หนังสือเล่มโปรดของ Jack Ma หรือ หม่าอวิ๋น ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ alibaba.com คือวรรณกรรมแนวกำลังภายในโดยเฉพาะผลงานของ กิมย้ง ที่เรียกได้ว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้ของจริง แถมเขาฝึกมวยไท้เก๊กมานานจนถึงขั้นจอมยุทธ์ทีเดียว เพราะมักนำเอาเคล็ดของมวยไท้เก๊กหลอมรวมในธุรกิจและการตัดสินนโยบายที่สำคัญ จะสังเกตได้เลยว่าเวลาที่เขาพูดถึงทัศนคติในการดำเนินชีวิตและการทำธุรกิจของเขา จะมีความรู้สึกบางอย่างที่ให้ความรู้สึกเหมือนกับคำพูดและแนวคิดของ "จอมยุทธ์" ที่กำลังสื่อสารออกมา เขามักพูดเสมอว่า คนโง่ใช้ปากพูด, คนฉลาดใช้สมองพูด และผู้มีปัญญาใช้หัวใจพูด .... พระเอกในนิยายกำลังภายในของกิมย้งชัดๆ ประพันธ์สาส์นจึงขอเล่าถึง นิยายกำลังภายในของกิมย้ง ซึ่งได้ถูกนำมาแปลเป็นภาษาไทยไว้มากมาหลายเรื่อง มีเรื่องไหนกันบ้างไปย้อนรอยความทรงจำกันค่ะ
นิยายวรยุทธของกิมย้ง
"...งานเขียนของ กิมย้ง ถือเป็นเอกในบรรดานักนิรมิตเรื่องจีนกำลังภายในทั้งหลาย ความรอบรู้ทางประวัติศาสตร์ ความคมคายในเชิงปรัชญา กับทักษะในการสร้างเรื่องและสรรค์ตัวละครออกมาโลดแล่น..."
กิมย้ง เป็นนักเขียนนิยายจีนกำลังภายใน ชื่อดังของฮ่องกง มีชื่อจริงว่า จาเลี้ยงย้ง เขียนนิยายกำลังภายในทั้งหมด 15 เรื่อง เป็น นิยายขนาดยาว 6 เรื่อง นิยายขนาดกลาง 6 เรื่อง นิยายขนาดสั้น 2 เรื่อง เรื่องสั้น 1 เรื่อง
นิยายเรื่องแรกของ กิมย้ง คือเรื่อง จอมใจจอมยุทธ์ (Shu Jian En Chau Lu: จือเกี่ยมอึ้งชิ้วลก) ซึ่งเขียนขึ้นครั้งแรกราว ๆ พ.ศ. 2498 (ค.ศ. 1955) ซึ่งเนื้อเรื่องเรื่องนี้ ได้เค้าจากตำนานที่เล่าขานกันว่า พระจักรพรรดิ์เคี่ยนหลงฮ่องเต้ (เฉียนหลงฮ่องเต้) แห่งราชวงศ์เช็ง (ชิง) มีสายเลือดจีน (ชาวฮั่น) แสดงให้เห็นความขัดแย้งระหว่างอำนาจกับเชื้อชาตินิยม นิยายเรื่องนี้ทำให้กิมย้ง ติดอันดับในยุทธจักรนิยายกำลังภายในทันที เป็นพื้นฐานความสำเร็จในเรื่องต่อ ๆ ไป แต่มีข้อด้อยที่ตัวละครเอกไม่เด่น ความเด่นกลับไปตกอยู่กับหัวหน้าหน่วยพรรค ดอกไม้แดงทั้งหมด 14 คน ซึ่งมี ตั้งแกลก (เฉินเจียลั่ว) ตัวเอกของเรื่อง เป็นหัวหน้าใหญ่ แม้ผู้แต่งจะพยายามเน้นให้ประมุขพรรค คือ ตั้งแกลก เด่นกว่าคนอื่นก็ตาม แต่ไม่ถึงกับประทับใจผู้อ่านมากนัก แต่กระนั้นก็ยังจัดเป็นวรรณกรรมที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง
เรื่องถัดมาคือ เรื่อง เพ็กฮ้วยเกี่ยม (Bi Xue Jian: เพ็กฮ้วยเกี่ยม กระบี่เลือดเขียว) เรื่องนี้ กิมย้ง พยายามใช้กลวิธีการประพันธ์แบบใหม่ จากคำตามท้ายเรื่องของ กิมย้ง ได้กล่าวไว้ว่า ตัวเอกที่แท้จริงของเรื่องนี้คือ อ้วงชงฮ้วง และรองลงไป คือ กิมจั๊วนึ้งกุน (เทพบุตรงูทอง แฮ่เซาะงี้) ซึ่งทั้งคู่ได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่เรื่องราวถูกนำมาเล่าย้อน ควบคู่ไปกับพฤติการณ์ของตัวเอกอีกคนหนึ่งคือ อ้วงเซ้งจี่ (หยวนฉงจื้อ) เป็นความแปลกใหม่ที่ยังทำได้ไม่ดีนัก
เมื่อเขียนเรื่อง มังกรหยก ภาค 1 (She Diao Yin Xiong Zhuan: เส้อเตียวเอ็งฮ้งตึ่ง) เรื่องมังกรหยกภาค 1 เสนอความขัดแย้งระหว่างชาติพันธ์ คือ จีนกับมองโกลเป็นแก่นหลักของเรื่อง ส่วนแก่นเรื่องรอง คือความรักชาติ (จีน) การแก้แค้น (ของก๊วยเจ๋ง) ตัวละครทุกตัวค่อนข้างเป็นแบบฉบับ ในแนวจินตนิยม แฝงไว้ด้วยความสนุกสนาน ในด้านการวางโครงเรื่องนั้น เหง่ยคัง นักวิจารณ์ชาวฮ่องกง ยกย่องมังกรหยก ภาค 1 ว่า ประณีตแนบเนียนดั่ง เสื้อสวรรค์ไร้ตะเข็บ คือ เรื่องดำเนินไปอย่างสมเหตุสมผล การผูกปมและคลี่คลายเรื่องสมจริง ไร้ที่ติ ซึ่งเรื่องนี้ได้สร้างฐานะของกิมย้งให้เป็นปรมาจารย์นิยายกำลังภายในอย่างเต็มภาคภูมิ
หลังจากที่ โด่งดัง จากเรื่อง เส้อเตียวเอ็งฮ้งตึ่ง (มังกรหยก ภาค 1) แล้ว กิมย้งได้พัฒนารูปแบบงานเขียนของตนเองอีกครั้งหนึ่ง โดยนำลักษณะการแต่งแบบเรื่อง ราโชมอน ของ ญี่ปุ่น เข้ามาใช้ คือ เรื่อง เสาะซัวปวยฮู้ (Xue Shan Fei Hu: จิ้งจอกภูเขาหิมะ) ซึ่ง อุนสุยอัน (นักเขียนนิยายกำลังภายในชาวมาเลย์) ได้กล่าวถึงเรื่อง เสาะซัวปวยฮู้ ว่า "... เสาะซัวปวยฮู้ เขียนในรูปแบบของการเล่าเรื่องราว ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์พิเศษเฉพาะ ตลอดทั้งเรื่องล้วนเล่าเรื่องราว บางครั้งใช้บุคคลที่แตกต่าง มุมมองที่แตกต่าง เล่าเรื่องราวที่แตกต่าง บางคราใช้บุคคลแตกต่าง แง่มุมที่แตกต่าง เล่าเรื่องราวเดียวกัน เรื่องราวทั้งหมดที่เล่าออกมา รวมกันเป็นเรื่อง เสาะซัวปวยฮู้ ..."
ต่อจากนั้นกิมย้งได้เขียนนิยายมาหลายเรื่อง ทุกเรื่องล้วนแล้วแต่สร้างปรากฏการณ์ในวงการนิยายกำลังภายในทั้งสิ้นมังกรหยกภาค 2 (Shen Diao Xia: เส้อเตียวเฮียบหลือ) ได้ทำให้นามของ กิมย้ง แพร่หลายไปสู่ทุกมุมโลกที่มีชาวจีนอยู่ ด้วยการเสนอความขัดแย้งระหว่างตัวละครฝ่ายประเพณีนิยม นำโดยก๊วยเจ๋ง และ อึ้งย้ง กับฝ่ายธรรมชาตินิยม นำโดยเอี้ยก้วย และ เสียวเล้งนึ้ง เป็นแก่นหลักของเรื่อง ผ่านความรักแบบหนุ่มสาวระหว่างเอี้ยก้วยและเสียวเล้งนึ้ง ที่ยึดมั่นการแสดงความรู้สึก ความต้องการ ตามธรรมชาติของมนุษย์โดยอิสระเสรี ไม่ยอมตกอยู่ใต้กรอบค่านิยมสังคม หรือประเพณีที่มนุษย์สร้างขึ้นดังที่ก๊วยเจ๋งและอึ้งย้งยึดมั่นอยู่ เท่ากับเป็นการต่อสู้ระหว่างแนวคิดธรรมชาตินิยมของเต๋า และ แนวคิดจารีตนิยมของขงจื้อ เรื่องนี้ส่งผลสะท้านสะเทือนวงการวรรณกรรมนิยายกำลังภายในอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
กระบี่ใจพิสุทธิ์ (Lian Chen Que) เป็นนิยายขนาดกลางของกิมย้ง เรื่องนี้แสดงถึงความเลวร้ายสารพัดอย่างของมนุษย์ อาจารย์ แกล้งบอกเคล็ดวิชาผิดๆให้ศิษย์ บิดาฆ่าลูกสาวเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ปรารถนา ตลอดจนความเลวร้ายอีกนานัปการ จอมยุทธในเรื่องนี้เมื่อมีความตายมาเยือนก็หวาดกลัวคิดเอาตัวรอด บางคนกล้าทำความชั่วเพียงเพื่อให้ตัวมีชีวิตรอด การกลัวตายเป็นสัญชาติญาณของมนุษย์ทุกคน กิมย้ง ชี้ให้เห็นว่า คนยิ่งสูงใหญ่เท่าใด ก็ยิ่งรักตัวกลัวตายและพลัดพรากจากสิ่งที่รักมากขึ้นเท่านั้น
ดาบมังกรหยก (Yi Tian Tu Long Ji - อี้ทีโต้วเล้งกี่: บันทึกอิงฟ้า พิฆาตมังกร) หรือ มังกรหยกภาค 3 ภาคนี้เป็นการนำจินตนิยมผสมผสานกับสัจนิยมได้อย่างแนบเนียน เรื่องนี้มีตัวละครมาก มีโครงเรื่องย่อยแทรกซ้อนอยู่หลายตอนแต่ไม่สับสน ดำเนินเรื่องได้อย่างน่าอ่าน หักมุมอย่างคาดไม่ถึง เน้นให้เห็นถึงความเด่นของพรรคเม้งก้าเอาลักษณะกลุ่มเป็นตัวเอก แต่สามารถทำให้บทเจี่ยซุนและเตียบ่อกี้เด่นควบคู่ไปกับบทบาทของกลุ่ม ซึ่งเป็นวิธีที่ทำได้ยากมาก วิธีการนี้กิมย้ง ล้มเหลวในเรื่อง จอมใจจอมยุทธ แต่สามารถพัฒนาจนประสบผลสำเร็จอย่างงดงามในเรื่องนี้
แปดเทพอสูรมังกรฟ้า (Tian Long Ba Bu: เทียนเล้งโป๊ยโป๋ว) เรื่องนี้ถือเป็นสุดยอดนิยายจินตนิยมของ กิมย้ง เพียงชื่อเรื่องก็ให้จินตนาการเร้าความสนใจอย่างยิ่ง เรื่องนี้มีตัวละครมากมาย มีเหตุการณ์สารพัดอย่างในยุทธจักร ถ้าฝีมือไม่พอไม่ถึง ยิ่งจะทำให้เรื่องยุ่งเหยิงถึงที่สุด ตัวละครและเหตุการณ์ในเรื่องสะท้อนภาพการเมืองในจีนและประชาคมโลกไปด้วย จำลองภาพมนุษย์ไว้สารพัดประเภท เป็นยอดเขาแห่งความสำเร็จของกิมย้ง อีกยอดหนึ่งที่ผู้เขียนอื่นขึ้นถึงได้ยาก
เรื่อง แปดเทพอสูรมังกรฟ้า มีวิทยายุทธหลากหลายชวนให้บันเทิงใจได้หลายรส มีเหตุการณ์ตื่นเต้นพิศดาร แสดงให้เห็นถึงจินตนาการอันลึกล้ำและกว้างไกล สาระของเรื่องมีมากมายหลายประการ แต่สาระสำคัญที่สุดน่าจะเป็นการต่อต้านสงครามสร้างความรักสากลในหมู่มนุษยชาติ เขตแดนและเผ่าพันธุ์ไม่ควรเป็นเครื่องกีดกั้นไมตรีจิตของมนุษย์ ดังนั้นต้วนอวี้ แห่งแคว้นตาลีฟู ซีจู๋ของจีน เฉียวฟงแห่งต้าเหลียว จึงได้สาบานเป็นพี่น้องกัน มีอุดมการณ์ร่วมกัน แต่ละคนต่างมีบุคลิคและชะตากรรมต่างกัน
แปดเทพอสูรมังกรฟ้า มีฉากการต่อสู้ขนาดใหญ่และขนาดเล็กแทรกไว้มากมาย เช่น เฉียวฟงบุกตึกชุมนุมผู้กล้า หักหาญกับเหล่าจอมยุทธเพื่ออาจู ทั้งห้าวหาญองอาจ ทั้งแกร่งกล้าทรงพลัง ฉากหลวงจีนคิ้วเหลืองประลองหมากกับเอี่ยงเค่งไทจื้อฉากการวางแผนของชาวยุทธเพื่อลอบฆ่าบิดาของเฉียวฟง และอีกหลายฉากมากมายคณานับแปดเทพอสูรมังกรฟ้าคล้ายกับคลื่นลูกแล้วลูกเล่า หนุนเนื่องทยอยไล่พัดพาผู้อ่านไหลบ่าไปตามสายธารแห่งวรรณกรรมโดยไม่หยุดยั้ง ดุจดังมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ไพศาลอย่างแท้จริง
มังกรทลายฟ้า (Xia Ke Xing: เฮียบแขะเห็ง - เทพบุตรทลายฟ้า) เป็นเรื่องเกี่ยวกับชายฝาแฝดคู่หนึ่งที่มีรูปร่างเหมือนกัน คนหนึ่งซื่อสัตย์จริงจัง อีกคนหนึ่งกลิ้งกลอกมีมารยาตัวเอกไม่รู้หนังสือ ไม่เข้าใจธรรมเนียมแต่ถูกม้วนเข้าสู่วังวนยุทธจักร ฝึกวิทยายุทธในสภาพแวดล้อมไม่คาดฝันแต่สามารถรู้ซึ้งถึงแก่นแท้ ในขณะที่ผู้ทรงภูมิปัญญาหลายคนเข้าไปกลับออกมาไม่ได้ เรื่องนี้เป็นเส้นทางน้อยที่กิมย้งแหวกไปสู่ทางใหญ่สายใหม่ ไม่ใช่งานเด่นแต่มีประดิษฐการใหม่ แสดงให้เห็นถึงกิมย้งเป็นนักเขียนที่ไม่ยอมย่ำรอยของตัวเอง ก้าวใหม่จะสั้นยาวประสบความสำเร็จแค่ไหนก็ต้องก้าวต่อไป
กระบี่เย้ยยุทธจักร (Xiao Ao Jiang Hu: เซี่ยวโหงวกังโอ้ว เรื่องราวของความล้มเหลวทางมโนธรรม) เรื่องแสดงถึงความขัดแย้งระหว่างเหตุผลของสังคมกับธรรมชาติของมนุษย์และจบลงด้วยดีงามตามธรรมชาติเป็นผู้ชนะ สะท้อนการเมือง สังคม มนุษย์ได้ดีเยี่ยม แยกแยะดีชั่วได้ถ่องเที่ยงทั่วด้าน แฝงสารอันลึกซึ้ง สลัดพ้นจากค่านิยมของสังคมอันเป็นโซ่ตรวนใหญ่ที่สุดของมนุษย์ เหล็งฮู้ชงไม่ใช่วีรบุรุษอย่างก๊วยเจ๋ง แต่เป็นมนุษย์ที่แท้ ยึดความถูกต้องดีงามตามหลักธรรมชาติเป็นหลักดำรงชีวิตไม่ยึดติดอยู่ในกรอบของสังคม ไม่ยอมให้คุณค่าเทียมที่มนุษย์กำหนดเป็นเครื่องพันธนาการตัวเองอยู่เพื่อตัวเองทำตามเสรีภาพที่มนุษย์พึ่งมีโดยไม่ขัดกับจริยธรรมตามธรรมชาติ เหล็งฮู้ชงเป็นคนมีคุณธรรม ไม่ใช่แบกคุณธรรมไว้อวดสังคม ชีวิตเขาจึงไม่หนัก แม้ประสบปัญหาสารพัดก็แก้ไขได้อย่างเหมาะสมโดยไม่เสียความเป็นตัวของตัวเองสารัตถะของนิยายเรื่องนี้คือ "มนุษย์ควรรักเสรีภาพและความดีงามตามธรรมชาติมากกว่าหลงผูกมัดตัวเองอยู่กับคุณค่าเทียมของสังคม"
อุ้ยเสี่ยวป้อ (Lu Ding Ji: เต็กเตี้ยกี้ - ไร้กระบวนท่าสยบกระบวนท่าทั้งแผ่นดิน) เป็นนิยายเรื่องสุดท้ายของ กิมย้ง ซึ่ง เหง่ยคัง ถือว่าเรื่องนี้เป็นสุดยอดพัฒนาการทางการประพันธ์ของกิมย้ง และเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงฝีมือกิมย้งว่า "ไม่มีใครเป็นคู่แข่งได้" ความเป็นยอดของเรื่องนี้อยู่ที่เป็นนิยายกำลังภายในที่ไม่ใช่นิยายกำลังภายใน นิยายกำลังภายในโดยทั่วไปมีขนบในการแต่งที่เห็นได้ง่ายอยู่สองประการคือ ตัวเอกต้องเป็นจอมยุทธหรืออย่างน้อยต้องมีวิทยายุทธ และตัวเอกต้องเป็นคนดีในแง่ของคุณธรรม แต่อุ้ยเสี่ยวป้อในเรื่องนี้มีลักษณะตรงข้ามกับขนบดังกล่าวทุกประการ ลักษณะดังกล่าวไม่เคยปรากฏในนิยายกำลังภายในเรื่องใดมาก่อน และเหง่ยคังว่าไม่มีเรื่องอื่นอีกต่อไป เรื่องนี้กิมย้งหันกลับไปใช้ประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์ชิง มีส่วนสะท้อนการเมืองในจีนแผ่นดินใหญ่หลังปฏิวัติวัฒนธรรมอยู่ไม่น้อย แต่ความเด่นอยู่ที่สะท้อนธรรมชาติวิสัยมนุษย์ในสังคมปัจจุบันที่ต้องลดมาตราฐานศีลธรรมลงเพื่อความอยู่รอด เป็นนิยายที่มุ่มสะท้อนความจริงมากกว่าจะชี้นำผู้อ่านอย่างที่กิมย้งเคยสอดแทรกไว้ในแทบทุกเรื่องนับเป็นการแหวกวงล้อมครั้งยิ่งใหญ่ของนักประพันธ์เอกผู้นี้
ในด้านศิลปะการประพันธ์นั้น งานของกิมย้งมีความประณีตแยบยลทุกด้าน ที่เห็นได้ชัดคือ ด้านสำนวนภาษา กิมย้งมีทัศนะว่านิยายกำลังภายในเป็นวรรณกรรมแบบจีนแท้ แม้จะใช้ศิลปะการประพันธ์นวนิยายช่วยในการแต่ง แต่ไม่ควรใช้สำนวนภาษาแบบนวนิยาย ของตะวันตก ควรใช้สำนวนภาษาแบบนิยายรุ่นเก่าเช่นสามก๊กของจีน เป็นแนวทางพัฒนาให้เหมาะแก่ยุคสมัย
รายชื่อผลงาน 15 เรื่องที่ว่า (คลิกอ่านคำอธิบายหรือรีวิว)
1. จอมใจจอมยุทธ์ (Book and Sword: Gratitude and Revenge) หรือ ตำนานอักษรกระบี่ เขียนเมื่อ 2498
2. เพ็กฮ่วยเกี่ยม (Sword Stained with Royal Blood) หรือ จอมกระบี่งูทอง 2499
3. มังกรหยก หรือ ผู้กล้ายิงอินทรีย์ หรือ มังกรเจ้ายุทธจักร (The Eagle-Shooting Heroes) 2500-2
4. จิ้งจอกภูเขาหิมะ (Flying Fox of Snowy Mountain) 2502
5. มังกรหยกภาคสอง (The Return of the Eagle eroes) หรือ ลูกมังกรหยก หรือ จอมยุทธอินทรีเทพ 2502-4
6. จิ้งจอกอหังการ (The Young Flying Fox)
7. นิยายขนาดสั้น นางพญาม้าขาว หรือ เทพธิดาม้าขาว (แป๊ะเบ๊เซาไซฮวง) เป็นเรื่องที่กิมย้งปรับปรุงแก้ไขมากที่สุด
8. นิยายขนาดสั้น อวงเอียงตอ (ดาบนกเป็ดน้ำ หรือ ดาบสันนิวาส)
9. กระบี่ใจพิสุทธิ์ (Requiem of Ling Sing) หรือ มังกรแก้ว หรือ มังกรสะท้านบู๊ลิ้ม
10. ดาบมังกรหยก (Heaven Sword and Dragon Saber) หรือ ดาบมังกรหยก หรือ บันทึกอิงฟ้าฆ่ามังกร 2506
11. แปดเทพอสูรมังกรฟ้า (Demi Gods and Semi Devils) 2506-9
12. เฮี้ยบแขะเฮ้ง (Way of the Heroes) หรือ เทพบุตรทลายฟ้า หรือลำนำจอมยุทธ์ 2509
13. กระบี่เย้ยยุทธจักร (The Proud Smiling Wanderer) หรือ ผู้กล้าหาญคะนองหรือ เดชคัมภีร์เทวดา หรือ ยิ้มเย้ยยุทธจักร 2510-2
14. อุ้ยเสี่ยวป้อ (The Deer and the Cauldron aka Duke of Mount Deer) เป็นเรื่องสุดท้ายที่นักวิจารณ์ยกให้เป็นผลงานที่สมบูรณ์แบบที่สุด 2512-3
15. เรื่องสั้น กระบี่นางพญา
ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก :
http://www.jadedragon.net/jynovel-index.html
http://m.matichon.co.th/readnews.php?newsid=1447557134