กฤษณา อโศกสิน-นามปากกาของสุกัญญา ชลศึกษ์ นักเขียนหญิงผู้มีชั่วโมงการทำงานยาวนานเป็นอันดับต้นๆ คนหนึ่งในวงวรรณกรรมบ้านเรา ภายใต้นามปากกานี้ สุกัญญามีผลงานเผยแพร่มากกว่าร้อยเรื่อง เช่น วิหคที่หลงทาง, ข้ามสีทันดร, บุษบกใบไม้, เพลงบินใบงิ้ว, น้ำเซาะทราย ฯลฯ แต่ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ ปูนปิดทอง นวนิยายที่ส่งให้เธอได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประเภทนวนิยาย ประจำปี พ.ศ. 2528 ปัจจุบัน สุกัญญาอาศัยอยู่ที่นนทบุรี และยังมีการเขียนหนังสือเป็นดั่งลมหายใจของชีวิต
อะไรที่ทำให้คุณเริ่มเป็นนักเขียน และอะไรที่ทำให้คุณยังเป็นนักเขียน
ไม่ได้ตั้งใจ ครั้งแรกทีเดียวนั้นเป็นเพราะรุ่นพี่เขาเขียนลงในกระดาษเล็กๆ แล้วเย็บมือ เป็นหนังสือทำมือที่เดี๋ยวนี้เขาเรียกกัน ก็มีเขียนกันนิดๆ หน่อยๆ เป็นข่าวสังคมในโรงเรียน อะไรต่ออะไร แล้วก็มีเรื่องสั้นของพี่ประภาศรี นาคะนาท น้องสาวคุณประหยัด ศ. นาคะนาท ก็เป็นเรื่องที่ประทับใจ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เรารู้สึกว่าอยากจะเขียนเรื่องให้ได้อย่างเขาบ้าง แล้วก็อยากจะตั้งชื่อเรื่องให้ได้อย่างเขา เขาตั้งชื่อว่ากลางละอองทอง กับคืนที่เพลงเสื่อมมนตร์
ตอนนั้นก็เด็กๆ นะคะ อายุประมาณ 14-15 กำลังฝันๆ ก็มาหัดเขียนแบบเด็กๆ ไม่รู้เรื่องอะไร เขียนเรื่องแรกก็เป็นเรื่องนางเอกหนีงูดิน โผเข้ากอดพระเอกอะไรแบบนี้ ก็หัวเราะกัน เพื่อนก็ขออ่านกันครื้นเครง แต่ดิฉันก็เขียนไม่จบ เขียนเรื่องแรกไม่จบ ต่อมาอีก 2-3 เรื่องก็ไม่จบอีก จนกระทั่งอายุ 15 เขียนเรื่อง ‘ของขวัญปีใหม่’ จนจบแล้วส่งไปไทยใหม่วันจันทร์ เขาก็อุตส่าห์ตีพิมพ์นะ แปลกมากเลย เด็กๆ เขียนนะคะ ทีนี้ดิฉันเป็นนักเรียนประจำ ก็เลยไม่ทราบว่าเขาตีพิมพ์ให้ พอเขียนกลอนหกไปอีกก็ได้ตีพิมพ์อีก แสดงว่าเราคงพอใช้ได้ แต่ดิฉันก็ไม่ทราบ คือส่งแล้วแล้วกัน ไม่ได้สนใจว่าเขาจะตีพิมพ์ให้หรือเปล่า จนกระทั่งอายุ 17-18 สตรีสารมีการประกวดเรื่องสั้น ก็เลยเขียนส่งไป ชื่อ ‘เมื่อฉันเสียดวงตา’ เป็นเรื่องที่ 2 ที่เขียนจนจบ เขามีคะแนนให้ ทั้งที่เป็นของคณะกรรมการตัดสิน และคะแนนนิยมของผู้อ่าน ดิฉันได้คะแนนนิยมสูงสุด แต่กรรมการตัดสินให้เรื่องของอีกคนหนึ่งได้ เพราะฉะนั้นคราวนั้นก็เลยไม่ได้รับรางวัล
ต่อมาก็ไปเข้าธรรมศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ที่คณะออกหนังสือชื่อ ‘สีฟ้า’ มาขอให้เขียน ก็เลยเขียนอีกเรื่องหนึ่ง ‘ใต้ร่มชงโค’ นั่นก็เป็น 3 เรื่องแรกที่เขียนตั้งแต่อายุไม่ถึง 20 ปี แล้วพอ พ.ศ. 2494 ศรีสัปดาห์ก็เปิดหนังสือรายอาทิตย์ขึ้น ตอนแรกมีสตรีสารแค่ฉบับเดียว ตอนหลังศรีสัปดาห์เปิดอีกฉบับ พอดีคุณพ่อดิฉันรู้จักกับพระรูปหนึ่งที่วัดโพธิ์ ซึ่งท่านสนิทกับบรรณาธิการศรีสัปดาห์ ท่านก็บอกคุณพ่อว่ามีลูกสาวชอบเขียนหนังสือก็ส่งมาเลย จะเอาไปส่งให้ ดิฉันก็เลยเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกตอนอายุ 20 ชื่อ ‘เขาพบกันที่หลุมฝังศพ’
ที่เขียนเรื่องหนักก็เพราะว่าตอนอายุ 12 เสียคุณแม่โดยอุบัติเหตุเรือล่มที่บางไทร พออายุ 18 คุณพ่อก็ถูกจับคดีการเมือง ถูกตั้งข้อหาว่าสมรู้ร่วมคิดกับท่านปรีดีและพรรคพวกทำรัฐประหาร ดิฉันเข้าธรรมศาสตร์ปี 2492 วันที่ 1 มิถุนายน มหาวิทยาลัยเปิดแต่คุณพ่อก็ไปอยู่บางขวางเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องไปส่งข้าวอะไรต่ออะไร คือมีประสบการณ์เกี่ยวกับโศกนาฏกรรมตั้งแต่เด็ก เพราะฉะนั้นเวลาที่อ่านเรื่องของ อ.อุดากร จึงประทับใจและบันดาลใจ เรื่องที่เขียนจึงมักจะหนักและเศร้า
ทีนี้เขาก็ลงให้ทุกเรื่อง เราก็เลยเกิดกำลังใจแล้วก็เขียนมาเรื่อย จนกระทั่งได้เรื่องสั้นร้อยกว่าเรื่องในศรีสัปดาห์ พอถึง พ.ศ. 2497 บรรณาธิการก็เลยให้ลองเขียนเรื่องยาว เรื่องแรกก็คือ ‘ชีวิตเป็นของเรา’ ซึ่งเอาพล็อตมาจากความรักของเจน แอร์ ก็เป็นเรื่องเดียวที่เอาพล็อตฝรั่งมา มันขึ้นต้นลงท้ายไม่ถูกก็เลยเอาหนังสือที่เราชอบ ที่เป็นเรื่องพาฝัน โรมานซ์มาเป็นแนว แต่เราเขียนแบบไทย เปิดฉากที่อุตรดิตถ์เพราะขึ้นไปเยี่ยมอาพอดี ประทับใจอำเภอลับแล ก็เลยเอามาสอดใส่ในเรื่อง ‘ชีวิตเป็นของเรา’ ต่อจากนั้นก็เลยเขียนเรื่องยาวมาโดยตลอด จึงค่อนข้างจะทิ้งเรื่องสั้น เพราะเหตุว่าไม่มีเวลา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2501 อาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทอง ขอเรื่อง เลยต้องตั้งนามปากกาใหม่ เพราะ ม.ล.จิตติ ท่านก็ไม่อยากให้นามปากกา ‘กัญญ์ชลา’ ไปอยู่ที่อื่น เหมือนกับว่าเกิดที่นี่ก็อยากจะรักษานามปากกานี้ไว้ ก็เลยตั้งนามปากกากฤษณา อโศกสิน ขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2501 แล้วเอาปัญหาชีวิตจากสตรีสารนั่นเองมาผูกเป็นเรื่อง เพราะบังเอิญอ่านพบปัญหาชีวิตของคนคนหนึ่ง รู้สึกสนใจ เป็นเรื่องไม่หนักมาก ก็มาผูกเป็นนวนิยายชื่อ ‘วิหคที่หลงทาง’ นับเป็นเรื่องแรกของนามปากกานี้ ก็ได้รับการต้อนรับที่ดีมาก ทำให้ดิฉันมีกำลังใจที่จะเขียนเรื่องต่อไปๆ ก็เลยเขียนให้สตรีสาร ศรีสัปดาห์มาตลอด จนกระทั่งมาลงสกุลไทยปี พ.ศ. 2506 แล้วหนังสืออื่นๆ ก็ตามมาขอถึง 7-8 ฉบับ แทบไม่มีเวลาทำอย่างอื่นเลย ช่วงอายุ 35-45 งานเยอะมาก
เคยเขียนติดต่อกันนานที่สุดกี่วัน
ถ้าอยู่บ้านจะเขียนทุกวันเลยค่ะ เพราะเมื่อก่อนดิฉันรับราชการ ตั้งแต่ พ.ศ. 2494 พอถึง พ.ศ. 2512 จึงลาออกจากราชการ อยู่ในราชการ 17 ปี ก็เขียนหนังสือควบคู่กับงานราชการมาโดยตลอด ทุกวันจะไปถึงที่ทำงานประมาณโมงเช้า ไปส่งลูกก่อนแล้วมา โมงเช้าถึงแปดโมงครึ่งพอจะมีเวลาเขียนหนังสือ แปดโมงครึ่งรับราชการ จนถึงสี่โมงครึ่งก็เลิก จากนั้นก็กลับบ้าน ทานข้าวทานปลาเสร็จก็นอน แล้วลุกขึ้นเขียนหนังสือตอนสามทุ่ม ต้องนอนพักสักครู่ ถ้าไม่นอนพักสมองจะมึน ตื่นขึ้นมาอีกทีสามทุ่มก็เขียนหนังสือ แต่ก่อนไม่มีทีวีดู หนังสือพิมพ์ก็อ่านฉบับเดียว อ่านที่กรมมาก็พอแล้ว ลูกก็ไม่ได้กวนอะไรมากเพราะมีคุณป้าที่เขาเป็นโสดเลี้ยงให้
ดิฉันคิดว่าตัวเองค่อยๆ ขึ้นบันไดมาทีละขั้น ไม่ได้ประสบความสำเร็จเร็วอะไร เพียงแต่เราคิดออก เขียนได้ เป็นคนช่างสังเกต แล้วความจำก็ดี อะไรผ่านตาก็จะจำได้หมด ใครพูดอะไรให้ฟังว่าอย่างไรก็จะจำได้ แม้บัดนี้ก็ยังจำภาพบางภาพในอดีตได้แม่นยำเหมือนเพิ่งเกิดเมื่อวาน แต่ตอนหลังๆ ราวๆ อายุสัก 50 กว่าๆ อาจจะหมกมุ่นเรื่องบางเรื่องที่เราแก้ปัญหาไม่ตก ทำให้ความจดจ่ออยู่กับอะไรที่เคยจำได้หายไป แล้วก็ทำให้ความจำเสื่อมลง ที่เคยจำได้แม่นและเห็นครั้งเดียวจำได้นั้น มันไม่ใช่แล้ว แต่ก็เป็นอยู่พักหนึ่งจึงฟื้นตัว แต่ก็ไม่เหมือนเดิม
ความช่างสังเกตและความจำเป็นคุณสมบัติของนักเขียนที่ดี…
ที่ดีมากเลย นักเขียนต้องช่างสังเกตและช่างจำ ถ้าใครช่างสังเกตและช่างจำ 2 อย่างนี้เรียกว่าได้กำไร แล้วยิ่งเป็นคนเขียนหนังสือเป็นยิ่งได้กำไรมาก คุณสมบัติของนักเขียนนั้นต้องภาษา สำนวน ลีลา แล้วก็แนวคิด มุมมองที่เลือกเฟ้นแล้วเพื่อจะได้ไม่เหมือนใคร บวกอีก 2 คือความช่างสังเกต ช่างจำ ถ้ามีครบทั้ง 5 อย่างก็จะไปได้ราบรื่นจนวันตาย ไม่มีใครปฏิเสธผลงานของเขา
คุณเชื่อเรื่องพรสวรรค์ไหม
เชื่อค่ะ เพราะมีความรู้สึกต่อคนบางคนที่เคยเห็นเขามีพรสวรรค์ประจำตัว เขาสามารถลุกขึ้นมาเขียนหนังสือได้ดีโดยที่ไม่เคยเขียนหนังสือมาก่อนเลย
อย่างเช่นตัวคุณเองด้วย
ไม่ทราบ...ตัวดิฉันเองนี่ไม่ทราบ เพราะเขียนหนังสือมาตั้งแต่เด็ก อย่างที่เล่าให้ฟังแล้วว่าเขียนตั้งแต่อายุ 13-15 เริ่มจากหัดเขียนจนกระทั่งเขียนได้ตอนอายุ 15 หมายความว่าเขียนจนจบเรื่องนะคะ แต่จะดีหรือไม่ดีไม่ทราบเพราะไม่มีโอกาสอ่านทวน แต่คิดว่าไม่ดี ส่วนคนที่มีพรสวรรค์นั้นมักจะทำอะไรปุ๊บได้ดีปั๊บเลย แต่สำหรับตัวเองคงผ่านการฝึกฝน คือพรสวรรค์ก็อาจมี แต่การฝึกฝนที่ทำงานนี้มาต่อเนื่องไม่มีขาดตอนเลยแม้แต่วันเดียวนอกจากไม่อยู่บ้าน ก็เป็นระยะเวลาคิดแล้วจนกระทั่งบัดนี้อายุย่าง 77 ทำมาตั้งแต่อายุ 15 ฝึกฝนมาเรื่อยๆ เริ่มอย่างจริงจังเมื่ออายุ 20 จากนั้นจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ก็เท่ากับ 57 ปีที่ดิฉันเขียนหนังสือมาโดยไม่ขาดตอนเลย มันก็คือการฝึกฝน
วิธีการทำงานเขียนของคุณเป็นอย่างไร เขียนรวดเดียวจบหรือเปล่า
ไม่ค่ะ ไม่เคยเลย ตั้งแต่เริ่มเขียนมา นอกจากเรื่องสั้น ถ้าเป็นนวนิยายจะเขียนทยอยส่งทุกครั้งและทุกเรื่อง แล้วก็ต้องตรวจทานค่ะ เมื่อก่อนดิฉันความจำดี ก็จะไม่มีสำเนา จนกระทั่งมาถึงอายุราว 40 ก็เริ่มมีสำเนา เป็นกระดาษก๊อปปี้ ต้นฉบับลายมือส่งไปสำนักพิมพ์แล้วก็หายไปเลย มีแต่สตรีสารเท่านั้นที่เก็บต้นฉบับไว้แล้วส่งคืน จนกระทั่งอายุ 60 กว่า ตอนที่เขียนเรื่องแนวประวัติศาสตร์ล้านนา มันยากสำหรับเด็กพิสูจน์อักษรที่จะอ่านลายมือ แล้วให้มันตรงตามนั้น ภาษาเมืองเหนือบางทีเขานึกไม่ออก ดิฉันก็เลยใช้วิธีส่งไป แล้วให้เขาพิมพ์ต้นฉบับกลับมาให้ตรวจก่อน แล้วก็ส่งกลับไปอีก ก็เลยไม่ค่อยผิด รู้สึกว่าจะเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2543 สัก 8-9 ปีมาแล้ว ที่ดิฉันใช้วิธีให้เขาส่งต้นฉบับพิมพ์มาก่อน ดิฉันตรวจแล้วเขาจึงจะเอาไปตีพิมพ์ตัวจริง
ปณิธานสูงสุดในฐานะนักเขียน
ปณิธานสูงสุดในการทำงานของตัวเองก็คืออยากทำงานให้ได้ระดับมาตรฐาน หมายความว่าเป็นงานที่มีคุณค่า สามารถเก็บไว้อ่านได้ตลอดชีวิตโดยที่ผู้อ่านไม่เบื่อ อ่านหนหนึ่งก็ได้ความคิดอย่างหนึ่ง อ่านอีกหนก็ได้ความคิดอีกอย่าง อ่านกี่หนก็ได้ความคิดใหม่ๆ แตกดอกออกช่อไปตามวุฒิภาวะของผู้อ่าน อยากเขียนหนังสือให้ได้อย่างดนตรีคลาสสิค เป็นอมตะ ไม่มียุคสมัย ไม่มีวันตาย สมบูรณ์พร้อมทั้งภาษา ลีลาเฉพาะตัว และคุณค่าระหว่างบรรทัดที่มีประโยชน์ต่อชีวิตผู้อ่าน
ถึงทุกวันนี้คุณพอใจกับปณิธานนี้หรือยัง
ไม่พอใจ แม้ว่าหลายเรื่องจะได้รางวัลดีเด่น แต่ก็ยังไม่พอใจ ที่จริงแล้วได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะเขียนเรื่องศาสนาเรื่องหนึ่ง การเมืองเรื่องหนึ่ง และการบ้านเรื่องหนึ่ง ซึ่งการบ้านนี้คิดว่าจะเขียนเรื่องของคน 4 รุ่น ปู่ย่าตายาย พ่อแม่ ลูก และหลาน ว่าได้พัฒนามาอย่างไร คือดั้งเดิมประเทศไทยของเรามีวัฒนธรรม จริยธรรม คุณธรรมที่ประกอบการใช้ชีวิตเป็นมาอย่างไร แต่บัดนี้มันผันแปรไปอย่างไร เสื่อมลงในด้านใดบ้าง มีทางแก้ไขและฟื้นฟูหรือไม่
ที่สังคมเสื่อม ส่วนหนึ่งเพราะคนไม่อ่านหนังสือ...
ไม่ใช่หรอกค่ะ คิดว่าคนไทยไม่ค่อยใส่ใจที่จะกลั่นกรองความคิดของตัวเองขึ้นมาใช้งานมากกว่า คือวัฒนธรรมไทยดั้งเดิมนั้นดีมาก คนในสมัยคุณพ่อคุณแม่ดิฉันส่วนใหญ่เป็นคนดี คือจะมีโกงอะไรก็นิดๆ หน่อยๆ ไม่เหมือนเวลานี้ที่เรารู้สึกว่าคนเห็นแก่เงินมาก ไม่รู้สึกว่าตัวนั้นจะต้องอยู่เพื่อเกียรติยศ เกียรติคุณใดๆ เรื่องไหนไม่มีผลประโยชน์ก็ไม่อยากทำ
แล้วควรแก้ไขอย่างไร
ยากมาก ยกตัวอย่างละครแค่นี้ก็รับไม่ได้แล้ว เพราะตบตีกันมากเกินกว่าเหตุกว่าผลที่สมควร ไม่เข้าใจว่าใครเป็นผู้ย้อมสีคนเหล่านี้ จนกระทั่งคิดว่าการตบตีเป็นของดี แล้วก็อ้างเรตติ้ง เรตติ้งคืออะไร คือการที่เราจะพากันไปสู่ความเสื่อมกันหรืออย่างไร ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งครอบงำสังคมของเราอยู่ เคยคิดกันบ้างไหม เคยตั้งคำถามกันหรือเปล่าว่าเหตุใดละครไทยเดี๋ยวนี้ถึงได้ไม่งดงามเลย ไม่มีอะไรจรรโลงใจจรรโลงสังคมเลย อันนี้นี่แหละคือน้ำเน่าที่เราควรปรับปรุงฟื้นฟูให้ขึ้นสู่ระดับคุณภาพ
ฟังดูแล้วเหมือนจะแก้ไม่ตก
ถ้าช่วยกันแก้ก็ตกค่ะ ดิฉันเองก็เป็นเจ้าของบทประพันธ์ที่เขาเอาไปทำเหมือนกัน เห็นการตบกันแล้วก็ขมใจ คือมันมากเกินไป ถ้าคุณเป็นคนดูละครสัก 10 ปีขึ้นไปจะเห็นว่าละครเมื่อก่อนไม่ได้เป็นอย่างนี้ บางเรื่องเขาทำได้ดีมาก อย่างละครของดิฉันหลายเรื่องดีมากจนประทับใจมาถึงเดี๋ยวนี้ แต่เวลานี้ไม่มีแล้วที่เราจะชื่นชม
ดิฉันก็ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรถึงจะดึงความเข้าใจของคนที่อยู่ในวงการละครให้มาเข้าใจร่วมกันได้ว่ามันไม่ใช่วัฒนธรรมของไทยเลยนะ ดิฉันเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อเป็นข้อมูลเขียนนวนิยาย ก็มีโอกาสได้ทบทวนถึงครั้งที่ญี่ปุ่นเข้ามาครองเมืองเรา ญี่ปุ่นบังอาจตบหน้าเรา ตบหน้าคนไทย ทราบไหมคะว่าเป็นเรื่องเลย โดยเฉพาะคราวที่ตบหน้าพระไทยที่เรียกว่า ‘เหตุการณ์บ้านโป่ง’ เรื่องราวบานปลายมาก เพราะคนไทยไม่มีวัฒนธรรมนี้ ถือว่าเป็นการกระทำที่หยาบช้ามาก คุณไปหาอ่านได้เลย
แล้วตอนนี้ที่ภาครัฐเข้ามาจัดการคุณเห็นด้วยหรือไม่
เห็นด้วย แต่ไม่ใช่เพียงแค่ว่า น. หรือ ท. แค่นั้น ไม่ใช่ คุณต้องคุยกับเขาให้เกิดความเข้าใจร่วมกันว่า ละครคือเครื่องหมายของความเด่นความด้อยทางวัฒนธรรม คุณทำละครแบบนี้คุณอวดใครไม่ได้ ดิฉันไม่เห็นด้วยที่ไปเปลี่ยนเวลาออกอากาศ แต่เห็นด้วยถ้าคุณปรับละครของคุณให้สร้างสรรค์ขึ้น แม้จะเป็นละครครอบครัวก็ต้องสร้างสรรค์
วันก่อนก็เห็นตบตีกันนัวเลย เห็นจากรายการที่เขาเอาข่าวดารามาโฆษณาตอนหัวค่ำ แล้วเขาก็เอาตอนหนึ่งในละครออกมาให้ดูเป็นตัวอย่าง โอ้โฮ...อยากร้องไห้เลยนะ อะไรมันจะขนาดนี้ แล้วเดี๋ยวนี้เด็กนักเรียนหญิงก็ตบกันแล้ว คุณเห็นไหม...คุณไม่ทราบหรอกหรือว่าถ้าดาราผู้เป็นแบบอย่างของเด็กทำอะไร เด็กก็มักจะเลียนแบบ
ตัวอย่างพวกนี้จะส่งผลถึงนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ให้ผลิตงานออกมาในแนวนี้ด้วยหรือไม่
อันนี้ดิฉันไม่ทราบ ไม่ทราบเลย เพราะไม่เคยอ่าน ทราบแต่ว่านักเขียนวัยรุ่นเขาขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่ว่าเขาไม่ได้ตบตี เขาขึ้นเตียง เพื่อนดิฉันถามว่าละครไทยมีอะไรนอกจากตบตีกับขึ้นขี่กัน คุณดูซิละครเกาหลีมีไหม ประวัติศาสตร์ชาติของเขาเขาขายได้ทั่วโลก ดิฉันถือว่าหนังหรือละครคือแบบอย่างที่ดีที่สุด สอนคนได้ ให้การศึกษาได้ทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้ผลเร็วมาก...ไม่ว่าผลทางบวกหรือทางลบ
กลายเป็นว่าเราเอาของเลวมาขาย
อืม...เราเอาของเลวมาขาย เขาเอาของดีมาขาย
คาดหวังว่าจะดีขึ้นไหม
ไม่ทราบหรอกค่ะ เพราะว่าทุกคนอ้างเรตติ้ง อ้างเรื่องเงิน คือเรตติ้งดีเงินก็ตามมาอะไรแบบนั้น ดิฉันไม่ทราบจริงๆ แต่ก็มีละครดีๆ สักเรื่องสองเรื่อง นานๆ ครั้ง เขาก็ดูกันชมกัน...เออ...ทำของดีก็ทำได้ แต่ทำไมไม่ทำ แต่ดิฉันก็ไม่ได้ดู เพราะว่าพอเปิดไปเห็นตบตีกันทุกช่องก็แหยงแล้ว ชักกลัวไม่อยากดูแล้วละคร มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยเป็นคนดูละคร ติดละคร ท่านก็ถามว่า พี่...เรื่องของพี่เป็นละครอยู่หรือเปล่าตอนนี้ ก็บอกว่าตอนนี้ไม่มี ท่านก็ว่า ดิฉันไม่ดูแล้วนะละครไทย แย่ที่สุด ไร้สาระที่สุด
ดิฉันหดหู่ใจ สลดใจที่ได้ดูสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องดู ยังเสียดายไม่หายที่การเปลี่ยนแปลงของละคร ทำให้ดิฉันกลายเป็นคนไม่ดูละคร ซึ่งแต่ก่อนชอบมาก ดิฉันได้ไปดูหนังชื่อ Atonement ตราบาปลิขิตรัก เรื่องของเขานิดเดียว เรื่องง่ายๆ แต่เขามีความคิดสร้างสรรค์ ทั้งภาพ ทั้งบทสนทนา ศิลปะต่างๆ เพียบพร้อม แต่ละครไทยหนังไทย ดูแค่ตัวอย่างก็ตกใจแล้ว ขอโทษเถอะใช้คำว่า ไอ้ส้นตีน คิดดูซิ คุณทนไหวไหม ดิฉันก็รู้สึกว่า เอ...ทำไมชาติไทยเราถึงเสื่อมปานนี้ ไม่มีอะไรดีเลยหรือ บอกได้เลยว่าทุกวันนี้ไม่ค่อยมีความสุขที่เห็นประเทศไทยเป็นแบบนี้ ละครไทยหนังไทยและอื่นๆ ดูเถอะ หนังหลายเรื่องแค่ชื่อก็ยังไม่จรรโลงใจเลย นานๆ จะมีสักเรื่องที่ผุดขึ้นมาดี
คำถามที่เบื่อตอบที่สุด
คำถามที่ดิฉันเบื่อตอบมากที่สุดคือคำถามที่ว่า คิดอย่างไรที่มีคนบอกว่านวนิยายครอบครัวเป็นนิยายน้ำเน่า คิดว่าอาจารย์เจือ สตเวทิน ขณะนั้นที่ท่านว่าน้ำเน่า ท่านคงไปสะดุดเอาอะไรสักอย่าง หรือได้อ่านเรื่องราวที่ท่านคิดว่ามันไม่มีประโยชน์อะไรกับผู้อ่านและซ้ำซาก คือน้ำเน่าหมายถึงน้ำนิ่ง น้ำครำ เมื่อไม่มีประโยชน์อะไรกับใครเลย ทำไมต้องเอามาเขียน แต่ดิฉันคิดว่านวนิยายครอบครัวมีประโยชน์มาก เพราะเป็นการเรียนการสอนเบื้องต้นของนักเขียนที่ส่งให้ผู้อ่านได้ทราบ ได้ฝึกปรือเกี่ยวกับการครองบ้าน ครองเรือน ครองรัก มีตัวอย่างและคำถามคำตอบอยู่ในนั้นเสร็จสรรพ เพียงแต่ผู้เขียนต้องเขียนเป็น รู้จักดึงเอาแนวคิดและมุมมองของการเป็นครอบครัวจริงๆ เข้ามา แล้วกลั่นกรองบางส่วนที่เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีกว่าหนังสือสอนศีลธรรม ให้ผู้อ่านได้คิดตาม บางคนมีปัญหาชีวิตอยู่แล้วก็โดนใจ ตรงใจ มีหลายคนที่เดินเข้ามาบอกขอบคุณคุณกฤษณามากที่เขียนหนังสือให้เขาได้รอดพ้นจากปัญหาชีวิตในช่วงใดช่วงหนึ่ง
เมื่อครอบครัวเป็นหน่วยแรกของสังคม กฎหมายก็ยังมีกฎหมายครอบครัว ก็แสดงว่าครอบครัวมีความสำคัญ เพียงแต่ในการถ่ายทอดความเป็นครอบครัวออกมาเป็นนวนิยาย ต้องเลือกหน่อยเท่านั้นว่า ควรจะเสนอมุมใดออกมาเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน เหมือนตอบโจทย์ที่เป็นปัญหาชีวิตให้เป็นข้อคิดแก่เขาได้
มองวงการวรรณกรรมไทย
ดิฉันคิดว่าเขาก็ไปกันเรื่อยๆ แต่หลายคนก็มีฝีมือ บางคนเขียนดีเขียนดังขึ้นมาเรื่องสองเรื่องแล้วก็ไปเรียบๆ คืองานนี้เป็นงานที่ยาก นักเขียนแต่ละคนก็ทำงานเยอะ ส่วนมากเป็นอาชีพ คนที่ทำงานเป็นอาชีพแล้วยากที่จะเปลี่ยนตัวเองได้ สมมุติว่าเปลี่ยนแนวเป็นแนวนั้นแนวนี้ได้ในคนหนึ่ง แต่จะเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนค่านิยมนั้นยาก ใครมีวิธีคิด ค่านิยมและทัศนคติอย่างไร มักจะฝังตัวเองอยู่ในนั้นแล้วหลุดออกไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ไม่ว่ากัน คือคนในรุ่นหนึ่งก็จะมีทัศนคติ มีค่านิยมในรุ่นของเขาที่หล่อหลอมเขาขึ้นมา แล้วเขาก็บูชาความคิดที่เป็นอิสระของเขาในรุ่นนั้น ต่อมาก็ถึงรุ่นลูกรุ่นหลานก็จะเป็นอย่างนั้นอีก คนรุ่นใหม่ก็คิดอีกอย่าง ความคิดของเขา มุมมองของเขามีทั้งสืบทอดและขัดแย้งกับคนรุ่นเก่าก็เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าหวังให้วงวรรณกรรมตื่นเต้นโลดโผนมีสีสันตลอดเวลาคงไม่ได้
ทัศนะต่อนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่มีการดัดแปลงเสริมแต่งจนเกินความจริง มันจะส่งผลให้ผู้อ่านเชื่อตามนั้นหรือไม่
ส่วนตัวดิฉันเขียนตามประวัติศาสตร์เป๊ะเลยนะคะ อ่านดูได้เลย แล้วก็ไม่กล้าดัดแปลงอะไรทั้งสิ้น เรื่องพระนางจิระประภา ซึ่งถ้าเราแต่งเติมเสริมต่อให้เป็นโรมานซ์ก็ได้ ตอนที่พระไชยราชาเข้าเมืองเชียงใหม่ แต่ดิฉันก็ไม่กล้าทำ เพราะจะเสื่อมพระเกียรติท่าน เราคำนึงถึงอะไรหลายอย่างหลายประการ หนึ่งในนั้นคือเกียรติของผู้ที่เรานำไปปรุงใหม่ตามจินตนาการของเรา ซึ่งอาจจะออกมาแล้วอ่านสนุก แต่ว่าผู้ที่เรานำเขาไปขาย โดยที่ประวัติศาสตร์ไม่ได้กล่าวถึง เราต่อยอดออกไปเองเพื่อให้นักอ่านสนุกอย่างเดียวคงไม่เป็นการดี ดิฉันนึกถึงจริยธรรมของคนเขียนว่าต้องมี เพราะฉะนั้นจะไม่ว่ากระไร ถ้ามีคนเดินเข้ามาถามว่า เอ...ทำไมไม่โลดโผนกว่านี้ ก็ต้องตอบว่าพอใจแค่ระยะทางระหว่างประวัติศาสตร์กับคนอ่านมีความบันเทิง กับได้ข้อเท็จจริงที่สมเหตุสมผลเท่านั้น
ทัศนะต่อรางวัลทางวรรณกรรมทุกวันนี้
ดิฉันคิดว่าก็เฟ้อเหมือนกัน คล้ายๆ กับว่ารางวัลเยอะมาก แล้วนักเขียนที่ได้รับรางวัลก็ซ้ำหน้า ใครเก่งก็ได้รางวัลไป เช่นนักเขียนเรื่องสั้นหลายคนก็ได้รับรางวัลบ่อย เท่าที่ทราบก็มีรางวัลสุภาว์ เทวกุล ได้แล้วก็ไปได้รางวัลที่อื่นอีก แต่ว่าส่วนใหญ่นักเขียนพวกนี้มีอาชีพเป็นของตัวเองอยู่แล้ว เขาก็คงเขียนหนังสือเป็นงานอดิเรกเท่านั้น แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น เพราะยังเห็นว่านักเขียนมือรางวัลยังมีไม่มากเท่าไรที่มาขึ้นเวทีร่วมกับนักเขียนรุ่นเก่า มีไม่กี่คนเท่านั้น ประเด็นน่าจะอยู่ที่ว่าตัวรางวัลไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร เพราะส่วนมากคนที่ได้รางวัลก็คือนักเขียนเก่าที่ได้รางวัลมาแล้ว บางคนหลายครั้ง ก็รับกันไป เสร็จแล้วทางองค์กรที่จัดประกวดก็ไม่ได้ทำให้เกิดดอกออกผลอะไรเกี่ยวกับหนังสือที่ได้รับรางวัล คือไม่มีการเผยแพร่ ไม่มีการหยิบยกขึ้นมาพูด หรือไม่มีใครมาตั้งกองวิจารณ์ว่าดีหรือไม่ดีตรงไหน มีจุดด้อย จุดเด่นอย่างไร รางวัลที่ให้กันมากก็เลยลดประโยชน์ที่วงวรรณกรรมควรมีควรได้
อยากให้มีการวิจารณ์งานที่ได้รางวัลเหมือนสมัยก่อนที่การวิจารณ์เฟื่องฟู อย่างมีในสยามรัฐรายวันเสาร์หรืออาทิตย์ ลืมไปแล้ว เพราะ 20 ปีแล้ว เคยมีคอลัมน์ ‘สะดุดตัวหนังสือ’ ที่ภิญโญ ศรีจำลอง วิจารณ์งานโน้นงานนี้อยู่ หรือในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ก็ยังมีไพลิน รุ้งรัตน์ มีอาจารย์ดวงมน จิตต์จำนง มียุรฉัตร บุญสนิท มีใครต่อใครเปลี่ยนหน้ากันเข้ามาวิจารณ์งานของนักเขียน ซึ่งดิฉันชอบมากเลยช่วงนั้น แต่ช่วงหลังหายไปหมด ได้ข่าวมาว่าเดี๋ยวนี้นักศึกษาก็ไม่อ่านหนังสือ อาจารย์ก็ไม่อ่าน แล้วอาจารย์ที่เคยวิจารณ์หนังสือก็ท้อที่จะมาทำ เพราะได้ค่าตอบแทนน้อยนิด แต่เป็นงานยาก เพราะต้องใช้ความสามารถสูงในการเข้าถึงความคิดและทัศนคติ ค่านิยมของนักเขียนแต่ละคนอย่างถ่องแท้ ไม่ใช่ไปวิจารณ์เขาผิดๆ ต้องจับประเด็นของเขาให้ได้แล้วดึงประเด็นนั้นออกมาพูดในหนังสือแต่ละเล่ม เพราะฉะนั้นนักวิจารณ์จึงต้องอ่านงานของนักเขียนตั้งแต่ต้น ไม่ใช่เพิ่งมาอ่านเรื่องที่ได้รางวัลเรื่องเดียว อาจจะต้องอ่านมาตั้งแต่นักเขียนยังเด็กๆ หรือเริ่มเขียนหนังสือด้วยซ้ำ จะได้รู้พัฒนาการของนักเขียนนั้นๆ แต่หนังสือพิมพ์เดี๋ยวนี้ก็ไม่อยากเปิดคอลัมน์วิจารณ์ เพราะไม่มีใครส่งงานเข้ามา หรือฝีมือการวิจารณ์ไม่ดีพอ
คุณคิดเห็นอย่างไรกับแนวคิดที่ว่า นักเขียนต้องรับใช้สังคม
ดิฉันคิดว่าการเขียนหนังสือที่รับใช้หรือไม่รับใช้ต้องเขียนหนังสือให้เป็นก่อน คุณเปิดประเด็นว่ารับใช้สังคม แต่เวลาเขียนแล้วเขียนไม่ ‘ถึง’ มันก็ไม่ได้ใช่ไหม คุณต้องตัดสินใจก่อนว่าคุณจะเขียนหนังสืออย่างไรให้ผู้อ่านประทับใจสูงสุด คุณถึงจุดนั้นไหม ถ้าไม่ถึงจุดนั้นงานของคุณก็เป็นงานรองๆ ที่ผู้คนไม่จำเป็นต้องอ่าน โดยเฉพาะสังคม ไม่มีใครอยากอ่านเพราะมันเป็นความทุกข์ คำว่าปัญหาก็คือความทุกข์ ที่คนชอบอ่านเรื่องหวานแหววมากกว่าเพราะไม่ต้องคิดอะไร ไม่ต้องผจญกับความทุกข์ของตัวละคร คนก็เลยไปหาอ่าน ไอ้เราคิดเกือบตายก็อย่างนั้นแหละ (หัวเราะ) ก็ต้องถามว่าถ้าเราจะรับใช้สังคมเราเขียนเป็นหรือเปล่า เขียนสั้นๆ แต่ประทับใจสูงสุดได้ไหม
ขอยกตัวอย่างนักเขียนที่ดิฉันชื่นชอบ ศรีรัตน์ สถาปนวัฒน์ ที่เขาเขียนเรื่องรับใช้สังคม ถ้าเขียนเรื่องได้อย่างเขาดิฉันจึงจะถือว่ารับใช้สังคม แต่ถ้าเขียนอะไรที่มันไม่ถึงขั้น แล้วไปหลงตัวเองเสียก่อนก็น่าเสียดาย เพราะสิ่งที่เป็นเชื้อโรคสำหรับนักเขียนก็คือความหลงตัวเอง ถ้าคุณทำงานแล้วนึกว่างานนี้ยังไม่ดีที่สุด คุณก็ยังมีทางเติมน้ำในแก้วที่ยังไม่เต็มได้ต่อไป
ทุกวันนี้คุณพอใจกับวิถีชีวิตของตัวเองไหม
พอใจมาก เพราะว่าไม่มีภาระอะไร ลูกก็โตกันหมดแล้ว แล้วดิฉันก็รักงานนี้มาก เขียนหนังสือทุกวัน ที่สำคัญก็คือมีเวทีที่สามารถนำเรื่องไปลงหลายต่อหลายที่ ทุกที่ก็ดีหมด
ส่วนใหญ่คุณเขียนหนังสือช่วงไหน
ช่วงเก้าโมงครึ่งถึงหกโมง หรือเลยไปถึงทุ่ม
ทุกวันนี้การเขียนหนังสือสำหรับคุณเปรียบได้กับอะไร
เป็นลมหายใจของชีวิตก็ว่าได้ คือตั้งใจว่าจะเขียนหนังสือไปจนกระทั่งรู้สึกว่ามือตก เขียนแต่ละบรรทัดทั้งจืดและเซ็ง ไม่มีไอเดียอะไรอีกแล้วที่จะงอกเงยขึ้นมา หรือรู้สึกว่าวัยของเราหมดแค่นั้น คือหมดแรงแล้ว ถ้าหมดแรงเมื่อไรก็จะวางปากกา แต่เวลานี้เรี่ยวแรงยังดีอยู่ แล้วไฟที่อยู่ในตัวก็ยังทำงาน ทำให้รู้สึกอยากเขียนนั่นเขียนนี่ทุกวัน
นักเขียนคนโปรดและหนังสือเล่มโปรด
ดิฉันมักจะชอบนักเขียนสมัยก่อน หนังสือที่ยอดเยี่ยมสำหรับดิฉันก็คือ พระปฐมสมโพธิกถา ของกรมพระปรมานุชิตชิโนรส แล้วก็ชุดของดอกไม้สด ยาขอบ มรว.คึกฤทธิ์ อีกคนหนึ่งที่เป็นคนเขียนหนังสือเก๋ คือ ร.จันทพิมพะ กับอีกหลายต่อหลายท่าน ซึ่งดิฉันอ่านมาตั้งแต่เด็ก เก็บรักษามาแล้วก็อ่านมาจนกระทั่งบัดนี้ ไม่รู้สึกว่าเชยหรือล้าสมัย รู้สึกว่ายังอ่านได้อยู่อย่างดีมาก เพราะฉะนั้นจึงรู้สึกว่าอยากให้ตัวเองเขียนหนังสือได้มาตรฐานขนาดนั้น แต่นักเขียนรุ่นใหม่ดิฉันก็ชอบหลายคน ชอบความคิดดีๆ ของเขา
ขอบคุณที่มา : http://www.hiclasssociety.com