ถ้าใครผ่านไปมาแถวๆ ข้าง สน.นางเลิ้ง ริมถนนนครสวรรค์ เมื่อยามบ่ายของวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา คงจะได้เห็นนักเขียน-นักอ่าน-ฟันเฟืองต่างๆ ของวงการหนังสือยืนออกันจนล้นหน้าประตูตึกแถวแห่งหนึ่ง เพื่อมาร่วมงานเปิดร้านหนังสือเล็กๆ ที่ชื่อ "The Writer's Secret"
ร้านที่ต่อยอดมาจาก "นิตยสารไรเตอร์" ยุค 3 นำทีมโดย "บินหลา สันกาลาคีรี, นรา" และ "วรพจน์ พันธุ์พงศ์" และ 4 ปีที่ผ่านมา ไรเตอร์เดินทางมาถึงเล่มที่ 33 แล้ว ซึ่ง "อุทิศ เหมะมูล" รับหน้าเสื่อเป็นบรรณาธิการต่อจากบินหลา แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาจะบินหายไปไหน เพราะหลังจากพักมาระยะหนึ่ง เขาก็ได้กลับมาเขียนคอลัมน์อีกครั้ง
และในช่วงหนึ่งของงาน มีเสวนาน่าสนใจอย่าง "วรรณกรรมในมือคนรุ่นใหม่" โดย "ภู กระดาษ" ผู้เขียนนวนิยายเรื่อง "เนรเทศ", ชัยพร อินทุวิศาลกุล" บรรณาธิการ "สนพ.สมมติ, ปรีดี หงษ์สต้น" ผู้เขียนนวนิยายเรื่อง "โปรดจงโอบกอดฉันเอาไว้" และอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, "สุธิดา วิมุตติโกศล" อาจารย์จากภาควิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ก่อนตบท้ายด้วยการแลกเปลี่ยนและคำถามจาก "วาด รวี" นี่คือบางส่วนในมุมคิดจากพวกเขา ผู้เป็นส่วนหนึ่งของปัจจุบันและอนาคตวงวรรณกรรมไทย อนาคตที่เป็น "ความหวัง"
"- ภู กระดาษ -"
"ในช่วงหนึ่งทศวรรษเท่าที่ติดตามวรรณกรรมไทยมา มีการสร้างรูปแบบในลักษณะของการอาจจะเก่าที่อื่นมาใหม่ที่นี่เยอะ และมีหายไปคือการวิจารณ์ ทุกวันนี้นักเขียนของเราแข่งกันชม ไม่ได้แข่งกันวิจารณ์ ส่วนตัวผมชื่นชมการวิจารณ์ มันเหมือนเวทีมวย ต้องมีคนดูเห็นว่าไอ้นี่การ์ดมวยไม่เป็น ไม่ใช่คิดว่าตัวเองการ์ดมวยระดับสามารถแน่ๆ งานเขียนคิดคนเดียวไม่ได้ การวิจารณ์จะทำให้เห็นข้อบกพร่อง บางทีก็ไม่ตรงกับที่นักเขียนคิด แต่มันสามารถเป็นแบบนั้นได้ด้วย
แต่ประเด็นสำคัญ ไม่ว่าจะงานเขียนหรืองานวิจารณ์เราไม่มีเสรีภาพตั้งแต่ต้น เราไม่เคยมีในประเทศนี้ เราก็ลมๆ แล้งๆ กันไป ก่อนที่จะฉายชัดมาเรื่อยๆ สุดท้ายความจริงก็คือความจริง แต่ถามว่าในแง่วรรณกรรมเอง เราควรวิจารณ์ ผมไม่เคยคาดหวังว่าฝ่ายอนุรักษนิยมจะวิจารณ์กันเอง แต่ผมคิดว่าพวกที่คิดว่าตัวเองก้าวหน้านี่ล่ะ ต้องช่วยกันดู ไม่งั้นมันจะหลงทิศทางและอวยกันเอง
ในสถานการณ์อย่างนี้ความเป็นเรื่องแต่งจะพาเรื่องเล่าเดินทางไปได้ ไม่ว่าจะมีมาตรา 44 หรือเปล่า แต่ต้อง มีพลังที่จะไม่หดหู่ สิ่งที่แย่คือขาดกำลังใจที่จะทำมากกว่า"
"-ปรีดี หงษ์สต้น-"
"ความเคลื่อนไหวและความเป็นไปของนักเขียนรุ่นใหม่ตอนนี้นั้น ผมว่าถ้าเราสามารถทำลายเส้นแบ่งบางอย่างของวรรณกรรมไทยและวรรณกรรมต่างชาติได้ เราก็จะเห็นอะไรชัดเจนมากขึ้น ถ้าเราจะพูดเรื่องวรรณกรรมไทยหน้าตาเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับวรรณกรรมต่างชาติ มันก็จะยังอยู่ในกรอบ มันมีไอเดียที่เดินทางเข้าออกเสมอในสังคมนี้ สังคมที่สามารถผลิตนักเขียนที่สำคัญๆ มาได้ มันเกิดจากการทลายกรอบแบบนี้ ไม่ได้มาจากนักเขียนที่โอ้โห เป็นเทวดาลอยมาจากฟากฟ้า
แต่ประเด็นสำคัญคือตอนนี้เราไม่มีเสรีภาพในการทำงานศิลปะ หรืออย่างน้อยๆ เราไม่มีอย่างที่เราเคยมีในช่วงก่อนหน้าเหตุการณ์ทางการเมือง แต่แปลกดี ยิ่งกดดันปิดกั้นเสรีภาพมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้การทำงานวรรณกรรมกลายเป็นงานที่อยู่บนพื้นที่ที่อยู่ในนามธรรมมากเท่านั้น ในฐานะพลเมือง มาตรา 44 ก็ไม่สามารถหยุดวรรณกรรมได้ ถ้าวรรณกรรมจะทำงาน มันก็จะเดินต่อไป ทำหน้าที่ตลอดอยู่ดี"
"-สุธิดา วิมุตติโกศล-"
"สังเกตว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่คึกคักมากสำหรับนักเขียนไทย อาจเพราะมีการแบ่งทางความเชื่อชัดเจน ความเหนียวแน่น ความเป็นปึกแผ่น ความคึกคักจะมากขึ้นอย่างสังเกตเห็นได้ชัด การที่วงการวรรณกรรมไทยจะเข้มแข็งได้ แบบไม่ใช่เข้มแข็งอย่างรักกัน สามัคคีกันมาเจอกันบ่อยๆ คือวัฒนธรรมการวิจารณ์ต้องเข้มแข็งตามไปด้วย
คุณภู กระดาษพูดเรื่องการแข่งกันชม เรารู้สึกเหมือนกัน เวลาที่เราพูดถึงวัฒนธรรมการวิจารณ์ มันเป็นหน้าที่ของนักเขียนนักอ่านเองด้วย มีความเป็นไปได้ไหมที่จะวิจารณ์และตรวจสอบกันเอง เพื่อลับไอเดียให้คมยิ่งขึ้น ทำยังไงให้แค่ไม่ชมกันเอง หรือมีแนวโน้มที่จะวิจารณ์อีกฝ่ายความคิดจนลืมมองกันเอง ตรวจสอบกันเอง และขัดเกลาความคิดตัวเองในฐานะผู้อ่าน แล้วเอาตัวบทมาพูดคุยกันในพื้นที่หนึ่ง มันจะเป็นวิธีที่ช่วยพัฒนาวงการวรรณกรรมได้จริงๆ"
"-วาด รวี-"
"ผมไม่เห็นด้วยเรื่องเสรีภาพในการเขียน ก่อนหน้านี้ก็ไปไม่ถึงเพดาน ยิ่งหลังรัฐประหารยิ่งไม่ไปแตะเส้นเลย นักเขียนไทยส่วนใหญ่ยังไปไม่ถึงเพดานตรงนั้นเลย ทั้งที่เรื่องแต่ง โดยบริบท โดยเงื่อนไขเปิดให้คนทำได้มากกว่าสารคดีหรือบทความเยอะเลย พูดได้ในนามของเรื่องแต่งนี่พูดได้มากกว่าในนามของเรื่องจริงบทความ แต่คุณทำไปไม่ถึงบทความทำเอาไว้เลย นี่คือที่ผมเห็นในฐานะของคนอ่านนะ
ในประเด็นเรื่องอนุรักษนิยมหรือก้าวหน้า ผมว่าเวลาเราคุยกันเรื่องนี้ไม่ว่าจะวงวรรณกรรมหรือวิชาการ มันหมายถึงจุดยืนทางการเมือง ไม่ได้หมายถึงเรื่องอื่นเลย และมีหลายเส้นแบ่งมากๆ เอาเส้นใกล้ๆ ที่เพิ่งผ่านมา คุณเชียร์รัฐประหารหรือเปล่า การที่คุณเชียร์มันอธิบายอะไรอื่นไม่ได้นอกจากวิธีคิดของคุณคืออนุรักษนิยม จารีตนิยม แต่เวลาพูดในพื้นที่ของวรรณกรรม คำว่าก้าวหน้าหรืออนุรักษนิยม เราพิจารณาจากทรรศนะทางการเมือง หรือเราพิจารณาจากตัวบทวรรณกรรม ถ้าเราพิจารณาจากทรรศนะทางการเมืองนี่เราไม่ต้องอ่านก็ได้นะ แต่ถ้าพิจารณาจากตัวบท คนที่มีทรรศนะทางการเมืองอยู่ฝ่ายก้าวหน้าที่สิทธิที่จะผลิตตัวบทในทางอนุรักษนิยมนะ ผมเคยเห็น เช่นเดียวกับคนที่มีทัศนคติทางการเมืองเป็นอนุรักษนิยม ก็มีสิทธิที่จะผลิตตัวบทเชิงก้าวหน้า แต่ผมยังไม่เคยเห็น
สรุปคือเรายังไปไม่ถึงอาณาเขตที่ถูกจำกัดเลย ประตูอยู่ตรงโน้น ต้องลองไปดูก่อนซิ" ส่วนหนึ่งของเสวนาเปิดตัวร้านยังกระตุกใจขนาดนี้ ซึ่งที่ร้าน "The Writer"s Secret" จะยังมีกิจกรรมแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ
ที่มา : มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 17 พ.ค. 2558