‘กลางทะเลลึก’ เพียงแค่เหลือบมองชื่อเรื่องและรูปภาพประกอบบนปกก็รู้สึกได้ถึงความเรียบง่าย แต่แฝงไว้ซึ่งความลึกลับ หนังสือนวนิยายชีวิตเล่มนี้เป็นผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปี ๒๕๔๙ และได้รับรางวัลชมเชยประเภทนวนิยายจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๔๗ เป็นผลงานของ ประชาคม ลุนาชัย ชายผู้เคยใช้ชีวิตเป็นลูกจ้างอยู่กับเรืออวนลากในท้องทะเลไทย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกและไม่ใช่ข้อมูลที่ผิดพลาดอย่างแน่นอน หากเขาจะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับทะเลโดยเฉพาะชีวิตของคนบนเรืออวนลาก
คุณเคยเห็นแสงแดดสาดกระทบผืนน้ำทะเลหรือเปล่า ? และหากลองมองออกไปไกล ๆ ก็อาจจะเห็นเพียงแค่เส้นขอบฟ้า แต่คุณรู้หรือไม่ว่าบริเวณหลังเส้นขอบฟ้านั้น มีชีวิตหลายชีวิตกำลังลากอวนอันหนักอึ้งอยู่ แล้วลองย้อนกลับมามองอาหารบนโต๊ะริมทะเล สิ่งที่ขาดไม่ได้บนจานใบใหญ่นั่นคือ กุ้ง หอย ปู หมึก หรือปลา สิ่งเหล่านี้มาจากกำลังแรงกายของชีวิต ณ กลางทะเลตรงนั้น เพียงแต่คุณไม่สามารถมองเห็นได้ว่าพวกเขากำลังต่อสู้กับอะไรบ้าง
นวนิยายชีวิตเล่มนี้มีรสทางการอ่านครบทุกรส ทั้งโศก เศร้า ให้กำลังใจ ระทึก ลึกลับ และโรแมนติก โดยเนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นไปในทางบอกเล่าชีวิตของคนบนเรืออวนลากกับความเป็นมนุษย์ปกติธรรมดา ที่ยังคงเปี่ยมไปด้วยกิเลสตัณหา คือ รัก โลภ โกรธ หลง ซึ่งอัดแน่นไว้ในตัวตนของแต่ละคน ซึ่งความโลภนี้เองที่เป็นจุดสำคัญของเรื่องราวทั้งหมด เมื่อไต้ก๋งของเรืออวนลากที่เป็นตัวละครหลักผู้เติบโตมากับอาชีพหาปลาและการออกทะเล ได้นำเรือแล่นไปพบกับเรือโดดที่ขนสมบัติมูลค่ามหาศาล เช่น ทองคำ และเครื่องใช้ไฟฟ้า พวกเขาขึ้นไปบนเรือและพบซากศพคนบนเรือตายเกลื่อน แต่ด้วยความโลภไต้ก๋งก็ได้สั่งลูกน้องขนย้ายสมบัติทุกอย่างมาไว้บนเรือของตน และจัดการทิ้งกุ้ง หอย หมึก ปู และปลาราคาแพงที่หามาอย่างยากลำบากให้จมลงก้นทะเลโดยไม่เสียดาย และได้จัดการจมเรือโดดลำนั้นทิ้งโดยไม่สนใจว่าบุคคลเหล่านั้นจะกลายเป็นบุคคลสาบสูญ จนในท้ายที่สุดความสุขสมหวังก็ดับลงเมื่อไต้ก๋งถูกหีบที่บรรจุทองคำทับจนเสียชีวิต ความหวังของคนบนเรือดับลงและหนีตายเอาตัวรอดกันอย่างเห็นแก่ตัวโดยการขโมยทองคำและว่ายน้ำหนีไป บางรายยอมดื่มน้ำทะเล กินจิ้งจก กินหนูสกปรกเพื่อความอยู่รอด แต่บทลงโทษของคนโลภทุกคนก็มาถึงเมื่อเรือรั่วและจมลงสู่ก้นทะเลทำให้คนเรือทั้งหมดเสียชีวิต คนรักและครอบครัวที่รอการกลับไปก็ต้องหมดหวัง เพียงเพราะความโลภของคน นวนิยายเรื่องนี้ทำให้เรารู้ซึ้งว่าความโลภจะนำมาซึ่งความสุขเพียงชั่วคราว และนำมาซึ่งหายนะในการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าทางสังคมและชีวิตของผู้คนบนเรืออวนลากที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ เงินทอง ความสุข ความรัก และสะท้อนว่าคนทุกคนล้วนมีความต้องการของตนเองไม่ว่าจะด้านหน้าที่การงานหรือเงินทอง ล้วนเห็นแก่ตัวเอาตัวรอดโดยไม่สนใจว่าคนอื่นจะเป็นอย่างไร
ผู้เขียนสร้างเหตุการณ์สมมตินี้ผ่านคำถามว่าหากเรืออวนลากธรรมดา ๆ ลำหนึ่งที่ออกหาปลาตามปกติแล้วเผอิญเจอสมบัติมากมายบนเรือที่มีคนตายจะทำอย่างไร โดยได้วางโครงเรื่องไว้ให้ตัวละครเล่นกับสมบัติเงินทองอันเป็นของล่อใจมนุษย์ และให้ข้อคิดสอนใจเกี่ยวกับเรื่องศีลธรรมและกิเลสตัณหาของมนุษย์ ดำเนินเรื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้ภูมิหลังของตัวละครแต่ละตัวอย่างกระจ่าง สร้างปมปัญหา สร้างจุดขัดแย้ง และจุดคลี่คลายอย่างชัดเจนและมีตัวดำเนินเรื่องเป็นคนบนเรืออวนลาก อีกทั้งยังมีสัญลักษณ์แทนความรู้สึกจากก้นบึ้งของจิตใจของตัวละครในบทที่ ๔ ว่าถึงรูปปั้นสีขาวนวล รูปปั้นผู้หญิงผมยาว หลับตา ใบหน้าประกอบด้วยริมฝีปากที่ยิ้มแย้ม เพียงแต่มีครึ่งร่างเท่านั้น เป็นกลวิธีการนำเสนอที่ลึกลับและน่ากลัว คนเรือได้สัมผัสรูปปั้นนี้เหมือน ๆ กัน แต่ได้รับความรู้สึกที่ต่างกัน บางคนสัมผัสได้ถึงความรู้สึกเยาะเย้ยจากรูปปั้น บางคนสัมผัสได้ว่ารูปปั้นส่งรอยยิ้มปลอบใจ ให้กำลังใจ การเสกสรรรูปปั้นนี้เป็นตัวประกอบเพื่อสร้างมุมมองความรู้สึกนึกคิดที่แตกต่างกันของตัวละครทำให้เนื้อเรื่องมีความตื่นเต้นและระทึกมากขึ้น
สำหรับนวนิยายชีวิตเรื่องนี้ใช้ภาษาที่อ่านง่าย กระชับ ข้อความไม่ซับซ้อน ไม่ต้องแปลให้มากความ ถ้อยคำบรรยายมีภาษาสละสลวยทำให้เห็นภาพชัดเจน เช่น “บทที่ ๑ ต้นเรื่อง...ค่ำคืนมาเยือนอย่างเชื่องช้า ท้องทะเลมืดมิด ดาวเต็มฟ้า ไฟในเก๋งชั้นสามปิดสนิท ไต๋ทึ่มนั่งอยู่ในห้องเฝ้าจอเรดาร์...กลางม่านควันที่แกเห็น นอกจากปลาสีทองจำนวนมหาศาลแล้ว ยังมีใบหน้านับร้อยนับพันซ้อนทับกันอยู่” ข้อความเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ทำให้ผู้อ่านเคลิบเคลิ้มตาม นอกจากนี้ชื่อเรื่องตามบทต่าง ๆ ก็ชวนให้ผู้อ่านอยากติดตามอ่านว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง เช่น บทที่ ๓ มหาสมบัติ, บทที่ ๘ ฝันกลางทะเลลึก, บทที่ ๑๗ เส้นแบ่งระหว่างความเป็นความตาย
‘กลางทะเลลึก’ เป็นนวนิยายที่ควรค่าแก่การอ่าน ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่เหมาะกับผู้ใหญ่ แต่ระดับเยาวชนหรือวัยรุ่นก็สามารถอ่านได้เช่นกัน เพราะบางตอนสะท้อนเนื้อหาเกี่ยวกับความรัก อันปรากฏอยู่ในเรื่องราวของปลิว หนุ่มห้องเครื่องบนเรือกับเด็กสาวข้างบ้านชื่อกิ่ง ความว่า “บทที่ ๖ ภาพชีวิตใกล้จุดเปลี่ยน...กิ่งเขียนจดหมายถึงเขาทุกเดือน บางครั้งก็ส่งผลไม้มาให้ ความดีของเธอผูกมัดใจเขาแน่นขึ้นเรื่อย ๆ ภาพรอยยิ้มของเด็กสาวและความรักเบ่งบานในใจ ช่วยทำให้นัยน์ตาเศร้าหมองอยู่เป็นนิจของเขา มีประกายแจ่มใสขึ้นมาบ้าง” ในตอนนี้เองก็ทำให้ผู้อ่านลุ้นตามว่าความรักความผูกพันของทั้งคู่จะดำเนินไปอย่างไร
นวนิยายเล่มนี้สอดแทรกข้อคิดและสอนเรื่องความโลภอย่างที่กล่าวไปในตอนต้น ทั้งยังนำเสนอเรื่องของความสามัคคี โดยการแฝงข้อคิดในเรื่องว่าเมื่อเราอยู่รวมกันในสังคมเดียวกัน เราควรมีความรัก ความสามัคคี และปรองดองกัน ถึงแม้ว่ามนุษย์โลกจะมีนิสัย ฐานะ รูปร่างหน้าตา วัฒนธรรม ภูมิปัญญา และภาษาที่แตกต่างกัน ดังเช่นตัวละครในเรื่องที่มีความแตกแยกและมีการแบ่งพรรคพวกกันระหว่างคนบนเรืออวนลาก โดยนำเสนอให้ตัวละครมีนิสัยต่างกันมาอยู่บนเรือลำเดียวกัน เช่น นุ้ย...เป็นคนงานที่เป็นคนจริงจัง ทำงานเก่ง ยอมทำงานหนักโดยไม่ปริปากบ่น, อินทรี...เป็นหัวหน้าแก๊งเล็ก ๆ บนเรือ มีนิสัยชอบข่มขู่ ใจร้อน และชอบใช้อำนาจ และไอ้จก...ชายหลักลอย ไร้ถิ่นฐาน มองเผิน ๆ เหมือนไม่มีมิตรไมตรีกับใคร แต่ลึก ๆ แล้วเป็นคนมีน้ำใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้นวนิยายเล่มนี้มีเนื้อหาที่ไม่น่าเบื่อและสะท้อนสังคมปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
นางสาวอภิญญา ทิสานนท์