มะละกาไม่มีทะเล : เรื่องสั้นเข้าชิงซีไรท์สองสมัยของจเด็จ กำจรเดช

มะละกาไม่มีทะเล

จเด็จ กำจรเดช ชายผู้เข้ารอบชิงรางวัลเรื่องสั้นซีไรท์อีกครั้ง เขาเคยทำสำเร็จมาแล้วกับผลงาน “แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ” (รางวัลเรื่องสั้นซีไรท์ปี 2554) การกลับเข้ามาชิงรางวัลครั้งที่สองนี้ “มะละกาไม่มีทะเล” จะสามารถบรรลุภารกิจได้หรือไม่ มาฟังความเห็นของเจ้าตัวกัน

มะละกาไม่มีทะเล ทำไมจึงเลือกชื่อนี้เป็นชื่อหนังสือ
จริงๆก็มีอยู่หลายชื่อ ถ้าจะบอกว่าชื่อนี้มันครอบคลุมเกณฑ์ของเรื่องไว้ก็อาจจะได้ อันที่จริงในเล่มพูดไว้หลายเรื่อง แต่ถ้าพูดถึงมะละกาไม่มีทะเลมันจะให้ภาพที่ชัด เกี่ยวกับความรู้สึกที่เราคิดว่ามันมี บางอย่างที่เราคิดว่ามี แต่ที่จริงอาจจะไม่มี

ลักษณะการเล่าเรื่องเป็นเหมือนที่เกริ่นไหม อย่างที่หัวหน้า(ในเรื่องสั้น)บ่นว่าเขียนสารคดีเหมือนนิยาย การเขียนมะละกาฯนับเป็นความตั้งใจที่จะเขียนให้ออกมาแบบนี้แต่แรกไหม
ก็เอามาใส่ไว้หลายๆอย่าง ในมะละกาฯแต่แรกเราใส่ข้อมูลดิบมาเลย แล้วเราก็ตั้งชื่อว่าเป็นประวัติศาสตร์จากสมาร์ทโฟน แล้วมีคนอ่านทักว่ามันเป็นข้อมูลดิบเกินไป เอามาทั้งแท่ง เราก็เลยเอามาเล่นล้อกับตัวเองด้วย โดยเฉพาะเรื่องการเสพข้อมูล เราก็เล่นกับมันว่าทุกวันนี้เราก็เป็นแบบนั้น รู้อะไรเราก็หาออกมาแล้วก็เป็นข้อมูลที่เราคิดว่าเรารู้จริง แต่ว่าเป็นข้อมูลที่เอามาจากกูเกิ้ล เอามาจากที่ไหนสักที่หนึ่ง เราก็หยิบมาทั้งแท่งนั่นแหละ เราก็รู้แค่นั้นจริงๆ เหมือนมะละกา เราก็เรียนมาว่าเป็นช่องแคบอยู่กลางทะเล เราก็คิดว่ามันต้องเป็นทะเล แต่พอไปแล้วไม่เจอทะเล เวลาเราไปประเทศใดประเทศหนึ่ง เราไปเจอไกด์พาเที่ยว แล้วเขาก็ยกไอ้ส่วนที่เขาอยากเสนอ อันไหนที่เขาไม่อยากให้เห็น เขาก็ซ่อนเอาไว้ ซึ่งเราไปเราบอกว่ารู้จักมาเล เราไปเที่ยวพม่า จริงๆเราก็รู้จักแค่สิ่งที่เขาหันมาให้เราดู แต่ว่าสิ่งที่เขาแอบไว้เราไม่รู้ เพราะฉะนั้นมะละกาก็เป็นเหมือนสารคดี แต่เป็นสารคดีในรูปแบบเรื่องสั้น เป็นสารคดีแต่ว่าเป็นนิยายด้วย

ถามเพิ่มเติมนิดนึง ในเนื้อเรื่องที่ตัวเอกเที่ยวถามคนพื้นถิ่นว่าทะเลอยู่ไหน แต่คนท้องถิ่นบอกว่าไม่รู้จักทะเล อันนั้นเป็นมุกหรือว่าเรื่องจริง
เขาเป็นอย่างนั้นจริงๆ มันเป็นที่ท่องเที่ยวซึ่งเขาคงไม่คิดว่าจะมีคนมาถามหาทะเล เขาก็เลยงง พอดีมีคนหนึ่งเขาพูดมลายูได้ ก็มาทวนกันว่าเล้าคือทะเลใช่ไหม คนพื้นถิ่นเขานั่งอยู่ เขาก็ลุกขึ้นถามเพื่อนกัน

มะละกาไม่มีทะเลมีข้อสะดุดใจอย่างหนึ่ง มันเป็นเรื่องที่เด่นออกมาจากหนังสือเล่มนี้ชัดเจน เพราะเรื่องอื่นจะออกแนวไซไฟ หรือมิสติก-ไซไฟมากกว่า แต่มะละกาไม่มีทะเลกลับเรียบง่ายกว่า คือเอาชีวิตของคนทั่วไป หรือเป็นเรื่องราวของคนสมัยนี้มาพูดถึง แต่เรื่องอื่นกลับใช้เรื่องราวของอดีต ปัจจุบัน อนาคต มามิกซ์กันรวมกัน
มันเป็นการเล่นกับรูปแบบ มันเป็นการเล่นทั้งเล่มเลย บางเรื่องเราก็พูดถึงเรื่องที่มันเป็นวิทยาศาสตร์จริงๆ พูดถึงโลกอนาคตจริงๆ แต่บางเรื่อง ความเป็นอนาคต ความเป็นวิทยาศาสตร์ ความเป็นอดีต มันอยู่ในความฝันบ้าง มันอยู่ในความนึกคิดบ้าง อันที่จริงในเรื่องสุดท้ายมันก็เป็นวิทยาศาสตร์ แต่เป็นโลกปัจจุบัน แต่เราพูดถึงฉากที่มันเป็นวิทยาศาสตร์ ให้คนที่อ่านเจอเรื่องที่มันเป็นอนาคต บางทีเขาอาจจะบอกว่ามันไม่ได้เป็นจริงอย่างนี้ มันไม่มีเรื่องพวกนี้จริงๆ แต่ว่าเมื่ออ่านมาเจอในมะละกา มันก็คือเรื่องเล่า คือเรื่องสั้นที่พูดถึง เป็นการสื่อถึงนัยยะเรื่องก่อนหน้านี้ว่า อ๋อ มันเป็นนิยายของผมเอง เป็นเรื่องสั้นของผมเอง พูดถึงโดมแก้ว ก็ดึงไปสู่เรื่องข้างหน้า ซึ่งมันกลายเป็นมาบอกว่าเรื่องข้างหน้ามันมีส่วนอยู่กับเรื่องนี้นิดหนึ่ง แต่เรื่องนั้นที่เรารู้สึกเป็นเรื่องจริง เราเล่าด้วยความรู้สึกว่ามันเป็นจริง มันคือเรื่องเล่า เรื่องเล่าของตัวละคร แต่ว่าเรื่องอื่นๆมันให้ความรู้สึกที่ไม่อบอุ่น ไม่มีอารมณ์ร่วม เป็นการเขียนแบบที่ใช้ภาษาแห้งแล้ง แต่ว่าพอถึงมะละกาเราก็ใส่ความมีชีวิตชีวาลงไป เพื่อให้มันอุ้มเรื่องทั้งหมดไว้ให้รู้สึกอบอุ่น หรือยกเรื่องที่มันจะต้องวางน้ำหนักว่าเรื่องนี้มันออกแนวนี้โทนนี้ เรื่องนี้ต้องดึงสีสันส่วนอื่นขึ้นมา ดึงความรู้สึกอันอื่นเข้ามาด้วย

ผมมองว่าหลายๆเรื่อง พวกหนังฝรั่งอาจจะชอบ พวกพล็อตไซไฟหวือหวาจัดจ้าน แต่บางเรื่องมันก็แอบมีเมจิคัลที่เป็นความเชื่อไสยศาสตร์แบบพื้นถิ่นแอบเข้ามาด้วย
ก็เหมือนกับเรื่องสุดท้ายที่พูดว่าคนๆหนึ่งมีความเชื่อในวิทยาศาสตร์ เชื่อในเครื่องมือ เชื่อในความก้าวหน้า แต่อีกคนหนึ่งเชื่อในศรัทธา เชื่อในสิ่งงมงาย จริงๆแล้วสองสิ่งนี้เป็นสิ่งสมมติขึ้นมาทั้งนั้น เป็นสิ่งไม่จริงด้วยซ้ำ อาจเป็นสิ่งที่เราเชื่อขึ้นมา เรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต เรื่องความลึกลับอะไรต่างๆ แม้แต่เรื่องประวัติศาสตร์เราก็ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า เหมือนกับเรื่องโลกอนาคต เพราะฉะนั้นจะเชื่อไปข้างหน้าหรือเชื่อกลับไปข้างหลังมันก็เท่ากันเหมือนกัน ซึ่งมันก็ย้อนแย้งกัน บางคนก็เชื่อทั้งสองอย่าง แต่ว่าถ้าเอาตรรกะมามันก็จะขัดแย้งกัน เหมือนกับถ้าคุณเชื่อวิทยาศาสตร์ คุณซื้อรถมา มันเป็นเทคโนโลยีใช่ไหม แต่ว่าคุณก็ให้พระขึ้นมาเจิม มันก็ย้อนแย้งกัน

หนังสือเล่มนี้เหมือนคุณจเด็จหยิบเอาประสบการณ์ในชีวิตตัวเองตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน แล้วก็ความคิดทั้งหมดมาหลอมออกมาเป็นมะละกาไม่มีทะเล
มันเป็นช่วงที่ใช้ทุกอย่างหมดไปกับแดดเช้าไปแล้ว เล่มแรกเราขุดข้างในออกไปหมดแล้ว ขุดไปหมดทุกอย่างแล้ว เพราะฉะนั้นเล่มต่อไปมันก็ต้องหาอย่างอื่นเข้ามา หาประสบการณ์หรืออ่านอะไรต่ออะไร มันต้องคิดไปอีกอย่างหนึ่ง ต้องหาอย่างอื่นเข้ามา โดยธรรมชาติของนักเขียน ไม่ว่ากวีหรือนักเขียน เล่มแรกก็มักจะขุดออกมาจากความรู้สึกก่อน ความรู้สึกที่อยากจะเขียน ความรู้สึกที่อัดอั้นตันใจ เอามาเขียน พอเล่มต่อไป ถ้ายังขุดออกมาจากข้างใน มันก็จะซ้ำ ความรู้สึกที่มันเป็นเรื่องของภาวะอารมณ์ ความรู้สึก ถ้าเราอยากให้มันแตกต่าง เราก็ต้องหาออกมา มันก็เลยได้เดินทางไปโน่นไปนี่

ก็เลยเอาแนวเซอเรียลลิสที่ตัวเองถนัดมาผสมผสานกับแนวคิดใหม่ จึงเป็นลักษณะเฉพาะตัวที่ต่างออกไปจากแดดเช้า อย่างนั้นหรือเปล่า
ก็อาจจะใช่ แต่ผมก็วางคร่าวๆว่าอยากจะให้มันเป็นเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ แต่ว่ามันต้องพูดถึงมุมมืดของคน เพราะว่าเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์มักจะพูดแต่เรื่องโลกยูโทเปีย โลกที่มันสวยงาม โลกพวกดิสโทเปียมันน้อย มีไม่กี่เล่ม เราก็อยากจะพูดถึงด้านมืด ถ้าเป็นหนังก็เป็นหนังขาวดำ หนังฟิล์มนัวร์ ที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ผมก็วางคร่าวๆ พยายามที่จะใช้คำให้มันร่วมสมัย ให้มันเข้ากันทั้งเล่ม ให้มันเป็นชุดเดียวกัน

โดยปกติหนังวิทยาศาสตร์จะเริ่มเรื่องโดยมีนายคนหนึ่งเป็นพระเอก ใช้ชีวิตของเขาไปอย่างคนปกติ แล้ววันหนึ่งก็เจอกับเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตเขา แต่เรื่องราวของคุณจเด็จคือตัวเอกต้องเจอกับเรื่องเดิมๆในชีวิตประจำวัน เจอเรื่องเดิมๆของคนทั่วไป มีปัญหากับคนรัก กับคนรอบข้าง มีความทะยานอยาก ใฝ่หาอำนาจ
แม้ว่าโลกจะพัฒนาต่อไปแต่คนยังคิดเหมือนเดิม แล้วก็จะอยู่ในซากปรักหักพังอย่างนั้น ไม่ได้รู้สึกว่าเหตุการณ์ในอดีตจะเอามาปรับปรุง

ไม่เชื่อว่ามันจะเปลี่ยนแปลงใหญ่โตเหมือนพวกหนังฝรั่ง
คือเรามองอย่างนั้น มันไม่น่าจะเป็นภาพสวยงามหรอก ทั้งเรื่องของวัสดุอุปกรณ์อะไรต่างๆ จะมาสร้างเมืองสวยงามผมว่ามันเป็นไปไม่ได้ โลกมันมีแต่พังลง มีแต่หมดลงๆ

ในเล่ม มันจะมีความขัดแย้งทางการเมืองแทรกเข้ามาอยู่เป็นระยะๆ หลายเรื่อง อย่างเรื่องพวกเขาไม่ถูกจดจำ เป็นเรื่องของอนุสาวรีย์ที่มองไม่เห็น ประติมากรรมที่มองไม่เห็น จะสังเกตเห็นว่าคุณจเด็จไม่ได้เชิดชูฝ่ายไหนขึ้นมาว่าดีหรือไม่ดี เหมือนจะบอกว่าตัวเองเป็นคนอยู่วงนอก อย่างนี้หรือเปล่า
ไม่เชิง แต่ว่าเหตุการณ์พวกนี้เชื่อเถอะว่าเราบอกให้ชัดไม่ได้ เราด้วยความเป็นนักเขียน มันไม่ใช่ความเป็นกลางนะ มันไม่ใช่ว่าอยู่ตรงกลาง แต่เราก็ต้องมองเหตุการณ์ทั้งหมด มองว่ามันเกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้นเราจะไปชี้ชัดไม่ได้ เราบอกได้ว่าเมื่อเป็นแบบนี้มันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง มันมีผลกระทบอะไรบ้าง มีใครที่เข้าไปเกี่ยวข้องแล้วผลกระทบที่ตามมาถึงวงนอกจะเกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้นเรื่องพวกนั้นเป็นฉากหลังที่ฉายภาพว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ให้พอคิดออกว่าถ้าเวลาผ่านไปแล้วมาอ่านเจอ จะนึกออกว่าในสังคมตอนนั้นมันมีเรื่องอะไรกันบ้าง เพราะฉะนั้นผมไม่ได้มีหน้าที่ไปชี้ชัดว่าฝ่ายไหนถูกฝ่ายไหนผิด เพราะว่าด้วยยุคนี้ ยุคที่ทุกคนต่างคุมข้อมูลไว้ มันไม่มีใครถูกใครผิดเลย แม้ว่าพวกอีกฝั่งพูด เราก็เชื่อ พอได้ฟังเราก็คล้อยตาม มันมีเหตุที่น่าจะเชื่อได้ พอมาอีกฝั่งหนึ่ง ไอ้นี่ก็พูดมีเหตุผล น่าจะเชื่อได้เหมือนกัน น่าเป็นไปได้

มันก็จะเข้าธีมของมะละกาไม่มีทะเล
ใช่ๆ เราจะเชื่ออันไหน ความจริงชุดไหน ผมก็มีความรู้สึกว่า เออ มันควรจะเป็นแบบนี้ พอเราลงลึกไป เราก็จะบอกว่าฝั่งไหนดี เราก็จะกลายเป็นฝั่งนั้นทันที อีกคนก็จะมองว่าคุณไปอยู่ฝั่งโน้นทันที ถ้าเราพูดกลับไปกลับมา พูดฝั่งนั้นบ้างฝั่งนี้บ้าง ก็จะกลายเป็นว่าจริงๆแล้วเรารู้จริงหรือเปล่า เพราะฉะนั้นผมว่าไม่มีใครบอกได้เลย ยกเว้นคนที่บอกได้คือคนที่เชื่อ เชื่อว่าฝั่งนี้ถูก เชื่อว่าฝั่งนี้ผิด ก็คือการตัดสินว่าอันไหนผิดอันไหนถูก เพราะฉะนั้นเรื่องพวกนี้ยังไม่ตัดสิน

ตอนที่พี่เขียนมะละกาฯ ตอนนั้นสถานการณ์ทางการเมืองมันเป็นแบบนี้ แต่ตอนนี้เป็นอีกแบบหนึ่ง สถานการณ์มันเปลี่ยนไปแล้ว มันชวนให้อยากเขียนเรื่องใหม่ขึ้นบ้างไหม
ใช่ๆ ผมก็เสียดาย เรื่องเขาไม่ถูกจดจำนี่แหละ ผมพยากรณ์ไปไม่ถึง แต่ที่จริงตอนนั้นเรื่องมันก็พ้นการต่อสู้มาแล้ว เขาก็มีฝ่ายปกครองชุดใหม่แล้ว

สุดท้ายไม่ว่าเราจะสู้ยังไง เราก็ยังถูกครอบงำเหมือนเดิม
ใช่ๆ มันก็ยังมีฝ่ายเหมือนเดิม ผมพยากรณ์ไปไม่ถึงว่ามันเป็นรัฐบาลทหารเผด็จการ ผมก็รู้สึกเสียดายว่าพอส่งไปแล้วก็ได้แก้นิดเดียว เสียดายว่าถ้ามีเวลาสักนิดก็จะโยงไปถึงเหตุการณ์ปัจจุบันนี้

จริงๆแล้วลักษณะงานของพี่ก็คือภาพรวมของสังคมทั้งหมดแต่เอากลั่นเป็นปัจเจก มาเล่าเรื่องผ่านปัจเจก เหมือนว่าไม่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่มันก็จะมีสิ่งละอันพันละน้อยที่ตัวละครเดินผ่านและมองเห็น อาจจะไม่เกี่ยวโดยตรง แต่สุดท้ายมันก็มายุ่งกับชีวิต
มันเป็นเรื่องที่เรารู้จริงมากกว่า คุณรู้จริงเหรอ ฝั่งโน้นเขาตายกี่คน โดนยิงบ้าง เขามีอะไรบ้าง ใครเป็นคนทำ ฝ่ายไหนเป็นคนทำ เราฟังเขามาทั้งนั้น เราก็รู้ไม่จริง แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรามันจริง เวลาพูดออกไปมันไม่มีใครมาโต้แย้งหรอก เพราะเราพูดในมุมมองของเรา เราไม่ไปตัดสินใคร ถ้าจะมองว่าเอาเรื่องในสังคมนี่แหละมาเป็นเรื่องปัจเจก ก็เรื่องของเรานี่แหละ เรื่องเราก็คือเรื่องของสังคมด้วย เรื่องสังคมมันก็เรื่องของเราด้วย เรามีผลกระทบ สังคมก็มีผลกระทบกับเรา เราก็เขียนในมุมมองของเรา

ไปเจอในกระทู้พันทิป ตอนหาข้อมูลเกี่ยวกับคุณจเด็จ มีคนบอกว่าเขาอ่านไม่เข้าใจ อ่านแล้วสงสัย อยากจะฝากบอกอะไรกับคนที่อ่านหนังสือของคุณจเด็จแล้วไม่เข้าใจบ้าง
หนังสือบางเล่มมันก็ถูกจริตกับบางคน บางคนชอบอ่านเริ่มจาก 1 2 3 4 5 แต่ว่ามันมีคนที่อ่านแล้วเข้าใจ ไม่ใช้คำว่าเข้าใจดีกว่า คือให้อ่านแล้วรู้สึกได้ว่าเรื่องนี้มันจะบอกอะไร แล้วก็มีส่วนที่คุณต้องไปคิดต่อ อย่างที่บอกว่ามีคนงง ผมว่าไอ้งงนั่นแหละ ที่คุณงงมันเป็นเพราะคุณอยากจะเข้าใจมัน เหมือนกับสังคมปัจจุบันที่คุณต้องชี้ชัด แต่เรื่องมันเบลอไง เรื่องมันเหมือนกับอยู่ในม่านหมอก อยู่ในครอบแก้ว แต่เราอยากจะชี้ชัดให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ไอ้เรื่องนี้ถ้างงมันแปลว่าคุณต้องไปหาคำตอบต่อ ซึ่งผมทิ้งทุกอย่างให้ในตอนจบ เรื่องทั้งหมดเหมือนกับว่าเมื่อมันจบแล้วคุณก็ไปคิดต่อเอง คือมันไม่จบ ต้องไปคิดต่อ เพราะฉะนั้น เมื่อความงง ความไม่เข้าใจอะไรต่างๆ เพราะคุณอยากจะให้เป็นแบบนี้หรือเปล่า อยากให้เรื่องมันจบคลี่คลาย แล้วมันก็ไม่มีการคิดต่อ ซึ่งก็รวมกับวิธีการเขียนด้วย ผมก็บอกว่ามันแล้วแต่จริตนะ บางคนชอบ บางคนไม่ชอบ บางคนอ่านแล้วก็เออ เขียนแบบนี้แหละ สามารถที่จะสัมผัสได้ว่าจุดไหนที่มันจะไปเชื่อมต่อกับอันไหน ฉากไหนที่มันไปเกี่ยวข้องกันแล้วมันจะสื่ออะไร บางคนก็สามารถที่จะหารายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ว่ามันพูดถึงอะไร มันทิ้งสัญลักษณ์อะไรไว้บ้าง เขาก็จะไปตามหาได้

ตรงจุดนี้เอง เกี่ยวกับลักษณะการเล่าเรื่องของคุณจเด็จ ได้ยินว่าแดดเช้าเป็นซีไรท์เล่มแรกที่มีลักษณะการเล่าเรื่องแบบเซอเรียลิส มันมีการเดินทางมาอย่างไร คุณจเด็จเป็นคนจากสุราษฎร์ เรียนวาดรูป แล้วก็มาเขียนหนังสือการ์ตูนผี มาเขียนกวี แต่มันมีจุดเปลี่ยนอะไรที่ทำให้มาสนใจในแนวเซอเรียลิส
เซอเรียลิสมันเป็นตระกูลหนึ่งของงานเขียน มันก็มีตั้งแต่เรียลิสติก อิมเพรสชั่นนิส คิวบิสก์ เซอเรียลิส ภาพเหนือจริง มันก็กึ่งๆ ใกล้กับงานเขียนแนวเมจิกคัล ในงานเขียนมันมีแนวแบบนั้น อาจจะเป็นความชอบส่วนตัว

ประทับใจอะไรในงานแนวนี้
มันบอกถึงอารมณ์ที่ขวัญกระเจิง ที่มันตื่นตระหนกตกใจ หรือว่าอารมณ์ทุกอย่างมันบอกได้เว่อและมันกระชับ สมมติว่าเธอจากไป สิบปีเธอกลับมา มันก็ไม่นานใช่ไหม หมื่นปีผ่านไปเป็นไง คือให้มันไกลไปเลย หมื่นปีผ่านไป จริงๆมันไม่ถึงหรอก ใครจะอยู่ถึงหมื่นปี แต่ว่ามันให้ภาพที่เข้าใจถึงความรู้สึก นั่งอยู่เห็นช้างบินผ่านเป็นอารมณ์แบบไหน บางครั้งปลาก็อยากว่ายเล่นบนฟ้า มันให้ภาพที่เหมือนฝัน เพริศแพร้ว มันเป็นจินตนาการฟุ้งเฟ้อนั่นแหละ แต่มันบอกเล่าภาวะอารมณ์ได้ชัดเจน ผมไม่ชอบงานเขียนที่มันน่าเบื่อ คือโดยส่วนตัวความน่าเบื่อของแต่ละคนมันก็ไม่เหมือนกันนะ บางคนก็รู้สึกว่าเขียนแบบเรียบๆนี่แหละคือความตื่นเต้นแล้ว การตื่นมาแล้วก็ไปทำงาน นั่งรถสายเดิมทุกวัน ไปทำงาน กลับบ้านตรงเวลา นี่ความมั่นคง ความตื่นเต้นของเขามีแค่รถเฉี่ยว แต่ความตื่นเต้นของบางคนคือการไปปีนหน้าผา มันแตกต่างกัน ผมอยากสร้างภาพที่มันรู้สึกว่าน่าตื่นเต้น มันต้องตอบสนองอารมณ์ของเราก่อน ดังนั้นบอกไม่ได้ว่ามันเป็นมายังไง ไอ้ภาพพวกนั้น พออยากเขียนผมก็เขียนอย่างนั้น มันเป็นสีสันในแง่ของภาพเขียน มันก็มีภาษาที่ต่างกัน เราก็พยายามหาเรื่องมาเขียน ถ้าเป็นภาพเขียนก็จะเป็นภาพเซอเรียลิส ภาพเหมือนกับเทพนิยาย ก็จะเห็นเรื่องราวทั้งหมดในภาพเดียว ซึ่งมันก็บวกรวมกันทั้งหมด ความเพ้อฝัน ความคาดหวังในตอนเด็ก ความผิดหวัง มันก็อยู่ในนั้นหมด

ผมมองว่าภาพรวมของมะละกาที่จะมาชิงซีไรท์ในรอบนี้ก็จะมีจุดแตกต่างจากแดดเช้าออกไปอย่างสิ้นเชิง
จริงๆผมก็ไม่คิดว่ามันจะแตกต่างนะ แต่ผมเพิ่งมารู้ว่ามันแตกต่างกันชัดเจน ตอนแรกผมก็กลัวว่ามันจะซ้ำด้วย ความน่ากลัวคือมันจะไปซ้ำอันเก่า ก็พยายามฉีกให้ได้

แม้แต่วิธีการเล่าก็ยังเปลี่ยนไปค่อนข้างชัดเจน ไม่มีสัญลักษณ์มากเท่าตอนแดดเช้า เพียงแต่ว่าความซับซ้อนมันมีเยอะกว่า การเล่าเรื่องของมะละกาไม่มีทะเลมีความซับซ้อนสูงกว่า แต่พออ่านมาเรื่อยๆ ล็อกต่างๆที่มันขมวดไว้จะค่อยๆคลายออกในตอนจบ ตอนแรกจะมีประเด็นมีปมหลากหลายมาก ทั้งชีวิตส่วนตัว หน้าที่การงาน ชีวิตสังคม การเมือง เยอะมาก ถึงจะมาเยอะขนาดนี้แต่คุณจเด็จก็สามารถแก้ปมในตอนจบได้ ถือว่าเป็นความช่ำชองตามประสบการณ์ของนักเขียนไหม
ก็บอกได้ว่าทุกเรื่องไม่ได้มาโดยบังเอิญ เราคิดไว้แล้ว เมื่อกี้ก็พูดถึงว่าทำไมคนอ่านไม่เข้าใจ เราโยนเรื่องพวกนี้ไว้ แล้วเราก็รู้ว่าเราทิ้งอะไรไว้ระหว่างทาง แล้วก็รวบกลับมา ซึ่งผมก็เพิ่งไปคุยกับนักเขียนรุ่นเก่า เขาบอกว่าไอ้เรื่องเล่ามันจะเล่ายังไงก็ได้ เล่าไปถึงไหนก็ได้ แต่สำคัญคือตอนรวบกลับมา เราดึงกลับมาได้หรือเปล่า ก็น่าจะเป็นประสบการณ์อีกอันหนึ่งที่ผ่านจากเล่มแรกมาแล้ว พอมาถึงเล่มนี้เราก็รู้สึกว่าสามารถเอาอยู่กับทุกๆเรื่อง เรื่องสั้นมันแตกต่างจากเล่มก่อน ผมรู้สึกว่าเห็นชัดนะ มันเป็นก้อนที่เห็นชัด

เรื่องในแดดเช้ามันจะเป็นประเด็นๆ ประเด็นหนึ่งไป มีเหตุการณ์หนึ่งก็จบในประเด็น แต่อันนี้เป็นเรื่องราวที่เกิดในช่วงระหว่าง ไม่ได้มีต้นแล้วก็มีปลาย ไม่ว่าจะเริ่มต้นมาอย่างไร ตอนจบมันก็ต้องเดินต่อไปเหมือนเดิม มันไม่เหมือนแดดเช้าที่เริ่มมาแล้วก็จบ แต่ในมะละกาไม่มีทะเลมันเป็นช่วงระหว่าง คือสุดท้ายคุณก็ต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปแบบเดิมๆ ผจญกับเรื่องของคุณต่อไป อย่างในสตอร์มแคชเชอร์ พอคุณเคลียร์ภารกิจ คุณเข้าใจหัวหน้า คุณก็ยังต้องออกไปทำงานเสี่ยงภัยเหมือนเดิม ประสบการณ์ด้านการเขียนที่มากขึ้นมีผลต่อตัวคุณจเด็จอย่างไร มันก็เหลือแค่ผมต้องไปเจอเรื่องเล่าแบบไหน จริงๆมันก็มาเองนะ ไม่ได้คิดว่ามันต้องเล่าแบบนี้ แต่พอมีประสบการณ์แล้วเหมือนเรารู้ว่าจะตัดอันไหนทิ้งไป จะเล่าด้วยวิธีไหน ภาษาก็ลดลงนะ ลดการประดิษฐ์ลง

มีแผนจะเขียนเรื่องยาวไหม ห้าเล่มสิบเล่มจบอะไรแบบนี้ เหมือนผู้ชนะสิบทิศที่เขียนแบบยาวๆ
ก็มีนะ แต่ให้เขียนนิยายแบบเล่มเดียวจบไปก่อน แล้วถ้ามีโอกาส หมายถึงว่าไปเจอเรื่องเล่าที่มันสามารถยาวได้ก็จะเขียน

เคยคิดไหม ถ้าจะเขียนเรื่องยาว อาจจะเปลี่ยนชุดภาษาหรือว่าจะใช้ชุดภาษาที่ตัวเองถนัดเหมือนเดิม
ไม่แน่ใจ ผมเป็นคนขี้เบื่อ ระหว่างที่เขียนถ้าผมรู้สึกว่าภาษาอันนี้น่าเบื่อ ผมก็จะเปลี่ยน ก็จะใช้อีกแบบหนึ่ง ถ้าผมยังสนุกแบบนี้ ผมก็จะเขียนแบบนี้แหละ แต่ถ้าตอนที่เขียนผมไม่สนุกกับมันผมก็จะหาวิธีอื่น อีกอย่างหนึ่ง คนในสายนี้ต้องขี้เบื่อ เราต้องเบื่อทุกวัน คนอื่นเขาว่าดีแล้ว แต่เราต้องเบื่อมัน เพื่อที่จะคิดอันใหม่ นั่นคือการสร้างสรรค์

ในบรรดาผู้เข้ารอบซีไรท์ทั้งหมด ประทับใจงานของใครเป็นพิเศษ
ผมชอบพี่จำลอง ในแง่ที่แกปลดล็อกการเล่าเรื่องได้หมดแล้ว เป็นวิธีเล่าที่เราไม่ต้องมาแกะว่าแกเล่าเรื่องอะไร เรื่องเล่าในปัจจุบันนี้ไม่ใช่เรื่องเล่าที่ยกมาเป็นแท่งเราก็รู้เลย คือเราไม่สามารถที่จะมานั่งเล่าต่อได้ว่าในเรื่องที่เขาเขียน เขียนเรื่องอะไรบ้าง พูดสามสี่เรื่องแต่ทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกัน คุณจำลองก็น่าสนใจในเรื่องของการปลดล็อกวิธีเขียน แล้วก็ด้วยวัยขนาดนั้น แกยังทำงานก็น่าชื่นชม ส่วนคุณกล้าก็สด มีความใหม่ แต่ก็ชื่นชมพี่จำลองนี่แหละ นี่คือบทสัมภาษณ์ของจเด็จ กำจรเดช ผู้มีสิทธิ์เข้าชิงรางวัลซีไรท์เรื่องสั้นสมัยที่สอง เหมือนอย่างที่วินทร์ เลียววาริณ และชาติ กอบจิตติ เคยทำไว้

 

คุยนอกรอบ : โชติรวี โสภณสิริ
ภาพจาก : คมชัดลึก

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ