สมเถา สุจริตกุล : เจ้าของนามปากกา S.PSOMTOW ที่โด่งดังในโลกวรรณกรรม

สมเถา สุจริตกุล

"10 ปีแรกของการเป็นนักเขียน ผมไม่กล้าที่จะใช้อะไรที่แสดงให้เห็นว่าเกี่ยวข้องกับประเทศไทยเลย เพราะกลัวจะถูกมองว่าเป็นนักเขียนเอเชีย แต่หลังจากนั้นก็เริ่มใช้ และใช้มาตลอด เพราะรู้สึกว่าไม่ควรหันหลังให้กับมรดกของชาติตัวเอง"

ส่วนหนึ่งของคำพูดที่ออกจากใจนักเขียนคนไทยที่ก้าวขึ้นสู่เวทีสากลอย่างเต็มตัวไปแล้ว เพราะปัจจุบันเขาเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงระดับโลกทั้งนิยายวิทยาศาสตร์และนิยายสยองขวัญ โดยใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา และกลับมาเมืองไทยบ้างเป็นครั้งคราว ใช่แล้วค่ะเรากำลังหมายถึง สมเถา สุจริตกุล เจ้าของนามปากกา S.PSOMTOW ที่โด่งดังในโลกวรรณกรรม

สมเถา เกิดในกรุงเทพฯ แต่ไปเติบโตในประเทศอังกฤษ จบมัธยมศึกษาที่วิทยาลัยอีตัน และได้รับทุนการศึกษาจนสำเร็จปริญญาตรีและโท เกียรตินิยมวิชาดนตรีควบคู่กับวรรณคดีอังกฤษจากเคมบริดจ์

เขาเริ่มต้นจากการทำงานด้านดนตรี ตั้งแต่ปี 2520 และเป็นผู้ริเริ่มการใช้เครื่องดนตรีไทยเดิมมาบรรเลงร่วมกับเครื่องดนตรีตะวันตกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การดนตรี

และนอกจากอัจฉริยะภาพด้านดนตรีแล้ว เขายังสร้างชื่อ S.P SOMTOW ให้เป็นที่โด่งดังในโลกของวรรณกรรม โดยได้ประพันธ์นวนิยายภาษาอังกฤษออกสู่ตลาดมาแล้วกว่า 40 เรื่อง รวมทั้งเรื่องสั้นหลากหลายเนื้อหา และอรรถรสอันงดงาม ทำให้มีผลงานได้รับเลือกเป็นหนังสืออ่านประกอบการศึกษาวิชาวรรณคดีในวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยหลายสถาบันในสหรัฐอเมริกา และส่วนหนึ่งของผลงานเหล่านี้ได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ กว่า 10 ภาษา รวมทั้งภาษาไทยด้วย

คุณสมเถาได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการสร้างสรรค์งานเขียนว่า เมื่ออายุประมาณ 25 ปี หลังจากทำงานด้านดนตรีมาได้ระยะหนึ่ง เขาเริ่มพบทางตันในงานดนตรี คิดอะไรไม่ออก แต่งอะไรไม่ได้เลย จึงลองหันมาแต่งหนังสือดูบ้าง หลังจากที่แต่งเรื่องสั้นไปได้ระยะหนึ่ง ก็เริ่มส่งไปตามสนพ.จากนั้นประมาณ 1 ปี ชื่อของเขาก็เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น และภายในระยะเวลา 4-5 ปีของการเขียนหนังสือ การดนตรีเริ่มถอยหลังลงไปมาก หนังสือเป็นสิ่งหนึ่งที่สร้างรายได้ได้เหมือนกัน เขาจึงเริ่มหันมาให้ความสนใจกับงานเขียนอย่างจริงจัง และกว่าสิบปีที่ผ่านมานี้ เขาก็ไม่ได้อยู่ในโลกของดนตรีอีกเลย

จนเมื่อประมาณต้นปี 2544 เขาได้หันกลับมาให้ความสนใจกับงานดนตรีอีกครั้ง โดยก่อตั้งคณะมหาอุปรากรกรุงเทพขึ้น ทำให้หลายคนคิดว่าเขาจะทิ้งงานวรรณกรรมไปหรือไม่ ซึ่งในข้อนี้เราได้รับการยืนยันจากคุณสมเถามาแล้วว่า ไม่…แน่นอน เพราะเมื่อเร็ว ๆ นี้เขาก็เพิ่งคว้ารางวัลชนะเลิศเวิลด์แปซิฟิกอวอร์ด ซึ่งเป็นรางวัลที่ใหญ่ที่สุดในแฟนตาซีโลก และกำลังวางแผนรวมเล่มผลงานเรื่องสั้นซึ่งขณะนี้มีอยู่ประมาณ 100 เรื่อง และตั้งใจไว้ว่าอีกประมาณ 1 ปีจะกลับมาเขียนนวนิยายอย่างจริงจังอีกครั้ง แต่ในระหว่างที่อยู่ในเมืองไทยนี้ก็จะต้องบินกลับไปอเมริกาบ้างเป็นครั้งคราว เนื่องจากยังมีการประสานงานในส่วนต่าง ๆ อยู่ ทั้งเรื่องสัญญางานเขียนและเรื่องภาพยนตร์ เพราะตอนนี้มีการเจรจากับริษัทภาพยนตร์แห่งหนึ่งเกี่ยวกับการนำหนังสือบางเล่มไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ซึ่งในปีนี้จะมีการจับมือร่วมกันระหว่าง 3 ชาติ คือผู้กำกับจากประเทศญี่ปุ่น ภาพยนตร์เป็นภาษาอังกฤษ แต่บริษัทผู้สร้างเป็นของฝรั่งเศส นำผลงานเรื่อง Dargon's Fin Soup ของคุณสมเถาไปสร้างเป็นภาพยนตร์

เกี่ยวกับทัศนะของการมองแวดวงวรรณกรรมไทยเราในปัจจุบัน คุณสมเถามองว่าเป็นสิ่งที่ผู้อ่านและผู้เขียนสนใจไม่ตรงกันมากกว่า และบางอย่างก็ขึ้นอยู่กับความกว้างใหญ่ของสนามเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อย่างเช่นสนามในวัฒนธรรมภาษาอังกฤษจะมีเยอะมาก มีคนทำอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมามากมาย และต้องเป็นที่สิ่งแปลกใหม่ เพราะฉะนั้นมุมมองระหว่างตะวันตกกับตะวันออก จะไม่เหมือนกันเลย ของเอเชียเราศิลปะมีเพื่อให้โลกสวยงามขึ้น แต่ศิลปะในตะวันตกมีไว้เพื่อให้เห็นความจริงอันลึกซึ้ง ซึ่งอาจจะไม่ทำให้ชีวิตเราสวยงามเลยก็ตาม ฉะนั้นในเรื่องของมุมมองที่ไม่เหมือนกันจึงเป็นสาเหตุที่ลึกมาก และห่างกันเสียจนการแปรสิ่งต่าง ๆ ให้เห็นซึ่งกันและกันมันกว้างมากเกินไป เราจึงจะต้องคิดประดิษฐ์อะไรใหม่ ๆ ขึ้นเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น

การทำงานของคุณสมเถาในปัจจุบันนับเป็นความกลมกลืนกับการดำเนินชีวิตประจำวันไปเสียแล้ว ก็เจ้าตัวถึงกับบ่นอุบว่าค่อนข้างจะกลุ้มใจอยู่สักหน่อย เพราะงานอดิเรกทุกอย่างที่เคยทำเมื่อตอนเด็ก ๆ กลับกลายเป็นงานอาชีพที่สร้างเสริมรายได้ให้กับเขาได้หมด ไม่ว่าจะเป็นการเล่นดนตรี เขียนหนังสือ แต่ก็พอจะมีบางอย่างเหลืออยู่บ้าง ที่ทำแล้วยังขายเป็นรายได้ไม่ได้ก็คือ การถ่ายรูป วาดรูป ที่ยังพอจะทำได้ในยามว่าง เป็นสิ่งสุดท้ายที่เหลืออยู่ไม่ได้ทำเพื่อเลี้ยงชีพ เป็นสิ่งที่ทำแล้วพอจะคลายเครียดได้บ้าง

แม้กระทั่งการชมภาพยนตร์ ที่เคยได้รับความสนุกสนานขณะนั่งชม แต่เมื่อเริ่มมีการขายลิขสิทธิ์ของเรื่องสั้นต่าง ๆ ให้บริษัทสร้างภาพยนตร์ เดี๋ยวนี้เวลาชมก็ไม่ค่อยสนุกเท่าไร เพราะจะวิจารณ์ไปด้วย ประมาณว่า เอ๊ะ..ตรงนี้ตรงนั้นตัดต่อผิดนี่นา ก็เลยไม่ค่อยสนุกแล้ว หรือว่าเวลาดูหนังสยองขวัญก็จะรู้แล้วว่าสเปเชี่ยลเอ็ฟเฟ็กเขาทำอย่างไรกัน ก็จะไม่รู้สึกน่ากลัวเลย

และสำหรับผู้ที่มีความสนใจในอาชีพงานเขียน เราลองมาฟังคำแนะนำและเรื่องราวจากประสบการณ์ของคนไทยผู้หนึ่งซึ่งนับได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงกับอาชีพนักเขียนในต่างแดนดูค่ะ คำถามที่นักเขียนฝรั่งหลายคนมักถูกถามก็คือ อยากให้พูดอะไรกับคนที่อยากเป็นนักเขียน เขาจะตอบว่า อย่าเป็นเลย ก็คือว่า ถ้าคุณอยากเป็นจริง ๆ ก็จะไม่มีอะไรในโลกบังคับไม่ให้เป็นได้ เพราะเป็นสิ่งที่ต้องเป็นให้ได้ และถ้ายิ่งบอกไม่ให้เป็นก็จะยิ่งดื้อรั้นต้องเป็น

สิ่งสำคัญของนักเขียนทุกคนก็คือการที่จะเอาสิ่งที่เราแต่งเข้าไปในมือของคนอ่านให้ได้ เพราะว่าถ้าเราแต่งแล้วอ่านคนเดียวมันก็ไม่ใช่เป็นสาเหตุที่เราแต่ง ทุกคนที่แต่งอะไรออกมาก็ตาม หมายความว่าเขามีอะไรสักอย่างที่ต้องการจะพูดให้คนอื่นฟัง คือเขาจะคิดว่าคนอื่นไม่มีในสิ่งที่เขาพูด เขาพูดได้คนเดียว มีหลายทางที่จะนำผลงานเหล่านี้ไปสู่ผู้อ่านได้ แต่ว่าผลงานเหล่านี้คล้าย ๆ จะมีการแบ่งชั้นวรรณะเหมือนกัน หมายความว่าสิ่งที่คนจะยกย่องมากที่สุดก็คือการที่สนพ.ใหญ่ ๆ จะเขียนเช็คใบโตให้แลกกับเรื่องของเรา และสิ่งที่อาจจะได้รับการยกย่องน้อยหน่อยก็คือการไปจ้างคนพิมพ์เองแล้วก็นำไปแจกเพื่อน ในเมืองนอกถ้าออกเงินไปพิมพ์เอง ทุกคนจะดูถูกทันทีว่านี่ไม่ใช่หนังสือที่ซีเรียส ไม่ใช่หนังสือดี จะไม่มีการยอมรับเกิดขึ้นทันที แต่ในเมืองไทยยังพอจะทำได้และบางคนทำแล้วก็สำเร็จมากด้วย สมมติว่าถ้าบังเอิญคุณมีเงินอยู่ก้อนหนึ่ง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคนอื่นต้องได้อ่านงานของคุณ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดไม่มีใครทำให้ ทำเองก็ได้แล้วในที่สุดสิ่งตอบแทนก็จะมาเอง ถ้าสิ่งที่เราแต่งมันเป็นสิ่งที่คนอยากอ่าน

มีอีกวิธีหนึ่งก็คือ ในเมืองนอกมีคนชอบถามผมว่ามีเคล็ดลับอะไรหรือเปล่า เพราะมีหนังสือออกแล้วตั้ง 47 เล่ม จริง ๆ แล้วมันไม่มีหรอกครับ ทางเดียวที่จะให้หนังสือของคุณออกไปสู่ผู้อ่านได้ ก็คือใส่ซองแล้วส่งไปให้ถึงมือบรรณาธิการ ผู้ซึ่งจะเป็นคนตัดสินงานของคุณว่าจะไปถึงมือผู้อ่านส่วนมากได้หรือไม่ ตรงนี้อาจจะมีข้อแนะนำว่า เรื่องที่คุณส่งออกไปคุณต้องพยายามเขียนหน้าแรกให้มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพื่อดึงดูดให้ผู้อ่านอยากอ่านในหน้าต่อ ๆ ไป…จำไว้ว่าหน้าแรกมีความสำคัญมากที่สุด…

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ