่ยินดีรับอาสาสมัครเพื่อเข้าไปพูดคุยและบริจาคสิ่งของให้นักโทษในเรือนจำ ฉันยินดีที่พบว่ามีผู้คนที่ใส่ใจนักโทษเหล่านี้ ตอนนี้ฉันต้องการเขียนจดหมายถึงพวกเขาเพื่อส่งกำลังใจ และความหวังให้พวกเขา และในอนาคตหากฉันมีโอกาส ฉันจะบริจาคสิ่งของที่จำเป็นให้เหล่านักโทษไม่ว่าจะเป็นอาหาร หนังสือ ยกทรง และของเครื่องใช้ที่พวกเขาต้องการ ฉันอยากให้พวกเขามีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้ในฐานะมนุษย์ เพราะขังหญิงได้สอนให้ฉันรู้แล้วว่าชีวิตในเรือนจำไทยเป็นอย่างไร

 

บทวิจารณ์โดย  มาเรีย ฑิมพิกา โฉมชา

Writer

The Reader by Praphansarn