เรามีปัญหาถูกตัดสินจากคนรอบข้างว่าเป็นคนมนุษย์สัมพันธ์ไม่ดี เก็บตัว เก็บกด เครียดง่าย มาตั้งแต่เด็กๆ คิดว่าตอนนั้นผู้คนบนโลกเกือบทั้งหมดน่าจะเข้าใจแบบนั้นเหมือนกัน ตอนนั้นไม่มีศัพท์คำว่าอินโทรเวิร์ดเหมือนเดี๋ยวนี้ ที่ทุกคนพอจะเข้าใจแล้วว่า มันก็แค่คนอีกบุคลิกหนึ่ง ที่มักชอบอยู่เงียบๆ เพราะการอยู่เงียบๆ ทำให้รู้สึกปลอดภัย สบายใจ และมีความสุขมากกว่า ตรงกันข้าม การต้องถูกบังคับให้ออกไป “สนุก” กับคนอื่นๆ กลับทำให้รู้สึกอึดอัด กดดัน ไม่สบายใจ คือเราก็ดำรงชีวิตได้ตามปกติเหมือนคนอื่นๆค่ะ แต่อาจจะคุยไม่เก่ง และแสดงออกทางอารมณ์ต่อหน้าคนอื่นๆได้ไม่ค่อยเก่งเท่าไหร่
ตั้งแต่ ป. 1 สิ่งที่มักจะทำคือ หลังกินข้าวเที่ยง ก็จะเดินไปบอกครูว่า ขออนุญาตไปอ่านนิทานในห้องสมุด แล้วเราก็แวบไปเลย ไปนั่งอยู่ที่มุมนิทาน นั่งเปิดแต่ละเล่ม แต่ละหน้าด้วยความรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับภาพประกอบสวยๆ เนื้อหาที่พาเราเข้าไปอยู่อีกโลกหนึ่งที่เรารู้สึกว่ามันสื่อสารกับเราได้ดีกว่าผู้คนในโลกปกติ
จากนั้นมา หนังสือเลยกลายเป็นเหมือนโลกอีกครึ่งหนึ่งของชีวิตเรา ที่เป็นทั้งพื้นที่ปลอดภัย เป็นเพื่อน เป็นที่หลบภัยของเรา การอ่านก็ค่อยๆพัฒนาเองขึ้นมาเรื่อยๆ เราก็เริ่มอ่านนิตยสารตามแม่ ทั้งสกุลไทย สตรีสาร อ่านหนังสือนิยายกำลังภายในและ พลนิกรกิมหงวน ตามพ่อ และก็ลามไปอ่านทุกอย่างเหมือนปลวกกินบ้าน ทั้งมังงะ วรรณกรรมเยาวชน นิยาย บทความ สารคดี อ่านหนังสือพิมพ์ทุกหน้า เวลาว่างๆก็จะกวาดตาหาอะไรอ่านไปเรื่อย อ่านฉลากห่อขนม ห่อสบู่แชมพู ป้ายประกาศต่างๆ ไปไหนถ้ามีหนังสืออะไรวางไว้ก็จะคว้ามาอ่านหมดไม่เลือกประเภท เหมือนกับว่าตัวอักษรเหล่านั้นร้องเรียกและพยายามจะสื่อสารกับเรามาจากทุกทิศทุกทาง ทำให้เรารู้สึกว่าโลกนี้มันน่าอยู่ และมีที่ทางของเรามากขึ้นในตัวหนังสือเหล่านั้น
เราได้มีโอกาสอ่านหนังสือหลากหลายมากขึ้นเมื่อเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯค่ะ เพราะห้องสมุดของมหาวิทยาลัยจะมีหนังสือให้บริการเยอะกว่ามาก เรามักจะไปซุกอยู่ที่ชั้นหนังสือบันเทิงคดี เพราะอ่านแล้วมีความสุข เรารู้สึกว่านักเขียนคือผู้วิเศษที่ทำเรื่องมหัศจรรย์เหล่านี้ได้ มันน่าทึ่งมากๆ
พอมาถึงวันนี้เราได้รับโจทย์ให้พูดถึงหนังสือเล่มโปรด เราเลยค่อนข้างหนักใจ เพราะมันเยอะมาก พอลิสต์ออกมาแล้วนั่งกุมขมับเลย ขนาดว่าเลือกแล้วคือยังราว 50 เล่มได้ แต่ในที่สุด หลังจากพยายามตัดทอนอย่างโหดร้าย(หัวเราะ) ก็ได้ 15 เล่มนี้มาค่ะ ที่คิดว่า ไม่ว่าจะผ่านเวลาไปนานแค่ไหน ก็คิดว่าจะยังชอบและอ่านซ้ำได้ไม่เบื่อ และหลายเล่มในนี้ก็เป็นเหมือนเพื่อนชีวิตเราด้วย
- หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว โดย กาเบรียล กาเซีย มาเกซ
เป็นเล่มที่เรียกว่า เปิดหูเปิดตาเรามากๆ เป็นหนังสือที่มหัศจรรย์มาก เราอ่านรวดเดียวจบด้วยความหลงใหล เหมือนเข้าไปอยู่ในมาคอนโดด้วย จนจบเล่มก็รู้สึกผูกพันกับทุกตัวละครและทุกเรื่องราวต่างๆโดยเฉพาะเนื้อหาที่มีความเหนือจริง ที่ทำให้เราติดตาติดใจทุกฉากที่อ่าน มันว้าวมาก เล่มนี้ทำให้เราก้าวข้ามกรอบความคิดเดิมเกี่ยวกับนิยามของการเขียนนิยายค่ะ ว่าเราเขียนสิ่งที่อยากเขียนได้ไม่จำกัด ถ้าควบคุมมันได้อยู่มือพอแบบเล่มนี้
- ดาวหางในเมืองมูมิน โดย ตูเว ยานซอน
เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่เป็นตัวแทนหมู่บ้าน เพราะจริงๆเราอ่านวรรณกรรมเยาวชนเยอะมาก ทั้งฝรั่ง ไทย ญี่ปุ่น เรารู้สึกว่านี่เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุดแล้ว แม้แต่เรื่องที่ดรามาหลอนๆอย่างเด็กหญิงอีดะ หรือเรื่องนี้ ที่มีแต่การผจญภัยเสี่ยงภัยที่ค่อนข้างน่ากลัวของเด็กๆ แต่ที่เลือกมาเพราะรู้สึกว่า เรื่องมูมิน ให้ความอบอุ่นใจมาก โดยเฉพาะการให้น้ำหนักของบทบาทพ่อแม่และผู้ใหญ่ในเรื่องไม่น้อยกว่าเด็กๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ชุมชนต้องช่วยกันเลี้ยงและหล่อหลอมเด็กๆขึ้นมาเพื่อโลกที่ดีขึ้น
- เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง โดย แดนอรัญ แสงทอง
เล่มนี้เราชอบมาก อ่านแล้วเหมือนถูกกระแสตัวอักษรที่เชี่ยวกรากพัดพาไปตามเรื่องอย่างควบคุมอะไรแทบไม่ได้ สะเทือนใจมาก อินมาก เพราะมาอ่านตอนที่มีลูกแล้วด้วยค่ะ
- เด็กหญิงขายไม้ขีดไฟ โดย ฮานส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน
เล่มนี้คือนิทานเล่มโปรดตลอดกาลของเรา เพราะตั้งแต่ ป. 1 ที่เข้าห้องสมุดไป ก็ต้องไปหยิบเล่มนี้มาอ่านทุกครั้ง และนั่งร้องไห้ทุกครั้ง เราไม่ได้ร้องไห้เพราะมันเศร้า แต่กลับรู้สึกว่าเรื่องนี้จบดี เพราะในที่สุดเด็กหญิงก็พ้นจากความทรมานและได้ไปอยู่กับคนที่เธอรัก
- พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ โดย วีรพร นิติประภา
เป็นหนังสือในยุคนี้ที่เราชอบมากที่สุด รู้สึกเหมือนถูกสำนวนและถ้อยคำของพี่แหม่มฉุดกระชากลากถูกเราไปตามเรื่องราวที่ทั้งเศร้าและงดงาม เจ็บปวดแต่ก็มีความสุข มีประกายสว่างไสวในความสิ้นหวัง เป็นหนังสือที่น่าจะทำเราร้องไห้หนักที่สุดในชีวิตจนต้องแบ่งอ่านเป็นช่วงๆเพราะร้องไห้จนปวดหัวเลยค่ะ
- เวตาลปัญจวิงศติ โดย ศิวทาส
ชอบมาก สนุกมาก ตัวเรื่องราวมีความน่าติดตามทั้งเรื่องหลัก และนิทานที่ซ้อนในเรื่องนั้น มีความแฟนตาซีที่จินตนาการล้ำมากๆ หลายเรื่องเราต้องอุทานว่าคิดได้ยังไง และนอกจากนี้ยังได้เห็นแนวคิดและวัฒนธรรมของอินเดียโบราณที่มีต่อสังคมและบทบาทของคนในสถานะต่างๆด้วย
- บนเส้นลวด/ฉากและชีวิต โดย วัฒน์ วรรลยางค์กูร
เป็นนักเขียนที่เราชอบมาก จริงๆตามอ่านทุกเรื่องแต่ที่เลือกสองเรื่องนี้มา เพราะรู้สึกว่าตัวละครเหมือนมีเลือดมีเนื้อ เด้งออกมาจากหน้าหนังสือเลย เราเคารพคุณวัฒน์มากๆ เพราะเขาเป็นนักเขียนที่ใช้คำน้อย แต่ได้ความมาก ได้ทั้งความหมาย ความรู้สึก และอารมณ์ สองเรื่องนี้มีความละเมียดละไมมาก เหมือนกับหนังสือมีลมหายใจเลยค่ะ
- Of mice and men /Cannery row จอห์น สไตน์เบค
เป็นอีกหนึ่งนักเขียนที่นัทชื่นชอบฝีมือ และติดตามอ่านมาหลายเรื่อง ชอบมากหลายเรื่อง ที่เลือกสองเล่มนี้เพราะเป็นเล่มที่สั้น เรียบง่าย แต่ความรู้สึกสะเทือนใจสูง นักเขียนทำให้เรามองโลกในหลายมิติของความเป็นมนุษย์ และหลายแง่มุมที่จะทำให้คนคนหนึ่งตัดสินใจทำหรือไม่ทำอะไรแบบที่ไม่ว่าทางไหนก็ปวดร้าวเหมือนกลืนเลือดตัวเอง
- Jasmine night/ฉุยฉาย โดย สมเถา สุจริตกุล
เลือกอันเดียวไม่ได้จริงๆค่ะ สำหรับคนนี้ ชอบมากและนำเรื่องสั้นฉุยฉายบางส่วนมาใช้เป็นตัวอย่างในการสอนในมหาวิทยาลัยหลายครั้ง ในเรื่องของการสร้างบรรยากาศให้สมจริง และเลือกเล่าด้วยวิธีใช้ภาพจำ ทำให้คนอ่านเชื่อเรื่องที่เล่าได้ง่ายขึ้น
- ช่างสำราญ โดย เดือนวาด พิมวนา
เป็นนิยายไทยไม่กี่เรื่องที่อ่านซ้ำหลายรอบ และต้องหัวเราะร่า น้ำตาริน เพราะในความเสียดเย้ยแบบเรียบง่าย เหมือนคนเล่นมุกตลกร้ายหน้านิ่งๆ ซ่อนความลึกซึ้งอยู่ระหว่างบรรทัดอย่างแนบเนียน ทำให้เรารักตัวละครได้ง่ายๆและเสียน้ำตาให้ตัวละครได้ง่ายๆเช่นกัน
- ใต้ถุนป่าคอนกรีต โดย รงค์ วงสวรรค์
เป็นแฟนคลับและลูกศิษย์โดยอ้อมของนักเขียนชั้นครูท่านนี้ แต่ตอนเป็นนักศึกษา หาอ่านเล่มเก่าๆยากมาก แม้แต่ห้องสมุดก็มีน้อย และสภาพค่อนข้างทรุดโทรม ทำให้ช่วงมีเงินเดือน ก็ต้องเก็บเงินเพื่อตามซื้อ เล่มนี้เป็นหนึ่งในเล่มที่หายากในยุคที่เริ่มทำงาน อ่านแล้วประทับใจกับการถ่ายทอดมุมมองใหม่ๆ และการใช้คำ สำนวนภาษาที่มีเอกลักษณ์ติดหูติดตา และติดใจค่ะ
- ฤดูร้อน ดอกไม้ไฟ และร่างไร้วิญญาณของฉัน โอตสึ อิจิ
ปกติเป็นแฟนวัฒนะธรรมญี่ปุ่นมาตั้งแต่อ่านมังงะตอน ป.1 และเลยลามมาอ่านวรรณกรรมญี่ปุ่นมากมาย เล่มนี้เลือกมาเป็นตัวแทนงานของนักเขียนคนนี้ เพราะเป็นเล่มแรกที่ได้อ่าน แล้วชอบมาก มากถึงมากที่สุด เป็นคนที่เขียนเรื่องสยองขวัญได้ลึกซึ้งหลากหลายอารมณ์ ผสมผสานทั้งความหลอน ความเศร้า และความงดงามของเรื่องราวที่เกิดขึ้น และยังมีวิธีการเล่าที่ไม่ค่อยเหมือนใคร สร้างความประหลาดใจและประทับใจได้ตลอดค่ะ
- ความฝันของคนวิกลจริต ฟิโอดอล ดอสโตเยฟสกี
เล่มนี้ได้อ่านตั้งแต่สมัยเรียน และเป็นจุดเริ่มต้นให้ลามไปอ่านง่านในแขนงเดียวกันของนักเขียนท่านอื่นๆอีกด้วย เป็นครั้งแรกที่เรารู้จักงานเขียนแนวกระแสสำนึก และชอบมาก รู้สึกว่าตรงจริตมาก อ่านแล้วจมลงไปในเรื่องเหมือนเป็นเรื่องของตัวเอง
- ความตายของอีวาน อีลิซ ลีโอ ตอลสตอย
เรื่องนี้เป็นหนังสือที่ทำให้เราค้นพบความชอบของตัวเอง ว่าน่าจะอยากสร้างงานแนวไหน คือการพิจารณาความคิด จิตใจ อารมณ์ และปรากฏการณ์ทางจิตที่พรั่งพรูออกมา เมื่อมนุษย์ต้องเดินทางเข้าใกล้ความตาย ทุกอย่างที่เคยสำคัญ ไม่สำคัญ มันอาจจะกลายเป็นสิ่งที่ไร้ความหมายหรือมีความหมายมากที่สุดในช่วงเวลาหนึ่ง
- ร่างพระร่วง เทพศิริ สุขโสภา
เรื่องนี้อ่านอย่างสนุกมาก อินมาก เพราะเป็นคนที่ชอบศึกษาเรื่องลึกลับ อำนาจเหนือธรรมชาติ เราอ่านและวางหัวใจเอาไว้ว่าเป็นแนวแฟนตาซีไปเลย ทำให้เวลามีสิ่งที่ดูเหนือธรรมชาติเกินขึ้นในเรื่องเราจะสนุกไปด้วยง่ายมาก อีกอย่าง ตอนที่พ่อยังอยู่ พ่อเล่นพระเครื่องค่ะ เลยทำให้พอมีพื้นฐานเรื่องพระเครื่องและวัตถุมงคลบ้าง แต่พอมาอ่านเรื่องนี้ก็เลยได้ความรู้เรื่องราวในวงการพระเครื่องด้วย
- พล นิกร กิมหงวน
เรื่องนี้น่าจะเรียกได้ว่า เลี้ยงดูเรามาตั้งแต่เด็กจนโต และเป็นเหมือนพื้นที่ปลอดภัยของเรา ขำคือขำจริงจัง และเนื้อเรื่องก็สนุก อ่านเพลิน เบาสมอง แถมยังได้รู้จักสิ่งต่างๆในยุคสมัยที่เราไม่มีโอกาสได้เห็นด้วยตาตัวเอง จะชอบมากที่สุดคือตอนงานกาชาดที่สวนอัมพร เพราะผู้เขียนใส่รายละเอียดกิจกรรมต่างๆ เสื้อผ้า ทรงผม ร้าน สินค้า และพฤติกรรมของผู้คน ที่ทำให้เราได้ทั้งความรู้และความสนุกไปด้วยกันค่ะ และได้รู้ว่าหลายคำที่ใช้ในปัจจุบัน เช่นคำว่า เชย ก็มาจากเรื่องนี้ด้วย