แม้ใครหลายคนจะมองว่าโอกาสของผู้ดวงตาพิการกับการอ่านหรือเขียนหนังสือนั้น จะเป็นทางคู่ขนานที่จะมาบรรจบกันได้ยาก กระทั่งเชื่อกันว่าผู้ดวงตาพิการเหล่านี้แทบจะไม่มีทางเขียนหนังสือจริงๆ จังๆ ออกมาได้เป็นเล่มๆ ได้ ทว่าเธอคนนี้ ‘พลอย’ สโรชา กิตติสิริพันธุ์ กำลังพิสูจน์ว่าเธอคือหญิงสาวดวงตาพิการที่หัวใจไม่เคยมืดบอดเลย
สโรชา กิตติสิริพันธุ์ หรือ พลอย บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การเข้าศึกษาในสถาบันที่มีการแข่งขันมากทำให้เธอร่ำเรียนด้วยความท้าทาย ที่น่าประหลาดใจคือพลอยเลือกเดินทางสายอักษรศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวกับหนังสือ การอ่าน การเขียน ความยากลำบากและอุปสรรคจึงก่อตัวขึ้น แต่ความกลัวเหล่านี้ไม่มีผลต่อการเรียนใดๆ เพราะสิ่งที่ทำคือสิ่งที่เธอรัก
“พลอยไม่เคยกลัวว่าการเรียนอักษรศาสตร์จะเป็นอุปสรรค แต่จะเป็นอารมณ์ตื่นเต้นมากกว่า ซึ่งตัวเราก็รู้อยู่แล้วว่าอักษรฯนั้นเกี่ยวกับวรรณคดีและวรรณกรรม แต่อีกส่วนหนึ่งคิดว่าอักษรไม่ได้สอนแค่วรรณกรรมเพียงอย่างเดียว คือสอนเขียนด้วย ซึ่งการเขียนหนังสือนั้นเป็นสิ่งที่อยากเรียนรู้อยู่แล้ว การเรียนอักษรศาสตร์จึงเป็นอารมณ์ที่ตื่นเต้นมากกว่าความกลัวว่าจะเรียนได้อย่างคนอื่นหรือเปล่า อีกอย่างคือเป็นสาขาที่ชอบและสนใจ ซึ่งความสนใจในเรื่องวรรณคดีเริ่มขึ้นเมื่อพลอยอยู่มัธยมปลาย เพราะตอนนั้นได้เรียนเกี่ยวกับพงศาวดาร ลิลิต ทำให้รู้สึกชอบและสนใจในวรรณคดีเป็นต้นมา”
เป็นเรื่องธรรมดาเหลือเกินที่การดำเนินชีวิตของคนที่มองไม่เห็นจะเกิดอุปสรรค แม้กระทั่งเส้นทางของ พลอย สโรชา ในรั้วมหาวิทยาลัยก็อาจจะมีขวากหนามมากมาย แต่กำลังใจจากครอบครัวและคนรอบข้างเป็นแรงเสริมให้เธอเดินทางมาถึงจุดที่เรียกว่าประสบความสำเร็จ เพราะในวันนี้เธอมีฐานะเป็นนักเขียนคนหนึ่ง แต่เจ้าตัวก็ถ่อมตัวว่าจะเรียก ‘นักเขียน’ คงไม่เหมาะ
“ความฝันคืออยากเขียนหนังสือ แต่ไม่อยากจะบอกว่าตัวเองเป็นนักเขียนหรือว่าฝันอยากจะเป็นนักเขียน เพราะรู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่มาก สำหรับพลอยนักเขียนคือคนที่รู้ว่าจะเอาความคิดของตัวเองออกมาให้คนอื่นรับรู้ได้อย่างไร ทุกเรื่องที่อยากจะเขียนเขาสามารถเขียนได้ตรงตามที่ต้องการ และคนรับสารก็สามารถรับรู้ได้อย่างที่ต้องการจะให้เป็น แต่ว่าบางครั้งเราก็ยังไม่ถึงขั้นนักเขียน พลอยจึงพูดได้ว่าฝันอยากเขียนหนังสือมากกว่าฝันอยากเป็นนักเขียน ซึ่งมันก็ดูจะเหมาะกับเรามากกว่า”
เมื่อความตั้งใจใฝ่ฝันชัดเจน สาวน้อยคนนี้จึงเดินหน้าเต็มกำลังบนถนนสายอักษรสายนี้ “อยากเขียนหนังสือและทำหนังสือดีๆ ให้คนอื่นได้อ่าน” เป็นความตั้งใจของพลอยที่ปรารถนาว่าสิ่งที่ตัวเองฝันจะเป็นจริง เรื่องทุกเรื่องที่ถูกบันทึกลงบนไฟล์เอกสารในคอมพิวเตอร์ของเธอถูกกลั่นกรองออกมาจากเบื้องลึกและจินตนาการ เรียบเรียงทุกถ้อยคำออกมาเป็นตัวหนังสือลงในสมุดการบ้าน ที่เจ้าตัวเล่าว่าเป็นเรื่องราวที่บันทึกจากชีวิตประจำวันและความคิดอ่านของเธอ จากวันนั้นที่สมุดบันทึกคือการบ้าน ในวันนี้ได้กลายมาเป็น จนกว่าเด็กปิดตาจะโต หนังสือที่จะทำให้หลายคนทึ่งในความสามารถซึ่งบางคนไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้
“ที่มาของหนังสือเล่มนี้มาจากการบ้านที่เขียนส่งในวิชาบรรณาธิการศึกษา โดยตอนเริ่มแรกพลอยไปเรียนวิชาเสวนาบรรณาธิการ เป็นวิชาเลือกเสรีของคณะอักษรศาสตร์ ซึ่งทุกคนจะมีการบ้านเหมือนกันหมดคือเขียนบันทึกประจำวัน ตั้งแต่ตอนนั้นก็เริ่มเขียนบันทึกประจำวัน พอเขียนส่งครูตลอดทุกครั้งครูก็เห็นว่าน่าจะมีประโยชน์อะไรบางอย่างที่จะสามารถสื่ออะไรออกไปสู่สังคมได้ เช่น การบอกเล่าความรู้สึก ก็เลยรวบรวมบันทึกที่เขียนกลายมาเป็นหนังสือเล่ม ‘จนกว่าเด็กปิดตาจะโต’ เล่มนี้”
เรื่องทุกเรื่องที่อยู่ในการบ้านบันทึกประจำวันถูกเชื่อมโยงกับสิ่งที่พบเจอในแต่ละวัน โดยนำกลับมาคิดว่าเรื่องที่เจอนั้นมีประโยชน์ต่อคนอื่นในมุมไหน แล้วเราก็เอามาคิดว่าเราจะโยงไปถึงสิ่งไหนได้บ้าง เช่น วันหนึ่งเจอเรื่องฝนตก ถ้าปกติอยู่บ้านฝนตกเราจะชอบ แต่ถ้าออกไปข้างนอกฝนตกเราจะไม่ชอบ ซึ่งฝนก็เป็นเรื่องของมันที่มันจะตก ก็เหมือนกับชีวิตที่บางครั้งสิ่งที่เราไม่ชอบมักจะมาในตอนที่เราไม่ต้องการ ทำให้การเขียนบันทึกทุกครั้งจะเชื่อมโยงไปถึงมุมมองบางอย่างทำให้สังเกตสิ่งรอบตัวมากขึ้น หนังสือที่ออกมาก็จะทำให้คนอ่านเริ่มสังเกตสิ่งรอบข้างตัวเองเช่นเดียวกัน นั้นคือสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจในการเขียนบันทึกของพลอยจนกลายมาเป็นหนังสือเล่มแรกของเธอ
ความน่าสนใจของสิ่งที่สาวน้อยคนนี้เขียนคือ ‘ความแตกต่าง’ ตั้งแต่สิ่งที่เธอเป็น การมองไม่เห็นทำให้ความคิดอ่านละเอียดอ่อนมาก แม้ไม่รู้ว่าสิ่งต่างๆ รูปร่างหน้าตาโดยแท้เป็นอย่างไร แต่จากการสังเกตด้วยประสาทสัมผัสที่มีและความใฝ่รู้บวกจินตนาการทำให้เธอเขียนถึงอะไรต่อมิอะไรได้อย่างคนมองเห็น มิหนำซ้ำยังเห็นลึกซึ้งกว่าคนทั่วไปด้วย แม้นี่เป็นบันทึกประจำวัน แต่ไม่ใช่บันทึกกิจกรรมประจำวันแน่นอน ด้วยค่าที่ผู้เขียนคิดเยอะ คิดเป็น เธอจึงเขียนบันทึกความคิดที่เกิดขึ้นเสียมากกว่า ความคิดที่ว่าอาจไม่ได้เกิดขึ้น ณ วันนั้น แต่ค่อยๆ ตกผลึกจนเกิดเป็นชุดความคิดอย่างที่ต้องชื่นชม มีทั้งแง่มุมงดงาม มีทั้งแความสร้างสรรค์ และแน่นอนว่าในหลายเรื่องมีอารมณ์ความรู้สึกเข้มข้นทีเดียว
ซึ่งทั้งหมดนั้นถ่ายทอดเป็นภาษาที่สะท้อนความเป็นนักอ่าน (อ่านและฟัง) ภาษาอย่างคนวรรณกรรมมีอยู่แทบทุกบรรทัด ‘จนกว่าเด็กปิดตาจะโต’ ชื่อนี้มาจากไหน พลอยเล่าว่า ‘โต’ คือการที่เราเข้าใจสิ่งต่างๆ รอบตัว มันไม่ใช่แค่ว่าอายุมากขึ้นแล้วก็โตเลย แต่หมายถึงมีวุฒิภาวะเข้าใจสิ่งต่างๆ เพิ่มขึ้นหรือยัง
“นั่นคือการเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดี แล้วเราสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆจนเข้าใจผ่านมุมมองของคนที่มองไม่เห็น เหมือนกับว่าเราปิดตาตัวเองแล้วเรียนรู้มันผ่านประสาทสัมผัสอื่นๆ ทั้งหมดก็เหมือนเป็นที่มาของ หนังสือ เรื่องจนกว่าเด็กปิดตาจะโต คือ จนกว่าที่เราจะเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างจนเข้าใจได้ดีพอผ่านมุมมองของคนที่มองไม่เห็น” นับว่าเหนือความคาดหมายที่การเดินทางของพลอย ไม่ได้หยุดอยู่เพียงการเขียนหนังสือเพียงเท่านั้น แต่เธอยังใช้จินตนาการที่บังเกิดในหัวถ่ายทอดออกมาเป็นภาพวาดที่บ่งบอกถึงความพยามยามและตั้งใจให้มันออกมาเป็นภาพที่เสมือนจริงมากที่สุด ในโลกของพลอยที่ไม่เคยเห็นสิ่งนั้นๆ เลย แต่กลับสื่อมันออกมาได้โดยอาศัยการสัมผัสและการจินตนาการ
“ภาพทุกภาพเกิดจากการที่เราไปสัมผัสกับสิ่งนั้นๆ มา อย่างเรื่องใกล้ตัวมากที่สุดของเรา คือ การสัมผัสตัวเองว่ามีรูปร่างอย่างไร คือเรารู้ว่าตัวเราเป็นแนวตั้งไม่ใช่แนวขวาง สังเกตจากตัวเองและจินตนาการเป็นภาพ ซึ่งภาพทุกภาพเราต้องเข้าใจถึงรูปทรงมันก่อนแล้วจึงจะต่อเข้ามาเป็นรูปร่าง แต่ว่าถ้าเป็นภาพที่เราไม่เคยเห็นก็จะออกมามั่ว ทุกอย่างที่วาดออกมาคือต้องมีภาพจำลองในหัว เราดึงภาพออกมาจากสิ่งที่เคยสัมผัส”
จากชุดข้อมูลและคลังคำที่ถูกฝังในหัวตั้งแต่เด็ก ทำให้เด็กผู้หญิงดวงตาพิการคนหนึ่งใช้คำและภาพทั้งหมด บรรจงและเรียบเรียงลงในสมุดบันทึกของเธอ หนังสือและคนดวงตาพิการเป็นสิ่งที่ห่างไกลกันมาก แต่ความชอบและความสุขทุกครั้งเมื่ออ่านหนังสืออักษรเบรลหรือฟังหนังสือเสียง ทำให้เธอสัมผัสรับรู้โลกที่เธอไม่เคยเห็นได้อย่างสมบูรณ์ ย้อนไปเมื่อวัยเยาว์ หนังสือกับพลอยเจอกันตั้งแต่เริ่มจำความได้ ตอนเด็กๆ พ่อกับแม่มักจะอ่านหนังสือให้ฟัง เริ่มจากหนังสือนิทาน หลังจากนั้นพลอยก็เริ่มชอบฟังเทปเสียงนิทาน จนกระทั่งเธอเป็นนักสะสมเทปนิทานตัวยง
“พอขึ้นชั้นประถมก็จะเริ่มมีหนังสือหลายๆ แนวให้เราได้อ่านเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่เราอ่านแต่เป็นคนรอบข้างอ่านให้เราฟัง บางทีพี่สาวอ่านให้ฟังก็จะอ่านให้เราฟังหลายๆ แนว เพราะแต่ละคนจะอ่านแนวที่ตัวเองชอบให้เราฟัง พอเราฟังก็เริ่มมีโอกาสได้ฟังหลายแนวไปด้วย พอขึ้นมัธยมพ่อเริ่มไปยืมหนังสือเสียงจากห้องสมุดมาให้ฟัง หลังจากนั้นหนังสือเสียงก็เริ่มกระจายไปสู่คนฟังเพิ่มมากขึ้น พลอยจึงเริ่มมีโอกาสเลือกหนังสือได้ด้วยตัวเอง”
ปัจจุบัน ‘พลอย’ สโชา กิตติสิริพันธุ์ ทำงานเป็นบรรณาธิการฝึกหัดอยู่ที่สำนักพิมพ์ผีเสื้อ หัดตรวจต้นฉบับ โดยรับหน้าที่ดูแลเรื่องการใช้คำว่ายังไม่ดีตรงไหนและควรจะแก้ไขอย่างไร แม้ความสำเร็จเดินทางมาในจุดที่เรียกว่าเป็นที่น่าพอใจ แต่กับเธอคนนี้ความฝันและความสำเร็จของชีวิตไม่ได้หยุดลง ยังมีหลายๆ อย่างที่เธอยังอยากทำ
“ความสำเร็จมันมีหลายๆ จุดมากในชีวิต แต่เราไม่ได้มองว่าเมื่อประสบความสำเร็จแล้วจะทำให้ทุกอย่างหยุดลง เรื่องเล็กๆ ก็เช่นกัน อย่างเราตั้งเป้าว่าจะทำรายงานให้เสร็จภายในอาทิตย์นี้ ปรากฏว่ารายงานเสร็จตามเป้า นั้นก็ถือว่าเป็นความสำเร็จแล้ว แต่ถ้าเราหยุดอยู่แค่นั้นแล้วเรียกว่าความฝันเราจบมันก็ไม่ใช่ คือมีความฝันหลายอย่างและมันยังฝันต่อไปเรื่อยๆ เพราะความต้องการของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด แต่สิ่งสำคัญคือเราสนุกกับสิ่งที่ทำอยู่หรือเปล่าในตอนนี้ที่เราได้ทำ ถ้ามันยังสนุกอยู่มันก็พอแล้ว”
เมื่อความรักและความฝันได้เดินทางมาถึงจุดหนึ่งของชีวิต กำลังใจและแรงส่งเสริมจากคนรอบข้างเป็นสิ่งสำคัญที่สุดต่อการดำเนินชีวิต เมื่อเราลองเปิดหูเพื่อให้ได้ยินเสียงและยอมรับความเป็นจริงของโลกภายนอกที่เกิดขึ้น และลองปิดตาเพื่อสัมผัสและรับรู้ภายในใจว่าเรากำลังทำอะไร การมองไม่เห็นไม่ใช่ว่าจะทำให้โลกมืดมนเสมอไป แต่ทางกลับกันคือ โลกของเธอนั้นกลับมีเรื่องราวของจินตนาการที่เคยสัมผัสและได้ยินเสียง เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดลงในสมุดบันทึกของเธอ...’พลอย’ สโรชา กิตติสิริพันธุ์
ขอบคุณที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/689820