จุ๊ๆ เข้ามาหลบตรงนี้ซิ
…ใครหรอ? ก็คุณไงเล่าที่จ้องมาตรงนี้
ถ้ากำลังคิดจะหนีโลกแห่งความจริง และหาโลกแห่งความฝันและจินตนาการสักแห่งเป็นที่หลบซ่อนล่ะก็
ฉันแนะนำให้หยิบ “ต้นส้มแสนรัก” ขึ้นมา
เวลาคนเราเศร้า มีเรื่องทุกข์ใจหรือต้องการความสนุกสนาน เรามักจะให้จินตนาการที่สวยงามช่วยเหลือ ไม่ว่าจะอ่านนิทาน อ่านนวนิยายสักเล่มหรือดูหนังสักเรื่อง แล้วคุณเคยคิดไหมว่าเด็กจนๆ สักคนหนึ่งที่ไม่มีเงินแม้แต่จะซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่จะพาตัวเองออกจากโลกแห่งความเป็นจริงอย่างไร เด็กคนนั้นอาจไม่หวังพึ่ง “จินตนาการของคนอื่น” แต่ใช้ “จินตนาการของตนเอง”
ทันใดนั้นต้นส้มก็กลายเป็นม้าที่สวยที่สุดในโลก ลมแรงขึ้น หญ้าที่กระจัดกระจายเป็นหย่อมๆ ในคู เปลี่ยนเป็นที่ราบเขียวชอุ่มกว้างใหญ่ ชุดโคบาลของผมขลิบด้วยทอง ที่หน้าอกมีตรานายอำเภอส่องแสงแวววาว
“มาเลย พ่อหนุ่ม ตรงไปข้างหน้า…”
กล๊อบ กล๊อบ กล๊อบ เสียงม้าของพวกอินเดียนแดงดังสนั่นหวั่นไหว
“ไปกันเถอะเจ้าม้า ที่ทุ่งนี้มีความเต็มไปหมด พรรคพวก – ยิงกันเถอะ”
ปัง…ปัง…ปัง…เฟี้ยว…เฟี้ยว…เฟี้ยว
เด็กคนนั้น … “เซเซ่” ชอบขี่ม้าคู่ใจตะลอนไปตามท้องที่ราบ ชอบพาน้องชายไปเที่ยวสวนสัตว์กับยุโรป และชอบคุยกับเพื่อนสนิทที่สุด คือ ต้นส้มที่ชื่อ “มิงกิงโย”
การผจญภัยทั้งหลายแหล่ของเขาเกิดขึ้นในสวนเล็กๆ หลังบ้าน
“ต้นส้มแสนรัก” วรรณกรรมเยาวชนบราซิล แต่งโดยโจเซ่ วาสคอนเซลอสเป็นเรื่องเกี่ยวกับโจเซ่ วาสคอนเซลอส … ใช่แล้ว ชื่อเหมือนกับผู้แต่งนั้นแหละ แต่ในที่นี้เราจะรู้จักเขาดีในชื่อ “เซเซ่” เด็กชายอายุห้าขวบที่แสนซุกซน
เซเซ่ก็เหมือนเด็กชาวบราซิลคนอื่นๆ อีกหลายคน ครอบครัวยากจน พ่อที่เป็นเสาหลักตกงาน แม่ต้องทำงานในโรงงานทั้งวันจนเหน็ดเหนื่อย มีพี่น้องหลายคน คนไหนที่โตหน่อยก็ต้องเลิกเรียนหนังสือ ออกมาช่วยทำงานแต่แม้จะยากจน เซเซ่ก็เป็นเด็กฉลาดที่รู้จักใช้ชีวิตให้มีความสุขกับสิ่งที่มีอยู่ ตามคติประจำครอบครัวที่ว่า “ที่บ้านเรา เราต้องรู้จักชอบของทุกอย่างที่เรามี ตราบใดที่เรายังมีมันอยู่”
เซเซ่เที่ยวเล่นเรียนรู้ไปตามประสาเด็ก ทั้งมีคนชื่นชมว่าเป็นเด็กดีราวเทวดา ทั้งเป็นที่โจษจันว่าซนร้ายอย่างเด็กเปรต คนที่ว่านี้ รวมถึงคนในครอบครัวอย่าง “พ่อ” ที่นอกจากทำร้ายทางคำพูดแล้ว ยังทำร้ายทางร่างกาย สำหรับเด็กชาย มีคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เขารักและไม่อยากให้ผิดหวังในตน หนึ่งในนั้นคือ “โปรตุก้า” คนที่ทำให้เขารู้สึกถึงความสุขในหัวใจ
โปรตุก้า … ชายแก่ชาวโปรตุเกสที่เปลี่ยนจากศัตรูมาเป็นเพื่อนที่รักที่สุด เพื่อนที่รับฟัง พูดคุย ปลอบโยน มอบความรักให้เด็กคนนี้ เหมือนกับสิ่งที่ต้นส้มต้นเล็กๆ ในสวนหลังบ้านทำให้
กระนั้นไม่ว่าคนหรือสิ่งที่เรารักที่สุดก็ไม่อาจคงอยู่กับเราตลอดไป
ว่ากันว่า … เด็กทุกคนมักมีจินตนาการ ลองมองย้อนดูตัวคุณในวัยเด็กซิที่คุยเป็นตุเป็นตะกับตุ๊กตา
ว่ากันว่า… คนบางคนที่เรารู้จักในชีวิตจริงก็ช่าง “สวยงาม” เหมือนกับมีตัวตนอยู่ในเพียงโลกแห่งต้นส้มและความฝัน
การจากไปของต้นส้มในตอนท้ายเรื่องอาจหมายถึงการจากไปของ “โปรตุก้า” เพื่อนที่เป็นเสมือนพ่อที่ดีที่สุดของเซเซ่
ว่ากันว่า… การสูญเสีย ความเจ็บปวด จะทำให้เด็กคนหนึ่งโตและหลุดจากโลกแห่งความฝันมาสู่โลกแห่งความจริง
การจากไปของต้นส้มในตอนท้ายเรื่องอาจหมายถึงการจากไปของ “เซเซ่” เด็กไม่น่ารัก แต่คนๆ หนึ่งก็ ‘รัก’ ที่สุด จากไปโดยไม่ได้ตาย ไม่ได้ถูกใครฆ่า แค่บอกลาและจากไป พร้อมกับใครบางคนที่ก้าวเข้ามาแทนที่ คนที่ชื่อ “โจเซ่” ไม่ใช่ “เซเซ่”
หลังอ่านหนังสือเล่มนี้จบ เราก็อดสงสัยไม่ได้ว่ากาลเวลาเป็นคนคร่าชีวิตของเด็กคนหนึ่ง หรือสังคมรอบข้างเป็นคนฆ่าเขากันแน่ …แล้วเราทุกคนทำ “เด็กในใจเรา” หายไปนานแค่ไหนกันแล้วนะ
เขาตายไปแล้ว หรือแค่นอนหลับปุ๋ย รอใครสักคนมาปลุกอยู่?
“ต้นส้มแสนรัก” ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นหนังสือสดใสสำหรับเด็กที่มีตอนจบแฮปปี้เอ็นดิ้งก์ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องราวโศกสลดแทรจิดี้หนังสือเล่มนี้มีคนนำไปดัดแปลงเป็นสื่ออื่นๆ อีกมากมาย เช่น ภาพยนต์ แต่แม้จะโด่งดังแปลเป็นหลายภาษารอบโลก บางประเทศก็ยังกันไว้ไม่ให้เด็กอ่านเพราะนวนิยายเล่มนี้ได้สะท้อนความจริงหลายประการของสังคม
ความยากจน ความลำบาก การทารุณกรรมเด็กในครอบครัว อิทธิพลของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็ก ไม่ว่าจะทำให้เด็กพูดคำหยาบตาม หรือร้องเพลงเนื้อหาไม่เหมาะสมโดยไม่แม้แต่รู้ความหมาย หรือกระทั่งการแบ่งเชื้อชาติ บราซิลในวันนั้น เกือบหกสิบปีก่อนที่ผู้เขียนสะท้อนเรื่องราวออกมา สังคมยังคงแบ่งแยกความเป็นโปรตุเกสผิวขาวและอินเดียนผิวสีที่เป็นชาวพื้นเมือง อย่างที่ในเรื่องปรากฏว่าลูกชายคนเล็กสุดของบ้าน เด็กชายที่น่ารักอ่อนหวานหวาดกลัว “อินเดียน” ทั้งๆ ที่แม่ของตน รวมถึงสายเลือดกึ่งหนึ่งที่ไหลเวียนอยู่ในกาย คือ “อินเดียน”
ทว่าสิ่งๆ หนึ่งที่เรื่องราวของเซเซ่สะท้อนออกมาได้ดีที่สุดนั้น อาจไม่ใช่ “ความเจ็บปวดของเด็กคนหนึ่ง” แต่เป็น “ความเจ็บปวดของทุกๆ คน” จากที่เราเห็นตัวละครพ่อในเรื่อง …ใช่ เขาอาจโหดร้ายที่ลงไม้ลงมือกับลูกอย่างไร้ความปรานี แต่ก็อดเข้าใจหรือเห็นใจไม่ได้ ไม่มีใครพ่อคนไหนปราถนาให้ครอบครัวเป็นเช่นนี้ แต่เป็นเพราะต้องแบกรับสิ่งต่างๆ มากมายจนเขาเองอาจถูกความทุกข์และความขมขื่นบดบังสายตา
ในเรื่องเรารู้เกี่ยวกับพ่อไม่มากนัก ทราบเพียงแต่ว่าบางวันเขาก็นั่งจ้องฝาผนังอย่างว่างเปล่า บางทีนะบางที… เขาอาจจะกำลังฝันและจินตนาการถึงชีวิตที่ดีกว่านี้อยู่ สิ่งที่เขาเห็นบนผนังอาจเป็นภาพตนกับครอบครัวทานอาหารร่วมกันอย่างมีความสุข
หากการมีจินตนาการและความฝันคือเด็ก การเป็นเด็กอาจเป็นเรื่องที่วิเศษสุด และเราทุกคนก็คงสามารถรั้งเด็กตัวน้อยๆ ให้อยู่วิ่งเล่นต่อในใจเราได้
ถ้าเพียงเราให้พื้นที่เขา…
ทางด้านภาษานวนิยายเรื่องนี้บอกเล่าอย่างเข้าใจง่าย เห็นภาพชัดเจน ผู้เขียนเลือกสรรคำช่วยแสดงถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดของตัวละคร เช่น เซเซ่มักจะเรียกมิงกิงโย ต้นส้มของเขาว่า “ซูซูรูก้า” เวลามีความสุข พี่สาวของเซเซ่จะเรียกเขาให้พิเศษกว่าใครๆ ว่า “กัม” เมื่อรู้สึกรักและสงสาร นอกจากนี้แม้จะมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างสังคมบราซิลกับไทย แต่ผู้แปลก็แปลได้เหมาะสม จะติดอยู่เพียงเรื่องคำสะกดผิด …ไม่เยอะจนน่าเกลียด แต่ก็ไม่น้อย
โดยสรุปแล้ว “ต้นส้มแสนรัก” จึงเป็นหนังสือที่อ่านสนุก และจุดประกายความคิดมากมาย หากใครกำลังมองหาโลกแห่งความฝันและจินตนาการเพื่อพักจากโลกแห่งความจริงสักครู่ล่ะก็
ฉันแนะนำให้หยิบ “โลกแห่งต้นส้ม” นี้ขึ้นมา แล้วได้โปรด อย่าลืมอ่านให้เด็กในใจคุณฟังนะ เผื่อสักวันหนึ่งเขาจะตื่นขึ้นมาวิ่งเล่นอีกครั้ง
ณิชา เวชพานิช ( แก้ว )