เราอยู่ในการตลาด ตั้งแต่เด็กๆ คุณพ่อชอบอ่านนิทานอีสปให้ฟัง ซึ่งเป็นนิทานสอนใจ เช่น อีกากับเหยือกน้ำ คุณพ่อชอบอ่านนิทานที่เกี่ยวกับการสอนใจ หรือนิทานที่สอนให้เรารู้ว่าต้องเดินทางสายกลาง นิทานที่เป็นเหตุเป็นผล คุณพ่อก็เล่าแบบแฝงการสอน เพราะเราคงเป็นเด็กดื้อที่สอนไม่ฟัง แต่พอเล่าเป็นนิทานหรือเป็นหนังสือพวกนี้เราก็จะฟัง ซึมเข้าไปโดยไม่รู้ตัวจนถึงปัจจุบันนี้
ปัจจุบันด้วยการที่เราต้องทำธุรกิจเกี่ยวกับการตลาดและโฆษณาเยอะ มันก็ต้องมีของแปลกใหม่ออกมาตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่นสมัยเรียนเราอ่านหนังสือของ ฟิลิป คอตเลอร์ (Philip Cottler) ซึ่งสอนเรื่อง 4P แต่ปัจจุบันคอตเลอร์ก็เปลี่ยนจาก 4P เป็น 5C แต่ถามว่าเปลี่ยนแปลงไหม ก็ไม่ได้เปลี่ยนไปมาก หรือในปัจจุบันที่เรียกว่า แบรนด์ ในอดีตก็เรียกว่า มาร์เก็ตติ้ง ถามว่ามันต่างไหม เป็นเพราะวันเวลาและสิ่งแวดล้อมมันเปลี่ยนแปลงไป หรือคำว่า คอนซูเมอร์ บีเฮฟวีเออร์ เปลี่ยนมาเป็น อีโคโนมิกส์ บีเฮฟวีเออร์ จากพฤติกรรมและเทคโนโลยีของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปก็เลยมีการเปลี่ยนคำ แต่ถ้าถามแล้ว คำใหม่จะลึกซึ้งกว่าเดิม
'Who Move My Cheese?'ของ ดร.สเปนเซอร์ จอห์นสัน เป็นหนังสือที่อ่านง่าย จริงๆ แล้วเป็นหนังสือที่สอนให้เรารู้จักปรับตัวและเปลี่ยนแปลง เมื่ออ่านจบแล้ว คุณค้นหาตัวเองให้เจอ มันจะทำให้คุณพบอยู่ 2 อย่างก็คือ เรื่องของความสุขกับการประสบความสำเร็จ เพราะว่าทุกๆ การเปลี่ยนแปลง ทุกคนจะกลัวไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ในเรื่องราวก็จะมีหนู 4 ตัว มีแปลเป็นภาษาไทย แต่ที่อ่านจะอ่านจากภาษาอังกฤษเลย เพราะรู้สึกว่า การแปลจะทำให้เราตีความต่างกัน หนู 4ตัว อยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน แต่มีความคิดที่ต่างกัน มีอยู่ตัวหนึ่งที่ไม่กลัวการเปลี่ยนแปลงและออกไปหาชีสที่ตัวเองอยากจะได้ หนูตัวอื่นๆ เขารู้ว่ามาตรงนี้มีชีสกินแน่นอน แต่วันหนึ่งชีสมันหมดไป หนูเหล่านั้นก็ยังกลับมาตรงนี้ แล้วก็เครียดคิดว่าเขาจะชีสจากที่ไหนได้อีก อะไรทำนองนี้ แต่มันจะมีหนูตัวสุดท้ายที่คิดแปลกกว่าคนอื่น ออกไปหาชีสที่อื่น ซึ่งมีชีสมากมายเลย ซึ่งไม่ต้องไปเครียดกับการหาชีสไม่ได้อีกแล้ว
เพราะฉะนั้นสิ่งที่สอนใจก็คือ อย่ากลัวการเปลี่ยนแปลงและทุกครั้งที่คุณประสบปัญหา ให้ถอยมาคิดหรือนิ่งคิดสักแป๊บหนึ่งให้คุณหาทางออกของคุณ แล้วในที่สุดทางออกนั้น ก็จะทำให้คุณเจอชีสของคุณเอง แล้วตอนท้ายของเล่มก็จะมีตัวอย่างกรณีศึกษาของคนระดับเมเนเจอร์ที่ปฏิบัติหน้าที่แบบวันต่อวัน มันก็อาจเจอปัญหาที่แก้ไม่ได้ และสอนให้เราคิดอีกทางหนึ่งมุมหนึ่ง ซึ่งอาจจะเหนื่อยหน่อย เพราะจะฉีกแหวกแนวไปไม่เหมือนกับคนอื่น เป็นหนังสือที่อ่านมา 10 ปีกว่าแล้ว เพราะว่าตอนโน้นยังไม่มีตำแหน่งเหมือนตอนนี้ ซึ่งตอนนี้คงไม่ต้องอ่านแล้วสำหรับเล่มนี้ แต่อยู่ในใจตลอดมา เป็นหนังสือแห่งแรงบันดาลใจเมื่อนานมาแล้ว คือเมื่อเรานึกถึงตอนที่เราอายุ 30-40 ปี เป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงการทำงานในชีวิตค่อนข้างสูง คนบางคนก็รับการเปลี่ยนแปลงได้ บางคนก็รับไม่ได้ ซึ่งน่าเสียดายว่า คนบางคนเปรียบเสมือนเพชร แต่หาการแก้ปัญหาของตัวเองไม่ได้ เพราะไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงก็ต้องจบไปตรงนั้น แต่ถ้าได้อ่านหนังสือเล่มนี้ก็จะมีการคิดบวกหรือดโพสซิทีฟ ทิงกิ้ง ต้องคิดบวก คิดในสิ่งที่ดี แล้วก็ต้องมีความกล้าหาญด้วยตัวเอง แล้วคุณจะพบกับความสุขและประสบความสำเร็จ มีความสุขเพราะในที่สุดคุณทำมันสำเร็จ เหมือนหนูที่เขาเจอชีสเยอะแยะมากมาย คิดต่างและคิดบวก และกล้าที่จะไปเผชิญกับอะไรที่ไม่รู้มาก่อน ในที่สุดก็ไปเจอขุมทรัพย์ที่ตัวเองไม่คาดคิด ระหว่างการอ่านตัวเองก็คิดไปด้วย ทำไมเป็นอย่างนี้ ทำไมเราไม่เป็นแบบนี้ เราไม่อยากเป็นเหมือนหนูตัวนี้ เราต้องเป็นแบบนี้สิ มันถึงจะรอดพ้นชีวิตออกมาได้ มันก็คือการดำเนินชีวิตที่ถูกทาง อาจจะเจออะไรที่มันลำบาก เราก็ต้องกล้าที่จะเปลี่ยนเพื่อสิ่งที่ดีกว่าและถูกต้องมากกว่า เวลาอ่านมันก็จะคิดไปเอง ในหนังสือเล่มนี้ทำให้คนอ่านคิดตามไปด้วย พอคุณอ่านจบ คุณก็จะเจอคำตอบ นี่เป็นความรู้สึกนะ ซึ่งคำตอบของแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน
เป็นจุดเปลี่ยนอีกอย่างของชีวิตที่ได้จากหนังสือธรรมะ ในเดือนๆ หนึ่งที่ต้องอ่านหลายครั้งเลยก็คือ หนังสือธรรมะ หนังสือเล่มอื่นเราอ่านแค่ครั้งสองครั้ง จำได้มันก็จบแล้ว หนังสือเหล่านี้สามารถเอามาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเชิงพาณิชย์หรือเรื่องส่วนตัว การปรับปรุงตัวเองก็ตาม แต่ต้องบอกว่าหนังสือธรรมะทำให้เรามีสติและสงบ เมื่อท่องบทสวดไปจะรู้สึกว่าเวลานั้นเป็นเวลาที่เรามีสติ สมมติมีอารมณ์โกรธหรือเครียด คิดหาทางอะไรไม่ออก ลองสวดมนต์ดูสักครึ่งชั่วโมง ซึ่งอยู่ในความสงบเงียบจะทำให้เกิดสติปัญญาแล้วก็คิดออก อย่างน้อยก็จะทำให้หายเครียดไปได้เลย ในไม่กี่นาทีที่คุณนั่งสวดมนต์ จะทำวัตรเช้าหรือวัตรเย็น จะท่องพาหุงหรือท่องบทสวดไหนที่มีประโยชน์ทั้งจิตใจและสมองทำให้ผ่อนคลาย ที่สำคัญคือมีสติ บางครั้งคุณโกรธคนมามากๆ บางทีไม่เข้าใจว่าคนนี้ทำไมเขาถึงทำแบบนี้นะ พอคุณแผ่เมตตาเขาก็จะรู้สึกว่า ทุกอย่างก็เป็นสัจธรรมแบบนี้แหละ คุณก็จะไม่คิดมาก จะช่วยทำให้เราเข้าใจอะไรมากขึ้น ถ้าทุกอย่างกำหนดตามจิตใจเราได้ว่า อยากให้เป็นอย่างโน้นอย่างนี้ มันคงไม่วุ่นวายเหมือนโลกใบนี้อย่างทุกวันนี้ที่มันเป็นอยู่
หันมาอ่านหนังสือธรรมะได้สักสองถึงสามปีแล้ว ทำไมถึงมาอ่าน?...คือแรกๆ หัวหน้าและเพื่อนร่วมงานเขาแนะนำให้อ่าน เราก็ปฏิเสธ แต่พอมาถึงวันหนึ่งมันเริ่มไม่ไหวแล้ว ทำไมมันเยอะอย่างนี้ เยอะในทุกเรื่อง เยอะทั้งคนและทั้งงาน รวมถึงเวลาที่ผ่านไปเร็วเพราะเทคโนโลยีมันเร็วมากเลย 24 ชั่วโมง ก็ทำงานไม่ทัน ทุกสิ่งทุกอย่างแล้วก็เป็นเรื่องคนเยอะมากเลย เราอยู่องค์กรใหญ่บริษัทใหญ่ เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะช่วยเรา พอเริ่มท่องบทสวดมนต์สักครั้งสองครั้งก็รู้สึกว่า สงบดี เงียบดี เวลาท่องบทสวดมนต์อยู่ รู้สึกว่าสมองโล่งมาก ว่างเปล่า แต่ไม่รู้ว่าคนอื่นเป็นแบบนี้ไหม แรกๆ ก็ไม่ได้เป็น แต่พอสวดไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งสมองจะโล่งกว่าการกินยาแก้ปวดหัวเลยล่ะ จะรู้สึกเลยถ้าคุณสวดมนต์มากๆ เหมือนกับตื่นแล้วมีสติ แล้วเริ่มใหม่ในสิ่งอื่นๆ ได้ โดยลืมสิ่งตรงนั้นไป เมื่อโดนแรงๆ โดยสุขภาพเราจิตใจเรารับไม่ไหวก็จะท่องสวดมนต์ถี่ขึ้นก็ช่วยได้เยอะ ตอนนี้ใจเย็นลง โมโหน้อยลง เข้าใจเพื่อนร่วมงานมากขึ้น เข้าใจชีวิตมากขึ้นว่า เราไม่สามารถจะทำให้ทุกคนเป็นอย่างที่เราคาดหวังได้
ต้องขอโทษคุณคอตเลอร์ก่อนเลย โลกมันเปลี่ยนไป เทคโนโลยีเปลี่ยนไปทำให้โลกหมุนเร็ว สมัยก่อนคอตเลอร์จะเขียนหนังสือต้องรอให้มีกรณีศึกษาก่อน 2 ปีเป็นอย่างน้อย ส่วนใหญ่ถ้าอยากรู้อะไรต้องให้น้องๆ ไปหาจากโลกออนไลน์มาให้ รอหนังสือไม่ไหวแล้ว เพราะการตลาดมันต้องรวดเร็ว เพราะฉะนั้นทุกวันนี้ต้องติดตามเทรนด์เป็นหลัก เพิ่งไปสัมมนากลับมา เขาแนะนำหนังสือเรื่อง 'Nudge: Improving Decisions about Health, Wealth, and Happiness' เขียนโดย Richard H. Thaler กับ Cass R. Sunstein เป็นเรื่องเกี่ยวกับการตัดสินใจ เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับจิตวิทยาซึ่งอ่านยากหน่อย ในอดีตคนมีความห่วงใยผูกพันกัน หลังจากที่มีเทคโนโลยีที่มากขึ้น มีอินเตอร์เน็ตที่ใกล้ตัวสามารถทำได้ตลอดเพียงแค่ปลายนิ้วกด มันทำให้คนขาดความผูกพันห่วงใยน้อยลงๆ ไปทุกวันๆ เพราะฉะนั้นหนังสือที่ควรแนะนำให้อ่านควรเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับจิตวิทยาบ้าง ซึ่งจะทำให้คุณเข้าใจคนมากขึ้น สามารถเข้าถึงคนด้วยวิธีการตลาดหรือการต่อรองให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการพัฒนาในการตัดสินใจของตัวเองเมื่อเราต้องติดต่อสื่อสารกับบุคลอื่น เพราะการที่มีเทคโนโลยีเข้ามาทำให้ห่างเหินคำว่ามนุษยสัมพันธ์ จิตวิทยาก็เลยเข้ามามีบทบาทค่อนข้างจะเยอะ แต่เป็นหนังสือที่อ่านยากสำหรับเรื่องจิตวิทยา เล่มนี้กำลังอ่านอยู่ พยายามศึกษาเรื่องคนรุ่นใหม่ที่จะให้เขาเข้าใจคนอื่นบ้าง เข้าใจในการตัดสินใจที่ถูกต้องที่เหมาะสมกับธุรกิจ กับเพื่อนพ้อง หรือพันธมิตรที่คุณทำงานอยู่ ซึ่งต้องอ่านให้พอเข้าใจเรื่องนี้บ้าง ตอนนี้เราอยู่ในเทคโนโลยีที่วิ่งเร็วมาก เช่นอยู่ดีๆ อเมริกาเขาออกไอโฟน5S ชีวิตมันคือความเร็วความไวที่หนังสือธรรมะต้องเข้ามาในใจคน เทคโนโลยีมันเร็วมาก ต้องหยุดบ้างเพื่อจะให้สติกลับมา เพราะฉะนั้นหนังสือธรรมะจะช่วยให้สติเรากลับมา และสามารถที่จะหยุด ไม่เช่นนั้นเราจะตาย เพราะเราไม่หยุดเลย มีแต่ไปๆๆๆๆ นี่คือที่มาของการอ่านหนังสือธรรมะและจิตวิทยา
หนังสือที่อ่านเยอะอีกอย่างคือ หนังสือที่เกี่ยวกับแบรนดิ้ง ซึ่งหนังสือประเภทนี้มีประโยชน์หมด เพราะว่าทุกๆ 10 ปี การสร้างแบรนด์การเปลี่ยนแบรนดืก็ปรับไปตามวิถีของมัน อย่างคอนซูเมอร์ บีเฮฟวีเอรื ก็เรียกเป็น อีโคโนมิกสื บีเฮฟวีเออร์ แทน เพราะสมัยก่อนเราต้องเข้าใจศึกษาผู้บริโภค แต่วันนี้ผู้บริโภคนั้นฉลาด มีออนไลนือยู่กับตัว มันเลยเป็นอีโคโนมิกสื แปลว่า ประหยัด พิถีพิถัน เราจะเข้าใจคอนซูเมอร์แบบปกติไม่ได้อีกแล้ว ต้องเข้าใจลึกซึ้งกว่าเดิมว่า เขาพิถีพิถันในการตัดสินใจ และเราหลอกเขาไม่ได้ เพราะในโลกออนไลน์จะทำให้แบรนด์คุณค่อยๆ เสื่อมไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ลูกค้าจะมีประสบการณ์และความฉลาดในการตัดสินใจเลือกสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ มากขึ้น ทำให้การศึกษาหรือเทอโมเนจี้คำพูดในการตลาดมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นี่คือประโยชน์ของการอ่านหนังสือประเภทการตลาดหรือแบรนดิ้งต่างๆ
คนไทยอ่านหนังสือน้อยมากจริงๆ...ยอมรับ นั่นคือรุ่นเก่า แต่ปัจจุบันใน 2-3 ปีนี้ ก็เห็นว่าเด็กๆ เขาอ่านหนังสือกันมากขึ้น เพราะว่าอยู่บนโลกออนไลน์กันมากขึ้นแต่ก็อยากจะเตือนไปว่า ให้เลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองในการที่จะอ่านหนังสือ เพราะว่าเด็กยังไม่รู้หรอกว่า สิ่งไหนคือสิ่งที่ถูกต้องหรือสิ่งที่ผิด สิ่งที่น่ากลัวที่สุดที่อยากจะบอก แน่นอนแม้จะไปตามพัฒนาการของการบริโภคสื่อ หนังสือก็เป็นสื่อหนึ่ง อีบุ๊กก็มาตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่อย่างแน่นอน แต่ที่กลัวและควรตักเตือนเด็กๆ เพราะได้ข่าวในอเมริกา ปัจจุบันเด็กเขียนหนังสือไม่เป็นเพราะว่าเขาพิมพ์อยู่ตลอดเวลา ก็เกรงว่าจะมาถึงประเทศไทย กลัวว่าเด็กไทยจะเขียน ก.ไก่ ไม่เป็น เพราะฉะนัน้อย่าลืมดูเด็กๆ ที่จะต้องมาหัดเขียน ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก รวมถึงสระและวรรณยุกต์ต่างๆ ซึ่งมันเกิดขึ้นแล้วจริงๆ ในเมืองนอกที่เด็กเขียนหนังสือไม่เป็น ดูแป้นและพิมพ์เอาอย่างรวดเร็ว ทุกอย่างพิมพ์แล้วพริ้นต์ส่งเป็นไฟล์ ไม่ต้องมานั่งเขียนอยู่ เด็กรุ่นใหม่ก็จะไม่สามารถเขียนหนังสือได้ต่อไปในอนาคต เทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ที่เข้ามา ก็อย่าลืมว่าเมื่อจะรักการอ่านแล้วก็อย่าลืมการเขียนด้วย
กล่าวถึงโครงการทรูปลูกปัญญา จริงๆ อยากส่งเสริมให้ทุกคนอ่านหนังสือมากๆ การอ่าน เด็กทั่วไปหรือเยาวชนก็ยังไม่ทราบเลยว่า อ่านหนังสือเยอะๆ ไปทำไม เมื่อเราอ่านสะสมเข้าไปทุกวันๆ เราจะรู้เลยว่า ตัวเราเองเอาความรู้ที่อยู่ในหนังสือมาไว้ในตัวเราเอง แล้วจะไม่รู้ตัวเลยว่า วันหนึ่งสามารถที่จะทวนย้อนนึกในสมองได้ว่า ทำไมเรื่องนี้เรารู้ สามารถนำความรู้ต่างๆ ที่อ่านเก็บสะสมไว้มาตลอด มาช่วยเวลาที่คุณต้องการตัดสินใจหรือใช้ในการใช้ชีวิตหรือใช้ในการทำงานได้โดยไม่รู้ตัว เราจะรู้ได้อย่างไรว่าวันหนึ่งเรื่องที่เราอ่านจะมีประโยชน์กับเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสมุนไพร สุขภาพ นวนิยาย นวัตกรรมหรือว่าธรรมะ ไม่ต้องเลือกเลย ทุกอย่างมันมีความสำคัญโดยที่เราไม่รู้ตัว หรืออย่างที่เราทำการตลาดเยอะๆ ก็ตาม ก็ไม่ได้อ่านแต่การตลาดอย่างเดียว บางทีเราต้องเข้าใจเรื่องอื่นๆ และไม่ควรที่จะตกเทรนด์ว่า ควรจะอ่านอะไรที่เป็นเทรนด์ของสังคมโลก แม้กระทั่งหนังสือการแต่งหน้า ทำผม เรื่องความสวยความงามก็สามารถพัฒนาตัวเองได้ผ่านการอ่านโดยอัตโนมัติ