เรียกสีสันและความเปรี้ยวซ่าให้กับวงการละครไทยได้ไม่น้อย เมื่อช่อง 3 เลือกที่จะหยิบนิยายสุดแนวอย่าง ‘ดาวเกี้ยวเดือน’ ขึ้นมาสร้างเป็นละคร ซึ่งละครเรื่องดังกล่าวมีเอกลักษณ์และจุดเด่นเป็นอย่างมาก เห็นได้จากเรื่องรักว้าวุ่นของพระนางทั้งสอง รวมไปถึงเนื้อหาที่โดนใจสาวโสดหลายต่อหลายคนที่อยากมีลูก แต่ไม่อยากมีสามี
จากประเด็นเล็ก ๆ ที่แวบขึ้นมาในความคิดของ ‘อุ้ย – จันทร์ยวีร์ สมปรีดา’ หรือ ‘รอมแพง’ ได้ผสมเข้ากับจินตนาการต่าง ๆ ที่ตัวเองคิดขึ้น จึงตกผลึกออกมาเป็นผลงานอย่าง ‘ดาวเกี้ยวเดือน’ ในที่สุด และยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เธอต่อยอดความคิด ขยายจินตนาการของตัวเองเข้าไปอีก จนได้ผลิตผลอย่าง ‘ดาวเกี้ยวเดือน ภาคพิเศษ’ อีกเล่มหนึ่งหลังจากนั้น เธอนำความคิดและเรื่องราวที่ไม่เหมือนใครเหล่านี้มาจากไหน แล้วมุ่งสู่ถนนสายวรรณกรรมนี้ได้อย่างไร เรามีคำถามค้างคาใจมากมายเหลือเกินที่อยากให้นักเขียนหญิงคนนี้เป็นผู้ไขคำตอบ
all : ‘รอมแพง’ เป็นนามปากกาที่มีเอกลักษณ์ของตัวเองเป็นอย่างมาก นามปากกานี้มีที่มาอย่างไร
รอมแพง : พอดีอ่านนิยายเรื่อง ‘เวียงกุมกาม’ ของ ‘ทมยันตี’ แล้วนางเอกเรื่องนี้ชื่อว่า รอมแพง เป็นภาษาล้านนาโบราณ แปลว่า ผู้เป็นที่รัก หรือหญิงผู้เป็นที่รัก ซึ่งมีความหมายที่ดี รวมถึงตัวเองจบมาทางด้านโบราณคดี และมีความชอบในตัวอักษรล้านนาโบราณ เลยรู้สึกชอบชื่อดังกล่าวและเลือกใช้นามปากกานี้เขียนงานออกมา
all : ผ่านงานมาแล้วหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นนักประวัติศาสตร์ศิลปะ พิสูจน์อักษร เลขานุการ และอีกมากมาย แล้วมาลงตัวที่การเป็นนักเขียนได้อย่างไร
รอมแพง : เพิ่งมาเขียนหนังสือเมื่อตอน 7 ปีที่แล้วนี่เอง ประมาณปี 2549 แต่กว่าหนังสือจะออกมาเป็นเล่มได้ก็ประมาณปี 2550 ซึ่งตัวจุดประกายในการมาเป็นนักเขียนของเรา ขอบอกเลยว่า ห้ามเลียนแบบเด็ดขาด เพราะดูใจเร็วไปนิดหนึ่ง โดยก่อนหน้านั้นประกอบอาชีพอย่างอื่นอยู่ และอาชีพนั้นค่อนข้างมีแรงกดดันมากพอสมควร เราเลยรู้สึกว่า ไม่อยากให้ใครมาบงการชีวิตของตัวเอง ตอนนั้นเริ่มเขียนนิยายลงเว็บไซต์บ้างแล้ว รวมถึงมีสำนักพิมพ์สนใจในผลงานของเรา โดยเซ็นสัญญาเรียบร้อย และคิดว่าได้ตีพิมพ์แน่แล้ว เราจึงตัดสินใจลาออกจากงานนั้นเลย คือเป็นการลาออกที่เสี่ยงมาก เพราะเงินทุนอะไรก็ไม่มี คล้ายกับเอาชีวิตของตัวเองไปตายเอาดาบหน้า เลยคิดว่าจะยึดและทำอาชีพนี้ให้ดีที่สุด เพราะงานเขียนเป็นงานที่ไม่มีเจ้านาย เราเป็นเจ้านายของตัวเอง ไม่มีใครมาบังคับให้ทำงาน และสามารถเขียนอะไรลงไปในเว็บไซต์ก็ได้ แต่พอลาออกและมาทำงานในวงการนี้จริง ๆ มันไม่ง่ายเลย ลำบากอยู่เหมือนกัน ปี 2552 ถึงจะเริ่มอยู่ตัวมากขึ้น และปี 2553 ถึงจะเริ่มนิ่งและมีความมั่นคงมากขึ้น
all : แต่เขาบอกกันมาว่า จริง ๆ แล้ว การเป็นนักเขียนของ ‘รอมแพง’ มีจุดเริ่มต้นมาจากเกมออนไลน์
รอมแพง : ตอนนั้นเล่นเกมออนไลน์ ‘มังกรหยก’ อยู่ ซึ่งเป็นเกมที่มีโปรแกรมพูดตอบโต้ที่ดีมาก คล้ายกับกล่องแชทเฟซบุ๊ก ณ ตอนนี้ ซึ่งเราจะเป็นคนพิมพ์เร็วและแชตบ่อยมาก พอแชตในห้องรวมบ่อย ๆ เข้า สำนวนเราก็เลยไปถูกใจพี่น้องหลายคนที่มาร่วมแชตกับเรา และตัวเองก็เป็นหมือนเจ๊ใหญ่ในห้องแชตนั้น แล้วเขาก็บอกกลับมาที่เราว่า น่าจะลองเขียนนิยายดู โดยให้ลองเขียนนิยายออนไลน์ออกมาประมาณปี 2547 – 2548 ซึ่งตอนนั้นนิยายออนไลน์ยังไม่เป็นที่นิยมมากเหมือนในวันนี้ แต่ช่วงนั้นยอมรับเลยว่า ยังไม่เก่ง ก็เลยยังไม่ได้เขียนออกมา แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ อย่างหนึ่งที่ทำให้เราสนใจในเรื่องของการเขียน และอยากที่จะลองเขียนดู เลยออกมาเป็นนิยายแนวแฟนตาซีเรื่องแรกอย่าง มิติรักข้ามดวงดาว ซึ่งเป็นเรื่องหลุดไปอีกจักรวาลหนึ่งเลยก็ว่าได้ (ยิ้ม)
all : ช่องทางอินเทอร์เน็ต มีอิทธิพลเป็นอย่างมากในการเป็นนักเขียนของ ‘รอมแพง’ ช่วยขยายความช่องทางนี้ให้ฟังได้ไหมว่า มันดีอย่างไร
รอมแพง : ถ้าอย่างเว็บพันทิปนี่ ผู้อ่านจะเป็นผู้ใหญ่ที่พูดจาตรงไปตรงมาพอสมควร ทำให้เราสามารถแก้ไขงานได้ทันที งานตรงจุดไหนที่คล้ายกับงานของเรื่องอื่น เขาก็จะติงมาที่เรา และแก้ไขปัญหานั้นได้ก่อนที่จะเกิดปัญหาใหญ่ขึ้น รวมไปถึงดูสำนวนและเหตุผลในเรื่องของเรา เพราะตอนเริ่มเขียนแรก ๆ ก็จะเหมือนนักเขียนใหม่ทั่วไป ที่ไม่รู้ว่าจะจับต้นชนปลายอย่างไร หรือจบเรื่องตรงไหน ก็จะมีผู้อ่านนี่แหละที่คอยติงว่า ข้อมูลตรงไหนไม่ใช่ ข้อมูลตรงไหนควรหาเพิ่ม หรือข้อมูลตรงไหนควรลดทอนลง ซึ่งผู้อ่านในเว็บไซต์ถือส่วนสำคัญมากที่ทำให้เราเขียนมาได้จนถึงทุกวันนี้ เพราะเป็นคนที่คอยให้กำลังใจ ให้ข้อมูล และจุดประกายการเขียนให้กับเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพล็อต เนื้อหา หรือความคิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เขามีต่อเรื่องของเราก็ตาม
all : การจบเอกประวัติศาสตร์ศิลปะ มีส่วนช่วยในการเขียนของตัวเองหรือไม่
รอมแพง : มีส่วนมาก เพราะเรียนจบศิลปากรด้านโบราณคดีมา เขาก็จะสอนเรื่องการหาหลักฐาน และการไม่ปักใจเชื่ออะไรง่าย ๆ ให้กับเรา เพราะหลักฐานทางประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอดเวลา ถ้าพบกับหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ชิ้นใหม่ โดยเราถูกสอนให้คิดว่า ทุกสิ่งอย่างสามารถเปลี่ยนแปลง และเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปได้ ถ้ามีหลักฐานหรือเหตุผลรองรับเพียงพอ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องการเขียนของตัวเอง ตอนที่ค้นหาข้อมูลและสร้างเนื้อหาที่มีความเป็นเหตุเป็นผลขึ้นมา
all : ต้องอ่านมาก คิดมาก ดูมาก อยู่เป็นประจำหรือเปล่า เมื่อผันตัวเองมาเป็น ‘นักเขียน’ แล้ว
รอมแพง : การเป็นนักเขียนต้องอาศัยทักษะ โดยทักษะที่ได้จะมาจากการที่เราทำซ้ำ ทำบ่อย อยู่เป็นประจำ ซึ่งเรามีทุนเดิมในเรื่องของการอ่านอยู่แล้ว เพราะเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก อ่านหนังสือได้ตั้งแต่ ป.2 และอ่านนิยายเล่มใหญ่ ๆ ได้ตั้งแต่ ป.4 โดยนิยายเรื่องแรกที่อ่านและยังจำได้อยู่ นั่นก็คือเรื่อง ‘ในฝัน’ ของ ‘โรสลาเรน’ ต่อมาเป็นเรื่อง ‘สัมผัสที่หก’ ของ ‘ตรี อภิรุม’ โดยที่อ่าน 2 เล่มแรกนี้เป็นเพราะว่า อ่านนิทานอีสปจนหมดห้องสมุดประชาชนแล้ว ก็เลยเลื่อนไปอ่านหนังสือหรือนิยายที่เล่มหนาและใหญ่ขึ้น แต่ 2 เรื่องนี้ก็ยังไม่ใช่นิยายเล่มโปรดของตัวเอง นิยายเล่มโปรดที่ตัวเองชอบมาก นั่นก็คือเรื่อง ‘เสราดารัล’ ของ ‘กิ่งฉัตร’ ที่ชอบเป็นเพราะนางเอกเรื่องนี้เข้มแข็งมาก เป็นความเข้มแข็งที่ไม่แข็งกร้าวจนเกินไป ออกแนวจินตนาการนิด ๆ และเป็นความรักที่นักอ่านทุกคนโหยหาและใฝ่ฝันถึงว่า ครั้งหนึ่งอยากจะมีความรักที่โรแมนติคแบบนี้บ้าง
all : นิยายของ ‘รอมแพง’ ส่วนใหญ่มักจะเน้นเรื่องราวรักโรแมนติค แสดงว่า เรื่องรักน่าจะเป็นเรื่องถนัดของ ‘รอมแพง’ ข้อสันนิษฐานนี้ถูกต้องหรือไม่
รอมแพง : ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าถนัดหรือเปล่า แต่สิ่งที่เขียนออกไปคือสิ่งที่เราชอบ ซึ่งหนังสือหรือนิยายโดยทั่วไป แม้กระทั่งชีวิตความเป็นอยู่ของคนทุกคน ย่อมผูกพันและอยู่ได้ด้วยความรัก อาจจะรักพ่อ รักแม่ รักพี่ รักน้อง หรือรักอย่างคนหนุ่มสาว ซึ่งอารมณ์ดังกล่าวมีพลังแฝงอยู่เยอะมาก และถ้าพลังของอารมณ์ดังกล่าวมากระทบใจเราเมื่อไหร่ พลังเหล่านั้นก็จะถูกแปรเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบของการเขียนทันที เพราะเราเข้าถึงอารมณ์เหล่านั้นได้อย่างลึกซึ้ง แต่ไม่ใช่ว่าจะเน้นเรื่องรักโรแมนติคเพียงอย่างเดียว แต่จะมีเรื่องของธรรมะเข้าไปเชื่อมโยงด้วย ไม่ว่าจะเป็น คนดีตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ หรือทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เพื่อที่จะบอกถึงความคิดและความเชื่อของเราที่มีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายใต้เรื่องที่เขียนออกมา
โปรดติดตามอ่านต่อได้ในall Magazine : ปีที่ 8 ฉบับที่ 7 พฤศจิกายน 2556
นัดพบนักเขียน : ยุทธชัย สว่างสมุทรชัย ภาพ : วิลาสินี เตียเจริญ