ราชาพ็อกเก็ตบุ๊ก : ยุคสมัยแห่งการอ่าน : ราชาพ็อกเก็ตบุ๊ก : ยุคสมัยแห่งการอ่าน

ราชาพ็อกเก็ตบุ๊ก : ยุคสมัยแห่งการอ่าน

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบัน การอ่านของคนไทย มีสถิติเป็นไปในทางที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง อาจจะเป็นเพราะสื่อบันเทิงมีให้เลือกมากมายหลายชนิด ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต ฯลฯ จึงทำให้หนังสือเป็นเพียงตัวเลือกหนึ่ง ที่คนในยุคสมัยนี้เลือกสนใจเป็นอันดับท้ายๆ และเมื่อคนอ่านหนังสือน้อยลง การผลิตหนังสือก็น้อยลงตามไปด้วย ต่างกับราวทศวรรษ ๒๕๑๐ ที่เรียกได้ว่า เป็นยุคทองของการอ่านหนังสือ ผู้คนแห่แหนกันไปซื้อหนังสือมาอ่านอย่างกับแจกฟรี คนหลงใหลในการอ่านหนังสือวรรณกรรมราวกับเด็กติดเน็ตในสมัยนี้ ในช่วงนั้นจึงถือเป็นยุคสมัยที่ธุรกิจหนังสือเฟื่องฟูที่สุดด้วยเช่นกัน

กล่าวถึงสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นเมื่อแรกก่อตั้งใน พ.ศ. ๒๕๐๔ คุณสุพล เจ้าของสำนักพิมพ์ต้องทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการด้วย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ไม่ยากเย็นนัก เพราะเป็นงานที่คุ้นเคยมาตั้งแต่ช่วยทำสำนักพิมพ์ผดุงศึกษาของบิดา และเพราะเป็นผู้ที่อ่านหนังสือมาก จึงจับแนวโน้มของตลาดหนังสือได้ว่าหนังสือประเภทไหนกำลังเป็นที่นิยม อีกทั้งยังรู้จักนักประพันธ์แต่ละรุ่นเป็นอย่างดี ดั่งที่ ณรงค์ จันทร์เรือง ได้เล่าไว้ว่า ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๑๐ หนังสือนิยายเรื่องสั้นประเภท “ผี” กำลังเป็นที่นิยม สุพลก็เป็นผู้ให้แนวทางกับณรงค์ ซึ่งใช้นามปากกาในการเขียนเรื่องสยองขวัญว่า “ใบหนาด” ลงในนิตยสารขวัญจิต และเขียนเรื่อง ผีผู้หญิง ทั้ง แม่นาค กระสือ ตานี ฯลฯ กลายมาเป็นพ็อกเก็ตบุ๊กที่ขายดิบขายดีในตอนนั้น คือเรื่อง “ผีผู้หญิง” โดย ใบหนาด

 

 

นักเขียนนักหนังสือพิมพ์อีกคนหนึ่งที่มีส่วนร่วมในระยะก่อตั้งสำนักพิมพ์ก็คือ ประเสริฐ พิจารณ์โสภณ โดยรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ อันเป็นช่วงที่สุพลได้ร่วมหุ้นกับเพื่อน ๒ คน คือ สวัสดิ์ ประดิษฐ์เวช และ พจนารถ เกสจินดา ออกนิตยสารรายปักษ์ ชื่อ ขวัญจิต ในปีพ.ศ. ๒๕๐๘ โดยประเสริฐเข้ามารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการนิตยสารด้วย

การเติบโตของประพันธ์สาส์น ในฐานะ “ราชาพ็อกเก็ตบุ๊ก” เริ่มขึ้นเมื่อสุพล เปิดร้านหนังสือประพันธ์สาส์น สาขาสยาม ซึ่งในตอนนั้นสยามสแควร์ยังเป็นย่านการค้าที่เพิ่งบุกเบิกใหม่ เช่นเดียวกับย่านวังบูรพา ที่บุกเบิกขึ้นเมื่อปี ๒๔๙๗ และเป็นแหล่งรวมวัยรุ่นในทศวรรษ ๒๕๐๐ ต่อมาวังบูรพาถูกแทนที่ด้วยสยามสแควร์ในทศวรรษ ๒๕๑๐ โดยที่ดินบริเวณสี่แยกปทุมวัน อันเป็นทรัพย์สินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แห่งนี้ได้รับการพัฒนาตามแผนของมหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรก ดังนั้นหากมองอีกแง่หนึ่งประพันธ์สาส์นจึงเป็นตัวแทนของวงการหนังสือสิ่งพิมพ์และวัฒนธรรม “การอ่าน” แบบใหม่ ที่เติบโตขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงอันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของเศรษฐกิจ-สังคมไทยที่กำลังเข้าสู่ยุคที่เรีกยว่า “อเมริกาไนเซชั่น”

อาคารพาณิชย์กว่า ๖๐๐ คูหา ของศูนย์การค้าสยามแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ตามมาด้วยโรงหนังแห่งแรกของย่านคือ โรงหนังสยาม ของพิสิฐ ตันสัจจา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ และประพันธ์สาส์นสาขาสยามซึ่งเปิดตัวในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ก็กลายเป็นร้านหนังสือแห่งแรกของศูนย์การค้าแห่งใหม่นี้

ณรงค์ จันทร์เรือง เป็นผู้ที่ขนานนามคำว่า “ราชาพ็อกเก็ตบุ๊ก” ให้กับคุณสุพล หลังจากที่มองเห็นภาพรวมในอีกหลายปีให้หลังว่า สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นที่ผ่านมาในช่วง พ.ศ. ๒๕๐๗-๒๕๐๘ เป็นต้นมา ร่วม ๑๐ ปี ที่เป็นยุคทองของพ็อกเก็ตบุ๊ก โดยเฉพาะหนังสือรวมเรื่องสั้นซึ่งได้รับคความนิยมมาก และสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นก้ถือเป็นผู้จัดพิมพ์หนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กออกมาสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงนั้น จึงกล่าวได้ว่าเป็น “ราชาพ็อกแห่งเก็ตบุ๊ก” นอกจากนี้ณรงค์ยังเล่าถึงบรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างตนกับประพันธ์สาส์นและมิตรน้ำหมึกในวงการไว้ให้ฟังว่า...

ผมไม่ได้ทำงานกินเงินเดือนกับประพันธ์สาส์น แต่เรียกว่าไปหามาสู่กันอย่างญาติสนิท ส่งต้นฉบับให้บ้าง ไปรับเงินบ้าง ไปคุยกันบ้าง ผมรู้จักกับเฮียชิวตั้งแต่ปี ๒๕๐๘ ตอนที่เฮียชิวเป็นผู้อำนวยการหนังสือขวัญจิต โดยมีคุณประเสริฐ เป็นบรรณาธิการ อยู่ที่ ซ.สมประสงค์ ข้างโรงหนังพาราเมาท์ แล้วต่อมาหนังสือเลิกกิจการในปี ๒๕๐๙ แทนที่จะมาพบกันที่โรงพิมพ์ขวัญจิต ผมก็ไปที่ประพันธ์สาส์นที่เวิ้งฯแทน ผมก็ไปทุกวันนะ บางทีไม่มีอะไรไปพบกันเฉยๆ ด้วยความเคยชิน สนิทกัน แล้วส่วนมากก็จะอยู่กันถึงเย็นถึงค่ำ แล้วป๋า(เฮียชิว)เขาก็จะชักชวนออกไปหาอะไรกินกัน ขาประจำที่จะมาพบกัน เรียกว่าทุกวันเลยก็ว่าได้ ก็คือ ประเสริฐ พิจารณ์โสภณ และ วิชิต เพ็ญมณี คุณวิชิตเป็นกุนซือคนแรกของประพันธ์สาส์น เป็นคน เขาเป็นนักหนังสือพิมพ์เก่า เป็นบรรณาธิการคนแรกของข่าวภาพ หรือก็คือ ไทยรัฐ ในทุกวันนี้ แล้วเขามาโด่งดังมากในวงการจากข่าวลอบสังหารเคเนดี้ เพราะเขาเก่งภาษาอังกฤษ แล้วเขาก็รับวิทยุคลื่นสั้น ทำให้ข่าวภาพได้ออกข่าวเรื่องนี้ก่อนฉบับอื่น ช่วงนั้นคุณสุพลยังทำงานให้พ่อ คือคุณทรวง เมื่อแยกออกมาตั้งสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นที่เวิ้ง นครเขษม คุณวิชิตซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นพี่ ก็ออกแบบตราสำนักพิมพ์ให้ ซึ่งถือว่าเก๋มาก SP จะอ่านว่า สุพล-ประพันธ์ ก็ได้ หรือ PS อ่านว่า ประพันธ์สาส์น ก็ได้ คุณวิชิตเป็นทั้งนักหนังสือพิมพ์ นักข่าว นักเขียน แปลข่าวทางทีวีอยู่ช่อง 5 สนามเป้า (สมัยก่อนเรียกช่อง 7 สนามเป้า) แล้วก็เป็นนักข่าวอาวุโสประจำสถานีวิทยุเสียงยานเกราะ อีกทั้งยังเขียนหนังสือได้หลายรูปแบบ เรื่องที่ถนัดมากคือเรื่องแปล ใช้นามปากกา ช.เพ็ญมณี กับ ชัย วิชิต แล้วก็เขียนเรื่องขำขันคู่กับกระจกฝ้า เป็นนามปากกาของร้อยโทอุทาร สนิทวงศ์ ซึ่งมาเกษียณเป็นพลเอกในปัจจุบัน แล้วก็เขียนคอลัมน์ผี ชื่อว่าขวัญหาย ในเพลินจิต ช่วงปี ๒๕๐๗-๒๕๐๘ นอกจากวิชิตแล้วก็มี ประเสริฐ พิจารณ์โสภณ ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนของสุพล แล้วก็เป็นกุนซือ คำว่ากุนซือก็หมายถึงที่ปรึกษาขอสำนักพิมพ์ เช่น สำนักพิมพ์ก้าวหน้าจะมีกุนซือ คือ คุณประมูล อุณหธูป เป็นนักแปล เวลาเขียนหนังสือใช้นามปากกา อุษณา เพลิงธรรม ที่ดังที่สุดคือ เรื่องจันดารา พิมพ์ครั้งแรกกับสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น (พ.ศ ๒๕๐๙.) อีกแห่งหนึ่งคือ โอเดียนสโตร์ มีกุนซือคือ พิชัย รัตนประธีป เป็นนักแปล แปลหนังสืออย่างเดียว เขาจะเน้นงานแปลเฉพาะนักเขียนดังๆ ของโลก อย่าง แฮมมิ่งเวย์ จอห์น สไตน์เบ็ค หลินยู่ถัง เป็นต้น

นี่ก็คือวิชิตและประเสริฐ ซึ่งเป็นกุนซือของประพันธ์สาส์น คือเป็นที่ปรึกษาว่าควรจะพิมพ์เรื่องของใคร ตลาดหนังสือมีแนวโน้มไปในแนวไหน ก็จะให้คำแนะนำ รวมทั้งมีหน้าที่ไปติดต่อกับนักเขียนด้วย อย่างประเสริฐก็จะสนิทกับนักเขียนรุ่นผู้ใหญ่หลายคนด้วยกัน ทั้งที่เสียชีวิตไปแล้ว อย่าง มาลัย ชูพินิจ เจ้าของนามปากกา เรียมเอง แม่อนงค์ รวมทั้ง มนัส จรรยงค์ พวกนี้ คุณประเสริฐก็จะไปติดต่อเอาผลงานมาให้สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นจัดพิมพ์ เรื่องที่โด่งดังของนักเขียนทั้งสองคนที่เอ่ยชื่อมาก็คือ เรื่อง ล่องไพร ของครู มาลัย ชูพินิจ ในนามปากกา น้อย อินทนนท์ พิมพ์ครั้งแรกที่สำนักพิมพ์ของเฮียตือ(ไม่ทราบชื่อสำนักพิมพ์ เพราะเลิกกิจการไปหลังจากนั้น) หนังสือชุดล่องไพร พิมพ์มาตั้งแต่ผม(ณรงค์ จันทร์เรือง) ยังเรียนหนังสืออยู่เลย พิมพ์ตั้งแต่เป็นปกอ่อน สุรินทร์ ปิยนันท์ เขียนปก แข็ง มีทั้งปกเป็นการ์ตูน นามปากกา “แทน” เขียนปก แล้วประพันธ์สาส์นก็มาพิมพ์เป็นปกแข็งรวมเล่ม สมพร พีระพงศ์ เขียนปก อีกชุดที่โด่งดังคือ ชุดเฒ่า ของ มนัส จรรยงค์ สมพรก็เขียนปก สมพร พีระพงศ์ เขียนหนังสือด้วย ใช้นามปากกา ชลันธร พิมพ์กับประพันธ์สาส์น เรื่อง แววตะวันวาดฟ้า ช่วงนั้นพี่สมพรเขาเขียนคอลัมน์หมอดูในสกุลไทย มีชื่อเสียงในยุคนั้น ช่วงหลังก็มา แปลนิยายจีน บัณฑิตก่อนเที่ยงคืน ใช้นามปากกา ชลันธร ดังพอๆกับบุปผาในกุณฑีทอง ที่ยาขอบแปล

คำว่า ราชาพ็กเก็ตบุ๊ก ก็มาขนานนามกันช่วงหลัง เพราะช่วงแรกเรายังไปพูดไม่ได้ มาตัดสินกันช่วงที่พ็อกเก็ตบุ๊กมันโรยราแล้ว ซึ่งตั้งแต่เกิดกรณี 14 ตุลาคม 2516 ตั้งแต่นั้นมาแนวของหนังสือก็จะเปลี่ยนไปเป็นวรรณกรรมเพื่อชีวิต แล้วยิ่งมาถึง 6 ตุลาคม 2519 วรรณกรรมแบบเดิมก็ยิ่งดับไปเลย ช่วงนั้นจะเป็นหนังสือประเภท คัมภีร์เหมาเจ๋อตุง หยาดเหงื่อและความทรนง ปีศาจ พิมพ์แล้วพิมพ์อีก ขายดีมาก ก็คิดว่าช่วงประมาณปี ๒๕๓๐ ไปแล้ว เมื่อเอ่ยถึงความหลัง ย้อนไป ๒๐ กว่าปี ก็ถือเป็นประวัติศาสตร์แล้ว ผมก็มาเขียนไว้ว่า คุณสุพลเป็นราชาพอกเก็ตบุ๊ก เนื่องจากเป็นยุคที่ตลาดพ็อกเก็ตบุ๊กเฟื่องฟูมาก พิมพ์อะไรออกมาก็ขายได้ เราก็มาแยกแยะให้ดูว่า เรื่องที่พิมพ์ออกมาร้อยละ ๘๐ % คือเรื่องสั้น ที่เหลือก็คือ เรื่องสั้นขนาดยาว สารคดี เรื่องแปล ช่วงนั้นคนนิยมอ่านมาก ตั้งแต่ ๒๕๐๗ เป็นต้นมา ถือว่า เป็นยุคทองของพ็อกเก็ตบุ๊กจริงๆ เกือบ 10 ปี เรียกว่าพิมพ์อะไรที่เป็นรวมเรื่องสั้นมาก็ขายได้หมด ถ้าไม่รู้จักใครในวงการ หรือไม่อยากเอาเรื่องไปเสนอใคร ก็พิมพ์เอง เช่น อาจิณ ปัญจพรรค์ เคยพิมพ์หนังสือเล่มแรกกับประพันธ์สาส์นเรื่อง เลือดในดิน จากนั้นจึงเป็นผู้บุกเบิกเรื่องพิมพ์เอง เช่น นักเลงเหมืองแร่ นักเลงน้ำหมึก แล้วก็ให้ประพันธ์สาส์นจัดจำหน่าย นอกจากนี้ยังมี มนัส สัตยารักษ์ สุรพล โทณะวณิก ก็พิมพ์หนังสือกันเอง ของสุรพลมีเยอะมากเลย เช่น ถุยโลก ถุยชีวิต ฯลฯ อย่าลืมว่าหนังสือราคาเล่มละ ๕ บาท ต้นทุนเต็มที่ก็ไม่เกินบาทห้าสิบสตางค์ คุณอาจิณ แกเคยเล่าว่า แกมีเงินฝากออมสิน อยู่แถวบางลำพู อยู่พันกว่าบาท ถอนออกมาพันบาท มาพิมพ์พ็อกเก็ตบุ๊กเล่มแรกของแกได้ ต้นทุนไม่เกินพัน ก็พิมพ์ได้แล้ว ตั้งชื่อสำนักพิมพ์ว่า โอเลี้ยง ๕ แก้ว แล้วก็มีนักเขียนอีกเยอะแยะที่พิมพ์เองขายเอง ของมนัส สัตยารักษ์ อาจิณตั้งให้ก็มี เล่มแรก เขียนด้วยปืน เล่มที่สองก็ กระสุนนัดที่สอง เล่มต่อๆ ไปก็เกี่ยวกับปืนทั้งนั้น เสียงปืนนัดที่ ๔ อะไรประมาณนี้ แล้วก็ยังมีสำนักพิมพ์ พีวาทิน ของคุณต่วย ที่ทำหนังสือต่วยตูนในสมัยนั้นก็ให้สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นสาส์นจัดจำหน่าย ประพันธ์สาส์นจึงอยู่ในช่วงที่เฟื่องฟู เป็นที่ไว้วางใจทางการตลาด และ พิมพ์พ็อกเก็ตบุ๊กออกมาจำหน่ายมากมายเหลือเกินในช่วงนั้น...

จะเห็นได้จากคำกล่าวของ ณรงค์ จันทร์เรือง ว่าสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เกิดขึ้นในช่วงที่ธุรกิจหนังสือกำลังเป็นที่น่าจับตา และด้วยการที่มีกุนซือที่ดี บวกกับเจ้าของสำนักพิมพ์มีประสบการทำงานและพันธมิตรมากมายในวงการ ทำให้ไม่ใช่เรื่องยากที่ประพันธ์สาส์น จะเป็นสำนักพิมพ์อันดับต้นๆ ที่ผลิตหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กออกมาวางตลาดมากที่สุด และเป็นช่วงที่ตลาดพ็อกเก็ตบุ๊กคึกคักมากที่สุด จนกระทั่งถึงช่วงความเปลี่ยนแปลงทางสังคม คือหลังจากเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองในปี ๒๕๑๖ ตลาดพ็อกเก็ตบุ๊ก ประเภทเรื่องสั้น เริ่มซบเซาลง แต่สำหรับวงการหนังสือแล้วก็ยังคึกคักกับการเปลี่ยนแปลง รูปแบบทางความนิยมเปลี่ยนไป แต่อย่างน้อยคนก็ยังคงสนใจอ่านหนังสือมากกว่าทุกวันนี้ เรียกได้ว่ายังคงอยู่ในยุคสมัยของการอ่าน หนังสือสามารถบ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทางสังคมได้ ไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปทางไหน รูปแบบของงานเขียนก็จะออกมาในแนวนั้น ซึ่งประพันธ์สาส์นอยู่คู่ความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นมาตลอด และต้องปรับตัวให้ทันท่วงทีกับสถานการณ์ต่างๆ ของบ้านเมืองอยู่เสมอ...

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ