เออร์เนสต์ มิลเลอร์ เฮมิงเวย์ ( Ernest Miller Hemingway) นักประพันธ์นวนิยายและนักเขียนเรื่องสั้นชาวอเมริกันผู้ใช้ลีลาภาษาที่สั้นกระชับ เกิดที่ โอค ปาร์ก รัฐอิลลินอยส์ เริ่มทำงานเป็นผู้สื่อข่าวกับหนังสือพิมพ์ เดอะแคนซัสซิตีสตาร์ เข้าเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่ 1 ประจำรถพยาบาลทหารจนได้รับบาดเจ็บเมื่อปี พ.ศ. 2461 ทำให้เฮมมิงเวย์ได้รับเหรียญกล้าหาญ
งานสำคัญชิ้นแรกของเฮมิงเวย์ได้แก่งานรวบรวมเรื่องสั้นในชื่อ "ในสมัยของเรา" (In Our Time พ.ศ. 2468) งานที่ทำให้เฮมิงเวย์ประสบผลสำเร็จโดยแท้จริงได้แก่เรื่อง แล้วดวงตะวันก็ฉายแสง (The Sun Also Rises พ.ศ. 2469) ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากประสบการณ์จากการเข้า "กลุ่มวัยที่ถูกทอดทิ้ง" (lost generation) ของบรรดาหนุ่มต่างด้าวที่ใช้ชีวิตผจญภัยในฝรั่งเศสและสเปน ความหลงใหลไฝ่ฝันในวีรกรรมของลูกผู้ชายเกี่ยวกับการทำสงคราม การล่าสัตว์ การตกปลาและการสู้วัวกระทิงทำให้งานต่างๆ ของเฮมมิงเวย์รวมทั้ง รักระหว่างรบ (A Farewell to Arms พ.ศ. 2472) และ ความตายในช่วงบ่าย (Death in the Afternoon พ.ศ. 2475) ศึกสเปน (For Whom the Bell Tolls พ.ศ. 2483) และ เฒ่าผจญทะเล (The Old Man and the Sea เขียนจบเมื่อปี พ.ศ. 2495 และ ทำให้เขาได้รับรางวัลรางวัลพูลิตเซอร์ในปีต่อมา)
ในปี พ.ศ. 2497 เฮมิงเวย์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ในฐานะผู้สื่อข่าวในสงครามโลกครั้งที่ 2
เฮมิงเวย์ เคยแนะนำหนังสือไว้หลายเรื่องเช่นกัน ถ้าอยากเขียนเก่งๆ ควรอ่านหนังสือดีๆ เหล่านี้
“ War and Peace ” โดย Leo Tolstoy
สงครามและสันติภาพ (WAR & PEACH) ผลงานการประพันธ์ชิ้นเอกของนักเขียนชาวรัสเซียนามกระเดื่อง ลีโอ ตอลสตอล หนังสือเล่มนี้แฝงไปด้วยปรัชญา ความเชื่อทางศาสนาและการเมือง แฝงไปด้วยพลังแห่งความหวังถึงสิ่งที่ดีกว่ารวมทั้งศรัทธาในมนุษย์และพระเจ้า หรือที่ในภาษาวรรณคดีเรียกว่าศานติ
“ Anna Karenina ” โดย Leo Tolstoy
"อันนา คาเรนินา" เป็นนวนิยายแนวโศกนาฏกรรมโรแมนติก บทประพันธ์โดย "เลียฟ ตอลสตอย" นักประพันธ์ชาวรัสเซีย จัดเป็นสุดยอดนวนิยายอันดับหนึ่งที่ได้รับคะแนนเป็นเอกฉันท์จากการจัดอันดับของนิตยสารไทม์ว่าเป็นผลงานชิ้นเอกแห่งโลกวรรณกรรมตะวันตก เค้าโครงเรื่องแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนหนึ่งนั้นเป็นเรื่องราวชีวิตจริงของหญิงสาวที่เป็นดาวเด่นแห่งแวดวงสังคมชื่อ "อันนา คาเรนินา" ที่แต่งงานแล้ว แต่กลับมีสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับชายอื่นที่ไม่ใช่สามีจนกลายเป็นเรื่องอื้อฉาว อีกส่วนหนึ่งเรื่องเป็นเรื่องราวความรักของนาย "เลวิน" ที่เป็นชายหนุ่มผู้มีอารมณ์อ่อนไหว ส่วนนี้ตอลสตอลได้ประพันธ์ขึ้นตามเหตุผลในด้านปรัชญาส่วนตัว เนื้อเรื่องกล่าวถึงเรื่องราวรักใคร่ซาบซึ้งและดื่มด่ำในห้วงความรักของอันนาและเลวิน ตลอดจนกล่าวถึงเรื่องราวฉาวโฉ่และเศร้าสลดในตอนท้าย เป็นการสะท้อนภาพของชีวิตความเป็นอยู่จริงของสังคมฃรัสเซียที่ตีแผ่ในทุกแง่มุม ผูกเรื่องราวต่างๆ จนกลายเป็นเรื่องราวความรักที่ผิดจริยธรรมของหญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งถูกจำกัดของฃอบเขตอยู่ในกรอบหรือพันธนาการในกฎระเบียบของสังคมรัสเซีย
“Madame Bovary” โดย Gustave Flaubert
มาดามโบวารี เป็นผลงานชิ้นเอกของ กุสตาฟ โฟลแบรต์ นักประพันธ์ผู้โด่งดังชาวฝรั่งเศส เป็นเรื่องราวชีวิต โชคชะตาชีวิตของผู้คนที่แฝงไปด้วยแง่คิดที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของตัวละคร 4 ตัวที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันคือ ชาร์ล เอ็มมา พระบูร์นิเชียง และโอเมส์ ถือเป็นหนังสือที่ในโลกวรรณคดีสากลยกย่องว่าเป็นหนังสือคลาสสิกหรือชั้นครู ในประวัติศาสตร์ของการประพันธ์น้อยนักที่จะมีผลงานใดได้รับการยกย่องจากนักวิจารณ์พร้อมเพรียงกันถึงเพียงนี้
“Sketches from a Hunter's Album” โดย Ivan Turgenev
Turgenev คือหนึ่งในนักเขียนยุคคลาสสิคที่ดีที่สุดของรัสเซีย พิสูจน์ได้จากกที่งานของเจ้าตัวถูกแปลเป็นภาษาต่างๆกว่า 12 ภาษา และ Sketches from a Hunter’s Album ก็เป็นหนึ่งในงานที่ดีที่สุดของเจ้าตัว ซึ่งเป็นที่ยอมรับของนักอ่านในประเทศมานานกว่าศตวรรษ
“หนังสือเล่มนี้มีภาพสเก็ตช์ของดินแดนที่เป็นหัวใจสำคัญของรัสเซีย ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เอาไว้ นอกจากจะเป็นอาหารสมองชั้นดีแล้ว ยังช่วยให้เราได้มองย้อนกลับไปทบทวนประเพณี และเรื่องราวสำคัญๆของรัสเซียในมุมมองที่ต่างออกไป”
“The Brothers Karamazov” โดย Dostoevsky
วรรณกรรมคลาสสิคของรัสเซียนั้นมีลักษณะโดดเด่นอยู่อย่างหนึ่ง คือ นักประพันธ์เอกแต่ละฅนล้วนแต่เป็นต้นสกุลของแนวเขียนที่ตนเองถนัด และถึงแม้ว่าผลงานของพวกเขาจะได้กลายมาเป็นแม่บททางวรรณคดีสำหรับฅนรุ่นต่อๆ มา แต่ก็เป็นการยากยิ่งที่จะเดินตามรอยอักษรของท่านเหล่านั้นได้อย่างถึงที่สุด ฟีโอโดร์ ดอสโตเยฟสกี เป็นนักประพันธ์รัสเซียอีกฅนหนึ่งที่ถ่ายทอดระบบคิดของตนออกมาในรูปของวรรณคดี เป็นระบบคิดที่สลับซับซ้อนมาก พอๆ กับเส้นทางชีวิตของเขา
เฮอร์มาน เฮสเส พูดถึง “การที่ฅนเพียงคนเดียวสามารถเขียน (พี่น้องคารามาซอฟ) ได้นั้นนับเป็นความมหัศจรรย์และความมหัศจรรย์นั้นก็ได้เกิดขึ้นแล้ว เราจำเป็น จำเป็น อย่างยิ่งที่จะต้องตีความ (ความมหัศจรรย์) นั้น อ่านหนังสือเล่มนี้อย่างจริงจัง มองจากหลายๆ ทัศนะเท่าที่จะเป็นไปได้ มองลึกเข้าไปในมนต์วิเศษอันเรืองรอง หนังสือของดอสโตเยฟสกี เล่มนี้ คงความเข้มข้นอย่างไม่เสื่อมคลาย ผมสามารถอ่านได้ทั้งวันได้เห็นแง่มุมใหม่ๆ ที่ล้วนชี้ไปสู่ทิศทางเดียวกัน”
“Buddenbrooks” โดย Thomas Mann
โธมัส มันน์-มหากวีแห่งเยอรมนียุคใหม่-งานเขียนและแนวการประพันธ์ท่ามกลางกระแสแห่งยุคสมัยในเยอรมนีและยุโรปช่วงเปลี่ยนศตวรรษ
โธมัส มันน์ (Thomas Mann 1876-1955) นักเขียนเยอรมันแห่งศตวรรษที่ 20 มิได้ยิ่งใหญ่เพียงเพราะได้รับรางวัลโนเบลด้านวรรณกรรมในปี ค.ศ.1929 จากนวนิยายขนาดยาวสองเล่ม เรื่อง "บุดเดินบรุคส์" (Buddenbrooks) ที่แสดงถึงการล่มสลายของครอบครัวคหบดีแห่งเมืองลือเบคเท่านั้น แต่ โธมัส มันน์ เป็นนักประพันธ์เช่นเดียวกับศิลปินคนอื่นๆ ที่ได้รับอิทธิพลจากสังคม วัฒนธรรม ผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง รวมทั้งได้รับอิทธิพลจากนักคิดหรือแนวคิดและวิธีมองโลกของยุคที่ล้วนสะท้อนให้เห็นในผลงานประพันธ์ในยุคของท่าน
“Adventures of Huckleberry Finn” โดย Mark Twain
เมื่อฮักเกิลเบอร์รีฟินน์ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๘๘๕ ก็สร้างปรากฏการณ์อย่างยิ่งในวงการวรรณกรรมอเมริกัน นั่นคือถูกโจมตีอย่างหนัก กระทั่งถูกแบนจากห้องสมุดหลายแห่ง ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ไม่เป็นไปตามขนบเดิมจะถูกวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้าน
วรรณกรรมอเมริกันเมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว เล่าเรื่องด้วยสำเนียงแบบอังกฤษใช้ภาษาที่ถูกต้องเคร่งครัด ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษแบบอเมริกันเป็นภาษาที่ไม่ได้รับการยอมรับในโลกวรรณกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ตัวละครซึ่งเป็นเด็กชายลูกคนขี้เมาไร้การศึกษาเป็นตัวดำเนินเรื่อง และเป็นผู้เล่าเรื่องผ่านมุมมองและภาษาผิดๆ ถูกๆ แต่หลังจากฮักเกิลเบอร์รีฟินน์ได้รับการตีพิมพ์ โลกของวรรณกรรมอเมริกันก็เปลี่ยนไป ฮักเกิลเบอร์รีฟินน์กลายเป็นแบบอย่างแก่นักเขียนรุ่นต่อๆ มาจนถึงปัจจุบัน และตัวละครหลายตัวในเรื่องนี้ก็สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดวรรณกรรมตามมาอีกจำนวนมากทั้งโดยตรงและโดยอ้อม
“The Red and the Black” โดย Stendhal
ในปี ค.ศ. 1830 สต็องดาลตีพิมพ์นิยายเรื่อง สีแดงกับสีดำ (The Red and the Black) ซึ่งมีเนื้อหาสะท้อนสภาพสังคมฝรั่งเศสช่วงการฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บง นิยายเรื่องนี้เป็นนิยายเรื่องแรก ๆ ที่มีการนำเสนอในแง่จิตวิทยาของตัวละคร
“Dubliners” โดย James Joyce
ภาพชีวิตอันวิปริต-แปรปรวนของผู้คนแห่งมหานครดับลิน จากรวมเรื่องสั้นเพียงชุดเดียวในชีวิตของ เจมส์ จอยซ์ - Dubliners วรรณกรรมอมตะก้องโลกที่ยืนยงคงทนมานับศตวรรษ
ความตั้งใจให้รวมเรื่องสั้นเพียงชุดเดียวสามารถให้ภาพมหานครอันวุ่นวายสับสนได้ทั้งหมด คือความพยายามอันยิ่งใหญ่ของเจมส์ จอยซ์ รวมทั้งการสร้างรูปแบบใหม่ของเรื่องสั้น ที่ 'ขบถ' ต่อจารีตเรื่องสั้นแบบ 'หักมุม' ซึ่งครอบคลุมบรรยากาศวรรณกรรมของยุโรปในยุคนั้น คือความ 'ท้าทาย' อันน่าศึกษา ทั้งกลายเป็นรูปแบบเรื่องสั้นที่ส่งผ่าน-สืบต่อมา กระทั่งปัจจุบัน
เช่นเดียวกับเนื้อหา - แม้จะเป็นเรื่องราวชีวิตผู้คนในศตวรรษที่แล้ว แต่ดูเหมือนจะไม่แตกต่างกับเรื่องราวชีวิตในมหานครใหญ่ๆ ของโลกปัจจุบันนี้เท่าไหร่นัก การลงลึกถึงภาวะแห่งการเป็น 'ชีวิต' แสดงออกถึงธรรมชาติของมุนษย์ ทำให้งานของเจมส์ จอยซ์ยังคง 'ร่วมสมัย' อยู่เสมอ!