คอลัมน์คุยนอกรอบวันนี้จะพาไปพบกับอีกหนึ่งนักเขียน ที่ส่งผลงานมาร่วมประกวดกับโครงการชมนาดบุ๊ก ไพร้ซ์ เธอมีผลงานในด้านของการเขียนบทละครมาแล้วหลายต่อหลายเรื่อง และนี่คือเวทีแรก สำหรับการจับปากกาเขียนนวนิยายของเธอ ฉะนั้นอย่ารอช้า เราไปรู้จักกับผู้หญิงที่ชื่อว่า“ยู้”หรือธนาวดี กวีจารุกร กันดีกว่าค่ะ
แนะนำตัว
เป็นคนจังหวัดชลบุรี มีพี่น้องรวมดิฉันด้วย 7 คน ดิฉันเป็นคนเล็ก เรียนจบปริญญาตรีคณะศึกษาศาสตร์ เอกเทคโนโลยีทางการศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพา หลังจากเรียนจบ ปีแรกๆ ทำงานที่เครือสหพัฒน์ฯ เป็นเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมพนักงาน แล้วก็มาเป็นนักข่าววิทยุ ผู้ประกาศข่าวทางวิทยุ ปัจจุบันดิฉันทำงานฝ่ายวิชาการและประชาสัมพันธ์ที่มูลนิธิฯ แห่งหนึ่งค่ะ
เริ่มจับปากกา
เริ่มต้นที่อยากเขียนแบบจริงจัง ตอนปี 2540 ด้วยความที่ชอบดูหนังดูละครมาก ก็อยากจะเขียนคำพูดของตัวละครตามที่เราอยากให้พูดบ้าง ตอนนั้นก็เลยลองนำหนังสือมาปรับเป็นบทละครเอง ซึ่งเรายังไม่รู้เลยว่าบทละครคืออะไร แต่เรารู้สึกอยากให้ตัวละครพูดแบบนี้ เราก็เลยเขียน จำได้ตอนนั้นหัดเขียนเอง คือใจมันอยากมาก พอดีอ่านเรื่องที่เข้ารอบกวีซีไรต์ เรื่อง การล่มสลายของสถาบันครอบครัวที่ความรักมิอาจเยียวยา ของคุณอรุณวดี อรุณมาศ เราก็เริ่มที่จะเขียนตีงานเขียนชิ้นนี้ออกมาเป็นบทพูดเองเลย เราทำแบบว่ามันเป็นงานที่เราต้องทำ เขียนเป็นฉากๆ ออกมาเลย ความรู้สึกตอนนั้นดีมาก ปลดปล่อยความคิด และจินตนาการส่วนตัว เขียนได้ทั้งวันเช้าจรดเย็นเหมือนได้เข้าหลุมหลบภัย ปัญหาอะไรก็ทำอะไรเราไม่ได้เลย เพราะไม่ได้คิดเรื่องอื่นเลย เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเราก็เขียนพักไว้นะเพราะไม่รู้จะส่งที่ใคร เขียนโดยที่ไม่รู้จะให้ใครอ่านหรือวิจารณ์ด้วยซ้ำ และไม่รู้ว่าถูกตามหลักวิชาหรือเปล่าด้วย แต่ไม่กังวลคิดว่าเราจะฝึกไปเองนี่แหละ เพราะตอนนั้นยังไม่มีใครรู้เรื่องราวของคนเขียนบทสักเท่าไหร่ ว่าเขาเริ่มจากตรงไหนกันเหรอ
แรงบันดาลใจในการเขียน
แรงบันดาลใจมันคงสะสมมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เด็กพี่อยู่อำเภอพนัสนิคม ออกจะบ้านนอกเลยนะ แต่จะได้ดูหนังทุกเดือน คือจะมีอาสะใภ้ของแม่พี่เขาทำธุรกิจสายหนังแล้วเขาก็ใช้พื้นที่อีกฝั่งหนึ่งของหน้าบ้านล้อมรั้วสังกะสีเก็บตั๋ว โดยใช้บ้านพี่เป็นที่ติดโปสเตอร์หนังตามเสาต่างๆ ของบ้าน คือที่บ้านจะเป็นร้านขายของชำในหมู่บ้าน แล้วพี่จะครึกครื้นแฮปปี้มากเพราะเด็กๆ แถวๆ นั้นก็จะมารวมตัวกันเต็มเลย สนุกมาก แล้วพอหนังฉายดิฉันกับเตี่ยจะไปจับจองพื้นที่ดูหนังก่อน แต่พอตกดึกที่ไม่พอให้คนที่เสียเงินค่าตั๋วดู พ่อจะอุ้มเราขึ้นหลังท่านแล้วยืนดูด้วยกัน บางทีเราก็หลับคอพับตรงบ่าเตี่ยนั่นแหละ หนังไทยดังๆ สมัยนั้นคิดว่าได้ดูหลายเรื่องมากทีเดียว คือคุณอาจะมาเดือนหนึ่งแล้วจะฉายซ้ำเป็นอาทิตย์ บางทีดูหลายรอบจนจำฉากบางฉากได้จนถึงตอนนี้เลย เช่น ฉากของตลกชื่อดัง เทพ เทียนชัย ที่ฟันหน้าหลอแต่เหลือสองซี่ใหญ่ๆ แล้วเขาปวดฟันมาก เขาก็เลยใช้เชือกผูกกับฟันแล้วไปผูกกับประตูแล้วถีบประตูออกไปให้ฟันหลุด แต่ก็ไม่หลุดสักที ลีลาปล่อยมุขขำมาก เขาเป็นเซียนตลกที่เราชื่นชมมากๆ จริงๆ แต่จะไม่ชอบฉากระเบิดกระท่อมที่มีเกือบทุกเรื่อง เพราะอาจเป็นเพราะเรายังเด็กก็จะรู้สึกว่าโหดร้ายจัง แต่ก็เป็นช่วงเวลาหนึ่งที่พี่คิดถึงและประทับใจมาก
พอย้ายบ้านมาอยู่ที่อำเภอศรีราชาบ้านพี่ก็อยู่ติดโรงหนังอีก หวานเลย...เพราะเขาไม่เก็บตังค์เด็ก เตี่ยพี่นี่เป็นเซียนดูหนังจีนหรือหนังกำลังภายในอยู่แล้วก็จะพาเราไปดูหนังด้วย ช่วงนั้นหนังของเฉินหลงประเภทหมัดเมาดูแทบทุกเรื่อง ดูจนเมาไปเลยเพราะบางทีเขาฉายวนรอบต่อไปเลย แล้วเตี่ยอยากดูซ้ำเพราะบางทีเข้าช้าไม่ทันตอนต้นก็ต้องอยู่ดูด้วย ชีวิตตอนเด็กตั้งแต่เด็กๆ ไม่กี่ขวบ ก็วนเวียนอยู่กับการดูหนังตลอด เข้าออกโรงหนัง พอโตต้องเสียค่าตั๋วพี่ๆ ก็จะผลัดกันจ่ายให้ ซึ่งช่วงนั้นพี่ๆ กำลังวัยรุ่นก็จะดูหนังไทยรักๆ ของจารุณีและปิยะมาศแทบทุกเรื่อง พอวัยทำงานมาดูหนังอีกระดับคือเริ่มเลือกดูเพื่อความอิ่มเอมมากขึ้น ก็จะกลับมาเขียนบันทึกว่าเรื่องที่ดูประทับใจตรงไหนบ้าง ซาบซึ้งกับฉากไหนก็จะบรรยายลงไป แสดงความคิดเห็นส่วนตัวลงไปบ้าง แล้วเน้นว่าเราได้รับอะไรจากหนังเรื่องที่ไปดูอย่างไรด้วย
แต่ความรู้สึกที่ต้องเอาจริงหรือทำให้อยากเขียนบทหนังหรือละครก็ตอนดูเรื่อง Gladiator มันมีคำพูดหลายฉากที่ดลใจทำให้เราอยากเขียนจับใจ อยากเขียนได้แบบนี้ จำไม่ได้แล้วนะว่าฉากไหนบ้าง แต่จำความรู้สึกได้ว่านี่แหละบทพูดที่ยิ่งใหญ่ มันต้องอย่างนี้แหละ มันซึ้งอิ่มเอมจนน้ำตาไหลเลย หลังจากนั้นก็ได้มีโอกาสเรียนเขียนบทละครโทรทัศน์อย่างมืออาชีพ ที่แรกก็ได้เรียนที่บริษัท exact ได้เลือกเข้ากลุ่มสิบคนจากที่เรียนแปดสิบกว่าคน เลือกให้มาเขียนโครงการละครเวทีเรื่องวิมานเมืองให้เป็นละครโทรทัศน์ แต่ก็เขียนไม่จบเพราะเวลาของทีมไม่ตรงกันตอนนั้นเหนื่อยสาหัส บ่อยครั้งที่ต้องกลับบ้านเลยเที่ยงคืน แต่ก็สุขใจนะที่ได้ทำงานที่เราชอบ ต่อมาก็มาเรียนเขียนบทกับทีมของอาจารย์ละลิตา ฉันทศาสตร์โกศล ที่เปิดสอนเป็นเรื่องเป็นราว และเขาก็ได้เลือกจากผลงานตอนเรียนและที่ทำส่งเขา ตอนนั้นจำได้รุ่นเดียวกันมี 4 คน ที่อาจารย์เรียกไปเขียนบทในนามทีม คนหลังม่าน ซึ่งอาจารย์ละลิตาจะเป็นผู้ตรวจบทให้และท่านก็เป็นคนเก่ง เป็นมืออาชีพหาตัวจับยาก เพราะเวลา comment งานที่เราเขียนท่านจับประเด็นเก่งมาก ตีแผ่สิ่งที่เราขาด แล้วบอกได้ว่าควรจะเพิ่มอะไร มีเหตุผลชัดเจน เหมือนเซียนนักชิมรสอาหาร ที่จะรู้ทันทีว่าขาดรสอะไรไปบ้าง แล้วให้เราปรับปรุง ท่านจะเข้มเรื่องคุณภาพงานมาก ถ้าไม่ดีต้องแก้จนกว่าจะใช้ได้ถึงจะให้ผ่าน ทำให้เราต้องเข้มงวดกับบทอย่างมากซึ่งขอขอบพระคุณอาจารย์ละลิตา ไว้ ณ ที่นี้ด้วย ที่ทำให้เราเข้าสู้เส้นทางความฝันที่เป็นจริง และทำให้มีความมุ่งมั่นพยายามกับงานเขียนต่อไป
ผลงานที่ผ่านมา
บทละครโทรทัศน์เรื่อง สายใยรัก, คนทะเล, สองเสน่หา, ฟ้ามีตะวันหัวใจฉันมีเธอ ฯ ส่วนนวนิยายยังไม่เคยมีผลงาน เพราะเริ่มฝึกเขียนเรื่อง แกงจืดหัวใจใส่ตำลึง เป็นเรื่องแรกค่ะ คือเรื่องที่ส่งประกวดโครงการชมนาดฯ นี่แหละค่ะ
ชอบหรือถนัดการเขียนแนวไหนมากที่สุด
ชอบแนวตลกร้าย หรือ black comerdy เสียดสีอารมณ์ แต่ไม่เรียกว่าถนัดนะคะ ถ้าเปรียบเป็นหนังก็คงเป็นแนวเรื่อง catch me if you can ที่สตีเว่น สปีลเบอร์ก กำกับ ทอมแฮงค์ เป็นเรื่องที่พระเอกเป็นวัยรุ่นหนีออกจากบ้านเพราะพ่อแม่หย่ากัน เขารู้สึกโดดเดี่ยวที่สุดในโลก มีความรู้ไม่ถึงมัธยมปลาย พยายามทำให้ตัวเองเป็นนักบิน หมอ ทนายความ ศาสตราจารย์ในวิทยาลัย รวมถึงการปลอมแปลงเช็คไปขึ้นเงินหลายล้านดอลลาร์ สนุก และน่าทึ่งตรงที่มันเป็นเรื่องจริงของแฟรงค์ อบาเนล แบบว่าดูแล้วมันรู้สึกกะเทาะความรู้สึกข้างในทั้งด้านดีและเลวของตัวละครออกมาอย่างน่าขำและน่าปลอบโยนไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ ส่วนความถนัดคิดว่ายังต้องฝึกฝนอีกนานค่ะ ตอนนี้จะฝึกเขียนวรรณกรรมเยาวชน วางโครงเรื่อง และทำเรื่องย่อเสร็จแล้วค่ะ กำลังจะเริ่มเขียนบทแรกค่ะ เป็นกำลังใจให้ด้วยนะคะ
นักเขียนในดวงใจ
ชอบงานของคุณรงค์ วงษ์สวรรค์ เพราะอ่านงานของท่านแล้วรื่นเริง แม้แต่ดอกไม้ในถังขยะก็งดงามได้ และคำบางคำท่านใช้แทนกันได้อย่างน่ารักน่าหยิก พาขำกิ๊กกั๊กผ่อนคลายอย่างประหลาด สรุปท่านถ่ายทอดงานออกมามีเสน่ห์เฉพาะตน อ่านแล้วรับรู้ความมีตัวตนของตัวละครที่ท่านเขียนถึงอย่างจริงใจ และภาษาค่อนข้างรื่นรมย์
ส่วนแนวหนังสือจะชอบอ่านบทวิจารณ์หนัง หรือวิเคราะห์เบื้องหลังของละคร ภาพยนตร์ต่างๆ จากนักวิจารณ์ที่มีแง่คิดดีๆ นะคะ นักวิจารณ์ไม่ต้องมีชื่อเสียงก็ได้ค่ะ แต่อ่านแล้วจะรู้ว่าต้องคนนี้วิจารณ์แน่ๆ คือสไตล์ใครสไตล์มัน แต่ถ้าชอบก็หลายคนค่ะ ถ้ายิ่งอ่านวิจารณ์เรื่องที่เราได้ดูผ่านไปแล้ว จะทำให้เราเข้าใจเรื่องนั้นมากขึ้น กิจกรรมในวันว่าง
มีหลายอารมณ์ค่ะ บางทีชอบอยู่เงียบๆ คนเดียวเปิดเพลงหรือดนตรีที่ชอบ อ่านข่าวทาอินเทอร์เน็ต นั่งฟังเพลง อ่านหนังสือ เขียนนวนิยาย ดูละครซีรี่ส์ ถ้ามีเวลาว่างเยอะจริงๆ ก็ชอบเที่ยวไปตามชุมชนพื้นเมือง พื้นบ้านต่างๆ คือ ได้เห็นวิถีชีวิตที่แตกต่างจากในเมือง และชอบทำกับข้าวอีกอย่างค่ะ
ความแตกต่างระหว่างการเขียนบทละครกับการเขียนนวนิยาย
ความแตกต่างก็มีหลายอย่างค่ะ นิยายมีการบรรยายและพรรณนามาก ส่วนบทละคร ต้องทำตัวหนังสือที่บรรยายออกมาให้เห็นเป็นภาพที่สื่อความได้ ตีความจากหนังสือให้เป็นว่าผู้เขียนนิยายต้องการสื่อความถึงเรื่องอะไรเป็นสำคัญ อะไรที่เราอยากจะสื่อหรือเราจะตีความใหม่ที่ไม่ทำให้คนเขียนนิยายตำหนิเราได้ (หัวเราะ) ทำให้บางครั้งคนอ่านนิยายและมาดูละครทีวีในเรื่องเดียวกันจะไม่ค่อยเข้าใจ มักจะคิดว่าคนเขียนบททำไมเขียนไม่เห็นเหมือนหนังสือเลย นั่นเป็นเพราะการตีความด้วย และนิยายมีไม่กี่เหตุการณ์แต่ก็สามารถเล่าเรื่องราวจนจบได้ แต่ละครต้องสร้างเรื่องย่อยขึ้นมาอีกมากมายเพื่อให้เพียงพอในแต่ละตอนเพราะเราต้องแบ่งเป็นฉาก ลองคิดดูนะคะ หนึ่งตอนชั่วโมงมี 24 หน้า A สี่ ก็ประมาณ 40-60 ฉาก หนึ่งเรื่องมีประมาณ 24 ตอน ตกหนึ่งเรื่องประมาณเกือบหกร้อยหน้า เราต้องเค้น คิดเหตุการณ์เสริมเพื่อให้สอดคล้องกับนวนิยายที่เขาเขียนบรรยายให้ได้อรรถรสมาเป็นบทละครเกือบหนึ่งพันฉากหรือมากกว่านั้นกว่าจะจบหนึ่งเรื่อง มันไม่ง่ายเลยใช่มั้ยคะ และบางทีตัวละครในนิยายมีน้อย คนเขียนบทก็จำเป็นต้องเพิ่มตัวละครเพื่อจะได้มีสีสันมีเหตุการณ์เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้โครงเรื่องยับเยินอย่างที่เข้าใจ ถ้าจะผิดเพี้ยนก็ต้องเกิดจากการตีความผิดเท่านั้นเองค่ะ และยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกเช่นการแจกบทให้ครบถ้วนเรื่องไม่โดด และรายละเอียดอื่นๆ อีกมากมายที่กว่าจะมาเป็นละครหรือหนังหนึ่งเรื่องอยากให้เห็นใจคนเขียนบทตรงจุดนี้ด้วยค่ะ
ส่วนเรื่องความยากง่ายเวลานี้ สำหรับพี่ก็คงต้องบอกว่านวนิยายยากสุดๆ เลยค่ะ เพราะพี่ชอบคิดเป็นภาพเหตุการณ์ และการตีความมากกว่า ซึ่งนวนิยายต้องใช้อรรถรสในการเล่าเรื่องด้วยความละเมียดละไมของภาษา ที่สำคัญข้อมูลต้องแม่นและละเอียดลออค่ะ แต่คำพูดของบทจะกระชับ เข้าประเด็นในหนึ่งฉากว่าต้องการสื่ออะไร และร้อยกันให้สนุก ตื่นเต้น เร้าใจด้วย แต่พี่ก็ชอบการเขียนนวนิยายนะคะ คือนว-นิยายมันสามารถใส่ประเด็นที่เราต้องการนำเสนอมากกว่าละครค่ะ ซึ่งละครทีวีตอนนี้ก็ต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่เป็นแบบ mass production จริงๆ ซึ่งต้องเร่งผลิตให้ได้ตามเวลาออกอากาศค่ะ บางทีเขียนบทไปเสียแจ่ม รอดูเลยแต่อาจต้องผิดหวัง เพราะหน้างานของผู้กำกับอาจมีอะไรที่ต้องเปลี่ยนก็อาจถูกตัดออกไปด้วยตามข้อจำกัดนานัปการค่ะ ซึ่งคนเขียนบทต้องยอมรับและทำใจจุดนี้ให้ได้ค่ะ
รู้สึกอย่างไรกับโครงการชมนาด บุ๊ก ไพร้ซ์
น่ายกย่องมากค่ะ ครั้งแรกที่อ่านเจอใจเต้นตูมตามเลย คือ เป็นเส้นทางความหวังใหม่ที่จรรโลงใจมากค่ะ เหมือนเจ้าของโครงการมาตัดริบบิ้นเปิดถนนสายใหม่ให้เราได้ใช้ ถึงแม้จะเดินทางไม่ถึงจุดหมายปลายทาง เพราะเครื่องยนต์ยังไม่พร้อม (หัวเราะ) แต่ตลอดทางเราสามารถเก็บเกี่ยวศึกษาเส้นทางประสบการณ์ และเป็นแรงบันดาลใจที่สวยงามมากค่ะ เพราะเชื่อว่าคนที่เขียนนวนิยายจบหนึ่งเรื่องด้วยระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งบางคนเริ่มเร็วช้าไม่เท่ากันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในแต่ละวันเรามีภารกิจมากมาย และอารมณ์ความรู้สึกแต่ละวันก็ไม่เหมือนกัน แต่เราต้องเขียนเพราะเวลาเรามีจำกัด และทำมันออกมาให้ได้ ซึ่งการอยู่กับการเขียนก็มีข้อดีค่ะ คือได้วางเรื่องทุกข์เรื่องอื่นไปเลย คือหลุมหลบภัยชั้นเยี่ยมค่ะ
ข้อชี้แนะหรือติชมสำหรับโครงการนี้
เชื่อว่าโครงการนี้ศักดิ์สิทธิ์ และมีประสิทธิภาพในการตัดสิน แต่สิ่งที่อยากจะขอแนะนำคือขอให้คณะกรรมการที่อ่านจะรอบไหนก็ตามที่ได้อ่านผลงานของนักเขียน จงเขียนคำติชมตามความเป็นจริงส่งให้ทุกคนที่เขียนส่งเข้ามา เพราะเชื่อว่าคนที่เป็นนักเขียนใหม่ๆ หรือเพิ่งเริ่มจะเขียนนวนิยายอย่างดิฉันต้องการอย่างมากเพื่อนำมาพัฒนางานของตัวเอง เพราะที่เรามุ่งมั่นเขียนกันเป็นร้อยๆ หน้าก็เพื่อมีคนอ่านและวิจารณ์ให้เราด้วย ถ้าทำได้เชื่อว่าจะมีคนส่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี โดยให้เขียนวิจารณ์ตรงไปตรงมาเต็มที่ เป็นจดหมายส่งให้ผู้เขียนโดยตรงก็ได้หรือจะเขียนวิจารณ์ขึ้นเว็บเลยก็ไม่มีปัญหา เพื่อเป็นวิทยาทานด้วยค่ะ ส่วนที่ควรคงไว้คือรางวัลและเกณฑ์การจัดพิมพ์ค่ะ
สิ่งที่ช่วยดึงดูดให้นักเขียนให้อยากส่งผลงานเข้ามาในโครงการนี้
สำหรับคนที่เริ่มเขียนนวนิยายเหมือนอย่างพี่ก็คงมองหาสนามทดสอบฝีมือ ดังนั้นคนกลุ่มนี้คงต้องการให้มีคำติชมแนบท้ายจากคณะกรรมการมืออาชีพให้