‘เก้า’ สุภัสสรา ธนชาต : ‘เก้า’ สุภัสสรา ธนชาต หนอนหนังสือสาวแสนสวย

‘เก้า’ สุภัสสรา ธนชาต

 

“...ที่สำคัญ การอ่านยังช่วยทำให้ชีวิตดีขึ้น บำรุงจิตใจเราด้วย ซึ่งเรื่องนี้พวกนี้หนูได้ลองพิสูจน์มาแล้ว”

 

           ใครว่าดาราวัยรุ่นเมืองไทยไม่อ่านหนังสือ ใครว่าดาราดังแล้วไม่มีเวลาอ่านหนังสือ มายาคติเหล่านี้ล้วนเป็นสายตาของคนภายนอกที่มองแค่ผิวเผินผ่านชื่อเสียงและชีวิตในวงการมายาที่อยู่ท่ามกลางแสงสี รวมถึงชื่อเสียงและเงินทอง ในช่วง 2-3 เกือบที่ผ่านมา ต้องบอกว่า คอละครคงเห็นบทบาทการแสดงในซีรีย์สุดฮิต ‘ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น’ หลายคนคงคิดว่า ‘เก้า’ สุภัสสรา ธนชาต หรือสาวสไปร์ท เจ้าของวลีเด็ดที่ว่า “อารมณ์ฉันก็มี..แต่ถ้าไม่มีถุงยางก็อด” คงต้องเป็นสาวไฟแรงสูงแน่ๆ

 

            แต่เชื่อเถอะว่า คุณกำลังเข้าใจผิดอย่างมหันต์ เพราะความจริงแล้ว นิสิตสาวปี 1 จากรั้วเกษตรศาสตร์ผู้นี้ นอกจากจะไม่เห็นด้วยกับเรื่องการมีเซ็กซ์ก่อนวัยอันควรแล้ว ยังมีแง่มุมดีๆ (ที่หลายคนไม่รู้) ซุกซ่อนไว้อีกเพียบ เอาง่ายๆ เช่นการที่เธอเป็นหนึ่งใน ‘หนอนหนังสือ’ ตัวยงของประเทศที่เริ่มสร้างวัฒนธรรมการอ่านแห่งนี้ เพราะล่าสุด เธอไปร่วมงาน ‘เทศกาลหนังสือวันแม่ @ Airport Link 2556’ ของสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาด้วย

 

            โดยจุดที่เธอไปยืนนานสุด ก็คือบูทบุ๊กเฟต์ ที่มีกิจกรรม One Bag One Price ที่เปิดโอกาสให้บรรดานักอ่านหยิบหนังสือใส่ถุง 1 ถุงให้มากที่สุด งานนี้ข่าวเล่าว่า สาวเก้ากวาดหนังสือกลับบ้านไปเพียบจนทำให้พอคาดเดาว่า เก้า-สุภัสสรา เป็นนักอ่านตัวยง หรือเรียกง่ายๆ ว่า เป็นหนอนหนังสือสาวแสนสวยนั่นเอง เพราะฉะนั้น การพูดคุยเกี่ยวกับการอ่านกับเธอ ก็ทำให้ได้เห็นอีกมุมหนึ่งที่ทำให้เห็น ‘ความสวยของสมอง’ ที่มาจากการอ่านและรักหนังสือของเธอ

 

            “จริงๆ ช่วงนี้ก็อ่านไม่ไหวหรอกคะ (หัวเราะ) หนูไม่ค่อยมีเวลา แถมนี่ก็เดือนสิงหาคมแล้ว ใกล้สอบก็เลยอยากโฟกัสที่ตำราเรียนเป็นหลัก แต่พอเห็นมีกิจกรรมดีๆ อย่างเทศกาลหนังสือวันแม่ที่ผ่านมา ก็เลยอยากมาร่วมงาน ที่สำคัญก็คือ อยากซื้อหนังสือดีๆ เก็บไว้ก่อน ถ้ามีเวลาว่างถึงค่อยทยอยอ่านอีกที” นางเอกวัยรุ่นสุดฮอตเล่าวัตถุประสงค์ของการมางานครั้งนั้นด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม คุยไปคุยมาอยู่พักใหญ่ ก่อนจะวกกลับมาที่เรื่องการอ่านของเธออีกครั้ง ซึ่งสาวเก้าก็ไม่มีอาการเคอะเขินไม่อยากตอบ แถมยังชี้แจงให้เห็นภาพกันแบบละเอียดยิบ...

 

             “จริงๆ เก้าไม่ใช่เด็กที่รักการอ่านมาตั้งแต่กำเนิด แต่เรื่องของเรื่องเริ่มมาจากความชอบขีดชอบเขียนเรื่องราวต่างๆ สมัยเป็นเด็กประถมฯ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องตามจินตนาการ คิดเอง แต่งเอง เขียนเอง วาดภาพประกอบเอง” เธอเท้าความหลัง แต่อย่าไปถามเธอเด็ดขาดว่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอะไร เพราะสิ่งที่ได้ยินกลับมาพร้อมเสียงหัวเราะก็คือ จำไม่ได้หรอก รู้แต่ว่าเป็นเรื่องบ้าๆ บอๆ อะไรสักอย่าง พอถึงช่วงมัธยมศึกษาตอนต้น ความสนใจเรื่องการเขียนก็ถดถอยลงตามลำดับ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความอยากรู้อยากเห็นลดแม้แต่น้อย ดังนั้น เธอจึงมีนิสัยแปลกๆ อยู่อย่าง คือ เวลาเห็นหนังสือวางอยู่ ก็มักจะอดใจไม่ได้ ต้องหยิบมาขึ้นมาพลิกดูเสมอๆ เพราะบางเรื่องจะอ่านไม่รู้เรื่องก็ตาม

 

              “ช่วงที่อยู่ ม.1-2 เก้าเป็นคนที่ซนมาก ชอบไปหยิบพวกหนังสือเรียนของพี่ๆ ชั้น ม.4-5 มาอ่านมาดู คืออยากรู้ ว่าเขาเรียนอะไรกัน ซึ่งเปิดไปก็ไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไร อย่างแคลคูลัสหรือภาพตัดกรวย แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมที่เราเรียนไม่เห็นมีเลย มีแต่เรื่องจำนวน เรื่องพหุนาม “แล้วหนูก็เอาไปให้เล่าให้เพื่อนๆ ฟังว่า รู้จักเรื่องพวกนี้หรือเปล่า พวกพี่ๆ ม.ปลายเขาเรียนกันนะ พอเพื่อนได้ยินก็งง ถามว่ารู้ได้อย่างไรว่าเขาเรียนอะไรกัน ทั้งที่ความจริงไม่รู้อะไรเลย (หัวเราะ)” แม้ตอนนั้น เก้าจะยังไม่รู้ว่า ประโยชน์ของหนังสือคืออะไรกันแน่ แต่สิ่งหนึ่งที่เธอสัมผัสได้ ก็คือ หนังสือทำให้เธอรู้เรื่องเยอะกว่าคนอื่นในวัยเดียวกัน

 

               เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยว่า เมื่อเธอโตขึ้น ความอยากรู้อยากเห็น อยากค้นคว้าจึงเพิ่มทวีคูณขึ้นไปอีกโดยเฉพาะช่วงที่เธอย้ายโรงเรียนหลังจากมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์มาอยู่สามเสนวิทยาลัย ซึ่งเก้าต้องปรับตัวอย่างหนักเพื่อให้เข้ากับสังคมได้โดยเร็ว ‘ห้องสมุด’ นี่เองซึ่งกลายมาเป็นที่พึ่งของเธอได้อย่างดี นอกจากการใช้ชีวิตอยู่ห้องเรียนและบรรดาแก๊งค์เพื่อน เก้าเริ่มเข้าใจตอนนี้เองว่า เสน่ห์หนังสือไม่ใช่แค่อ่านแล้วรู้เยอะขึ้น ฉลาดขึ้นเท่านั้น เพราะนั่นเป็นแค่ปลายทางหรือผลพลอยได้จากการอ่านต่างหาก แต่คุณค่าของหนังสือนั่นอยู่สามารถช่วยตอบคำถามที่เกิดขึ้นในใจได้ได้

 

              “ความรู้บางอย่างอยู่ในห้องเรียนเราไม่สามารถหาได้ แต่หาในหนังสือได้ ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้ว หนังสือก็มีหลายแบบหลายสไตล์ เรื่องบางเรื่องเราไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีแบบนี้ด้วย แต่พอเดินเข้าไปในห้องสมุด เข้าไปในอ่าน เข้าไปพลิกดูสักหน่อย เราก็มีความรู้ขึ้นมา “ที่สำคัญมันเป็นความรู้ทั่วไปที่เพื่อนไม่รู้ แล้วเราก็เอาไปเล่าให้ฟัง ซึ่งไม่ใช่แค่เพื่อนหรอกที่คิดว่าเราฉลาดขึ้น แต่เราก็ยังรู้สึก ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ เพราะอย่างน้อยๆ มันก็สะท้อนว่าเราก็เป็นคนที่พยายามขวนขวาย แล้วของแบบนี้รู้ไว้ก็ไม่เสียหาย รู้อะไรเยอะขึ้น ชีวิตก็ดีขึ้น” ไม่ใช่แค่เพียงแค่นั้น หากแต่หนังสือยังเป็นพระเอกที่ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้มีคุณภาพมากขึ้น เก้ายกกรณีตัวอย่างจากจากตัวเอง เพราะเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือประเภทจิตวิทยาหรือแนว How-To มาก ซึ่งเธอบอกว่า หนังสือประเภทนี้แหละที่ทำให้เธอเข้ากับเพื่อนๆ ได้มากขึ้น

 

              “หนูชอบอ่านหนังสือประเภทนี้ เพราะอยากพูดเก่ง เพราะปกติเราจะเป็นคนนิ่งๆ ไง แล้วเวลามองหน้าคนก็จะชอบจ้องตาเขา จนหลายคนคิดว่าเรากำลังหาเรื่องอยู่หรือเปล่า (หัวเราะ) ยอมรับเลยว่ากลัว และอยากจะหาคำพูดอะไรสักอย่าง เพื่อแสดงความจริงใจออกไปให้เขาได้สัมผัสว่า เราไม่ได้มีอะไรนะ แค่หน้าเราเป็นแบบนี้เอง” โดยตอนนั้นก็มีให้เลือกก็คือ หนังสือประเภท How-To กับหนังสือธรรมะ ซึ่งเก้าตัดสินใจเลือกอ่านประเภทแรก

 

               “ปกติ เก้าจะเป็นคนชอบตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราทำแบบนี้มันแปลกไหม หรือทำอย่างไรให้เรารู้จักพูด หรือพูดเก่ง หรือเข้ากับคนง่าย สื่อสารให้คนเข้าใจอะไรเรา ซึ่งตอนนั้นก็มีหนังสือสองแบบนี้แหละที่เก้าว่า อ่านแล้วคงทำให้จิตใจดีขึ้น และมีแนวทางให้แก่ชีวิต แต่อย่างว่าหนังสือธรรมะ บางทีก็มีคำศัพท์ยากๆ ซึ่งเด็กๆ อย่างเราอ่านแล้วไม่เข้าใจ ยิ่งช่วงไหนที่มีปัญหาชีวิตแล้ว หากอ่านไม่เข้าใจ สุดท้ายก็คงไม่ช่วยอะไร ก็เลยเลือกอ่านหนังสือจิตวิทยาแทน” ซึ่งข้อเด่นของหนังสือประเภทนี้ นอกจากจะมีคำศัพท์ที่ทันสมัยกว่า เข้าถึงง่ายกว่า และเสพง่ายกว่าแล้ว หลายๆ สำนักพิมพ์ก็ทำรูปเล่มออกมาได้อย่างสนใจ มีภาพประกอบบ้าง มีรูปวาด ซึ่งทั้งหมดช่วยกระตุ้นความสนใจให้เพิ่มขึ้น และมีสมาธิในการอ่านจนจบมากขึ้นอีกด้วย

 

               ที่สำคัญ การอ่านของเก้ายังไม่จำกัดว่า ต้องเป็นเรื่องอะไร ใครเป็นคนเขียน หรือสำนักพิมพ์ไหน เพราะสำหรับเธอแล้ว เนื้อหาที่อยู่ภายในนั้นสำคัญกว่าองค์ประกอบแบบนั้นเยอะ “ถ้าถามว่าเล่มไหนเป็นเล่มโปรด หนูตอบไม่ได้หรอก (หัวเราะ) คือปกติ หนูจะชอบเข้าไปในร้านหนังสือแล้วก็เข้าอ่านดู ซึ่งหลักก็คือ หลักๆ ที่เราดูก็คือ ข้างในเนื้อหาเป็นอย่างไร น่าสนใจไหม ให้คำตอบดีๆ และง่ายๆ กับเราหรือเปล่า ภาษาอ่านง่ายไหม ซึ่งหนูก็ต้องใช้เวลากับมันนิดหนึ่ง แต่ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นเล่มไหนตายตัว”

 

               และหลังจากอ่านได้ไม่นาน ผลลัพธ์ก็เป็นไปตามคาด เพราะนอกจากจะได้ความรู้แล้ว เธอยังสามารถเข้ากับเพื่อนได้มากขึ้น บางคนที่ไม่เคยสนิทมาก่อนก็เลยสนิท หลายคนถึงขั้นใช้เธอเป็นที่ปรึกษาเลยทีเดียว นอกจากนี้ ด้วยความที่เธอเริ่มหักเหเส้นทางชีวิตเข้ามาบนสายบันเทิงมากขึ้น หนังสืออีกประเภทที่เก้าเริ่มหยิบขึ้นมาอ่านก็คือ หนังสือที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเอง

 

              “ก่อนหน้านี้ บอกได้เลยว่า ถ้าไม่ใช่หนังสือจิตวิทยาหรือหนังสือเรียน ก็ไม่ค่อยหยิบอ่านสักเท่าไหร่ แต่ตอนนี้เรื่องสุขภาพก็ถือเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน และที่ผ่านมา เก้าค่อนข้างทำงานหนัก เพราะฉะนั้นก็เลยจะต้องดูแลเรื่องพวกนี้มากขึ้นหน่อย เช่น กินอะไรถึงจะทำให้ผิวดี ทำให้อย่างไรให้สุขภาพเราดีขึ้น อะไรกินได้ อะไรห้ามกิน ซึ่งจะว่าไปแล้ว มันก็คงคล้ายกับ How-To ประเภทหนึ่งนั่นแหละ” อย่างไรก็ตาม น่าแปลกที่บรรดาเพื่อนๆ กลับไม่ชอบอ่านหนังสือแนวจิตวิทยาและแนวสุขภาพเหมือนเธอเท่าที่ควร เพราะจากการสำรวจ (ด้วยตัวเอง) เก้าพบว่าหนังสือที่มาแรงอันดับหนึ่งก็คือ ‘นวนิยาย’

 

              “เก้าอาจจะเป็นคนแปลกก็ได้ เพราะไม่ชอบอ่านนวนิยาย (หัวเราะ) เพราะหนูรู้สึกว่า นิยายหลายๆ เรื่องมันไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้หรอก แต่เรื่องนี้ก็ไม่อยากสรุปนะ เพราะบางทีอาจจะเป็นเพราะหนูอ่านตรงนี้น้อยก็ได้”

 

             นอกจากนี้ ด้วยความที่งานในวงการบันเทิงค่อนข้างรัดตัว ทั้งแสดงละคร โฆษณา ถ่ายแบบ หรือแม้แต่การโชว์ตัว ปัจจุบัน เก้าจึงแทบไม่มีเวลาให้การอ่านหนังสือเลย เพราะลำพังแค่เวลานอนแทบจะไม่เหลือแล้ว ดังนั้นเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาที่ต้องจัดลำดับความสำคัญของชีวิตค่อนข้างเยอะ “อย่างหนังสือ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเฉพาะเวลาที่ว่างจริงๆ เช่น ไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า และไม่มีภารกิจต้องไปไหนต่อ ช่วงนี้แหละที่เก้าจะหันเท้าตรงเข้าไปในร้านหนังสือ แล้วใช้เวลาพักใหญ่ อ่านจนหนำใจ เล่มไหนติดใจก็ซื้อกลับบ้าน เล่มไหนไม่ชอบก็ปล่อยผ่านไป”

 

             และเมื่อลองถามต่อว่า ช่วงนี้เทคโนโลยีการอ่านได้เปลี่ยนไปแล้ว ยิ่งยุคนี้แท็บแล็ตและอีบุ๊กกำลังบูมสุดขีด เก้าไม่สนใจจะเปลี่ยนวิธีการอ่านบ้างหรือ ซึ่งเก้าก็ได้ยิ้ม พร้อมกับส่ายหน้าพลาง ก่อนจะปล่อยประโยคเด็ดว่า “หนูเป็นคนโลว์เทคคะ” บวกกับความที่เธอยังหลงกลิ่นหนังสือที่เป็นกระดาษอยู่มาก จึงไม่ชินกับการอ่านหนังสือด้วยวิธีนั้น และไม่เคยคิดจะลองเลย โดยเก้ายกตัวอย่างเวลาอ่านหนังสือเรียนให้ฟังว่า อ่านในคอมพิวเตอร์หรือแผ่นสไลด์ไม่ได้เลย เพราะเมื่ออ่านไปนานๆ แล้วจะเกิดอาการมึนหัว และรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมชาติ

 

            ที่สำคัญมันยังขัดกับพฤติกรรมการอ่านหนังสือของเธออย่างแรง เพราะโดยปกติ เธอจะไม่แค่อ่านอย่างเดียว แต่จะชอบจด ชอบบันทึกหรือสรุปความเข้าใจลงไปในหนังสือหรือสมุดบันทึกด้วย “จริงๆ เรื่องความชอบเขียนก็ยังมีอยู่ แต่ว่าไม่ได้แต่งเรื่องหรืออะไรแบบนั้นอีกแล้ว (หัวเราะ) คือชอบมาคิดต่อจากสิ่งที่ได้อ่านแทน เพราะเหมือนเราได้ทำความเข้าใจ ได้วิเคราะห์สิ่งที่หนังสือเขียนลงไปด้วย

 

           “เรื่องนี้เก้าคิดมานานแล้วว่า การอ่านอย่างเดียว ไม่ได้เป็นการสรุปทุกเรื่องหรอก แต่เราต้องมีคำถาม ต้องคิดต่อ และอย่างน้อยๆ ต้องมีที่มาที่ไป ไม่อย่างนั้นเราก็ไม่ได้อะไร ดังนั้น เก้าถึงไม่ชอบอ่านอะไรที่ไปเรื่องเล่าไง เพราะบางทีมันไม่มีที่ไปที่มา เน้นจำอย่างเดียว”

 

            การพูดคุยยังคงดำเนินไปพักใหญ่ ก่อนที่เธอจะเอ่ยขึ้นมาว่า เดี๋ยวต้องไปทำงานต่อแล้ว เพราะงานต้องโชว์ตัวต่อตอนเย็น เพราะฉะนั้นเพื่อไม่เป็นการรบกวนเวลา เลยขอให้นางเอกสาวช่วยกล่าวอะไรสักหน่อยกับบรรดาเพื่อนนักอ่านเสียเลย ซึ่งเธอก็ฝากคำตอบดีๆ เป็นการส่งท้ายว่า “หนังสือมันมีหลากหลายรูปแบบ เราใช้เวลาแค่นิดหนึ่งก็สามารถอ่านจบได้แล้ว เพราะมีความรู้ที่น่าสนใจในหนังสือทุกๆ เล่ม ซึ่งถ้าเทียบกับห้องเรียนแล้ว ถือว่าเยอะแยะกว่ามาก จนไม่สามารถบรรยายได้หมด ที่สำคัญ การอ่านยังช่วยทำให้ชีวิตดีขึ้น บำรุงจิตใจเราด้วย ซึ่งเรื่องนี้พวกนี้หนูได้ลองพิสูจน์มาแล้ว”

 

            ‘เก้า’ สุภัสสรา ธนชาต เป็นชาวกรุงเทพมหานครตั้งแต่กำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2538 สุภัสสรามีดีกรีเป็นถึงดาวสามเสนของรุ่น 57 หรือรุ่นสายหยุด มารับประกันความสวยอีกด้วย ด้วยความสวยของเธอจึงทำให้ผู้จัดหลายค่ายสนใจติดต่อให้มาเล่นโฆษณา ภาพยนตร์ซีรีส์ และละครทีวีอีกด้วย สุภัสสราได้ชื่อเล่นว่า เก้า เพราะว่าเธอเกิดวันที่ 29 และมีน้ำหนักตอนแรกคลอดอยู่ที่ 2.99 กิโลกรัม ทำให้เลข 9 กลายเป็นเลขสวย จนคุณแม่นำมาตั้งเป็นชื่อของเธอนั่นเอง ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ในคณะเศรษฐศาสตร์ ภาคอินเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่วนความใฝ่ฝันในอนาคต สาวเก้าบอกว่า หลังจากที่เธอจบชั้นปริญญาตรีแล้วก็อยากจะไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ด้านเศรษฐศาสตร์ที่ต่างประเทศ ก่อนจะกลับมาไทยเพื่อทำงานที่บ้าน

 

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ