ดวงเดือน บุนยาวง เป็นนามของนักประพันธ์เจ้าของรางวัลซีไรต์ปี 2549 จากฝั่งลาว โดยที่เธอคว้ารางวัลนี้จากผลงานเรื่อง อาถรรพ์แห่งพงไพร ดวงเดือน บุนยาวง จบการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ที่วิทยาลัยฝึกหัดครูดงดอกในประเทศลาวก่อนที่เธอจะได้รับทุนเพื่อไปศึกษาต่อในประเทศฝรั่งเศส ปัจจุบันนอกจากเธอจะเป็น ที่ปรึกษาระดับชาติของโครงการพัฒนาหลักสูตรครู กระทรวงศึกษาธิการของลาวแล้วเธอยังมีสำนักพิมพ์เล็กๆชื่อ ดอกเกด ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับที่เธอใช้เป็นนามปากกาสำหรับประพันธ์นวนิยาย
ดวงเดือน บุนยาวง เริ่มเขียนหนังสือมากว่า 30 ปีแล้ว เธอบอกว่าจุดเริ่มของการจับปากกาของเธอนั้นก็เหมือนกับนักเขียนทั่วๆไปที่อ่านเยอะๆแล้ว ทำให้ความคิดที่เก็บงำอยู่ภายในอยากจะแสดงตัวตน อยากจะแสดงรูปลักษณ์ของตัวเองออกมาบ้าง “เริ่มเขียนหนังสือ ก็คงจะเหมือนกับคนอื่นๆคือพออ่านเยอะเข้า ก็อยากพูดอยากบอกสิ่งที่อยู่ในใจของตัวเองแปรออกมาเป็นตัวหนังสือ แล้วอีกอย่างหนึ่งคือการที่ลาวมีสงครามกลางเมือง มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สิ่งเหล่านี้มันทำให้เราเกิดแรงกระตุ้นจากภายในทำให้อยากเขียนอยากถ่ายทอดออกมา”
- บรรยากาศการอ่านหนังสือในประเทศลาว
“ก็ไปเรื่อยๆนะ ถ้าเทียบกับของไทยยังห่างไกลกันเยอะที่ลาวยังไม่มีงานมหกรรมหนังสือ งานสัปดาห์หนังสือ เหมือนอย่างไทยจัด แต่ที่ลาวพอมีกิจกรรมต่างๆ เช่นงานวันเด็ก หรืองานเทศกาลอะไร ก็จะมีหนังสือมาร่วมกันขายนะ คนมารวมกันก็เยอะเหมือนกันแต่ก็ไม่ถึงกับเยอะขนาดที่สำนักพิมพ์ทุกสำนักพิมพ์มารวมตัวกันอย่างประเทศไทย”
- บรรยายกาศของวงการการหนังสือของลาว
“ก็ไปแบบเรื่อยๆเหมือนกัน และก็ต้องถือว่ายังห่างกับไทยเยอะ ที่ลาวไม่ค่อยมีสำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือออกมาขายแบบนี้ คือมันจะมีทั้งสอบแบบนั้นแหละทั้งทำเองทั้งเป็นสำนักพิมพ์ การทำกันเองมันก็ดีเพราะมีเป็นโอกาสของนักเขียนใหม่ๆที่เขาจะได้นำผลงานของตัวเองออกมาเผยแพร่ การทำหนังสือในประเทศลาวถ้าจะทำเป็นธุรกิจก็คงยาก คือมันต้องอาศัยความรักความชอบส่วนตัวด้วย ร้านหนังสือในลาวก็เหมือนกันไม่มีร้านที่เปิดขึ้นมาเพื่อขายหนังสือโดยเฉพาะแต่หนังสือจะไปวางขายรวมกับสินค้าอื่นๆ”
- หนังสือแปลรุกเข้าไปในตลาดหนังสือของลาวบ้างไหม
“ยังไม่ค่อยมีที่ไหนที่ทำจริงๆจังๆ ที่ตั้งสำนักพิมพ์ขึ้นมาแปลงานต่างประเทศโดยเฉพาะ แต่หนังสือแปลก็พอมีให้อ่านบ้างเหมือนกัน”
- ตอนนี้ทำอะไรอยู่บ้าง
“ตอนนี้นอกจากเขียนหนังสือส่วนตัวแล้วยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการส่งเสริมการอ่านของเยาวชน คือจะหาหนังสือมาทำ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เด็กๆอ่านและต้องการให้พวกเขารักหนังสือ ชอบอ่านหนังสือ ที่ทำออกมาก็จะเป็นนิทานประกอบภาพสำหรับเด็กบ้าง หรือหนังสืออื่นที่เราเห็นว่าส่งเสริมการอ่านให้กับเด็กได้ หรือไม่ก็จะเขียนหนังสือให้มีเนื้อหาเหมาะสมกับเด็กและเยาวชน อยากให้เด็กอ่านหนังสือกันเยอะๆ”
- โครงการที่ทำเน้นทำหนังสือให้สำหรับเด็กอ่านอย่างเดียว?
“จริงๆมันต้องทำทั้งหมด ทำทุกระดับ คือการอ่านนี้ไม่ได้จำกัดอยู่ที่วัยเด็ก เพียงแต่ว่า คิดว่าเด็กเป็นช่วงวัยแรกที่เราควรจะส่งเสริมนิสัยรักการอ่านให้กับเขา พอเขาชอบอ่านหนังสือแล้วโตขึ้นนิสัยรักการอ่านก็จะติดตัวเขาไปตลอด เหมือนกับพวกเรา ที่นี้เขาก็จะขวนขวายหาหนังสือมาอ่านเอง แต่ไม่ใช่ว่ากับระดับอื่นเราจะไม่ต้องสนใจนะ ในวัยอื่นๆเราก็ควรจะมีหนังสือให้เขาอ่านด้วย เพราะหากเกิดว่า เขาอยากจะหาหนังสือดีๆมาอ่านแต่หามาอ่านไม่ได้มันก็คงจะไม่มีประโยชน์อะไร คือเราต้องมีหนังสือไว้รองรับความต้องการของเขาด้วย สำหรับโครงการที่ทำอยู่ต่อไปในอนาคตก็คิดว่าน่าจะมีหนังสือสำหรับทุกวัยแต่ตอนนี้เป็นแค่ช่วงเริ่มต้น ก็ต้องทำหนังสือสำหรับเด็กไว้ก่อนเพื่อเสริมสร้างการรักการอ่านของเขา ”
- หนังสือเรื่อง อาถรรพ์พงไพร เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร
“เรื่องนี้จริงๆเขียนไว้นานแล้วล่ะ ชื่อเรื่องพอคนอ่านแล้วคงคิดไปโน่นเลยว่าต้องเกี่ยวกับอาถรรพ์ของป่า ความลี้ลับของป่า จิตวิญญาณของป่า แต่จริงๆแล้วเรื่องนี้ได้แรงบันดานใจมาจากการที่เราเคยเป็นครูมาหลายปี ก็เลยเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา ในเล่มอาถรรพ์แห่งพงไพรก็มีเรื่องของป่าเข้ามาเกี่ยวข้องบ้างเหมือนกัน แต่หลักๆแล้วอยากสื่อสารถึงครูมากกว่า ก็พอเขียนจบได้มีโอกาสมาร่วมเป็น 1 ในคณะทำงานของโครงการพัฒนาหลักสูตรครูก็ไปเห็นเอกสารที่เขาให้ครูจากโรงเรียนต่างๆทั่วประเทศเขียนมาว่ารู้สึกอย่างไร มีอะไรอั้นอั้นตันใจเกี่ยวกับอาชีพครูบ้าง ก็พบว่า งานของเราไปตรงกับเรื่องราวเหล่านั้นเข้า ก็ยิ่งดีใจที่ได้ผลิตงานชิ้นนี้ออกมา
- ฝากถึงคนเขียนหนังสือ
“เริ่มแรกก็คงต้องเป็นคนชอบอ่านหนังสือก่อนนะ พออ่านพอสะสมเรื่องราวได้มากพอแล้วมันก็จะมีความรู้สึกอยากเขียนตามมาเอง พออยากเขียนแล้วก็ต้องลงมือเขียน ส่วนรื่องที่จะเอามาเขียนนั้น แต่ละคนจะต่างกัน ในช่วงที่เขียนแรกๆ ต้องเขียนในเรื่องที่เราอยากเล่าอยากเขียนจริงๆ คือมันจะเป็นเรื่องของความบริสุทธิ์ที่ออกมาจากใจจริงๆน่าสังเกตนะว่างานหลายๆชิ้นของนักเขียนดังๆ จะเป็นงานเขียนชิ้นแรกๆที่พวกเขาลงมือเขียนเพราะว่าเรื่องเล่านั้นมันจะถูกกลั่นกรองออกมาจากความรู้สึกจริงๆ ไม่ได้เสแสร้งไม่ได้แต่งเติมปั้นแต่งมากไปจนไม่เหลือเค้าของความรู้สึกที่ตนเองอยากถ่ายถอดออกมา เขาว่ากันว่านักเขียนเก่งๆเป็นคนที่เราเรื่องไม่จริงให้กลายเป็นเรื่องจริงได้ แต่สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มเขียนอยากให้เขียนเรื่องที่ใกล้ตัวเรื่องที่มีแรงขับเคลื่อนจากภายในดีกว่า เพราะเรื่องเหล่านี้เราสามารถถ่ายทอดออกมาจากความจริง ออกมาจากความรู้สึกภายใน ซึ่งมันจะเป็นงานที่บริสุทธิ์”
ก่อนจบบทสนทนา ณ โรงแรมหรูริมฝั่งเจ้าพระยาในวันนั้น ดวงเดือน บุนยาวง นักเขียนหญิงเจ้าของรางวัลซีไรต์ลาว ปี 49 ฝากถึงเพื่อนนักอ่านชาวไทยสั้นๆว่า “คือลาวกับไทยเป็นบ้านใกล้เรือนเคียงกันสิ่งที่น่าดีใจคือทั้งสองประเทศนี้อ่านภาษาของกันและกันได้เข้าใจ ไม่ต้องตีความมมาก ก็อยากให้ลองอ่านหนังสือของภาษาลาวดูบ้าง ซึ่งมันอาจจะทำให้คนไทยพบกับเรื่องราวหรือ สิ่งที่น่าสนใจบ้างอย่างอยู่ในหนังสือภาษาลาวก็ได้”
สำหรับใครที่อยากลองอ่านหนังสือภาษาลาวดูบ้าง ตอนนี้หาไม่ยากแล้ว เมื่อวานนี้(10 ตุลาคม 2549) ทางสำนักพิมพ์แม่โพสพเพิ่งจะจัดงานแถลงข่าวเกี่ยวกับการจำหน่ายหนังสือภาษาลาวในประเทศไทยไป ใครอยากลองอ่านก็ลองแวะไปที่ ร้านหนังสือแม่โพสพ ในสหกรณ์กรุงเทพ สาขาปิ่นเกล้า(เยื้องห้างพาต้า) ได้ครับ