ภายในโรงละครอาคารวัชรนาฏยสภา( A4) อาจารย์สกุล บุณยทัต ชายผู้มีบุคคลิกเรียบง่าย ผมรวบมัดปล่อยชายไว้ด้านหลัง มีความเป็นศิลปินอย่างเด่นชัด มีนามที่นักศึกษาเรียกว่า “ครูหนู” กำลังสอนวิชาการละครและวรรณกรรมให้กับนักศึกษารุ่นใหม่ ๆ แม้ว่าจะผ่านช่วงเวลาวัยหนุ่มมาเนิ่นนาน แต่อาจารย์ก็ยังดำรงความเป็นทั้งนักวิชาการ นักละคร และนักเล่าเรื่อง ผู้มีสายตาเหมือนคนเคยเผชิญทั้งแสงและเงาของยุคสมัย
บทสนทนากับเขาในวันนี้ไม่ใช่การสัมภาษณ์ หากคือการเดินทางข้ามความทรงจำของความเจ็บปวด ความหวัง และความหมายของชีวิต — ชีวิตที่อาจไม่ได้มีคำว่า ชีวิต ปรากฏอยู่เลย
“ถ้าให้พูดนิยามของตัวเองในคำเดียวที่ไม่มีคำว่าชีวิต ผมคงใช้คำว่า Hope นี่แหละ” เขาว่าพลางมองไกลออกไปเบื้องหน้า “ผมเชื่อใน Hope มาตลอด ตอนเด็ก ๆ ผมเคยตั้งคอนเสิร์ตเอง ร้องเอง เล่นเอง เพื่อให้ลูกคนงานของพ่อมานั่งฟัง ผมคิดแค่ว่า ถ้ามีเด็กเพียงแค่คนหนึ่งฟังแล้วเขามีความสุข ผมก็จะร้องมันทั้งร้อยเพลง”
สำหรับอาจารย์ ความหวัง ไม่ใช่แสงสว่างอันโรแมนติก แต่คือโครงสร้างทางอารมณ์ที่หล่อเลี้ยงวิถีมนุษย์ ในโลกที่โหดร้ายเกินจะรับรู้ การที่อาจารย์ส่งลูกเข้าเรียนดนตรี การมอบเวทีเล็ก ๆ ให้ความฝัน การผลักดันให้ “เป็นอะไรบางอย่างให้ได้” คือบทพิสูจน์ว่า Hope ยังเป็นกลไกพื้นฐานในวิธีที่เราดำรงอยู่
เมื่อพูดถึงวงการวรรณกรรมไทย อาจารย์สกุล บุณยทัต ไม่ได้มีเพียงบทบาทของนักเขียนผู้มีลีลาภาษาเฉพาะตัวเท่านั้น แต่ยังเป็น นักวิจารณ์ระดับแนวหน้า ผู้ได้รับรางวัล “ม.ล.บุญเหลือ เทพรัตนสุวรรณ” ซึ่งถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติในสายงานวิจารณ์วรรณกรรม
“ผมภูมิใจที่สุด คือการได้รางวัลของอาจารย์บุญเหลือ ตอนนั้นต้องวิจารณ์หลายเรื่องมาก ไม่เหมือนสมัยนี้ที่แค่สองสามเรื่องก็พอ สมัยก่อนเจ็ดแปดเรื่อง ต้องลงลึก ต้องแหลมที่สุด ต้องตีความแบบไม่มีใครกล้าทำ”
หนึ่งในผลงานที่อาจารย์วิจารณ์อย่างลึกซึ้ง คือ แผ่นดินอื่น ของ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในงานเขียนร่วมสมัยที่ตีความยากและซ่อนเงื่อนไว้อย่างแนบเนียน
“ยากมากครับ ‘แผ่นดินอื่น’ คือเรื่องสั้นหลายเรื่องที่ต้องใช้สมาธิและการตีความเชิงสัญลักษณ์ตลอด กนกพงศ์เป็นรุ่นน้องนะ เคยได้รางวัลช่อการะเกดพร้อมกัน ผมได้จากเรื่อง ‘จุดไฟเผาทุ่งทะเลดอกไม้’ ซึ่งเป็นเรื่องจริงแถวบ้านผม”
งานของอาจารย์สกุลมักพุ่งเป้าไปที่โครงสร้างอำนาจ การเอารัดเอาเปรียบ และความเหลื่อมล้ำที่คนทั่วไปมองข้าม นอกจากงานเขียนเชิงวิจารณ์ อาจารย์ยังมีบทบาทสำคัญในวงการภาพยนตร์ไทย โดยเฉพาะในช่วงรุ่งเรืองของ ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น ซึ่งเขาร่วมงานกับผู้กำกับระดับตำนานอย่าง “แจ๊ส สยาม” และสร้างผลงานเด่นอย่าง คนทรงเจ้า และ คือฉัน
“คนทรงเจ้านี่ผมเขียนบทเองหมดเลยครับ ไม่ใช่แค่บทพูดนะ มุมกล้อง ระยะภาพ ต้องรู้หมด เพราะตอนนั้นการเขียนบทหมายถึง ‘การถ่ายภาพ’ ไปด้วย เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้วนะครับ เขียนกันแค่บทสนทนา ไม่เข้าใจมิติของภาพ ไม่เข้าใจต้นฉบับก็ยังเขียนได้ สมัยก่อนนี่ต้องดูหนังมาเป็นร้อยเรื่อง อ่านหมด ดูหมด ตั้งใจทุกเฟรม”
“เดี๋ยวนี้คนเขียนหนังสือบางคนไม่อ่านหนังสือเลยก็มีนะครับ…มันมีสูตรแล้วก็ลอกสูตรกันไป แต่ถ้าคุณจะวิจารณ์เขา คุณต้องเขียนให้ได้ ถ้าจะเขียนบทภาพยนตร์ คุณต้องเข้าใจหนัง ต้องดูหนัง ต้องเข้าใจภาพ เข้าใจจังหวะ เข้าใจมนุษย์ ไม่งั้นก็โกหกคนดู”
เขาเล่าด้วยความเสียดายว่า คือฉัน ที่เขาเขียนบทไว้ ก็เป็นหนึ่งในโครงการที่หวังจะขยายสู่ จันดารา แต่ด้วยข้อจำกัดทางทุนและระบบ กลับไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจไว้
“เสียดายครับ ถ้า คือฉัน ได้ทุนผมอาจจะได้ทำ จันดารา แต่ก็ต้องแลกครับ สมัยนั้นทำหนังต้องใช้ฝีมือแลกกับโอกาสจริง ๆ”
อาจารย์สกุลพูดถึง “หนัง” ว่าเป็นศิลปะที่โกหกได้ลึกที่สุด ลึกจนเราหลงคิดว่ามันคือสาระ เป็นความจริง เป็นโลก เป็นอุดมการณ์ “หนังมันโกหก และโกหกได้เนียน คนจับไม่ได้หรอก หนังมันสอนเราเรื่องสงคราม เรื่องรัก เรื่องการเสียสละ ทั้งหมดนั่นคือการโกหกที่มนุษย์ผลิตขึ้นเพื่อปกปิด หรือบางทีก็เพื่อเยียวยา”
เพราะเหตุนี้ เขาจึงผูกพันกับการแสดง การละคร และการเล่าเรื่อง ซึ่งล้วนแต่เป็น “mechanic” หรือ “กลไก” ที่หลอกและโอบประโลมในเวลาเดียวกัน อาจารย์เล่าว่าเคยถูกขอให้เขียนบทเพิ่มก่อนถ่ายทำเพียงไม่กี่นาที “เราก็ใส่ไปนิดนึง สร้างเหตุผลให้คนดูเชื่อ ทั้งที่มันไม่มีเหตุผลจริง ๆ ”
จากศิลปะมาสู่ศรัทธา เขาพูดถึงหนังเรื่อง คนทรงเจ้า ว่า “คุณหมิ่นไม่ได้ เพราะคนศรัทธา” มันคือ “white lie” ประเภทหนึ่ง โกหกเพื่อให้สังคมยังดำรงอยู่ ศิลปะ ศาสนา และความเชื่อจึงมักพัวพันกันในพื้นที่ของการ “ตีความ”
“ผมทำงานหลากหลายครับ แต่ไม่เคยหลุดไปจากสิ่งเดียว…คือการพูดความจริงผ่านงาน”
จากนักเขียน นักวิจารณ์ นักร้อง นักเขียนบทภาพยนตร์ จนถึงอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย อาจารย์สกุล บุณยทัต คือคนที่พิสูจน์ให้เห็นว่าความหลากหลายในชีวิต ไม่ได้แปลว่า “ไร้ทิศทาง” แต่คือการ “ทดลองหลายทางเพื่อหาความจริงเดียว” และแม้ปัจจุบันโลกจะเปลี่ยนไปมาก แต่น้ำเสียงของครูหนูก็ยังมั่นคง
“ผมพูดกับนักเรียนว่าการเขียนบทกับการทำข่าวมันมีจุดเชื่อมกันนะ — คือความเข้าใจในความรู้สึกของมนุษย์”
ในห้องเรียน อาจารย์สกุลถ่ายทอดประสบการณ์จากสื่อสารมวลชนสู่ศิลปะการละคร ผ่านรายวิชา Social Environment in Modern Theatre ซึ่งมองการละครในฐานะกระจกสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของสังคม
“เวลาสอนบทละคร ผมไม่ได้ให้เด็กนั่งจินตนาการลอย ๆ นะครับ ผมให้ดูหนังจริง อ่านบทจริง แล้วฝึกคิดภาพในใจให้ชัดที่สุด — สิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า mental imagery”
เขายกตัวอย่างง่าย ๆ ว่า ถ้านักเขียนบทยังนึกไม่ออกว่า “คืนฝนตก” เป็นอย่างไร แล้วจะเขียนให้คนดู “รู้สึก” ได้อย่างไร
“มันต้องเห็นภาพแรกให้ได้ก่อน ถ้าไม่มีภาพแรกเลย คุณก็สร้างเรื่องไม่ได้”
“สมัยก่อนเวลาเขียนบทภาพยนตร์ เราเขียนละเอียดครับ ทั้งมุมกล้อง ระยะ แสง เสียง ฉาก และอารมณ์ เราต้องเข้าใจหนังทั้งเรื่องก่อนเขียน” แต่ในปัจจุบัน อาจารย์บอกว่าการเขียนบทกลายเป็นการเรียงบทสนทนาเท่านั้น ไม่รู้จัก conflict ไม่เข้าใจ character arc และที่สำคัญ — ขาด “ภาพแรก” ที่ทรงพลังในใจ
“ฝรั่งเข้าใจ ‘คอนฟลิกต์’ ตั้งแต่ต้น อย่าง The Godfather เขียนยากมาก แต่เข้าใจเลยว่าทำไม ‘น้องต้องฆ่าพี่’ หรือทำไม ‘ความฝันถึงสลาย’”
อาจารย์เล่าถึงการเขียนบทภาพยนตร์เชิงสัญลักษณ์ระดับตำนานอย่าง คนทรงเจ้า ร่วมกับผู้กำกับ แจ๊ส สยาม โดยมีฉากหลังที่ไม่เพียงสื่อสารเรื่องเหนือธรรมชาติ แต่สะท้อนอำนาจและการเมืองอย่างแหลมคม
“บทพูดในเรื่องนั้นไม่มีความจริงเลยสักบรรทัด เป็นการโกหกกันทั้งเรื่อง — แต่เป็นการโกหกที่ ‘เล่าเรื่องจริง’ ได้ลึกที่สุด”
“เรื่องเล่าที่ดี มันต้องเริ่มจากความจริงในใจ…ถ้าคุณยังไม่รู้ว่าภาพแรกของเรื่องคืออะไร คุณก็ยังไม่พร้อมจะเขียน”
เขาอาจไม่เขียนตามสูตรที่ตลาดต้องการ แต่เขาเชื่อว่าการเล่าเรื่องที่มีน้ำหนัก — ต้องเกิดจากความจริง ความเข้าใจ และความลึกอย่างแท้จริง
ในขณะเดียวกัน อาจารย์ก็เปิดหัวใจพูดถึงนักคิดร่วมยุคอย่าง อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อย่างลึกซึ้งว่า “เสกสรรค์คือ ชีวิตต่อชีวิตครับ ชีวิตแนบชีวิต การงานของแกทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องเข้าใจชีวิตมากขึ้น แกอาจไม่ค่อยมีความสุขนัก แต่อาจารย์ก็ทำให้เราไม่ลืมว่าความเจ็บปวดคือส่วนหนึ่งของการมีอยู่”
“ชีวิตต่อชีวิต” หมายถึง งานเขียนของเขาไม่ใช่แค่เรื่องเล่า แต่คือการถ่ายทอดชีวิตจริง “ตอนเข้าป่า เขาคงคิดว่าชีวิตสมบูรณ์แล้ว แต่พอออกมา... ผมว่าพี่เสกผิดหวัง”
การผิดหวังในอุดมคติ เป็นความเจ็บปวดที่พูดง่ายแต่เข้าใจยาก มันเหมือนเราตั้งใจจะสร้างภูเขา แล้วพบว่าโลกไม่ต้องการภูเขาอีกต่อไป
อาจารย์สกุลยกตัวอย่างผลงานของอาจารย์เสกสรรค์ เช่น “วิหารที่ว่างเปล่า” ว่า เป็นผลงานที่พูดถึงความรู้สึกในวัยหนุ่ม — ว่าในขณะที่วัดวาอารามเต็มไปด้วยรูปเคารพ ภายใน “วิหารใจ” กลับเงียบเหงา เยือกเย็น และว่างเปล่า
“แกบอกว่าเราต้องเติม ‘วิหารข้างใน’ ให้ได้ด้วยความรู้สึกที่ดีงาม”
ในวัยสูงขึ้น — ผลงานอย่าง “เพลงเอกภพ” กลับสะท้อนภาพตรงข้าม จากวิหารที่ว่างเปล่า กลายเป็นการให้อภัยตนเองและผู้อื่น จากความผิดหวังและการทำร้ายกันในอดีต
“งานเขียน” ของอาจารย์เสกสรรค์ สามารถ “ปลุก” คนให้เข้าใจชีวิตของตัวเองได้ — โดยไม่ต้องใช้ถ้อยคำสวยหรู อาจารย์สกุลยืนยันว่า ความเจ็บปวดของอาจารย์เสกสรรค์ ไม่ได้ลดทอนคุณค่าของงานเขียน แต่กลับเป็นวัตถุดิบที่แท้จริงที่สุดของวรรณกรรม
“เขาไม่ได้ล้มเหลวเลยครับ แค่เขาแบกรับ ‘ความผิดหวังจากอุดมการณ์’ ไว้เต็มตัว อุดมการณ์ที่เป็นไปไม่ได้ แต่น่าจะเป็นไปได้ — นั่นแหละเจ็บปวดที่สุด อาจารย์เสกจึงเป็นเหมือนฤๅษีที่เฝ้ามองซากอารยธรรม”
งานเขียนของเสกสรรค์ เช่น คนกับเสือ, ดอกไผ่, ทาง, หัวใจที่กลับบ้าน ฯลฯ ล้วนสะท้อนความเชื่อว่า “ความจริงภายนอก” ไม่เคยเข้าใจ “ความจริงภายใน” และในงานเขียนเหล่านั้น เราพบ “เสือ” ตัวหนึ่ง — สัญลักษณ์ของความอหังการที่ไม่ก้มหัวให้ใคร แต่มนุษย์กลับต้องการกำจัด “เสือ” ไปให้หมดจากสังคม
“คนทุกวันนี้ไม่มีเสือเลยครับ มีแต่แมวอ่อนปวกเปียกไปหมด”
“เด็กไม่มีการรับน้อง ก็ไม่เข้มแข็ง ไม่มีการเติบโต ไม่มีความเป็นเสือ”
เสียงของเขาเงียบลงครู่หนึ่ง ก่อนจะกล่าวต่อว่า “ผมคิดว่าพี่เสกสรรค์ไม่เคยหนีไปไหนนะ แกแค่เลือกจะเงียบ แล้วมอง มองซากของอารยธรรมที่ตัวเองเคยช่วยก่อร่างสร้างขึ้นมา”
เมื่อถามถึงอนาคตของการศึกษาไทย เขาหัวเราะเบาๆ แล้วตอบอย่างตรงไปตรงมา “เราไม่มีความหวังหรอก ถ้าเราไม่ปลูกความหวังไว้ในเด็ก คำว่า hope ที่ผมพูด มันไม่ใช่คำสวย ๆ แต่มันคือคำที่เราต้องส่งต่อให้ได้”
“ถึงผมจะอายุ 70 กว่าแล้วตอนนี้ ผมก็ยังมีความหวังอยู่ครับ” เขาไม่ได้พูดด้วยโลกสวย แต่พูดเพราะเขาเคยหมดหวังมาก่อน
“มีบางวันที่รู้สึก hopeless เหมือนกันครับ แต่ต้องบอกตัวเองว่า มันต้องมีทางหวังได้สิ ต้องขอบคุณวิชามวยครับ นักมวยไม่มีใครยอมแพ้ และไม่มีใครบอกว่าตัวเองแก่”