ศรีดาวเรืองเป็นนักเขียนสตรีที่มีคุณค่าต่อวงการวรรณกรรมไทย ไม่ใช่ว่าเพราะเป็นศรีภรรยาของบรรณาธิการใหญ่สุชาติ สวัสดิ์ศรี ไม่ใช่ว่าเพราะเป็นมารดาของนักเขียนหนุ่มอนาคตไกลโมน สวัสดิ์ศรี และไม่ใช่ว่าเพราะเขียนหนังสือมา 30 ปีแล้ว
แต่เพราะศรีดาวเรืองเป็นนักเขียนแนวสร้างสรรค์หญิงที่มีอยู่เพียงไม่กี่คนในประเทศนี้ ผลงานของเธอมีเอกลักษณ์ของตนเอง สะท้อนชีวิตและสังคมไทย อีกทั้งผูกพันกับวัฒนธรรมไทยอย่างแนบแน่น จึงไม่น่าแปลกใจที่งานของเธอจะได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศจำนวนมากทั้ง อังกฤษ ญี่ปุ่น เยอรมัน ฝรั่งเศส อินโดนีเซียและเดนมาร์ก ในวัย 64 ปีของอายุขัย และ 30 ปีของอายุการเขียนหนังสือ เธอเป็นอย่างไรบ้าง ติดตามได้จากบรรทัดต่อไปนี้
มีผลงานเขียนคอลัมน์อยู่ที่ไหนบ้าง เพราะไม่ค่อยเห็นงานในท้องตลาด
ใช่ ถอยห่างมาเยอะ ช่วงนี้ไม่ได้เขียนคอลัมน์ แต่มีงานที่ส่งโรงพิมพ์ ยังไม่เสร็จออกมา
เสร็จทันงาน 30 ปี(ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ วันที่ 9 ต.ค.นี้)หรือเปล่า
สงสัยจะไม่ทัน มีนิยาย และสารคดีอย่างละชิ้น
นิยายเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร
นิยายเกี่ยวกับชาวบ้านที่ถูกไล่ที่
สารคดีเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร
มีอยู่ช่วงหนึ่งได้รับเชิญให้ไปสวีเดน แล้วเราก็เลยไปอังกฤษ ไปเดนมาร์ก ไปเยอรมันด้วย ก็เลยเขียนไว้ทุกประเทศที่ไป ส่งไป 1 เล่ม ส่วนอีก 3 เล่มเขียนทิ้งไว้นานแล้ว คงต้องมารื้อมาดูใหม่ ช่วงหลังงานสารคดีมีเยอะ งานศรีดาวเรืองขายไม่ค่อยดีหรอก(หัวเราะ) ที่แล้ว ๆ มาส่วนใหญ่เป็นเรื่องสั้น รู้ว่างานตัวเองไม่ใช่หนังสือขายดี
30 ปีที่เขียนหนังสือมา คิดว่าอะไรเป็นความโดดเด่นของศรีดาวเรือง
นั่นสิยังสงสัยอยู่ (หัวเราะ) แก่แล้ว เขียนมา 30 ปีแล้ว คงแล้วแต่มุมมอง เห็นว่า จะมีคนมาคุยว่า เขามีความเห็นต่อเรายังไงบ้าง
งานปัจจุบันกับงานยุคแรก ๆ เปลี่ยนแปลงไปมากหรือไม่
เปลี่ยนแน่ เพราะตอนแรก ศรีดาวเรืองเกิดมาจากผลพวงของ 14 ตุลาคม และ 6 ตุลาคม ช่วงนั้นจะเพื่อชีวิตมาก ต่อมาประสบการณ์เราเพิ่มขึ้น แล้วระยะหลังก็รู้ว่า ไม่ใช่นายทุนเลวทั้งหมด คนจนดีทั้งหมด ถูกทั้งหมด แต่ตอนเริ่มต้นเขียนหนังสือจะเป็นอย่างนั้น ตอนหลังพบว่าไม่ใช่ มันแล้วแต่คน ก็จะมองโลกด้วยสายตาที่เป็นความจริงมากขึ้น ประสบการณ์ของคนเรามันเพิ่มขึ้นทุกวัน แตกแขนงออกไป นักเขียนควรจะรอบตัว ไม่ใช่ไปในด้านเดียว
ที่บอกเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้เขียนหนังสือ แล้วทำอะไร
ช่วงนี้จะมายุ่งกับงาน 100 ปีกุหลาบ สายประดิษฐ์ (หยิบเอกสารให้ดู) นี่ต้นฉบับท่าน ก็ช่วยกันแกะลายมือ ช่วยกันพิมพ์ต้นฉบับอยู่ และเป็นเลขาให้คุณสุชาติ (สวัสดิ์ศรี) ช่วยพิมพ์ต้นฉบับสารพัดของเขา เป็นพนักงานพิมพ์ดีด
เห็นว่าคุณสุชาติไปเอาจริงเอาจังกับการวาดรูปแล้วไม่ใช่หรือ
เขายังเขียนอยู่ บทความจะมีบ่อยที่คนมาขอให้เขียน เราจะเป็นคอยคนพิมพ์ให้เขา ส่งอีเมล์ให้
มีหนังสือไปเปิดตัวในงานไหมครับ
มี คือ ราษฏรดำเนิน(The Citizen's Path)เป็น 2 ภาษา เป็นงานเก่าที่ได้รับการแปลแล้ว ลองดูเล่มหนึ่งก่อน เพราะก่อนหน้านั้นเป็นภาษาอังกฤษอย่างเดียวมีเล่มหนึ่ง ชื่อ A Drop of Glass(แก้วหยดเดียว) เป็นภาษาอังกฤษทั้งเล่ม และที่กำลังพิมพ์อยู่ที่สำนักพิมพ์ที่เชียงใหม่ เป็นเรื่องสั้นชุดชาวยักษ์ อันนั้นก็ภาษาอังกฤษล้วน ๆ
อันนี้เป็นงานเขียนยุคแรกๆหรือครับ
ใช่ เป็นงานเขียนชุดแรก ๆ มาจนถึงกลาง ๆ
ลองเล่าย่อ ๆ ว่า ศรีดาวเรือง เป็นมาอย่างไร
ชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก ๆ เป็นคนพิษณุโลก ยากจนมาก เรียนหนังสือได้แค่ ป.4 แล้วก็เข้ามาทำงานใช้แรงงานในกรุงเทพฯ ทางด้านการเขียน หัดเขียนตั้งแต่อายุ 15 ปีแล้ว แต่ว่าไม่ได้ลงตีพิมพ์ ตอนที่อยู่บ้านนอก ก็คิดว่า เราไม่มีทางทำได้หรอก ความรู้แค่นี้ ทำไม่ได้ ก็เลิกเขียน แต่ได้อ่านมาตลอด จนกระทั่งมาพบคุณสุชาติแล้ว ก็รู้ว่าคุณสุชาติทำงานหนังสือ และเราก็ชอบอ่านหนังสือ ได้คุยกัน แล้วลองเขียน เขาก็ให้กำลังใจ และแนะนำ ก็เริ่มต้นใหม่ตอนอายุสามสิบกว่าปี แล้วก็เขียนมาตลอด
ตอนที่เข้ามาทำงานอายุเท่าไหร่แล้ว
จบ ป.4 อายุประมาณ 11-12 ปี อยู่มาหลายแห่ง หลายงาน ตอนอายุ 15 ปีที่คิดว่า ไม่หวังแล้วกับงานเขียน พอมา 6 ตุลาคม 14 ตุลาคม ก็ฟังเขาอภิปรายกันบ่อย ๆ ถึงได้กำลังใจมาว่า เราก็เป็นคนเท่า ๆ กับคนอื่น แม้ว่าจะเป็นคนใช้แรงงาน ก็มีประโยชน์ แรงงานของเรามีคุณค่า แต่ก่อนหน้านั้น คิดว่าตัวเองด้อยค่ามาก ไม่ทัดเทียมคนอื่นเขา พอได้รับคำบอกเล่าว่า มีค่านะ ถ้าไม่มีแรงงาน พวกเศรษฐีทั้งหลายคงอยู่ไม่ได้ ก็ค่อย ๆ มีกำลังใจขึ้น และคุณสุชาติก็แนะนำว่า เอาประสบการณ์เขียนก่อน เคยไปทำงานโรงงานทำแก้วก็เลยเอาตรงนั้นมาเขียน จากนั้นก็เขียนเรื่อยมา
งานเขียนที่ถนัดคือแนวไหน
คิดว่าเป็นเรื่องสั้น แล้วก็อยากจะรู้อย่างอื่นด้วย ก็เขียนคอลัมน์ หัดเขียนบทละครบ้าง หรือว่าวิจารณ์หนังสือบ้าง ก็คิดว่าหลายอย่างที่ทำมา แต่ถ้าช่วงเขียนคอลัมน์ประจำงานอย่างอื่นก็น้อยลง เมื่อก่อนอยู่ดอนเมือง คุณสุชาติไปทำงานโมนไปโรงเรียน เราอยู่คนเดียว มันมีสมาธิ เดี๋ยวนี้พอมาอยู่บ้านนี้ รู้สึกงานอย่างอื่นเพิ่มขึ้น ในขณะที่ตัวเองก็อายุมากขึ้น ขาดความคล่องแคล่ว สมองก็เสื่อมลง ความจำไม่ค่อยจะดีแล้ว
ยังปลูกผักด้วยหรือเปล่า
มาช่วงปีนี้ ต้องไปซื้ออาหาร เพื่อนบ้านทำให้ เพราะถีบจักรยานไปตลาดไม่ไหว ข้อเข่าชักไม่ค่อยดี ปกติทำอาหารเองไปตลาด ปลูกผัก ปลูกอะไร ปีนี้แย่ลง สุขภาพไม่ค่อยดี จึงต้องกินอาหารปิ่นโตบ้าง ถ้ามีแรง มีผืนดินอย่างนี้ น่าปลูกอะไรต่ออะไรทั้งนั้น น้ำก็มี ดินก็มี ทุกวันนี้จะชำต้นไม้ไว้เยอะ คนที่ชอบต้นไม้มาก็จะเอาไป ใครมีที่ดินปลูกก็อยากให้
ไม่เขียนเรื่องเกี่ยวกับต้นไม้บ้างหรือ
ก็เอามาเขียนเหมือนกัน เป็นวรรณกรรมเยาวชน เคยพิมพ์แล้ว ตอนหลังก็เอามาทำหนังสือมือทำอีก พวกหนังสือมือทำเป็นความสุข เหมือนได้พักผ่อน แต่ตอนทำไม่ได้พักผ่อน แต่ก็มีความสุข เหมือนกับตอนไปชำต้นไม้ คือ ชีวิตมันน่าจะหาความสุข ไม่ใช่ว่าเราจะเขียนหนังสือทั้งวันแล้วมีความสุข เราก็ต้องไปที่เราชอบอย่างอื่นบ้าง เมื่อกี้ก็ไปดายหญ้ามาพักหนึ่ง
หนังสือมือทำเป็นอย่างไรบ้าง
(หยิบหนังสือมาให้ดู) มันไม่ใช่หนังสือที่ขายดี ส่วนใหญ่จะเอาไว้แจกกันบ้าง แลกกันบ้าง ขายได้บ้างนิดหน่อย เหมือนไปร่วมสนุกกัน อันนี้เล่มล่าสุด เพิ่งจะพิมพ์เสร็จ บทเพลงนี้แต่งเอง ได้แรงบันดาลใจจากละครเวทีที่ไปดูเรื่อง "ดอนกีโฮเต้" พอไปดูเสร็จ เลยแต่งเพลงไปเพลงหนึ่ง ตอนนี้จะเอามาทำหนังสือมือทำ ถ้าจะเอาไปพิมพ์ที่สำนักพิมพ์คงติดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ แต่ถ้าทำอย่างนี้คงไม่มีใครสนใจ เพราะทำเพียง 30 เล่ม แค่นี้ก็มีความสุข นี่ยังไม่ได้ไปถ่ายเอกสาร นั่งแปะนั่งตัดอยู่
คุณศรีดาวเรืองแปลหนังสือภาษาอังกฤษด้วยหรือ
ใช่
อย่างนั้นก็เก่งภาษาอังกฤษสิ
ไม่เก่ง แต่เปิดดิกชั่นนารีเก่ง ก็มีความสุขดี บางคนบอกว่าเสียเวลาที่จะมานั่งทำอย่างนี้ แต่ตัวเองก็ดื้อรั้น มันอยากรู้อยากเห็นว่าเขาเขียนกันยังไง เรื่องยาก ๆ ไม่ได้ ก็เอาเรื่องเด็ก ๆ ก็พอ ได้อ่านความคิดของชาวต่างชาติ ซึ่งบางทีอ่านแล้ว ของไทยเราไปไม่ถึง อย่างของญี่ปุ่นเขียนเรื่องเซ็กส์คนไทยจะกล้าเขียนหรือไม่ เดี๋ยวจะหาว่า ชี้โพรงให้กระรอกเด็กๆอีก
เคยอ่านงานนักเขียนหญิงรุ่นใหม่ ๆ บ้างหรือไม่
อ่านน้อย เดี๋ยวนี้อ่านหนังสือน้อยลงจริง ๆ ไปทำอย่างอื่นมากกว่า
แต่ยังรู้สึกอยากจะเขียนเรื่องอีกใช่ไหม
เขียนแน่นอน แต่ยังบอกไม่ได้ว่าเราจะเขียนอะไร เป็นข้อเสียของนักเขียนไทยหลายคน มีอารมณ์จะเขียนเมื่อไหร่ มันแวบขึ้นมา ไม่ใช่นักเขียนประเภทค้นคว้า ประเภทใช้สมอง อยู่ ๆ ไม่มีอะไรเลย ค้นคว้าแล้วก็เขียนได้ ทำอย่างนั้นไม่ได้
ต้องรออารมณ์หรือ
ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยบอกว่า นักเขียนไทยมักจะเขียนด้วยหัวใจ มักไม่เขียนด้วยสมอง แต่มีหลายคนทำได้ นักเขียนเก่ง ๆ ที่เขาค้นคว้าเยอะ ๆ แล้วก็เขียน แต่เรารู้สึกไม่เป็นอย่างนั้น เขียนตามที่อยากเขียน เขียนได้ก็เขียน
มีต้นแบบนักเขียนในดวงใจหรือไม่
โดยตรงไม่มี จะได้จากคนโน้นนิดคนนี้หน่อยโดยที่เราไม่รู้ตัว เช่น ช่วงหนึ่งไปอ่านหนังสือท่วงทำนองเก่า ๆ จะติดเขามาโดยไม่รู้ตัว เช่น ถ้าไปอ่านรามเกียรติ์สักพักหนึ่ง จะไปเขียนอะไรก็จะออกมาอย่างนั้น แต่ว่าหลายชิ้นเรามักเห็นตรงข้ามกับเขาแล้วเอามาเขียน เช่น ฟังเพลงดาวลูกไก่ แล้วเราก็คิดตรงข้ามกับเขา ว่าไม่น่าจะโดดเข้ากองไฟ ไม่เห็นด้วยกับเขาก็เขียนไป อีกเรื่องเช่น เวลาวันแม่คนจะใช้ดอกมะลิ สีขาวบริสุทธิ์ หอม บูชาพระ แต่ก็มองตรงข้ามกับเขาว่า เป็นอันตรายมีแต่สารเคมี แล้วก็เอาไปบูชาพระ ให้พระดม มองตรงข้ามกับเขา ไม่รู้จะได้อิทธิพลจากอะไร
ในเรื่องงานเขียนมีความแตกต่างระหว่างนักเขียนหญิงกับนักเขียนชายไหม
ไม่เคยเปรียบเทียบ มันไม่น่าจะเกี่ยวว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เพราะนักเขียนผู้หญิงหลายคนเวลาเขียนเหมือนกับผู้ชายก็มี แต่ไม่รู้ทำไมผู้หญิงเขียนเรื่องยาวเยอะ นิยายรายสัปดาห์ผู้หญิงจะเขียนมากกว่าผู้ชาย ตอนที่ไปสวีเดนก็มีคนถามว่าทำไมไม่ค่อยมีนักเขียนผู้หญิงเขียนเรื่องเพื่อชีวิต ไม่รู้จะตอบเขายังไง ช่วงนั้นผู้ชายเขียนเยอะกว่า ผู้หญิงไม่ค่อยมี
งานเขียนแรก ๆ ของคุณศรีดาวเรืองจัดอยู่ในงานเพื่อชีวิตหรือ
ใช่ งานเพื่อชีวิต
มีแบ่งเป็นยุค ๆ หรือไม่ ยุคไหนเป็นยุคอะไร
ไม่ ให้คนอ่านไปจัดเอาเอง
งานที่คนพูดถึงมากที่สุดเป็นเรื่องอะไร
มัทรี คือ บางคนพูดถึงเพราะว่าไม่พอใจ มันก็เลยช่วยให้พูดกันต่อไปอีก (หัวเราะ) เขาไปมองว่า ไปจาบจ้วงของสูง ซึ่งไม่ใช่ เรานึกถึงเรื่องศาสนาแน่ ๆ แต่เราไม่ได้ไปโจมตี ต้องอ่านก่อนถึงรู้ว่าเป็นอย่างไร ไม่มีเจตนาแน่นอน เป็นชาวพุทธแน่นอน ที่อยากบอกคือ การเผยแพร่ศาสนาพุทธของเรา มันได้แค่ไหน มันได้แค่นั้นที่ชาวบ้านจะจับเอามาใช้เป็นประโยชน์สำหรับตัวเอง เขาอยากจะทิ้งลูกเขา เขาไม่อยากจะเลี้ยงลูกเขา เขาจะไปบวชชี เขาบอกเขาตัดได้แล้ว ลูกก็ไม่ใช่ลูกเขา โลกนี้ไม่มีอะไรเป็นของตัวเอง เขาก็ยืมคำพระมาพูดได้หมด แต่จริง ๆ เขาไม่ใช่คนดีหรอก ทิ้งลูกไว้ข้างถนน ตัวเองก็รู้อยู่ตั้งแต่เป็นเด็ก ไปทำบุญกับยายเป็นประจำ ก็แค่ตามยายไปวัด ไม่ได้รู้เรื่องอะไร พอเป็นสาวขึ้นมาหน่อยได้แต่งตัวสวย ๆ ได้ไปกินอาหารอร่อย ๆ ได้ไปพบชายหนุ่ม พระจะเทศน์ก็เทศน์ไปไม่สนใจ เพราะฉะนั้นถึงจะเข้าวัดมาแต่เด็กมา ก็ไม่ได้อะไรมากไปกว่านั้น ถ้าไม่ศึกษาต่อ เพราะอย่างนั้น เพื่อนบ้านแถวนี้จะมองว่าเราไม่ค่อยไปวัด ก็บอกเขาว่า ถึงจะไม่ได้ไป แต่ก็ไม่ไกลศาสนาหรอก แค่อยู่บ้านอ่านหนังสือท่านพุทธทาสก็คิดว่าพอจะประคับประคองตัวเองได้
เดี๋ยวนี้คนก็ไม่ค่อยได้ไปวัดอยู่แล้วนี่ครับ
ประชาชนส่วนใหญ่แล้วไปวัดเพื่อหวังบุญชาติหน้ากันอยู่นั่นเอง ไม่ได้หวังชาตินี้ ศรีบูรพาก็เคยเขียนเรื่องหนึ่งเหมือนกัน เขาจะเตรียมอะไรต่ออะไรทำบุญ เพื่อหวังบุญชาติหน้า เพื่อบุญจะได้ตอบสนองเขา แต่พอเด็กยากจนมาขอทาน ขอกินอะไรสักนิด เขาก็จะย้อนว่า ฉันให้แก แล้วฉันจะได้อะไร บุญก็ไม่ได้ ฉันให้พระ พระยังสวดให้ ได้บุญ นี่คือความเข้าใจของเขา เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น ท่านพุทธทาสบอกว่า ศาสนาก็ต้องมีอนุบาล ประถม มัธยม มหาวิทยาลัย แต่เรามีแต่อนุบาลเป็นส่วนใหญ่ มีแต่เปลือก เรื่องสั้นอันนี้ ก็แค่ยืมชื่อพระนางมัทรีมา ซึ่งไม่เกี่ยวกับมัทรีเลย แต่ให้ตัวละครกล่าวถึงพระเวชสันดรที่ทิ้งลูกแล้วไปบวช แต่ไม่ได้ไปไกลถึงว่า พระเวชสันดรไปสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า เราไม่ได้ไปไกลถึงตรงนั้น แค่ให้ตัวเองแย้งไปแบบดื้อด้าน เอาตัวรอด
ถ้ากลับไปแก้ไขมัทรีได้คิดว่าจะแก้อะไรไหม
ไม่แก้ หนังสือเล่มนี้ก็มีคนเอาไปแปล ตัวเองก็อ่านไม่ออก ไม่รู้ว่า เขาแปลยังไงบ้าง คนที่แปลก็แปลชุดชาวยักษ์ด้วย ก็เอ่ยถึงทศกัณฑ์ นางสีดา ซึ่งเขาบอกว่าเขาเข้าใจ เพราะอย่างนั้นนางมัทรีเขาก็น่าจะเข้าใจ ไม่รู้ฝรั่งทั่วไปจะเข้าใจหรือเปล่า
หนังสือที่แปลเป็นภาษาอังกฤษเล่มก่อนหน้านี้กระแสตอบรับเป็นอย่างไร
ไม่ได้ไปถามเลยว่า เป็นอย่างไร ไม่ได้ไปติดตาม
คุณศรีดาวเรืองเคยเขียนบทด้วยหรือ
เคยเขียนละครไว้ 3 เรื่อง
มีการนำบทไปแสดงแล้วหรือไม่
มีแต่"หาเวลา"ที่นักศึกษาญี่ปุ่นเอาไปเล่นที่ญี่ปุ่น ที่เมืองไทยมีแต่เอาไปพูดเหมือนซ้อมไม่ใช่เล่นจริง อ่านบทละครกัน อ่านของทุกคนที่พิมพ์รวมกันหลายคน เช่น มานพ ถนอมศรี ,ชมัยพร , หลายคนมีที่เขียนไป เมื่อก่อนดูละครเวทีไม่เป็น อ่านในหนังสือคนก็เล่าว่าไปดูละครรอบนั้นรอบนี้ อีก 2-3 วันก็ไปดูอีก ไม่เข้าใจว่า ทำไมดูแล้วต้องดูอีก แต่พอได้ไปดูแล้วจึงเข้าใจ รอบเดียวไม่พอจริง ๆ บางทีเราหันไปแปลบเดียวไม่ได้ดูตรงนั้น ไม่เหมือนดูหนังถ่ายตรงนั้นตรงนี้ ละครจะเต็มเวทีจนเราดูไม่ทัน แต่สนุก ชอบดู
บทละครที่เขียนเป็นแนวไหน
เป็นแนวชีวิต ครอบครัว ชีวิตต้องเกี่ยวพันกับเวลา ทำนี้ผลัดไว้ก่อน ทำนู้ดผลัดไปก่อน เกี่ยวกับเวลา ผลัดไปผลัดมาจนเกิดเรื่องราว อีกเรื่องเป็นเรื่องผู้หญิงผู้ชาย จำชื่อเรื่องไม่ได้
เด็กรุ่นใหม่ที่อยากมีอาชีพเป็นนักเขียนจะฝากหรือให้คำแนะนำอะไรบ้าง
ถ้าเขาอยากเขียนได้อยู่แล้ว อยากเขียนเขาต้องลงมือเขียน เขียนเหมือนเล่าเรื่องให้เพื่อนฟัง เขียนเหมือนเขียนจดหมาย แทนที่จะพูดแต่ธุระ ที่นั่งอยู่มีอะไรก็หัดบรรยาย หรือหัดบรรยายถึงความรู้สึกคนนั้นเป็นอย่างไร คนนี้เป็นอย่างไร เราพอใจ เราไม่พอใจ เราบรรยายได้ พอบ่อย ๆ เราก็เอาไปใช้ได้ เคยมีนักศึกษามาคุยด้วย เขาบอกยังไงก็เขียนไม่ได้ แต่ถ้าให้เขาเล่า เขาเล่าได้ทั้งวันเลย ก็บอกเขาอย่างนั้นก็เล่าใส่เทป แล้วไปแกะเอา แนะนำจริง ๆ ตรง ๆ ยาก ของใครของมัน เขียนเรื่องสั้นมา 100 กว่าเรื่อง แต่อยู่ ๆ บทจะเขียนไม่ออกก็มี ไม่ใช่เขียนได้ตลอดเวลา บางคนจะมีกลุ่มของเขา พอเขียนออกมาแล้วกลุ่มของเขาจะสับแหลกในจุดที่บกพร่อง ข้อดีไม่ต้องเอามาพูด ต้องทำใจให้ได้ ต้องกลับไปปรับปรุงใหม่ แล้วเขาทำใจได้รับได้ ต่อมาเป็นนักเขียนที่เก่งมาก คือ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์เขียนเรื่องสั้นแต่ละเรื่องยาว เขียนเก่ง เรายังชอบเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งของเขาไม่ลืม
คาดหวังอะไรจากงาน 30 ปีศรีดาวเรือง ที่จะจัดในวันที่ 9 ต.ค.นี้
คิดว่าไม่หวังว่าหนังสือจะขายดี แต่แน่ใจว่าจะเจอมิตรสหายที่นาน ๆ จะเจอกันที บางคนอยู่กันไม่ไกล แต่ไม่ค่อยได้เจอกัน และคงมีคนอื่นอีกหลายคนที่ไม่ค่อยได้เจอกันจะได้เจอกัน ..