ฐิติวรณัน : อย่าดูถูกรสนิยมการอ่านของคนอื่น สำคัญคือ...เขาได้อะไรจากการอ่านมากกว่า

ฐิติวรณัน

“ ฐิติวรณัน แซ่ลี้ ” หรือ แอนนี่ เป็นนักเขียนอีกท่านหนึ่ง ที่ได้ร่วมส่งผลงานกับโครงการชมนาด วันนี้เราได้นำทัศนคติและมุมมองต่างๆ ของนักเขียนหน้าใหม่คนนี้มาให้ทุกคนได้อ่านกัน และความคิดเห็นแบบตรงไปตรงมาของเธอ ก็มีแง่คิดดีๆ แฝงไว้อยู่ไม่น้อย

ประวัติคร่าวๆ
เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด จบมัธยมฯปลายที่โรงเรียนวัดราชโอรสฝั่งธนบุรี จากนั้นจึงเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาสื่อสารมวลชน มีความใฝ่ฝันที่จะเป็นนักข่าวมากที่สุด ชอบวาดรูปและเรียนวิชาศิลปะเป็นวิชาหลักในสมัยมัธยมฯ หลังจบม.ปลาย ก็ทำงานควบคู่กับการเรียนรามฯ และเมื่อมีเหตุให้ลาออกจากที่ทำงานอย่างเฉียบพลัน เวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดของชีวิตช่วงหนึ่ง ดิฉันเดินกลับไปที่ห้องสมุดประชาชนใกล้กับโรงเรียนเก่า ที่ชั้นวางหนังสือสำหรับเด็กมีหนังสือการ์ตูนที่ได้รับการบริจาคมา ก็เลยเดินเข้าไปเปิดอ่านและพบว่าช่วงเวลาที่ทำงานที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการวาดรูปและเลิกจับดินสอวาดการ์ตูนอย่างเนิ่นนานนั้น

เด็กรุ่นหลังเริ่มพัฒนาการวาดการ์ตูนไทยให้มีภาพที่สวยขึ้นและดูมีคุณค่ากว่าก่อน ตอนนั้นก็ได้คำตอบว่าเราไม่ได้สูญเสียอะไรไปทั้งหมด อย่างน้อยก็ได้พบว่ามีสิ่งที่ใครก็เอาจากเราไปไม่ได้อยู่เช่นกัน การ์ตูนเล่มนั้นมีโครงการรับนักวาดการ์ตูนสมัครเล่นสู่นักวาดการ์ตูนอาชีพ ดิฉันจึงเริ่มวาดการ์ตูนส่งสำนักพิมพ์หลายเรื่องและได้รางวัลที่สอง ได้เงินรางวัลมา 5 พันบาท ช่วงเวลาที่ไม่ได้ทำงานประจำก็วาดการ์ตูนส่งไปตามที่ต่างๆ ที่เปิดโอกาสซึ่งมีทั้งที่ได้ชมเชยและเงียบหายไปก็มี แต่เมื่อแม่ของดิฉันล้มป่วยเป็นเวลาหลายเดือน ก็ไม่ได้วาดการ์ตูนอีก...

แรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือ
เกิดจากการที่ได้รู้จักคนๆ หนึ่ง.....หลังอาการของแม่ทุเลาและออกจากรพ.ดิฉันขอพี่ชายไปฝึกงานเป็นนักข่าวสายการเมืองที่ทำเนียบฯ และได้รู้จักกับเด็กรุ่นน้องคนหนึ่ง เขาเป็นนักอ่านนิยายและเขียนนิยายด้วย เมื่อได้คุยกันไปก็นึกได้ว่าตนเองมีนิยายอยู่เรื่องหนึ่ง ที่เขียนไว้สามหน้ากระดาษ น้องคนนี้บอกให้นำมาให้เขาอ่าน ดิฉันจึงเขียนเพิ่มเติม เมื่อฝึกงานครบสามเดือนก็เขียนนิยายเรื่องนั้นต่อ นับเป็นเวลาห้าเดือน นิยายมีความยาวมากถึงสี่ร้อยหน้าเชียว แล้วก็ได้ส่งนิยายไปที่สำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง ในเดือนต่อมา...ก็ได้รับคำตอบรับว่างานผ่าน ดิฉันดีใจมาก และสำนักพิมพ์ก็จ้างเขียนงานโดยเป็นการแก้งานของนักเขียนที่เขียนอยู่ก่อนแล้ว ดิฉันเขียนเรื่องด้วย วาดภาพประกอบให้ด้วย ระหว่างนั้นดิฉันก็ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับวงการเขียนด้วย พบว่าที่สำนักพิมพ์ แจ้งเงื่อนไขในสัญญานั้นไม่ตรงกับความเป็นจริงที่ทั่วไปปฏิบัติ นั่นเป็นช่วงเวลาที่เจ็บปวดที่สุดเพราะต้องเลือกว่าจะถอนเรื่องคืนหรือยอมให้เขาไปเพื่อมีชื่อของตนเองลงแผงหนังสือ(นิยายถูกจัดหน้าแล้ว) สุดท้ายดิฉันก็ขอถอนเรื่องคืน และลองส่งนิยายเดียวกันไปอีกที่หนึ่งและได้คำตอบว่าไม่ผ่านด้วยเหตุผลทางด้านภาษา....

ทำให้อยากรู้และเข้าใจในเรื่องการเขียนอย่างมากในเวลานั้น จึงตัดสินใจโทรไปยัง สมาคมนักเขียน อาจารย์ให้คำปรึกษาและแนะนำให้ลองส่งงานไปยังสำนักพิมพ์สถาพร บุ๊ค โดยฝากพี่คนหนึ่งไปในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ แต่ไม่นานจากนั้นพี่เขาลาออกจากสำนักพิมพ์โดยยังไม่ได้ยื่นงานเราให้บก.(จัดเป็นบุคคลที่โชคร้ายแห่งศตวรรษ ไม่ซีเรียสนะคะ มันผ่านมาแล้ว ขำๆ) สุดท้ายก็เลยไม่ส่งงานไปที่ไหนอีก แต่ก็เริ่มเขียนเรื่องอื่นๆ แทน มีทั้งผ่านและไม่ผ่าน ในงานที่ผ่านคือเรื่องสั้นที่ส่งไปยังสนพ.ไอน้ำ และเมื่อผ่านสำนักพิมพ์ก็ปิดตัวลง งานจึงอดลงไปตามปริยาย(อย่าร้องไห้ตามสิ)

ผลงานอื่นๆ
ผลงานอื่นๆ ก็จะมีเป็นพวกการ์ตูนที่เคยได้ตีพิมพ์กับที่เขียนค้างไว้ และนิยายที่เขียนเสร็จสองสามเรื่อง แต่หลังถูกปฏิเสธจากที่สองที่ ก็จะไม่ได้ส่งอีกและเขียนเรื่องอื่นๆ ต่อไปแทน ปัจจุบันทำงานเป็นแคชเชียร์ที่สยามพารากอน เพิ่งทำได้แค่สามเดือนเอง(ก่อนหน้านี้เป็นพนักงานคีย์ข้อมูลกับทำงานบริษัท)

นักเขียนในดวงใจ
นักเขียนที่ชอบ คือ คาลิล ยิบราน กับ โสภาค สุวรรณค่ะ ชอบอ่านเกี่ยวกับปรัชญา การพรรณนาที่ลึกซึ้ง เนื้อหานิยายชวนติดตาม อ่านแล้วรู้สึกซึมซับเรื่องราว เป็นความนุ่มนวลที่ตรึงใจให้นึกถึงได้ตลอด

แนวการเขียนของตัวเอง
มีหลายแนว เรื่องรักธรรมดากับเรื่องตลก(น่าจะถนัดแนวนี้มากที่สุด) แต่ถ้ามองตนเองโดยไม่อิงคนอื่นก็ว่าเขียนได้ทุกแนว อาจเพราะเพิ่งเริ่มต้นนะคะจึงยังไม่ค้นพบแนวของตนเองจริงๆ

พูดถึงโครงการชมนาด บุ๊ค ไพร์ซ
เป็นโครงการที่ดี หนึ่งคนหนึ่งผลงานและให้โอกาสนักเขียนสตรีได้แสดงฝีมือ ทำให้นักเขียนต้องคิดๆๆ ว่างานใดของตนเหมาะกับเงื่อนไขที่โครงการต้องการ หนังสือที่ถูกแปลเป็นภาษาอื่นควรมีความเป็นสากล คือสื่อสารให้เขาเข้าใจอย่างแยบยลที่ไม่ใช่การยัดเยียดว่า อันนี้คือวัฒนธรรมไทยนะอันนี้ไม่ใช่ (ก็พูดไปแต่ที่เขียนเองจริงๆ ก็ไม่ใช่แนวนี้หรอกค่ะ) อย่างการจ่ายตลาดเช้าในชีวิตประจำวันธรรมดาๆ แต่ละประเทศคงมีวิถีดำเนินชีวิตอันคล้ายคลึงนี้แตกต่างกันอยู่ และเงื่อนไขที่ทำให้ส่งผลงานเข้าร่วม คือการได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งถือเป็นเกียรติที่สุด

ข้อแนะนำเกี่ยวกับโครงการ
สิ่งที่ควรเพิ่มเติมคือ การประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องเพราะข่าวคราวค่อนข้างเงียบ ซึ่งความจริงงานนี้ควรเป็นงานที่ได้รับรู้ในวงกว้าง คือเป็นสาธารณะ น่าจะเป็นข่าวมากกว่านี้สักหน่อย และที่ชื่นชมอีกอย่างคือเป็นโครงการที่ให้เกียรติผู้ส่งผลงาน

เชื่อมั่นในระบบบรรณาธิการปัจจุบันมากแค่ไหน
ในปัจจุบันให้ความเชื่อมั่นประมาณ50-50ดีกว่า เพราะตนเองก็ไม่ได้คร่ำหวอดในเรื่องนี้ และยังมีทักษะด้านการเขียนไม่ดีพอ แต่พูดจากความรู้สึกของนักเขียนที่ถูกปฏิเสธนะคะ มันสัมผัสได้ค่ะว่าที่ไหนอ่านงานเราและที่ไหนไม่ใส่ใจเลย การถูกปฏิเสธไม่ได้ทำให้กำลังใจนักเขียนหายไปแต่การถูกปฏิเสธแบบไหนต่างหากที่อาจทำให้นักเขียนคนหนึ่งจบชีวิตการเป็นนักเขียนไปเลยก็ได้ บางที่ก็สติ๊กมากในเรื่องบท อารมณ์ของตัวละครที่นักเขียนสื่อ แต่บางที่ก็รับงานในกระแสมากกว่า

ความเห็นเรื่องสื่ออินเตอร์เน็ต
เป็นสื่อที่ทำให้นักเขียนหน้าใหม่ได้มีโอกาสแสดงฝีมือ ความคิดและได้รับการยอมรับจากผู้อ่านโดยตรง เมื่อผู้อ่านยอมรับ สำนักพิมพ์ย่อมสนใจให้การตีพิมพ์ ผลงานของพวกเขาจะได้รับการตัดสินจากผู้อ่านมากมายหลายรุ่น ขณะที่การส่งงานในแบบเดิมๆ อาจถูกตัดสินโดยคนไม่กี่คนเท่านั้น (แต่ดิฉันลงผลงานทางเน็ตไม่เป็น...)

คิดอย่างไรกับคำว่านักเขียนอาชีพ
การเป็นนักเขียนอาชีพคือความใฝ่ฝันมากที่สุดในเวลานี้เพราะไม่ชอบทำงานประจำ ไม่อยากเป็นพนักงานกินเงินเดือน ใช้ชีวิตทั้งวันทั้งคืนอยู่ในที่ทำงาน หมดเวลาไปกับการเดินทางระหว่างบ้านกับที่ทำงาน อยากเดินทางท่องเที่ยว จะเขียนหนังสือที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ มีกำหนดแค่เดทไลน์การส่งงานเท่านั้น

การอ่านและการเขียนของคนในประเทศ
ส่วนตัวมีความเห็นว่า ส่วนใหญ่คนก็ยังอ่านหนังสือกันด้วยเหตุผลว่า สิ่งที่เขาชอบอ่านนั้นคืออะไรตรงกับที่เราอยากให้เขาอ่านหรือเปล่า ตรงนี้ก็พูดยากนะคะ เอาเป็นว่าใครอยากอ่านอะไรก็อ่านไปดีกว่า ที่ควรเปลี่ยนน่าจะเป็นคำว่า ต้องอ่านเล่มนี้แนวนี้เท่านั้นมากกว่า เวลาตอบคำถามเกี่ยวกับหนังสือว่าอ่านแนวไหน ชอบนักเขียนคนไหนแล้ว รู้สึกว่ารสนิยมการอ่านของเราแย่จัง ไม่ทันสมัยเลย คือบางคนเขาชอบอ่านแนวเดิมๆ ซ้ำๆ อาจจะเพื่ออะไรๆ ในใจเขาก็ได้ เช่นดิฉันอ่านงานของบุษยมาสที่มีเนื้อหาซ้ำๆ เพราะรู้สึกว่าไม่ต้องลุ้นมากคือรู้แนวว่าเรื่องราวจะดำเนินต่อไปอย่างไร ก็เป็นความสุขของเรา การอ่านของแต่ละคนจะมีขั้นเริ่มไม่เหมือนกัน เดี๋ยวเบื่อเนื้อหาทำนองนี้ก็จะเปลี่ยนไปอ่านเนื้อหาอื่น คนอ่านแนวแฟนตาซีมากๆ ในช่วงชีวิตหนึ่งก็อาจหันมาชอบอ่านแนวชีวิตจริงจังอย่างเอาเป็นเอาตายก็ได้ คืออย่าดูถูกรสนิยมการอ่านของแต่ละคนแต่อยากให้ถามว่าได้อะไรจากหนังสือเรื่องนั้น ทำไมถึงชอบตัวเอกในนิยาย/การ์ตูนขนาดนั้น

นเรื่องของการปลูกฝังก็ควรทำอย่างจริงจังต่อเนื่อง การปลูกฝังอาจเริ่มที่ครอบครัวหรือโรงเรียน สิ่งแวดล้อมรอบตัวเรามีส่วนให้เป็นคนรักการอ่านการคิดการเขียนได้ ที่บ้านของดิฉันก็มีแนวการอ่านที่แตกต่างกัน น้องสาวอ่านนิยายแปล พี่ชายอ่านเพชรพระอุมา ดิฉันอ่านการ์ตูนและนิยายไทย(แนวน้ำครำ )แต่ก็ไม่มีใครมาคะยั้นคะยอว่า อ่านเรื่องนี้สิเรื่องนั้นสิเลย

หนังสืออ่านนอกเวลาที่ควรจะสนุก แต่แปลกมากเวลาถูกนำเข้ามาในบทเรียนแล้วถูกครูบอกว่าให้อ่านและจำให้ได้ว่าเรื่องราวตอนไหนเป็นอย่างไร มันรู้สึกไม่สนุกเลย ดิฉันทำข้อสอบการอ่านหนังสือนอกเวลาโดยที่ขอคำตอบจากเพื่อน ตนเองไม่ได้อ่านสักตัว การส่งงานเขียนของนักเขียนไปตามนิตยสาร บางครั้งคนส่งก็เลือกที่จะซื้อเฉพาะงานที่ตนได้ลง บางคนอาจส่งไปเพราะรู้ว่าทางนั้นมีคอลัมน์โดยที่อาจไม่เคยเสียเงินซื้อนิตยสารฉบับนั้นเลยก็ได้ ถ้าปลูกฝังให้บุคคลเป็นผู้ที่สามารถยอมรับในความสำเร็จของผู้อื่นควบไปกับการพยายามในส่วนของตนได้ก็คงดี

ทิ้งท้ายสักนิด
อยากบอกว่า อยากอ่านอะไรก็อ่าน จะซื้อจะเช่าอย่างไรก็ตามสบายเพราะเมื่อเราหยิบหนังสือแนวไหนขึ้นมาสักเล่มในช่วงเวลานั้นน่าจะมีความรู้สึกว่าอยากได้อะไรจากหนังสือเล่มนั้นอยู่แล้ว(สังเกตจากการอ่านชื่อเรื่องและพลิกอ่านข้อความหลังปก)

 

โดย ฟีนิกซ์

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ