ไม้หนึ่ง ก. กุนที : กวี…ข้าวหน้าเป็ด Duck Poet's Society

ไม้หนึ่ง ก. กุนที

Duck Poet's Society ชื่อร้านข้าวหน้าเป็ด บะหมี่เป็ด ที่มีเจ้าของร้านเป็นกวีหนุ่มนามว่าไม้หนึ่ง ก. กุนที คอยยืนลวกบะหมี่ให้คุณผู้อ่านได้ลิ้มชิมรสความอร่อยของเป็ดย่างที่ย่างและปรุงรสความอร่อยด้วยมือของเขาเอง...

"ช่วงนี้ไม่ได้เขียนกวีมาสองเดือนแล้ว เพราะมัวแต่ยุ่งเรื่องเปิดร้าน และอะไรก็ยังไม่ลงตัว เปิดได้ประมาณหนึ่งอาทิตย์เศษ ๆ ชื่อร้านตั้งล้อภาพยนตร์เรื่อง Death Poet's Society และเป็นคำล้อของนักเขียนรุ่นพี่ ๆหลายคนที่เขารู้จักตัวผมและรู้จักหนังเรื่องนี้ ก็ล้อกันว่าเมื่อไรผมจะเปิดร้านอาหารสักทีจะได้ตั้งชื่อนี้ พอมีจังหวะเปิดร้านก็ไม่รู้จะใช้ชื่ออะไรดีจึงนำชื่อที่พี่นักเขียนล้อกันมาตั้งมันโดนตัวผมตรงที่ผมเป็นกวีด้วย

ทุกวันนี้ผมก็ตื่นตีสี่มาย่างเป็ดแล้วก็ใส่รถนำมาที่ร้าน ผมอยู่ดูแลร้านประจำ เพราะอะไรยังไม่ลงตัว แต่ประสบการณ์ในอาชีพนี้ผมทำมานานแล้ว" ดังนั้นใครที่เป็นแฟนนักอ่านมติชนสุดสัปดาห์หน้าคอลัมน์กวีก็อาจไม่ได้เห็นผลงานของคุณไม้หนึ่งให้ได้อ่านกัน แต่ถ้าคิดถึงมาก ๆ ก็สามารถแวะเวียนไปลิ้มรสความอร่อยของคุณไม้หนึ่งได้ที่ร้านข้าวหน้าเป็ด Duck Poet's Society ตั้งอยู่บนถนนพระอาทิตย์ ติด ๆ กับร้าน Hamlock รับรองว่าการปรุงรสข้าวหน้าเป็ด บะหมี่เป็ด ไม่แพ้การปรุงรสอักษรเป็นกวีแน่นอน

วันนี้คุณไม้หนึ่งหยุดลวกบะหมี่ชั่วคราวเพื่อมาบอกเล่าถึงเส้นทางในการเป็นกวีของเขา... "ผมหัดเขียนกวีตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม พอเราเริ่มรู้ว่าสิ่งที่เราเขียนสามารถเผยแพร่ได้ ลงหนังสือ ให้คนอื่นได้อ่านในมุมกว้างผมก็ส่งไป ผมก็เหมือนกับนักเขียนหรือกวีคนอื่น ๆ ที่ส่งงานไปลงนิตยสารเป็นช่วงตอนที่ผมเรียนอยู่มหาวิทยลัยปีสามปีสี่แล้ว คือทันทีที่เราเข้าสู่ระบบการศึกษาไม่ต้องหาคำตอบมากวิธีการทำงานมันบังคับให้เราต้องอ่านหนังสือ พอเรารู้ว่ามีนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ที่มีคอลัมน์เปิดให้คนอื่น ๆ ส่งผลงานส่งไปลง ผมก็ส่งงานไป คือเราเข้าสู่ระบบการเผยแพร่งานลงในนิตยสารแล้วไง ส่งไปลงหมด ศิลปวัฒนธรรม หนังสือฟ้า

แต่ผลงานเริ่มลงครั้งแรกเลยที่สยามรัฐในคอลัมน์ ลมหายใจกวีของคุณไพลิน รุ่งรัตน์ คนเขียนหนังสือจะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผลิตงานได้อย่างกับโรงงาน คือเขียนได้ทั้งวันทั้งคืน มันเป็นช่วงวัย ในช่วงนั้นผมส่งกวีไปเยอะมากเกินไปหรือเปล่าไม่ทราบเขาจึงลงงานผมน้อย

พอรู้สึกว่าระยะหลังเขาไม่ลงงานของผมสักที่ จึงรู้สึกกังขา เลยเอาต้นฉบับที่ส่ง ๆ ไป มาทบทวนอ่านดูว่ามีอะไรที่เขาไม่ชอบใจถึงไม่ลง เราก็เลยเขียนจดหมายไปขอถอน แล้วก็เอางานชุดที่ทำขึ้นหกสิบเจ็ดสิบชิ้น กลับมาทบทวนพิมพ์ใหม่แล้วก็ส่งไปที่มติชน ที่มติชนก็เริ่มลงแผ่ว ๆ ก่อน คือเดือนสองเดือนลงสักชิ้นหนึ่ง ผมว่าที่ได้ลงอาจเป็นเพราะงานของผมฉีกไปจากงานของคนอื่น ๆ ด้วย และอาจจะตรงกับอารมณ์ของบรรณาธิการชัดเจน ผมว่าคนทำงานศิลปะทุกคนต่างแสวงหารสชาติใหม่ ๆ เป็นปฐม ประการแรกคือหางานที่ถึง ประการที่สองคือบางที...ความใหม่ก็อาจจะแรงกว่าความถึง บางงานผมก็อาจจะไม่ถึงหรอก แต่ในยุคนั้นสมัยนั้นตอนช่วงเมื่อสิบปีที่แล้วอาจจะมีความใหม่ มีความสดมีความแรง ประมาณปี2537 ถึง 2538 งานผมจึงได้ลงประจำ จากนั้นก็ลงมาต่อเนื่อง จนเกิดคำกระแหนะกระแหนว่าทำไม่ไม่เปิดเป็นคอลัมน์ประจำไปเลย บก.คณเสถียร จันทิมาธร เคยให้สัมภาษณ์หน้าจุดประกายวรรณกรรม กรุงเทพธุรกิจ สมัยที่บก.ได้รางวัลศรีบูรพา พูดประมาณว่าบรรณาธิการกับกวีเสมือนเป็นคนรักกัน แต่สำหรับไม้หนึ่ง มันต้องแต่งงานกัน (หัวเราะ) ผมก็รู้สึกว่าบก.อุปมาอุปมัยได้ดี

การเขียนกวีมันเป็นธรรมชาติของคนจริง ๆ งานที่ผมเขียน ๆยิ่งยุคข้าวหน้าเป็ด บางเราในนคร เป็นกวีนิพนธ์เล่มแรกผมเขียนในระหว่างการทำงานทั้งนั้นเลย เช่น ขณะกำลังขยำหมูอยู่ มีกระดาษนึกเขียนก็เขียนออกมา ถ้าเราจะบีบคั้นเพื่อที่จะทำความเข้าใจ อธิบายมันก็ต้องใช้ความรู้สึกของคนที่มีพื้นฐานทางเซ็น คือการรับรู้โดยทันใด หมายถึงอยู่ ๆ มันผลุดขึ้นมาเลย เหมือนเราไม่ได้ใช้ความคิด แต่อยู่ ๆมันผลุดขึ้นมา แล้วเราก็บันทึก เพียงแต่ก่อนที่จะส่งบก. เราก็ใช้ความสามารถทางอักษรศาสาตร์หรือภาษาตะล่อมมันให้เข้ารูปทรงที่บก.และผู้อ่านยอมรับ เพราะความรู้สึกบางอย่างมันก็ดิบเกินไป อย่างศิลปินอิมเพรสชั่นนิสที่ทำงานสะท้อนความรู้สึกแบบเร็ว ๆ คือกำลังพูดว่าบางคนก็โดนใจผู้ดูภาพเขียน แต่ถ้าผมเขียนแบบที่มันผลุดออกมาเลยไปเสนอ มันก็น่าจะยังไม่ถึงความพอดีคนอ่านหรือบก. ดังนั้นเราจึงต้องปรับปรุงนิดหน่อย ช่วงนั้นยิ่งทำงานไม่หยุดมือยิ่งผลุด ต้องมีกระดาษคอยจด การเขียนกวี ไม่ใช่จะต้องนั่งว่าง ๆ ปล่อยอารมณ์ถึงจะเขียนได้ การทำอย่างนั้นสำหรับผมไม่เกิดมรรคผลอะไรเลย

อย่างสองเดือนที่ผ่านมาผมไม่เขียนงานเลย มีบางช่วงที่ผมว่างจากลวกบะหมี่ขึ้นมาจิบน้ำชา ผมก็ไม่อ่านหนังสือนะ เพราะผมจะไม่บีบคั้นให้ตัวเองต้องอ่านหรือเขียนหนังสือ มันเหมือนกับเป็นช่วงชีวิต ช่วงนี้ที่หยุดเขียนอาจเป็นเพราะจังหวะยังไม่พอดีกับผู้อ่านด้วยก็เป็นได้ คือชีวิตของคนมันมีช่วงวัย ยังไม่ถึงฤดูของการเขียนบทกวีของผมก็ได้ หรือผมอาจโดดกวีทอดทิ้งก็ไม่รู้(หัวเราะ) เขียนไม่ได้ก็ไม่เป็นทุกข์ ไม่รู้สึกอยากเขียนก็ไม่เป็นทุกข์ เราอาจมีความสนใจในเรื่องอื่นมากกว่าในขณะนี้คือต้องขายข้าวหน้าเป็ด"

แม้ช่วงนี้ขณะนี้ ไม้หนึ่ง ก.กุนที จะยังไม่มีบทกวีผลุดมาให้แฟน ๆ นักอ่านได้อ่าน แต่เขาก็ยังมีผลงานรวมเล่ม เล่มแรก ๆ ให้อ่านกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็น บางเราในนคร หรือ รูปทรงมวลสาร พลังงานความรัก ก็ติดตามอ่านกันได้ตามร้านหนังสือ หรือถ้าใครอยากไปพบเจอตัวจริง ๆของกวีหนุ่มท่านนี้ก็ไปที่ร้าน Duck Poet's Society ไปกินเป็ดย่างอร่อย ๆ ได้ที่ ถนนพระอาทิตย์จะพบเจอเขาทุกวัน..

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ