คุณบุญรัตน์ วงศ์ใหญ่ กกต. ยอดนักอ่าน : ‘หนังสือ’ มีประโยชน์และคุณค่าต่อทั้งตัวเอง ครอบครัว และสังคม

คุณบุญรัตน์ วงศ์ใหญ่ กกต. ยอดนักอ่าน

"อยากแนะนำให้ทุกคนเห็นคุณค่าและอ่านหนังสือ ทุกวันนี้ผมก็อ่านหนังสืออย่างน้อยสัปดาห์ละเล่ม...เพราะหนังสือเป็นทุกอย่างของคนเรา เป็นทั้งเพื่อน เป็นสิ่งที่ให้ความรู้ให้ความบันเทิง"

วัฒนธรรมการอ่าน เป็นการส่งเสริมและพัฒนาทั้งในด้านสติปัญญา ทัศนคติ และจริยธรรม หนังสือจึงเป็นเครื่องมือสำคัญอันจะนำไปสู่การค้นพบระบบคุณค่าสำหรับตนเอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ตัวเองและสังคมเป็นอย่างมาก ‘การอ่าน’ เป็นการสื่อความหมายที่สำคัญอย่างหนึ่งต่อมนุษย์ และเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในสังคม เพราะการอ่านหนังสือจะช่วยให้มีความรู้ ความคิด และความเข้าใจที่ถูกต้อง ช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์ที่ไม่สามารถพบได้ในชีวิตจริง

ประสบการณ์ตรงจากนักอ่านตัวจริงเสียงจริง คุณบุญรัตน์ วงศ์ใหญ่ ประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่ และให้เกียรติมาร่วมเป็น 1 ใน 7 ของคณะกรรมการสรรหาและจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย วาระปี 2556 – 2558 จึงมีคุณค่าอย่างยิ่งในการที่จะถอดบทเรียนการอ่านของผู้บริหารที่ทำงานในองค์กรระดับสูงของประเทศ โดยเฉพาะการที่คุณบุญรัตน์เคยนั่งในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการมาด้วย จึงทำให้รู้เรื่องการส่งเสริมการอ่านในสังคมไทยอย่างลึกซึ้งคนหนึ่ง

สมัยก่อน ผมชื่นชมครูที่สอนเกี่ยวกับภาษาไทย โดยเฉพาะเรื่องการเขียนเรียงความและก็ส่งประกวดเรียงความระดับจังหวัด และได้รับรางวัลชนะเลิศมาครอง ก็มีความประทับใจว่า การอ่านช่วยให้เราได้รับประโยชน์หลายอย่าง ทั้งแง่คิด หรือในแง่ของการพักผ่อนหย่อนใจ การสร้างความรู้สึกที่ดีงามต่อตนเอง เพราะหนังสือเป็นทุกอย่างของคนเรา เป็นทั้งเพื่อน เป็นสิ่งที่ให้ความรู้ให้ความบันเทิง” คุณบุญรัตน์เริ่มเท้าความถึงอดีตที่สนใจในการอ่าน พร้อมเล่าต่ออย่างอารมณ์ดีว่า

คุณแม่ของผมชอบอ่านหนังสือ ตอนเด็กๆ แม่ชอบเล่านิทานให้ฟัง ก่อนนอน ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผมได้รับและซึมซาบมาพอสมควร สมัยก่อนทีวีก็ไม่มี วิทยุก็มีอยู่สถานีเดียวทั้งจังหวัด มันมีความบันเทิงอยู่ไม่กี่อย่าง หนึ่งในนั้นก็คือ การอ่านหนังสือ “ในสมัยเด็กยังจำได้ว่า เคยอ่านหนังสือกำลังภายในติดงอมแงม ทั้งสำนวนการแปลของ ว.ณ เมืองลุง และ น.นพรัตน์ โดยเฉพาะหนังสือ 'ฤทธิ์มีดสั้น'ผมอ่านหลายรอบ เป็นหนังสือที่อ่านแล้วได้ทั้งคติสอนใจได้ทั้งสาระ โดยเฉพาะเรื่องความอดทน ความซื่อสัตย์สุจริต ความกตัญญู รวมถึงนวนิยายของ ป.อินทรปาลิต เรื่อง ‘สามเกลอ’ พล นิกร กิมหงวน เป็นหนังสือที่ให้ทั้งสาระความรู้ และเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความมานะพยายาม พอโตมาผมก็จะอ่านหนังสือเกี่ยวกับสารคดีวิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับสงคราม และอัตชีวประวัติบุคคลต่างๆ จะชอบอ่านมากๆ”

สำหรับหนังสือที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ คุณบุญรัตน์บอกถึงเหตุผลที่ชอบอ่าน เพราะว่าเมื่ออ่านแล้วจะเป็นการเรียนรู้อดีต แล้วก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน

รวมทั้งเราเห็นว่า บทเรียนที่มีปัญหาทั้งหลาย มีคนพูดว่า ซ้ำรอยประวัติศาสตร์หรือประวัติศาสตร์ซ้ำรอย คิดว่าถ้าเรามีส่วนร่วมในการดูแลบ้านเมืองหรือจะช่วยผลักดันบ้านเมือง เราก็ควรที่จะได้ต้นแบบที่ดี ตอนนี้ผมเป็นประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดเชียงใหม่ แล้วก็เป็นอุปนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ซึ่งมีส่วนในการบริหารจัดการการเลือกตั้งที่เราเน้นที่จะหาคนดีเข้ามาบริหารบ้านเมือง

“เราก็จะสอดแทรกในการไปบรรยายและแนะนำการเลือกตัวบุคคลว่า ควรจะเลือกคนประเภทไหนที่จะเป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง รวมทั้งตอนอยู่สภามหาวิทยาลัย ผมก็จะมีส่วนในการกำกับดูแลนโยบาย เสนอแนะแนวทางการบริหารในการเลือกคนในการจัดสรรคนเข้าสู่ตำแหน่งต่างๆ ผมก็มองว่า สิ่งต่างๆ ที่เราได้จากการอ่านหนังสือก็จะเป็นตัวชี้แนะแนวทางส่วนหนึ่งในการนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานให้มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น”

ส่วนหนังสือในเชิงบริหาร คุณบุญรัตน์ก็ชี้ว่า ก็มีหนังสือที่ดีหลายเล่ม ทั้งหนังสือแปลจากต่างประเทศและหนังสือที่คนไทยเก่งๆ เป็นคนเขียนในเรื่องการบริหาร

ก่อนเกษียณผมทำงานในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เพราะฉะนั้นผมจะดูว่าในเรื่องของการบริหาร หนังสือช่วยได้เยอะ เคยไปเรียนที่ญี่ปุ่นก็เห็นว่า คนญี่ปุ่นเป็นคนขยัน เป็นต้นแบบของการอ่านด้วย แม้กระทั่งนั่งรถไฟ หรือยืนก็ตามเขาจะอ่านหนังสือตลอด ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง มันก็เป็นแนวคิดว่า ทำไมเราไม่เอาต้นแบบที่ดีมาใช้กับเราบ้าง

“ก็คิดว่า อยากแนะนำให้ทุกคนเห็นคุณค่าและอ่านหนังสือ ทุกวันนี้ผมก็อ่านหนังสืออย่างน้อยสัปดาห์ละเล่ม รวมทั้งนิตยสารที่เป็นประโยชน์”

แน่นอน คุณบุญรัตน์ก็มองว่า น่าเสียดายที่สัดส่วนและเปอร์เซ็นต์การอ่านในเมืองไทยยังมีตัวเลขที่ต่ำมาก

ไม่แน่ใจว่า มีการผลักดันหรือกระตุ้นให้คนที่อยู่นอกสถานศึกษา หลังจากเรียนจบออกไปยังมีการรักการอ่านและอ่านหนังสืออย่างต่อเนื่อง เพราะไม่ว่าเป็นหนังสืออะไรก็มีประโยชน์ทั้งนั้น แม้ว่าจะเป็นนวนิยายที่คนบอกว่า น้ำเน่าทั้งหลาย จริงๆ ก็มีประโยชน์ในตัวของมันเอง ก็อยากให้อ่านกัน เพราะไม่ว่าจะอ่านอะไรจะได้คติสอนใจ แล้วก็เลือกในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง อะไรที่คิดว่าเป็นในแง่บันเทิง ก็เป็นประโยชน์ในอีกด้านหนึ่ง

“ผมคิดว่าน่าจะกระตุ้นและเรียกร้องให้คนไทยอ่านหนังสือกันมากขึ้น ผมดูญี่ปุ่นหรือจีน รวมทั้งอีกหลายๆ ประเทศ เขามีความก้าวหน้าเกี่ยวกับการอ่านมาก สิงคโปร์ก็เป็นตัวอย่างอีกประเทศหนึ่ง หนังสือเขาขายดิบขายดี”

เมื่อถามถึงการเลือกซื้อหนังสือในปัจจุบัน คุณบุญรัตน์เล่าว่า มี 2 ส่วน ทั้งที่ไปซื้อจากร้านหนังสือ และยืมอ่านจากห้องสมุด

บังเอิญผมมีสวนบ้านนอก ส่วนมากผมก็จะไปดูว่า หนังสืออะไรที่เป็นประโยชน์ต่อการพักผ่อน หนังสือที่เกี่ยวกับบ้าน การตกแต่งบ้านและสวน การปลูกต้นไม้ รวมทั้งหนังสือที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ผมก็จะเลือกซื้อหรือเลือกยืมจากห้องสมุดมาอ่านก่อน เพราะอ่านแล้วเบาๆ จากนั้นก็จะดูหนังสือที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์หรือหนังสือสารคดีที่เป็นประโยชน์ ก็จะดูประเภทนี้เป็นอันดับต่อมา

“การซื้อหนังสือของผมจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งเป็นนิตยสารรายสัปดาห์ นิตยสารที่เกี่ยวกับสุขภาพ บ้าน และการปลูกต้นไม้ จะซื้อแทบทุกฉบับ ส่วนที่ 2 ก็จะดูหนังสือที่เป็นพ๊อกเก็ตบุ๊กซึ่งอ่านเพื่อความบันเทิง ตอนนี้หนังสือออกมาเยอะแยะ ก็จะดูว่าเล่มไหนเหมาะกับเรา หรือเราชอบก็จะซื้อ นี่ยังไม่รวมที่รับหนังสือพิมพ์รายวันด้วย ผมก็อ่านที่เขาแนะนำหรือวิจารณ์หนังสือว่า มีหนังสืออะไรดีหนังสืออะไรเด่น อีกทางหนึ่งผมก็ไปยืมที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่มาอ่านด้วย”

ส่วนที่สำนักงาน กกต. เชียงใหม่ ก็มีห้องสมุดเล็กๆ ซึ่งคุณบุญรัตน์ดูแลและบริหารโดยไอเดีย คือ อยากเห็นคนเข้ามาใช้ประโยชน์จากหนังสือ

“ก็พยายามเลือกหนังสือเข้ามาที่ให้ประโยชน์กับคนอ่าน เน้นในเรื่องของการเมืองการปกครอง ประวัติศาสตร์ ประวัติของบุคคลสำคัญ และสารคดีต่างๆ ส่วนหนังสือแนวบันเทิงอาจจะมีน้อยหน่อย เพราะเราอยากจะให้คนได้รับความรู้จากการอ่านเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการบริหารบ้านเมือง ก็อยากให้คุณพ่อคุณแม่สร้างบรรยากาศในบ้านเพื่อส่งเสริมการอ่าน อย่างซื้อหนังสือเข้าบ้าน ในบ้านมีมุมหนังสือเล็กๆ ว่างๆ ก็ชวนลูกมาเล่านิทานมาอ่านหนังสือกัน และช่วยกระตุ้นให้เด็กอยากแสวงหาความรู้ด้วยตัวเองผ่านการอ่านหนังสือ”

คุณบุญรัตน์อธิบายถึง สไตล์การอ่านของตัวเองว่า เป็นคนอ่านหนังสือเอาสาระสำคัญ

สมมติผมอ่านหนังสือนวนิยาย ผมก็จะอ่านคำนิยมหรือคำนำก่อน รวมทั้งบทสรุปซึ่งส่วนใหญ่หัวใจของมันจะอยู่ที่ตรงนั้น เสร็จแล้วก็มาดูสารบัญ ถ้าเรามีเวลาน้อยในการอ่านเราก็ไปอ่านเจาะทีละประเด็น เล่มล่าสุดที่อ่าน ผมอ่านหลายเล่มนะ โดยเฉพาะที่คุณปองพล อดิเรกสาร เป็นคนเขียน ไม่ว่าจะเป็นนวนิยายเรื่อง 'รัตนโกสินทร์' 'แม่โขง' รวมทั้งหนังสือนวนิยายที่อิงประวัติศาสตร์ เช่น 'คนไททิ้งแผ่นดิน' หรือหนังสือประวัติศาสตร์ไทยรบพม่า ผมก็อ่านหลายเล่ม ไทยเสียกรุงครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2

หนังสือที่ชอบ ผมชอบการประพันธ์ของคุณปองพล อดิเรกสาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง 'รัตนโกสินทร์' โดยเฉพาะเรื่อง 'แม่โขง' ผมชอบมาก เพราะมันไม่เป็นเชิงนวนิยายเสียทีเดียว แต่เป็นการเขียนที่มีแนวความคิดหรือคอนเซ็ปต์ให้คนมีความรักในสิ่งแวดล้อม และช่วยดูแลแม่น้ำโขง เพราะเป็นแม่น้ำนานาชาติ มีจุดเกิดที่ทิเบตและมาไหลออกทะเลที่เวียดนาม มีชาติที่ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงอย่างน้อย 5-6 ชาติ

แม่น้ำโขงจึงเปรียบเสมือนเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตของมนุษย์หลายล้านคน มีพญานาคที่ปกปักดูแลรักษาแม่น้ำโขง หวงแหนไม่อยากให้ใครมาทำลายแม่น้ำโขง ทำให้เกิดจินตนาการต่อว่า โลกมนุษย์จะอยู่รอดได้จากการรักษาสิ่งแวดล้อม การดูแลธรรมชาติ อย่าให้ใครทำลายป่าหรือเอาแม่น้ำไปแสวงหาผลประโยชน์ แล้วมีคติทางพุทธศาสนาเข้ามาผสม เป็นหนังสือที่ดี ผมก็อ่านหลายรอบ ซึ่งก็แปลกเพราะท่านเขียนเป็นภาษาอังกฤษก่อนแล้วมาแปลเป็นภาษาไทย ถือว่าสุดยอด

การที่เป็นผู้บริหารระดับสูงและมีภารกิจรัดตัวทั้งงานราษฎร์งานหลวง การหาเวลาอ่านหนังสือให้ได้ระดับ ‘หนอนหนังสือ’ ของคุณบุญรัตน์จึงเป็นเคล็ดลับที่น่าสนใจ

ส่วนมากผมจะใช้เวลาช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ อ่านหนังสือ โดยเฉพาะหลังทานข้าวเย็นแล้ว ผมก็เอนหลังนอนอ่านหนังสือ เปิดเพลงเบาๆ คลอไปด้วย เพราะผมมีบ้านสวนอยู่ และข้างนอกเป็นระเบียง ก็จะออกไปนอนอ่านตรงนั้น โดยเฉลี่ยผมจะอ่านจบสัปดาห์ละเล่ม หมายถึงพ๊อกเก็ตบุ๊กนะ

ก็อยากให้ทุกคนเห็นว่า หนังสือเป็นประโยชน์และมีคุณค่าต่อทั้งตัวเอง ครอบครัว และสังคม ในฐานะที่ผมเป็นผู้บริหารหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการชี้นำสังคม อยากจะบอกว่า หนังสือมีแต่คุณไม่มีโทษ ยิ่งอ่านยิ่งได้ ถ้าอ่านแล้วเบื่อก็สามารถนำไปบริจาคได้ ก็คือได้ประโยชน์จากการอ่านและจากการทำบุญ และช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมหนังสือทางอ้อมด้วย

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ