คุณหมอวิชัย โชควิวัฒน : เล่มโปรดในห้วงคำนึงและความคิดปัจจุบัน "คุณหมอวิชัย โชควิวัฒน"

คุณหมอวิชัย โชควิวัฒน

ทุกคนที่เคยสัมผัสหรือรู้จักกับ นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน หรือเรียกชื่อท่านแบบสั้นๆ ว่า คุณหมอวิชัย ต่างไม่ปฏิเสธและพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า คุณหมอเป็น ‘ยอดนักอ่าน’ อย่างเอาจริงเอาจังต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน ทั้งอ่านเพื่อความบันเทิง เอาสาระ และอ่านเชิงคุณภาพ ปัจจุบัน คุณหมอวิชัย ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการคุ้มครองการวิจัยในมนุษย์ (สคม.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้เล่าถึงการบ่มเพาะนิสัยรักการอ่านที่มีมาตั้งแต่เด็กๆ ว่า

ที่จริงสมัยเรียนชั้นประถมและมัธยมต้น ผมไม่ใคร่ได้อ่านหนังสือ เพราะสมัยนั้นไม่ใคร่จะมีหนังสือให้อ่าน ตอนเรียนประถมผมเรียนในโรงเรียนวัดในระดับตำบล ซึ่งอยู่ห่างบ้าน 1.5 กิโลเมตร ตอนเข้าเรียนใหม่ๆ ต้องไปเรียนบนศาลาวัด เรียนจนจบประถม 4 โรงเรียนไม่เคยมีห้องสมุด เมื่อไปเรียนต่อระดับมัธยมที่โรงเรียนประจำอำเภอ โรงเรียนก็ไม่มีห้องสมุดจนกระทั่งเรียน ม.5 ม.6 สมัยนั้น (เท่ากับ ม.3 ม.4 สมัยนี้) จึงเริ่มมีห้องสมุดเล็กๆ ก่อนจะมีห้องสมุดผมไปได้หนังสือการ์ตูนเก่าๆ ราคาถูกที่ร้านค้าในตลาดไปซื้อมาขาย ก็ได้อ่านการ์ตูน เช่น ซูเปอร์แมน ขวานฟ้าหน้าดำ แต่ครูสมัยนั้นก็ไม่ใคร่ส่งเสริมให้อ่าน จำได้ว่าเคยเอาไปแอบอ่านในห้อง ครูสังเกตเห็นก็มายึดเอาไป

จำได้ว่าหนังสือเล่มแรกที่ได้อ่านคือประวัติพระยาพิชัยดาบหัก ไปค้นเจอสมัยที่แม่ส่งไปอยู่บ้านตายายระหว่างปิดเทอมสมัยเรียนชั้นประถม ตอนนั้นพ่อแม่ยากจน ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำไม่ใคร่มีเวลาเลี้ยงดูลูกหลายคน จึงต้องส่งไปให้ตายายช่วยดูแล ที่บ้านตายายและรอบๆ บ้านไม่มีเด็กวัยเดียวกันเป็นเพื่อนเล่นด้วย ตายายก็แก่แล้วซ้ำตายังหูหนวกและพูดภาษาไทยไม่ใคร่ได้ จึงเหงามาก ครั้นเจอหนังสือเล่มนั้น จึงเอามาอ่าน จำได้ว่าไม่สนุกเลยเพราะไม่ใช่การ์ตูน มีเนื้อหามาก เป็นหนังสือเหมือนพ็อคเกตบุ๊กสมัยนี้ ซึ่งเขียนให้ผู้ใหญ่อ่านไม่ใช่ให้เด็กอ่าน แต่เพราะเหงามาก จึงเพียรอ่านจนจบ ยังจำเนื้อหาสำคัญได้จนทุกวันนี้ เช่น พระยาพิชัยดาบหักเดิมท่านชื่อทองดี ฟันขาว ไม่ใช่นามสกุลฟันขาว แต่เพราะท่านแปลกกว่าคนอื่นสมัยนั้นคือไม่กินหมาก ฟันจึงขาว ไม่ดำ และได้ชื่อว่าทองดีฟันขาว

คุณหมอวิชัย เล่าต่ออย่างลื่นไหลถึงความหลังว่า เริ่มมาอ่านหนังสือจริงจัง และอ่านมาตลอดชีวิตตอนที่โรงเรียนสมัยมัธยมเริ่มมีห้องสมุด โดยครูเอาห้องเรียนหนึ่งห้องมาทำเป็นห้องสมุด ที่เกิดห้องสมุดเพราะได้ครูคนใหม่ คือ ครูสมพงษ์ เจริญส่ง ลูกชายครูใหญ่มาสอนหนังสือ

“ครูสมพงษ์หรือครูอู๊ดสอนหนังสือสนุกและยังเป็นผู้ริเริ่มทำห้องสมุด ผมเริ่มอ่านหนังสือประเภทประวัติศาสตร์การเมืองไทย เช่น ‘ไม่มีเสียงหัวเราะจากอีสาน’ ‘คดีฆาตกรรมสี่อดีตรัฐมนตรี’ อ่านหนังสือของ ‘นายหวนหวย’ ‘คทาดำ’ เป็นต้น ต่อมาเข้าไปเรียนต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ผมกลายเป็นแฟนประจำห้องสมุด และได้เพื่อนที่ชอบอ่านหนังสือ คือ ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ซึ่งมีพี่ชายคือ อาจารย์หมอไพโรจน์ สินลารัตน์ เป็นนักอ่านด้วย เริ่มรู้จัก วิลาศ มณีวัต ในหนังสือ ‘สายลมแสงแดด’ ‘น้ำกับฟ้า’ เริ่มอ่านหนังสือพิมพ์สยามรัฐและสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ นิตยสารชาวกรุง เป็นต้น มีเพื่อนอีกคนคือทรงศักดิ์ ศฤงคารินกุล ชอบอ่านนิยายกำลังภายใน ก็ได้ยืมมาอ่าน อย่างชุดมังกรหยก”

ประสบการณ์การอ่านของคุณหมอวิชัย แนวหนังสือที่ชอบ และการเลือกหนังสือมาอ่านตามรสนิยมของตัวเองน่าสนใจมากทีเดียว ท่านบอกว่า หนังสือที่ชอบมีมากมายหลายเล่ม “ตอนเริ่มเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ เป็นแฟนหนังสือของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ลุยอ่านเกือบทุกเล่ม เริ่มรู้จักกับหนังสือประวัติท่านเทียนวรรณ โดย สงบ สุริยินทร์ ตอนเข้าไปเรียนคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ก็ไปยืมหนังสือจากหอสมุดกลาง ที่ตึกคณะอักษรศาสตร์เป็นประจำ ได้อ่านงานพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 หลายเล่ม อ่านดุสิตสมิต อ่านสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) จบ 2-3 รอบ ต่อมายังอ่านฉบับวณิพกของยาขอบ ฉบับนายทุนของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ‘พิชัยสงครามสามก๊ก’ ของคุณสังข์ พัธโนทัย และฉบับแปลใหม่ ของ วรรณไว พัธโนทัย ‘ผู้ชนะสิบทิศ’ ของยาขอบนี่อ่านจบสองสามรอบ ‘ขุนศึก’ ของไม้เมืองเดิม ‘ระย้า’ ‘ปักกิ่งนครแห่งความหลัง’ ของ สด กูรมะโรหิต เรื่องสั้นแทบทุกเรื่องของอาจินต์ ปัญจพรรค์ และมนัส จรรยงค์ เรื่องแปลของ กีย์ เดอ โมปัสซังต์, เชอร์ล็อคโฮล์ม เป็นต้น”

คุญหมอวิชัย บอกว่า ท่านชอบหนังสือหลายประเภทมาก ประเภทเรื่องสั้น นวนิยายก็อ่านเพราะสนุกจากเรื่องราวที่แต่ง เรื่องประวัติศาสตร์ สารคดี ก็สนุกจากข้อมูลความรู้ที่ได้

“ผมชอบประโยคหนึ่งในหนังสือ ‘วรรณคดีและวรรณคดีวิจารณ์’ ของ ดร.วิทย์ ศิวะศริยานนท์ มาก ที่บอกว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่เหงาที่สุดในโลก มนุษย์จึงต้องแก้เหงาด้วยวิธีการต่างๆ เครื่องแก้เหงาที่ทำลายมนุษย์ คือ อบายมุข ไม่ว่าจะเป็นสุรา นารี พาชี กีฬาบัตร แต่หนังสือช่วยแก้เหงาโดยนอกจากไม่ทำลายเราแล้วยังให้ความรู้ ความคิด ประสบการณ์

“ข้อสำคัญยังเป็นเครื่องบันเทิงราคาถูกด้วย ท่านพุทธทาสบอกว่า เราต้องสอนเด็กให้อยู่กับตัวเอง เป็นเพื่อนตัวเองให้ได้ หนังสือช่วยให้เราเป็นเพื่อนตัวเองได้อย่างดี สมัยเด็กๆ ผมเหงามาก นอกจากเพราะถูกส่งไปอยู่กับคนแก่ คือตายายซึ่งไม่ใคร่ชอบเล่นกับหลานแล้ว ตอนไปเรียนชั้นมัธยม ต้องรอซ้อนท้ายรถจักรยานของรุ่นพี่ต่างโรงเรียนกลับบ้าน ซึ่งโรงเรียนของรุ่นพี่เลิกช้ากว่าราว 1-2 ชั่วโมง ต่อมาก็ต้องรอรถประจำทางกลับบ้าน ซึ่งนานๆ จะมาสักคัน และบ่อยครั้งเขาเห็นเป็นเด็กนักเรียนยังไม่หยุดรับ เพราะได้ค่าโดยสารครึ่งราคาไม่คุ้ม ตอนนั้นผมยังไม่อ่านหนังสือจึงเหงามาก เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะไปรอติดต่อการงานที่ไหน รอเครื่องบินที่สนามบินทั่วโลก ผมไม่เคยเหงาเลย เพราะมีหนังสือเป็นเพื่อนแท้ ไม่เพียงคลายเหงาให้เท่านั้น แต่ยังให้ความสุข ความเพลิดเพลินได้อย่างดียิ่ง”

หนังสือที่ชอบมากที่สุด คุณหมอวิชัยเฉลยว่า ไม่มีเล่มใดเล่มหนึ่งเป็นพิเศษ แต่เป็นการสั่งสมจากหลายเล่ม

“หนังสือประวัติศาสตร์การเมืองไทย ทำให้เห็นปัญหาของประเทศ หนังสือนวนิยายทั้งไทย-เทศ ช่วยทำให้เข้าใจโลกเข้าใจชีวิต เพราะหล่อหลอมอุดมคติ อุดมการณ์ หนังสือของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช และ พล.ต.หลวงวิจิตรวาทการ ตลอดจนหนังสือชุดของเดล คาร์เนกี้ หลายเล่ม ช่วยกระตุ้นความคิด และเกิดความพยายามในการพัฒนาตนเอง แต่คนที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อผมมากที่สุดคือ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี และ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์”

หนังสือที่อยู่ในมือและกำลังอ่านอยู่ในวันนี้ของคุณหมอวิชัย ท่านบอกว่า กำลังอ่าน ‘สร้างโลกไร้จน’ (Creating a World Without Poverty) ของ มูฮัมหมัด ยูนุส (Muhammad Yunus) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ผู้สร้างธนาคารกรามีน สำหรับคนจนในบังกลาเทศ ช่วยให้คนยากจนโดยเฉพาะผู้หญิงในบังกลาเทศพ้นจากปลักความยากจนขึ้นมามีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีนับล้านคน

“หนังสือเล่มนี้แปลจากภาษาอังกฤษ โดย คุณสฤณี อาชวานันทกุล นักอ่าน นักเขียน และนักแปลฝีมือดี มีผลงานเขียนงานแปลดีๆ มาแล้วหลายเล่ม เล่มนี้กล่าวถึง ‘ธุรกิจเพื่อสังคม’ ซึ่งเป็นหนทางใหม่ในการสร้างสรรค์สังคม ที่น่าสนใจมาก ในอังกฤษมีธุรกิจเพื่อสังคมกว่า 7 หมื่นแห่ง ทำเรื่องดีๆ มากมาย เป็นการทำการกุศล เพื่อแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยทำในรูปธุรกิจที่ทรงคุณธรรม ในอังกฤษ ธุรกิจนี้ สร้างรายได้ถึง 5% ของจีดีพีแล้ว ตัวอย่างธุรกิจเพื่อสังคม เช่น เขาชวนพวก ‘คนไร้บ้าน’ ในลอนดอนมาทำนิตยสาร ‘Big Issues’ ตั้งราคาฉบับละ 1 ปอนด์ ขายให้คนไร้บ้านในราคา 60 เพนนี ไปเร่ขายหารายได้ ปรากฏว่าหนังสือนี้ขายดีเพราะพวกคนไร้บ้านสามารถหาข่าวสารข้อมูลดีๆ มาเผยแพร่ได้มาก ชาวบ้านก็อยากซื้อเพื่อช่วยคนเหล่านี้ หลังทำไปสักพักมีการประเมินพบว่าอาชญากรรมในกรุงลอนลดลง”

ท้ายสุด คุณหมอวิชัยฝากถึงคนไทยถึงการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านอย่างน่าไปตระหนักคิดให้ถ้วยทั่วว่า

“ขอย้ำว่า มนุษย์นอกจากเป็นสัตว์โลกที่ฉลาดที่สุดแล้วยังเหงาที่สุดในโลก โลกปัจจุบันแม้เป็นยุคข้อมูลข่าวสาร แต่มนุษย์กลับยิ่งเหงากว่าแต่ก่อน เพราะแนวโน้มสังคมอยู่กันแบบครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น โดยแต่ละคนมักมีลูกน้อยลงๆ สภาพสังคมทำให้มนุษย์ยิ่งแปลกแยก (Alienate) จากคนรอบข้างและกลายเป็นคนที่ ‘สุขยาก ทุกข์ง่าย’ เครื่องแก้เหงาที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง คือ หนังสือ ถ้าเราไม่เรียนรู้ที่จะเป็นคนรักหนังสือ เราจะขาดเพื่อนแท้ไปอย่างน่าเสียดาย เพื่อนที่ให้ทั้งความบันเทิง ความเพลิดเพลิน ความรู้ ความคิด ประสบการณ์ เครื่องปลอบใจ ให้กำลังใจ สร้างแรงจูงใจ และแรงบันดาลใจ

“การจะปลูกฝังนิสัยการอ่านให้คนที่เรารัก ไม่ว่าจะเป็นลูกหลาน ญาติ มิตร ศิษย์ หรือใครก็ตาม ต้องมีกุศโลบายที่เหมาะแก่แต่ละคน เหมือนจะปลูกต้นไม้ก็ต้องรู้จักธรรมชาติของต้นไม้ ว่าต้องการดินชนิดไหน อยู่ในที่ร่มที่แจ้งเพียงใด ต้องการน้ำขนาดไหน เป็นต้น จะปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน ก็ต้องรู้จักเลือกหนังสือ และรู้จักวิธีกระตุ้น หรือยั่วยุให้เขาอยากอ่าน ให้เหมาะกับแต่ละคน”

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ