ประภัสสร เสวิกุล : นักเขียนที่ดีจะต้องเริ่มต้นจากนักอ่านที่ดี

ประภัสสร เสวิกุล

     ชื่อของประภัสสร เสวิกุล ใครที่เป็นนักอ่านคงไม่พลาดผลงานเขียนที่ยิ่งใหญ่หลาย ๆ เรื่องของนักเขียนผู้นี้เป็นแน่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง อำนาจ ชี๊ค เวลาในขวดแก้ว และอีกหลาย ๆ เรื่องของเขา ที่สร้างสรรค์ฝากไว้ในบรรณพิภพแห่งวงการวรรณกรรมนี้

      แน่นอนว่าผลงานเขียนของประภัสสร เสวิกุล มีความหลากหลายในรสวรรณกรรมไม่จำกัดเพียงแค่สไตล์ใดสไตล์หนึ่งและในแต่ละเรื่องเขาสามารถสร้างให้ตัวละครแต่ละตัวละครดำเนินชีวิตไปเองได้ตามบทบาทหน้าที่ได้อย่างสมจริง ทั้งนี้สืบเนื่องด้วยเขาไม่ใช่นักเขียนที่ไม่มีแต่เพียงจินตนาการเท่านั้นหากเขาทั้งศึกษาและค้นคว้าเพื่อให้เกิดความสมจริงในเนื้อหาและในตัวละคร

      "การเขียนเราต้องเข้าใจตัวละคร ต้องสร้างตัวละครให้มีพื้นฐาน หรือมีพื้นหลังที่แน่นเพียงพอ ทั้ง ในแง่ของความเชื่อ การศึกษา เรื่องของครอบครัว ศาสนา ลัทธิการเมือง เราต้องสร้างให้ตัวละครมีความเชื่อก่อน ถ้าตัวละครมีความแน่นตรงนี้พอเมื่อถึงจุดหนึ่งเขาแก้ปัญหาได้เอง เพราะฉะนั้นตัวละครทุกเรื่องของผมจะแก้ปัญหาด้วยตัวของเขาเอง ผู้เขียนไม่ได้แก้ปัญหาให้เขาหรอก เนื่องจากเราวางสิ่งที่เขาเป็นให้แน่นพออยู่แล้ว เพราะปัญหาเดียวกัน คนที่ต่างปูมหลัง ต่างการศึกษา ต่างวัฒนธรรมจะแก้ปัญหากันคนละอย่าง อย่างเรื่องชี๊คพอเราสร้างให้ตัวละครคือดาวีคแน่นพอถึงจุดหนึ่งเขาไปของเขาเองได้ แต่เราต้องศึกษาเพียงพอเพื่อที่จะสร้างให้ตัวละครคิดได้เอง เดินไปได้เอง มีอารมณ์ของเขาเอง การเขียนเรื่องนี้ผมจึงศึกษาเรื่องของชนเผ่า เศรษฐกิจสังคมการเมือง เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่อิงความเป็นจริงเราต้องศึกษาเพื่อสร้างให้เหมือนจริง

     การที่ผมมีตรงนี้สืบเนื่องจากผมอ่านวรรณคดีไทย หลาย ๆ เรื่องที่อ่านมันให้ปรัชญากับผู้อ่าน คนรุ่นใหม่ไม่ได้อ่านก็จะขาดตรงจุดนี้ไปปรัชญาความคิดตะวันออกซึ่งมันจะต่างจากตะวันตก ประกอบกับผมชอบการเขียนกลอนเป็นพื้นเดิมอยู่ผมจึงสะสมทั้งถ้อยคำภาษา ความรู้สึก อารมณ์ไว้พอสมควร ซึ่งผมถือว่าการอ่านหนังสือมันคือรากทางความคิด รากทางวัฒนธรรม เมื่อถึงวันหนึ่งเราเขียนหนังสือสิ่งที่เราสะสมไว้มันก็จะเกิดการเชื่องโยงในการที่เราจะนำมาสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งตรงนี้ผมถือเป็นสิ่งสำคัญ"

     ด้วยเหตุที่คุณประภัสสร เป็นทั้งนักอ่าน นักเขียน เมื่อวันหนึ่งได้มีโอกาสเข้ามาบริหารงานให้กับสมาคมนักเขียนโดยมีตำแหน่งเป็น นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย แนวคิดในการสร้างให้วงการวรรณกรรมก้าวต่อไปข้างหน้า แนวทางหนึ่งคือทำอย่างไรถึงจะทำให้บ้านเรามีนักอ่านที่ดีและมีนักเขียนที่เต็มไปด้วยคุณภาพทั้งสองสิ่งนี้คุณประภัสสรเห็นว่า - ต้องสร้างให้เกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กัน…

     "งานตรงนี้เป็นเหมือนงานบริการที่เราให้กับสังคม ตัวสมาคมเองก็ไม่ได้วุ่นวายอะไร มันก็เป็นเรื่องของคนเสียมากกว่าอย่างอื่น จุดประสงค์แรกเลยที่ทำมาตั้งแต่เป็นนายกฯสมัยแรก ๆ คือการเข้าไปดูแลและเชิดชูนักเขียน ซึ่งเวลาสามปีที่ผ่านมาก็ทำได้ระดับหนึ่งด้วยการตั้งรางวัลนราธิปขึ้นเพื่อยกย่องนักเขียนที่มีอายุแปดสิบปีขึ้นไป มีผลงานยาวนานสืบเนื่อง และผลงานนั้นเป็นที่ยกย่อง ซึ่งทำไปประมาณ 30 กว่าคนแล้วในขณะนี้

     ต้องคิดว่าบางคนอายุตั้ง80 ปีในชีวิตเขาไม่ได้รับรางวัลอะไรเลย ท่านทำงานมาเยอะมากแต่กลายเป็นคนที่ถูกสังคมลืม นักเขียนรุ่นใหม่ ๆ ก็แทบจะไม่มีใครรู้จักท่าน เรายกท่านขึ้นมาก็เหมือนกับทำให้ท่านมีความสุข และทำให้ทุกคนเห็นว่าท่านมีผลงาน ท่านเคยทำงานมาแล้วอย่าลืมท่านในจุดนี้ บางท่านมีกำลังใจกลับมาทำงานใหม่ก็มี ตรงนี้ถือได้ว่าเป็นการเชื่อมโยงนักเขียนรุ่นเก่ากับนักเขียนรุ่นปัจจุบันเข้าไว้ด้วยกัน

     และโครงการที่ทำต่อมาคือการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนักเขียนไทยกับนักเขียนต่างประเทศ ปีที่แล้วที่จัดไปคือวรรณกรรมสัมพันธ์ไทย - กัมพูชามีการลงนามในบันทึกความเข้าใจความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ในด้านวรรณกรรม เพื่อที่จะแปลงานของนักเขียนไทย-กัมพูชา ในส่วนของกวีนิพนธ์กับเรื่องสั้น เป็นสามภาษา คือไทย กัมพูชาและอังกฤษ เพื่อเผยแพร่ออกไปในภูมิภาคและในต่างประเทศด้วย เพราะเราเห็นว่าวรรณกรรมมีส่วนสร้างความสัมพันธ์ในระหว่างประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วยดีถ้าเราอ่านงานเขา เขาอ่านงานของเรา สิ่งที่ได้ตามมาคือเกิดความเข้าใจทั้งแนวคิด สภาพสังคม และวัฒนธรรมในแต่ละประเทศ

     สำหรับโครงการอื่น ๆ ที่จะมีคือโครงการสัมนานักเขียนทั่วประเทศเชิญนักเขียนทั่วประเทศมาร่วม สัมมนาใหญ่ที่กรุงเทพฯเพื่อเชื่อมโยงความคิดแต่ละภูมิภาคเข้าหากัน สร้างความเป็นเอกภาพทางความคิด และสร้างเอกภาพด้านของตัวนักเขียนเองด้วย เพราะทุกวันนี้เหมือนเราต่างคนต่างทำงานถ้าเราได้มีโอกาสมาคุยกัน แลกเปลี่ยนทางความคิด แล้วก็มองหาปัญหาอุปสรรค์ที่เกิดขึ้นเพื่อที่จะหาทางแก้ไขต่อไป

     ทางสมาคมเคยคิดทำสัมมนาโต๊ะกลมโดยเชิญสำนักพิมพ์ สายส่ง ร้านขายหนังสือ นักเขียน นักแปล มานั่งคุยกัน เพื่อที่จะหาความเข้าใจให้ตรงกันในปัญหาด้านต่าง ๆให้เกิดความเข้าในทางความคิด การทำงานในการที่จะเอื้อประโยชน์ให้แก่ทุก ๆฝ่ายได้โดยไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ การเติบโตของวงการวรรณกรรมไทยมันเป็นเรื่องที่ตอบยาก เนื่องจากปัจจัยมันเยอะไม่ใช่อยู่ที่นักเขียนอย่างเดียว สำนักพิมพ์ก็มีส่วน และยังมีองค์กรต่าง ๆที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย เป็นสิ่งที่เราจะต้องมานั่งพูดคุยกันเพื่อที่จะได้มองปัญหาไปในแนวทางเดียวกัน

     เราก็พยายามเข้าไปร่วมกิจกรรมทางสังคมในหลาย ๆ เรื่องด้วยกันเพื่อที่จะให้บทบาทของนักเขียนเป็นที่ยอมรับให้สูงขึ้น จุดสำคัญต้องเริ่มจากตัวนักเขียนเองด้วย ผมคิดว่าเรื่องความคิดความรู้เป็นสิ่งสำคัญ ทางสมาคมจึงคิดที่จะทำโครงการเชิญผู้มีประสบการณ์ต่าง ๆ มาบรรยายบ้างเป็นครั้งคราวให้นักเขียนได้รับรู้ข้อมูลในเชิงลึกมากขึ้น มันก็เหมือนกับว่าเรามีกำลังแต่ขาดอาวุธซึ่งตรงนี้อาจจะช่วยได้ เช่นนักเขียนอาจจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องหุ้น เราก็จะเชิญประธานหุ้นมาพูดให้ฟังเพื่อที่จะได้ข้อมูลที่ถูกต้องแท้จริงเป็นการขยายมุมมองของนักเขียนให้กว้างออกไป

     ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งนักเขียนที่ดีจะต้องเริ่มต้นจากนักอ่านที่ดีก่อนตรงจุดนี้เราจะต้องสร้างให้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน เพราะว่านักอ่านที่ดีเขาจะเป็นคนบอกเราว่าเขาต้องการงานอย่างไหน ชอบหรือไม่ชอบงานที่นักเขียนคนนั้น ๆ สร้างสรรค์ออกมา อย่างที่ทางสมาคมพยายามทำก็คือจัดให้มีการประกวด ซึ่งมันเป็นทางหนึ่งในร้อยทางด้วยกัน เช่นจัดให้มีการประกวดเรื่องสั้นของ อ.ชัยวรสินทร์ แนวเรื่องก็จะเกี่ยวกับการส่งเสริมชีวิตของสตรี บทบาทของหญิงไทย ซึ่งจัดปีนี้เป็นปีที่สองแล้ว และการประกวดเรื่องสั้นที่ส่งเสริมสุขภาพจิตของหมอวิทยา นาควัชระ การจัดประกวดตรงนี้ก็เพื่อให้เกิดกระตุ้นให้คนเกิดการอยากทำงานได้มีประเด็นที่ถูกต้องในการสร้างสรรค์ผลงานออกมา

     เพราะผมคิดว่ารางวัลมีส่วนกระตุ้นให้คนเกิดความรู้สึกอยากเขียน และกระตุ้นให้คนเกิดความยากที่จะอ่าน เสร็จแล้วเราจะมีการรวมเล่ม คนอ่านก็จะได้รู้ว่าผลงานที่ได้รับรางวัลเป็นอย่างไร เมื่อเขาอ่านแล้วอาจจะมีความรู้สึกอยากจะเขียนขึ้นมาบ้างก็ได้ ซึ่งเราจำเป็นต้องสร้างทั้งสองอย่างไปพร้อม ๆ กันทั้งคนอ่านและคนเขียน

     ในขณะเดียวกันสำหรับผลงานของนักเขียนรุ่นเก่า ๆ ก็ไม่ได้ถูกทอดทิ้ง ผมได้คุยกับสำนักพิมพ์บางแห่งว่าเราอาจจะต้องคัดสรรเลือกเรื่องแล้วส่งไปให้เขาพิจารณาแล้วตีพิมพ์เพื่อที่จะสืบอายุของงานเอาไว้ จะเห็นว่างานเขียนหนังสือของฝรั่งเขาจะไม่ขาดตอน เรื่องเก่า ๆเขาจะพิมพ์ออกมาเรื่อย ๆ แต่ของเราจะขาดตอนไป ผมคิดว่าสิ่งนี้เราควรจะทำ รายได้ก็อาจจะให้ครอบครัวนักเขียนไป อันนี้เป็นโครงการของทางสมาคมที่คิดว่าจะทำต่อไป"

     ทั้งหมดที่คุณประภัสสร เสวิกุล ได้กล่าวมานั้นคือบทบาทของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยเพื่อ หาแนวทางสร้างสรรค์ให้วงการวรรณกรรมไทยก้าวต่อไปข้างหน้า มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันทั้งนักเขียน สำนักพิมพ์ และองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการที่จะปรับ และเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาร่วมกันอันจะยังประโยชน์ให้วงการวรรณกรรมมีความแข็งแกร่ง สำคัญที่สุดคือการสร้างนักอ่าน เพื่อที่จะให้เกิดนักเขียนที่สร้างงานที่ดีและมีคุณภาพต่อไปในอนาคต…

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ