กัลฐิดา : 10 ปีบนโลกแฟนตาซี

กัลฐิดา

10 ปีบนโลกแฟนตาซีของ ‘กัลฐิดา’ การปรุงอาหารให้รสชาติออกมาถูกใจตัวเองและผู้อื่น ย่อมต้องผ่านกระบวนการฝึกฝนเป็นของธรรมดา และบ่มเพาะประสบการณ์มานับแรมปี ซึ่งการเขียนหนังสือก็คงไม่ต่างไปจากการปรุงอาหารสักเท่าไหร่ เพราะกว่าที่หนังสือเล่มหนึ่งจะออกมาได้ ก็ต้องอาศัยการลองผิดลองถูก และปลุกปั้นฝีไม้ลายมือกันอยู่นาน เพื่อให้ผู้อ่านยอมรับและประทับใจในผลงานของเรามากที่สุด

10 ปีบนโลกแฟนตาซีของ กัลฐิดา

ปุ้ย – กัลยาณี สุขษาสุณี หรือ กัลฐิดา เป็นคนหนึ่งที่ฝึกฝนการเขียนของตัวเองมานักต่อนัก จนมีผลงานชิ้นเอกอย่าง เซวีน่า มหานครแห่งมนตราในที่สุด และผลงานดังกล่าวยังได้สร้างชื่อเสียงให้กับเธอในฐานะนักเขียนนิยายแฟนตาซีที่น่าจับตามองอีกด้วย ที่สำคัญในปีพ.ศ. 2557 นี้ เป็นการครบรอบ 10 ปีที่ กัลฐิดา ผลิตผลงานชิ้นนั้นและอยู่บนเส้นทางนักเขียนมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นแล้ว นัดพบนักเขียน เลยไม่พลาดที่จะขอย้อนวันวานและทบทวนการเป็นนักเขียนของเธอ รวมถึงเป้าหมายการเป็นนักเขียนของ กัลฐิดาในปีต่อ ๆ ไป

all : ย้อนอดีตกันหน่อยว่า ‘กัลฐิดา’ เข้ามาในวงการวรรณกรรมได้อย่างไร
กัลฐิดา : เป็นคนรักการอ่านตั้งแต่เด็ก ยิ่งไปอยู่หอพักตอนเข้ามหาวิทยาลัยนี่ก็ยิ่งชอบหนัก ตะลุยอ่านตั้งแต่ห้องสมุดมหาวิทยาลัย ลามไปถึงร้านเช่ารอบมหาวิทยาลัยจนหมด และวันหนึ่งก็พบว่า ตัวเองมีหนังสือไม่พออ่าน แล้วทำอย่างไรถึงจะมีนิยายอ่านในแบบที่เราชอบได้ คิดไปคิดมาก็เลยจบที่การลงมือเขียน คำพูดที่ว่า "เพราะไม่รู้ว่ามันยากขนาดนี้ ก็เลยหลงเข้ามา" ใช้กับตัวเองได้เลย เพราะไม่รู้ว่าการเขียนนิยายจะยากขนาดนี้ และพอหลงเข้ามาก็ออกไปไหนไม่ได้อีกแล้ว

all : พอเข้ามาในวงการนี้ ชีวิตของ ‘กัลฐิดา’ เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน
กัลฐิดา : เปลี่ยนทุกอย่าง ตั้งแต่แนวคิดไปจนถึงเป้าหมายชีวิต จากเด็กเรียนธรรมดา ไม่ได้กระตือรือร้นอะไรมาก ทำทุกอย่างอย่างที่เด็กควรจะทำ แต่พอเริ่มเขียนนิยาย เราได้เห็นโลกใหม่ โลกที่เต็มไปด้วยการเรียนรู้ อายุไม่ได้ทอนความเป็นเด็กของตัวเองลง แต่กลับทำให้สนุกกับชีวิตมากยิ่งขึ้น เพียงเพราะมีเป้าหมายอยากเล่าเรื่องให้สนุกที่สุดเท่านั้น ชีวิตจากที่เคยทำอะไรอย่างเดียว เวลาเหลือมากมาย กลับกลายเป็นว่า ต้องเริ่มวางแผน รู้จักแบ่งเวลา มีความรับผิดชอบ เรียนรู้การจัดลำดับ และเข้าใจความเป็นผู้ใหญ่ให้มากขึ้น โดยทุกอย่างเริ่มต้นมาจากการเลือกที่จะเป็นนักเขียนทั้งนั้น

all : การเรียนสาขาวิชาทันตแพทยศาสตร์ มีส่วนช่วยในเรื่องของการเขียนหรือไม่
กัลฐิดา : ต้องบอกก่อนว่า ช่วงเวลาที่เรียนอยู่มีผลต่องานเขียนเป็นอย่างมาก เพราะสาขาวิชานี้สอนให้เราไม่ละความพยายาม ไม่ใช่แค่ของที่ได้มาตรฐาน แต่เรากำลังมองหาการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง ไม่มีของที่ดีที่สุด มีแต่ของที่ดีกว่านี้ สำหรับนักเขียนจำเป็นต้องมีนิสัยแบบนั้น แน่นอนว่า เมื่อเรียนจบ อาชีพนี้ทำให้เราอยู่สบาย ไม่เครียดเรื่องการเลี้ยงชีพ ดังนั้นตัวเองจึงสามารถทุ่มเทให้กับงานเขียนได้เต็มที่

all : มีนิยายแนวอื่น ๆ มากมายบนโลกใบนี้ให้เขียนตั้งเยอะแยะ ทำไมถึงต้องเป็น ‘นิยายแฟนตาซี’
กัลฐิดา : เคยพยายามหาเหตุผลที่ดูเป็นนักวิชาการมาตอบเหมือนกัน เพราะโดนถามถึงบ่อยมาก แต่เอาเข้าจริง ก็ไม่ใช่เหตุผลที่ดูคงแก่เรียนอะไรอย่างนั้น ความรู้สึกคงเหมือนชอบอาหารอะไรสักอย่าง แล้วเลือกกินอยู่อย่างนั้นเป็นประจำ การเขียนก็เหมือนกัน ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน ทำไมถึงสนุกกับการเขียนนิยายแนวนี้ถึงขนาดนี้ แค่คิดว่าจะเขียนก็ตื่นเต้น จนตั้งตารอเวลาที่จะได้เขียน อยากเขียนนิยายทั้งวันทั้งคืน อยากใช้ชีวิตโดยการเล่าเรื่องทุกวัน ตอนแรกก็คิดว่า ตัวเองบ้าเห่อ แต่พอมองกลับไปก็พบว่า โห เป็นแบบนี้มานานเป็น 10 ปีอย่างนี้ คงไม่เรียกว่า ‘เห่อ’ แล้ว น่าจะเป็น 'รัก' มากกว่า (ยิ้ม)

all : เห็นว่าอ่านหนังสือได้ทุกประเภท แล้วการอ่านแบบนี้ถือเป็นข้อดีสำหรับ ‘กัลฐิดา’ หรือไม่
กัลฐิดา : ดีมาก ๆ เลย สิ่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับนักเขียนคือ หมดมุก ตอนเขียน เซวีน่า มหานครแห่งมนตรา ใกล้จบ มีความคิดแวบหนึ่งขึ้นมาว่า “เมื่อเขียนจบแล้วจะทำอย่างไร จะเขียนอะไรได้อีกหรือเปล่า” คำถามแบบนี้สร้างความกลัวให้กับตัวเองเป็นอย่างมาก แต่เพราะเป็นคนรักการอ่านและอ่านได้ทุกแนว ทำให้เราเห็นโลกใบนี้กว้างขึ้น จนพบสัจธรรมข้อหนึ่งว่า ความสำเร็จครั้งแรกแค่ฟลุค ครั้งที่สองคือความพยายาม ครั้งสามคือความอดทน แต่ถ้าอยากเป็นมืออาชีพต้องฝึกฝนตลอดชีวิต ไม่มีนักเขียนชั้นครูคนไหนมีผลงานแค่เล่มเดียว พวกเขาทำได้อย่างไร มันต้องมีสิ ทางที่จะทำให้ทำในสิ่งที่รักได้ไปจนตาย ดังนั้นการอ่านคือการเตือนสติว่า เส้นทางที่อยากเดิน มีคนเดินผ่านมาก่อนแล้ว เราแค่ต้องเดินต่อเพื่อให้ได้เห็นสิ่งงดงามข้างทางเหมือนกับพวกเขา และถ้าฝึกฝนตัวเองมากพอ อาจมีโอกาสได้สร้างสิ่งสวยงามข้างทางอย่างนั้นเอาไว้ เพื่อให้คนที่เดินตามเรามาเห็นบ้าง

 

กัลฐิดากัลฐิดา

 

all : ‘กัลฐิดา’ มีมาตรฐานในการเขียนของตัวเองหรือไม่ ว่าจะต้องออกมาในรูปแบบไหน
กัลฐิดา : มาตรฐานของตัวเองคือ ‘ต้องสนุก’ คำจำกัดความคำนี้กว้างมาก เลยจำเพาะลงไปอีกว่า หนึ่ง ต้องสนุกกับมันก่อน สอง หนอนหนังสือที่เป็นนักอ่านทดลองต้องสนุกกับมันด้วย ถ้าผ่านสองข้อนี้ไปได้ ถึงจะลองส่งให้นักอ่านทั่วไปอ่าน ส่วนรูปแบบนั้นไม่มีตายตัว ขึ้นอยู่กับคอนเซ็ปต์ของแต่ละเรื่อง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราหวังว่า ผู้อ่านจะได้รับบางสิ่งบางอย่างจากนิยายเสมอเมื่อเขาอ่านจบ

all : มีเทคนิคเฉพาะตัวในการเขียนแต่ละเล่มหรือไม่ เช่น ข้อมูลไม่เหมือนใคร หรือคิดอย่างแตกต่าง
กัลฐิดา : เราเป็นคนที่ชอบซึมซับบรรยากาศรอบตัว ชอบเดินในเมืองที่ไม่รู้จัก หรืออยู่ท่ามกลางคนที่ไม่รู้จัก เพราะสถานการณ์ดังกล่าวกระตุ้นให้จินตนาการแล่นดีมาก มองอะไรก็คิดว่า มันเป็นแบบนั้น แบบนี้ หลังจากนั้นก็นำมาถ่ายทอดในนิยายของตัวเอง ส่วนเทคนิคอื่น ๆ ก็จะเป็นเรื่องของการตั้งคำถาม โดยถามหมดไปเสียทุกอย่าง แล้วพยายามคิดว่า ถ้าเกิดอย่างนั้น อย่างนี้ขึ้น แล้วจะเป็นอย่างไร เราจะได้มุมมองที่ใหม่มากขึ้น

all : เอกลักษณ์หรือจุดเด่นที่ต้องมีในงานเขียนของ ‘กัลฐิดา’ คืออะไร
กัลฐิดา : จะมีอะไรซ่อนอยู่ในนิยายของตัวเองเสมอ ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดีหรือไม่ดี รวมถึงข้อคิดและมุมมองต่าง ๆ แน่นอนสิ่งเหล่านี้ผู้อ่านจะรับรู้ไปพร้อม ๆ กับความสนุก เพราะเด็ก ๆ อ่านนิยายแฟนตาซีกันค่อนข้างเยอะ ดังนั้นเราก็อยากให้เขาสนุกและเรียนรู้ไปด้วยในตัว

all : ผลงานเขียนชิ้นไหนที่รู้สึกภูมิใจ และเป็นกำไรกับชีวิตการเป็นนักเขียนของ ‘กัลฐิดา’ มากที่สุด
กัลฐิดา : สำหรับตอนนี้ คือเรื่อง เดรกเกอร์ สตอร์รี โดยเป็นนิยายเรื่องยาวชุดที่สอง และเป็นผลลัพธ์ของความพยายามที่จะทำลายกำแพงของตัวเอง มีคนพูดเสมอว่า นิยายแฟนตาซี ในชีวิตหนึ่งเขียนได้เรื่องเดียว โชคดีมากที่เรื่องแรกของตัวเองประสบความสำเร็จ เซวีน่า มหานครแห่งมนตรา สร้างชื่อเสียงและกรุยทางให้เราอย่างสวยงาม แต่ เดรกเกอร์ สตอร์รี คือรากฐานและบทพิสูจน์ความพยายามของนักอยากจะเขียนคนหนึ่ง ความสำเร็จครั้งที่สองนี้จึงสอนอะไรมากมาย และมอบความมั่นใจให้กับตัวเองว่า หากคิดที่จะเดินต่อ และฝึกฝนอย่างไม่หยุดนิ่ง ความฝันที่จะเดินบนเส้นทางนี้ มันมีความเป็นไปได้

all : มีใครเคยบอก ‘กัลฐิดา’ ไหมว่า อย่าเป็นเลยนักเขียน เป็นแล้วไส้แห้ง
กัลฐิดา : ไม่เคยมีใครบอกว่า อย่าเป็นเลย แปลกมาก (หัวเราะ) แต่เรื่องไส้แห้ง มีคนพูดถึงอยู่ตลอดเวลา พอเขารู้ว่า เราเป็นนักเขียน ก็จะถามต่อทันทีว่า รายได้ดีไหม อยู่ได้เพราะเป็นหมอฟันละสิ ฟังแล้วไม่รู้จะขำหรือโกรธดี เพราะเป็นเรื่องจริงที่อาชีพนี้ไม่ได้ให้รายได้อย่างสม่ำเสมอเหมือนข้าราชการ และไม่ได้มีเงินการันตีเหมือนการเป็นหมอที่ให้การรักษา แต่มักจะอธิบายกับคนที่พูดแบบนี้เสมอว่า นักเขียนก็เป็นอาชีพที่หาเลี้ยงตัวเองได้เหมือนกับอาชีพอื่น ๆ คุณแค่ต้องทำให้ดีที่สุด เมื่อไหร่ที่คุณมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้คนอื่น คนอื่นก็จะมอบสิ่งที่ดีกลับคืนมาแน่นอน นั่นรวมถึงเงินเลี้ยงชีพด้วย จะไส้แห้งหรือไม่ขึ้นอยู่กับตัวเรา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอาชีพ

all : 10 ปีที่ยืนอยู่บนบนถนนวรรณกรรม ‘กัลฐิดา’ มองเห็นอะไรบ้าง ถึงช่วงเวลาที่ผ่านมา
กัลฐิดา : เวลาผ่านไปเร็วมาก ยังรู้สึกว่าตัวเองเป็นหน้าใหม่ เป็นนักอยากจะเขียนที่ลองผิดลองถูก สนุกในทุก ๆ วินาทีที่ได้เรียนรู้ว่า เราเล่าเรื่องให้คนอื่นเข้าใจสิ่งที่ตัวเองเห็นได้อย่างไร แต่เมื่อเงยหน้ามองรอบตัว กลับพบว่า เพื่อนหรือรุ่นพี่บางคนที่เดินบนถนนสายแฟนตาซีด้วยกันหายไป แต่เรายังเดินต่อ มาถึงวันนี้รู้สึกดีใจที่เห็นนิยายแฟนตาซีไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับคนไทยอีกต่อไป ตลอดเวลาที่ผ่านมา ได้เห็นเด็กเติบโตขึ้นเป็นวัยรุ่น เห็นวัยรุ่นกลายเป็นผู้ใหญ่ และเห็นผู้ใหญ่หันมาอ่านงานเขียนของเด็กอีกครั้ง ซึ่งทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของวงการวรรณกรรมนั่นก็คือ นักเขียนอายุน้อยลง มีสมาชิกตัวน้อย ๆ เข้ามาร่วมทางมากขึ้น รวมถึงกลุ่มผู้อ่านขยายวงกว้างมากขึ้น แม้ในยุคที่คนอ่านนิยายจากมือถือ หลายคนมองว่า หากเป็นอย่างนี้ หนังสือจะหายไป แต่ตัวเองกลับเชื่อว่า หากเด็กเริ่มเขียนนิยายให้เด็กด้วยกันอ่าน หนังสือจะคงอยู่ต่อไป ไม่ว่าจะมีกระดาษเหลืออยู่บนโลกนี้หรือไม่ก็ตาม

all : การสร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักนั้นมันง่าย แต่การสร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักได้นาน ๆ นั้นยากยิ่งกว่า แล้ว ‘กัลฐิดา’ มีวิธีรักษาชื่อของตัวเองอย่างไรให้อยู่ในวงการวรรณกรรมได้นานถึง 10 ปี
กัลฐิดา : ตัวเองเชื่อว่า ถ้าได้มอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับคนอื่นก่อน คนอื่นก็จะให้สิ่งที่ดีกลับมาหาเราเหมือนกัน แม้ไม่เท่ากับที่ให้ไปหรือไม่ให้เลย ก็ไม่เป็นไร เพราะไม่ว่าเขาจะให้หรือไม่ให้ เขารับรู้แล้วว่า เราให้เขา ซึ่งถือว่ามันคือการให้เกียรติ เราให้เกียรติผู้อ่านทุกคน เพราะพวกเขาให้โอกาสเราได้เล่าเรื่องที่ตัวเองอยากเล่า สำหรับนักเขียน มีเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่หามาเองไม่ได้ นั่นก็คือ 'โอกาส' เราควรใช้โอกาสนั้นอย่างคุ้มค่า และให้เกียรติคนที่มอบโอกาสนี้ โดยมอบสิ่งที่ดีที่สุดของเรา ณ เวลานี้ให้กับเขา และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพื่อมอบสิ่งที่ดีกว่านี้ให้เขาอีกในครั้งหน้า 10 ปีจึงถือว่าไม่นานเลย แต่ 10 ปีที่ผ่านมายืนยันสิ่งที่เราเชื่อว่า มันเป็นความจริง 10 ปีบนโลกแฟนตาซีของ ‘กัลฐิดา’

all : 10 ปีบนเส้นทางวรรณกรรมที่ผ่านมา ถ้าให้ ‘กัลฐิดา’ มองย้อนกลับไป คิดว่าตัวเองอยากปรับปรุงและแก้ไขสิ่งใดในชีวิตการเป็นนักเขียนมากที่สุด
กัลฐิดา : อยากเก่งกว่านี้ อยากถ่ายทอดได้ดีกว่านี้ อยากสื่อสารให้ถึงผู้อ่านได้เหมือนเขามานั่งตรงหน้าเรา คิดอย่างนี้ซ้ำไปซ้ำมาตลอด 10 ปี และคงคิดอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ

all : 10 ปีแบบนี้เรียกตัวเองว่าเป็น ‘มืออาชีพ’ ทางด้านการเขียนได้แล้วหรือยัง
กัลฐิดา : ฝีมือ ณ เวลานี้คงยังเรียกตัวเองว่า ‘มืออาชีพ’ ไม่ได้หรอก แต่ใจน่ะเกินร้อยเลย สำหรับเรา มืออาชีพไม่ได้วัดกันที่ฝีมือ แต่วัดกันที่การทำงาน ความรับผิดชอบ และความตรงต่อเวลา อาจใช่ที่นักเขียนเป็นคนสร้างเรื่องราวขึ้นมา แต่การที่นิยายจะออกมาเป็นรูปเล่มและส่งถึงมือผู้อ่านนั้น เราต้องใช้ทีมที่ประกอบไปด้วยคนที่มีความรับผิดชอบและตรงต่อเวลาเหมือนกัน ดังนั้นถ้าอยากร่วมทีมกับมืออาชีพ เราเองก็ต้องเป็นมืออาชีพเหมือนกัน

all : ทิศทางต่อไปในการเป็นนักเขียนของ ‘กัลฐิดา’
กัลฐิดา : ตอนนี้เริ่มเขียนนิยายแฟนตาซีในแนวต่าง ๆ มากขึ้น ทั้งนิยายรักและสืบสวนสอบสวน เพื่อเป็นการท้าทายตัวเอง และเรียนรู้วิธีการเล่าเรื่องแบบต่าง ๆ โดยหวังว่าจะทำให้นำเสนออารมณ์และเรื่องราวต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

all : ถ้าเกิดมีเด็กรุ่นใหม่เข้ามาถามว่า จะเดินจากจุดปัจจุบันให้ไปได้ไกลถึง 10 ปีข้างหน้าเหมือนอย่างที่ ‘กัลฐิดา’ เป็นบ้างจะต้องทำอย่างไร มีคำแนะนำอะไรจะบอกกับพวกเขา
กัลฐิดา : Dream is goal with dateline มีแต่ฝันไม่ลงมือทำคือ ‘เพ้อ’ ลงมือทำไม่มีวันสิ้นสุดคือ ‘ไร้จุดหมาย’ ดังนั้น ถ้าจุดหมายอยู่ไกลแสนไกล ก็ต้องวางแผนให้ดี กำหนดจุดหมายเป็นจุด เพื่อร่างเส้นทางไปถึงจุดหมาย เหมือนกับเราเดินตามฐานใน walk rally แล้วทำให้สำเร็จทีละฐานภายในเวลาที่กำหนด แน่นอน เราต้องพ่ายแพ้ในแผนการของตัวเองนับครั้งไม่ถ้วน แต่ขอให้มองว่า เราแค่วางแผนไม่รอบคอบ มองข้อผิดพลาดให้ออก แก้ไขแผนนั้น แล้วลงมือทำอีกครั้ง ถ้าถามว่าต้องทำถึงเมื่อไหร่ คำตอบมีแต่คนที่ทำเท่านั้นถึงจะรู้ เพราะคนที่ออกเดินไปแต่ละฐานด้วยขาของเขาเองเท่านั้นที่รู้ว่า ฐานสุดท้ายของเราอยู่ที่ไหน

 

all Magazine : ปีที่ 8 ฉบับที่ 9 เดือน ธันวาคม 2556
นัดพบนักเขียน : ยุทธชัย สว่างสมุทรชัย
ภาพ : วิลาสินี เตียเจริญ

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ