เราหลงลืมอะไรบางอย่าง : ท้ายที่สุดแล้ว เราทุกคน...ก็หลงลืม

เราหลงลืมอะไรบางอย่าง

 

           “ เราหลงลืมอะไรบางอย่าง ” เพียงแค่ชื่อเรื่อง ก็สามารถจุดชนวนความคิดของผู้อ่านให้โลดแล่นไปกับความคิดและจินตนาการของตนเอง ว่าที่จริงแล้วในชีวิตเรา ล้วนแต่มีสิ่งให้ “หลง” และให้ “ลืม” อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน การหลงลืมเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ เพียงแต่นักเขียนใช้จุดที่คิดว่า “ธรรมดา” มาเป็นชื่อเรื่อง เพื่อให้ผู้อ่านรู้สึกเอะใจ สงสัยและฉุกคิด ว่าแท้ที่จริงแล้วเราหลงลืมอะไรกันแน่ นอกจากสิ่งของที่มักจะหลงๆลืมๆ เราอาจลืมความถูกต้อง หลงลืมความดี หรือแม้แต่ในปัจจุบัน เราอาจหลงลืมรากเหง้าของความเป็น “เรา” รากเหง้าของวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ หลงอยู่ในความฟุ้งเฟ้อตามสมัยนิยม หลงลืมแม้กระทั่งความสุขที่แท้จริงของชีวิต หนังสือเล่มนี้แม้จะผ่านกาลเวลามายาวนานเกือบสิบปี แต่ยังคงทำหน้าที่ได้ดีในการเตือนสติใครอีกหลายคนและคงได้ตั้งคำถามกับตนเองหลังอ่านหนังสือเล่มนี้จบเป็นแน่ ว่าแท้ที่จริงแล้วเราหลงลืม “อะไร” บางอย่างไปหรือไม่

 

              หนังสือรวมเรื่องสั้น “เราหลงลืมอะไรบางอย่าง” ของ วัชระ สัจจะสารสิน ผู้เขียน ได้ถ่ายทอดผ่านการเล่าเรื่อง โดยการใช้คำบรรยายให้เห็นภาพ ใช้คำเปรียบเทียบเพื่อให้ผู้อ่านใช้จินตนาการได้อย่างเต็มที่และคิดตามอย่างมีเสน่ห์ ทั้ง ๑๒ เรื่องสั้นนี้ ล้วนแล้วแต่มีข้อคิดสะกิดใจ เตือนสติให้ผู้อ่านได้คิดตามเสมอ ซึ่งในบทวิจารณ์นี้ขอนำเสนอเพียง ๒ เรื่อง ได้แก่ เพลงชาติไทยและในวันที่วัวชนยังชนอยู่

 

                หลงลืม : ว่ามันก็แค่เพลงเพลงหนึ่ง

 

                “เพลงชาติไทย” เป็นเรื่องสั้นที่สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับสิ่งหนึ่ง จนลืมนึกถึงความสำคัญของอีกสิ่งหนึ่ง ความจริงข้อนี้ สะท้อนออกมาได้อย่างเจ็บปวด เพียงเพราะว่าไม่ยืนตรงเคารพเพลงชาติ เพราะ “ลืม” กลับถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นคน “ไม่รักชาติ” จริงหรือ การไม่ยืนเคารพเพลงชาติ คือการไม่รักชาติ เลวร้ายถึงขั้นโดนกล่าวหาว่าเป็น “กบฏ” คำถามต่อมาคือ รู้ได้อย่างไร หรือเป็นเพียงกฎของสังคมที่ถูกตั้งขึ้น เพื่อให้ทุกคนปฏิบัติตาม แต่อย่าลืมว่า กฎทุกกฎ ย่อมมีข้อยกเว้น ตามแต่สถานการณ์และกาลเทศะ

 

                                                                “ผมคิดว่าการลืมทำอะไรบ้างบางครั้งก็ไม่น่าจะก่อให้เกิดปัญหาขึ้นกับตัวเองหรือส่วนรวม 

                                                                 เลย แต่นั่นแหละครับ ผมอาจคิดผิด เมื่อเพลงชาติไทยจบลง ปรากฏว่ามีอาจารย์ผู้หญิงคนหนึ่งเดินรี่    

                                                                 ทำหน้าถมึงทึงเข้ามาหาผม พร้อมตะคอกถามว่า

                                                                 “นี่เธอ เป็นคนไทยหรือเปล่า?!” 

                                                                                                    (เราหลงลืมอะไรบางอย่าง : เรื่อง เพลงชาติไทย หน้า ๘๔)

 

                                                                    “ถ้าเธอยังอวดดี เดี๋ยวฉันจะแจ้งความเอาฌะอเข้าตะราง”

                                                                      ผมหัวเราะขึ้นมาอีก “อาจารย์จะเอาคนอย่างผมนี่หรือเข้าตะราง ข้อหาอะไรมิทราบครับ”

                                                                     “ก็นี่ไง เธอก็รู้นี่ว่าทำอะไรไว้”

                                                                     “เอาเลยครับ แจ้งความเลย เห็นตำรวจยืนอยู่หน้ามหาลัยสองสามคน แต่ผมสงสัยจังว่าการ

                                                                      ไม่ยืนตรงเคารพเพลงชาตินี่มันจะเป็นความผิดด้วยหรือ ถ้าผิดจะเป็นข้อหาอะไรหรือครับ หรือว่าจะ

                                                                      เป็นข้อหาทำลายความมั่นคงของชาติ หรือข้อหาการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ หรือร้ายแรงถึงขั้น

                                                                      การกระทำอันเป็นภัยต่อชาติในการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย...”

                                                                                                       (เราหลงลืมอะไรบางอย่าง : เรื่อง เพลงชาติไทย หน้า ๘๖)

 

                      จริงหรือที่การไม่ยืนตรงเคารพเพลงชาติ เป็นความผิดร้ายแรง เป็นการไม่รักชาติ คำกล่าวหานี้นักเขียนสามารถแสดงทัศนคติของตนเองให้เห็นว่าที่จริงแล้วเหรียญย่อมมีสองด้านได้เป็นอย่างดี ผ่านตัวละคร “น้าแสง” ที่สติไม่สมประกอบหรือที่เรียกกันภาษาปากว่า “บ้า” น้าแสงไม่หยุดยืนตรงเคารพเพลงชาติเลยสักครั้ง แต่กลับทำให้ผู้อ่านรู้สึกถึงความรักชาติ บ้านเมืองเหมือนกัน ดังปรากฏ ดังนี้

 

                                                                         “...ครั้นเข้าท้ายเพลง เหมือนฟ้าผ่าเปรี้ยงลงกลางตลาด เครื่องขยายเสียงกลับดับไปดื้อๆ  

                                                                          เพลงชาติยังไม่จบ ชาวตลาดทำหน้าเลิ่กลั่ก แหงนหน้าขึ้นมองลำโพงดอกใหญ่สูงลิบ

                                                                          ยังไม่มีใครนั่งตำรวจหนุ่มออกอาการหงุดหงิด เหมือนฟ้าผ่าเปรี้ยงอีกคำรบสะกดทุกคนยืนนิ่งงัน

                                                                          งงงวยกับสิ่งที่    เกิดขึ้น น้าแสงเอาผ้าขาวม้าพาดคอ แล้วแหกปากลั่นขึ้น”

                                                                          “สละเลือดทุกหยาด เป็นชาติพลี เถลิงประเทศ ชาติไทยทวี มีชัยชโย

                                                                           ชัดถ้อยชัดคำ ถูกต้องมิผิดเพี้ยน เพลงชาติจบลงจนได้

                                                                          “มึงล้อเลียนประเทสชาติหรือไง ไอ้บ้า!”

                                                                           ด้ามปืนในมือตำรวจหนุ่มฟาดท้ายทอยน้าแสงเต็มแรง ร่างเปลือยทรุดฮวบลงกับพื้น

                                                                                                                                            (เราหลงลืมอะไรบางอย่าง : เรื่อง เพลงชาติไทย หน้า ๙๔-๙๕)

 

             เห็นได้ชัดว่า “เพลงชาติไทย” สะท้อนคนในสังคมปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงความหยาบกระด้างของจิตใจมนุษย์ ใช้ “ศาลเตี้ย” ในการตัดสินพิพากษามนุษย์ด้วยกันอย่างไม่นึกถึงใจเขาใจเรา สะท้อนสังคมปัจจุบัน ที่มักจะมองลักษณะภายนอกและอคติต่อผู้อื่น อีกทั้ง “หลงลืม” ถึงเหตุและผลซึ่งเป็นที่มาของการกระทำ แต่กลับตัดสินจากสิ่งที่เห็นโดยไม่ถามไถ่ หรือฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ซึ่งนำพาให้มนุษย์ในปัจจุบัน ใช้ชีวิตแบบเห็นแก่ตัว ตัวใครตัวมัน ไร้ซึ่งน้ำจิตน้ำใจและความเอื้ออาทร และ “หลงลืม” ความสุขที่แท้จริง นั่นก็คือ การให้อภัย นำมาซึ่งข่าวอาชญากรรมตามหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ไม่เว้นแต่ละวัน ถ้าเพียงแต่เราปรับเปลี่ยนวิธีคิดเพียงนิดเดียว คือการเริ่มจากตัวเราเอง ไม่ตัดสินผู้อื่นและให้อภัยในเรื่องเล็กๆน้อยๆได้ ทั้งชีวิตเราและสังคมย่อมเกิดความสุขและสันติสุขขึ้นอีกไม่น้อย

 

                หลงลืม : ความสุขที่แท้จริง

 

                “ความสุข” คำคำนี้เรามักจะได้ยินอยู่เสมอ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า ความสบายกายสบายใจ แต่จริงหรือ ที่ ความสุข จำกัดความได้เพียงเท่านี้ หรือเรา “หลงลืม” ความสุขที่แท้จริงไปหรือเปล่า ความสุขที่แท้จริงต้องร่ำรวย มีเงินทองมากมาย หรือความสุขต้องสุขภาพแข็งแรงไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ แล้วความสุขที่แท้จริงคืออะไรกันแน่ หาคำตอบให้คำถามนี้ได้ จาก “ในวันที่วัวชนยังชนอยู่” นักเขียนถ่ายทอดเรื่องราวผ่านตัวละคร วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของผู้คนระหว่างอดีตและปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

 

                                                                       “...ผมคนหนึ่งล่ะ ที่ชีวิตวัยเด็กมักวนเวียนป้วนเปี้ยนแถวบ้านแก ข่าวว่าหลังแกสิ้นลม

                                                                       ทุกอย่างล้มครืน อาณาจักรว่าวของแกไม่มีใครสานต่อพร้อมๆกับการเล่นว่าวลดน้อยถอยลง หน้าว่าว

                                                                       เด็กๆหนีไปเดินตากแอร์ตามบิ๊กซี โลตัสกันหมด”

                                                                                                                                         (เราหลงลืมอะไรบางอย่าง : เรื่อง ในวันที่วัวชนยังชนอยู่ หน้า ๑๑๔)

 

                                                                      “เมื่อก่อนจำได้ว่าเมื่อใกล้ถึงวันชักพระที่บ้านเต็มไปด้วยเครือญาติที่มาช่วยกันแทงขนมต้ม

                                                                       ส่วนพวกเราพากันวิ่งเล่นสนุกสนานทั้งคืน”

                                                                                                                                       (เราหลงลืมอะไรบางอย่าง : เรื่อง ในวันที่วัวชนยังชนอยู่ หน้า ๑๑๔)

 

                                                                     “การร่วมลากเรือพระให้กลับถึงวัด ไม่ใช่แค่การประกอบประเพณีให้เสร็จสิ้นเท่านั้น แต่

                                                                      เป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงความสามัคคีของคนในชุมชนอีกด้วย

                                                                                                                                          (เราหลงลืมอะไรบางอย่าง : เรื่อง ในวันที่วัวชนยังชนอยู่ หน้า ๑๑๕)

 

            “ในวันที่วัวชนยังชนอยู่” สะท้อนให้เห็นถึงความทรงจำและความสุขที่แท้จริงในอดีต วิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายไม่เร่งรีบอย่างปัจจุบัน ในอดีตเมื่อมีงานประเพณีหรืองานบุญ จะเกิดการรวมญาติกันขึ้นโดยปริยาย เป็นการพบปะพูดคุย มีประเพณีให้เชื่อมความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ชุมชนให้รักและสามัคคีกันมากยิ่งขึ้น แต่ปัจจุบัน ภาพเหล่านี้กำลังจะลบเลือนหายไปทีละน้อย เพราะต่างก็แยกตัวออกมาใช้ชีวิตเป็นครอบครัวเดี่ยว เป็นสังคมเมืองที่ไม่เน้นความเรียบง่ายตามธรรมชาติ แต่กลับเน้นความสะดวกสบาย การรวมญาติพูดคุยสร้างเสียงหัวเราะในครอบครัวน้อยลงทุกที แต่กลับมีการวิ่งตามกระแสนิยมและทุนนิยมมากยิ่งขึ้น เทคโนโลยี เงินตราและความหรูหราฟุ้งเฟ้อกลายเป็นสิ่งมีอิทธิพลในชีวิตประจำวัน เสมือนเป็นอวัยวะส่วนที่ ๓๓ ของร่างกาย จนบางครั้งทำให้เรา “หลงลืม” ความสุขที่แท้จริง ที่สร้างได้ในครอบครัวของเราไป “หลงลืม” วิถีชีวิตที่เรียบง่าย แต่กลับ “หลง” แสงสีของสังคมเมืองและเทคโนโลยี “หลง” ความสะดวกสบายในชีวิต จริงอยู่ที่ช่วงระยะเวลาหนึ่งจะมีความสุข แต่เป็นความสุขที่ไม่ยั่งยืน สุขที่เกิดจากวัตถุย่อมไม่สุขเท่าที่เกิดจากใจ จนท้ายที่สุดแล้ว เราก็จะ “หลงลืม” อะไรบางอย่างในชีวิต อะไรบางอย่างที่เรียกว่า “ความสุข”

 

                จากเรื่องสั้นทั้งสองเรื่อง ล้วนแล้วแต่สะท้อนภาพชีวิตและสังคมในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลง สะกิดใจและเตือนใจเพื่อนมนุษย์ ว่ากำลังหลงลืม “อะไร” บางอย่างในชีวิตหรือไม่ ฉุกใจว่าปัจจุบันเราใช้ชีวิตตามกระแสสังคมหรือเปล่า และให้แง่คิดว่า สุดท้ายแล้ว เราจะใช้ชีวิตไปวันๆอย่างไม่มีจุดมุ่งหมายและความสุขที่แท้จริง หรือจะตระหนักว่า “เราหลงลืมอะไรบางอย่าง”

 

                หนังสือ “เราหลงลืมอะไรบางอย่าง” ไม่เพียงแต่สะท้อนภาพสังคมแต่ยังสะท้อนไปถึงจิตใจและความคิดของมนุษย์ทั้งในอดีตและปัจจุบันได้อย่างน่าฉงน ว่าเหตุใดยุคสมัยที่เปลี่ยนไปแต่เราก็ยังคง “หลงลืม” ซ้ำๆ นี่กระมังคงเป็นสาเหตุให้หนังสือเล่มนี้มีเสน่ห์ในตัวของมันเอง หนังสือเล่มเดียว เนื้อหายังคงเดิม แต่ใช้เตือนใจและสติของมนุษย์เรามาร่วม ๑๐ ปี

 

              “ ...ข้าพเจ้าเชื่อแล้วล่ะว่า การหลงลืมเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ มนุษย์ถูกสาปให้อยู่กับมัน เราพร้อมที่จะลงลืมทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นแก่นแท้ของชีวิต หลงลืมความดี ความงาม ความจริง โดยละเลยปล่อยให้ความชั่วร้ายเข้าครอบงำสิงสู่ ซ้ำเพาะพันธุ์ขยายตัวมิจบสิ้น ถึงที่สุดแล้ว มนุษย์ก็แตกดับไปกับความชั่วร้ายเหล่านั้นนั่นเอง หากจะมีเสียงแหบพร่าเล็ดลอดมาบ้าง ก็คงเป็นเพียงเสียงคำเตือนให้มนุษย์รุ่นต่อไปได้จดจำบทเรียนเดิมๆกันอีกครั้ง ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่จบสิ้น ” (สุนทรพจน์ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๑)

                                โอ้...มนุษย์ผู้หลงลืม

 

บทวิจารณ์โดย นางสาวขวัญจิรา  โพธิ์ทอง

 

 

Writer

The Reader by Praphansarn