บริเวณชานชาลาของรถไฟสายชนบท ข้าพเจ้ากำลังยืนรอรถไฟขบวนหนึ่งท่ามกลางอุณหภูมิ 10 องศา พลางสองมือก็กอดอก กระชับเสื้อคลุมขนเป็ดให้แนบตัวยิ่งขึ้น ความหนาวเหน็บภายนอกกัดกรีดผิวเนื้อ ความหนาวเหน็บภายในกัดกินหัวใจ ความรู้สึกหนักอึ้งนานัปการรุมเร้าข้าพเจ้าอยู่
ณ ดินแดนอันห่างไกลมาตุภูมิ ข้าพเจ้ามาทำอะไรที่นี่หนอ?
ก็เป็นที่นี่แหละ ที่ข้าพเจ้าได้สัมผัสความพ่ายแพ้อย่างหมดรูป จากจุดสูงสุดของชีวิตที่มีแต่คนนับหน้าถือตา กลับสู่การเป็นมนุษย์ธรรมดาที่ไร้หัวโขน เป็น ‘ต่างด้าว’ ที่ต้องฝ่าฟันกับกำแพงภาษาและวัฒนธรรม อีกทั้งต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้งกับการสอบวัดระดับต่าง ๆ ที่ยากเย็นเหลือใจ ผจญปัญหารอบตัวและความสับสนวุ่นวายใจสารพัด จนไม่อาจจะบรรยาย
เมื่อนึกแล้ว ในอกก็แน่นตื้อขึ้นมา
แสงสีส้มทองไล้อยู่เหนือเส้นขอบฟ้าสีน้ำเงิน และฉากสุดท้ายของวันกำลังจะโรยม่านลง เสียงล้อรถไฟบดกับรางดังกึงกังฝ่าลมหนาวพุ่งตรงเข้ามา ข้าพเจ้าหันมองไปตามรางเหล็กอันทอดยาว พลันฉากเปิดของหนังสือเล่มหนึ่งก็ผุดขึ้นมาจากความทรงจำ
ระฆังปล่อยรถดังเสียดเข้าไปในหัวใจ รถด่วนสายใต้เปิดหวูดดังพร่า เสียงไอน้ำพ่นดังฟูดฟาด หัวใจข้าพเจ้าเหมือนกับออกมาเต้นโครม ๆ อยู่นอกร่างกาย มันเผ่นไปเต้นอยู่ที่ชานชาลา มันทำท่าจะไม่ยอมไปกับรถ แต่ว่าเป็นไปไม่ได้หรอก ตัวข้าพเจ้าต้องไป ในที่สุดหัวใจก็พ่ายแพ้ต้องกลับมาเต้นอยู่ในอกตามเดิม มา – ไปด้วยกัน
(กรุงเทพละลาย – มหา’ลัยเหมืองแร่ เล่ม 1)
ถ้อยคำเหล่านั้นฉุดกระชากข้าพเจ้าไปสู่สถานที่แห่งหนึ่งซึ่งแสนไกล ทั้งในแง่ของระยะทางและกาลเวลา
ย้อนไปเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีอาคารสีขาวแห่งหนึ่งซึ่งถูกคลุมด้วยเถาวัชพืชรกเรื้อ ในห้องเล็กแคบนั้น ปูไว้ด้วยฟูกเก่า ๆ สองผืน นอนรวมกันสี่คน - พ่อแม่และลูกสอง ตรงช่องว่างระหว่างฟูกและผนังคือกองหนังสือระเกะระกะ ราวกับภูเขาลูกเล็กลูกน้อยอันรวมกันเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน
พ่อสร้างภูเขาเหล่านี้ขึ้นมา หากกล่าวตามความสัตย์จริง ข้าพเจ้าไม่สู้จะแน่ใจว่าพ่อเป็นนักอ่านหรือไม่ เพราะในความทรงจำอันเลือนลางของข้าพเจ้า แทบไม่มีภาพของพ่อขณะอ่านหนังสือเลย ทว่าสิ่งที่แน่แท้อย่างหนึ่งคือ พ่อเป็นนักซื้อหนังสือ และซื้อไว้ก่อนแม้จะไม่ได้อ่าน ดังที่เรียกกันว่า “กองดอง” จนมันได้สุมกลายเป็นเทือกเขาอันโอบล้อมที่นอนของข้าพเจ้า
ที่นั่นเอง ข้าพเจ้าพบกับหนังสือหนาหนักสองเล่ม หน้าปกนั้นสีขาวและมีตัวอักษรลายมือเขียนตวัดว่า “เหมืองแร่” แล้วก็มีภาพเครื่องจักรบางอย่างที่ข้าพเจ้าดูไม่ออกว่าคืออะไร สำหรับเด็กประถมแล้ว มันช่างไม่ดึงดูดใจเอาเสียเลย แต่ข้าพเจ้าก็หยิบขึ้นมาอ่าน
แล้วพลัน โลกของข้าพเจ้าก็เปลี่ยนไป
นี่คือนรก นี่คือมือที่ทุบตีอุดมคติของตนเอง มือที่หวังจะจับปากกาอันมีเกียรติ กลับกลายมาจับค้อนเลว ๆ นั่งทุบถ่านหิน ทุบไป ทุบไป ทุบจนมือเป็นก้อนถ่านหิน
(ลุยเหมืองแร่ - มหา’ลัยเหมืองแร่ เล่ม 1)
บนหน้ากระดาษนั้น บันทึกเรื่องราวชีวิตจริงของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ชายหนุ่มผู้ถูกรีไทร์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนิสิตอนาคตไกล สู่กุลีในเหมืองดีบุก ที่ตะกั่วป่า จังหวัดพังงา สถานที่อันแสนกันดาร เงียบเหงาไร้แสงสี มีแต่ฝนตกไม่ลืมหูลืมตา แรกเริ่มไร้ทั้งความรู้และประสบการณ์ จนต้องทำงานใช้แรงทั้งยังเสี่ยงอันตราย มีครั้งหนึ่งเขาตัดถังน้ำมันเพื่อทำเป็นถังขยะให้นายฝรั่ง เมื่อขอบคมบาดมือเป็นแผลลึก ก็ได้แค่วักเอาน้ำมันขี้โล้มาโปะห้ามเลือด โชคชะตาอันเล่นตลกผกผันเช่นนั้น ได้นำมาซึ่งความขมขื่นอัปยศ ทว่าขณะเดียวกันก็ฝากบทเรียนอันล้ำค่า เขาถูกขับไล่จากมหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติ สู่มหาลัยเหมืองแร่ ที่ไม่มีปริญญามอบให้ แต่กลับสอนวิชาชีวิตอย่างดิบเถื่อนและจริงแท้อย่างยิ่ง
ใครคือครูน่ะหรือ? ก็คนงานเหมือง นายฝรั่ง อาโกร้านขายของชำ หรือแม้แต่เจ้ามือโปนั่นไง
แล้วตำราเรียนน่ะหรือ? ไม่มีหรอก ที่นี่มีแต่เลือดและเหล้า!
งานเขียนชุด เหมืองแร่ เป็นรวมเรื่องสั้นที่ถักทอร้อยรัดนาฏกรรมชีวิตของผู้คนที่แสนธรรมดาสามัญ พวกเขาเป็นทั้งฮีโร่และผู้ร้าย เป็นทั้งตัวเอกและตัวประกอบในแต่ละฉากตอน ข้าพเจ้าอ่านเรื่องราวเหล่านั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึมซับเอารสชาติของเหมืองแร่เข้าสู่จิตวิญญาณ ตัวอักษรเหล่านั้นเรียบง่าย ทว่าทรงพลังยิ่ง จนทำให้ขณะอ่านก็ราวกับจะได้ยินเสียงของค้อนเหล็กที่บดกระแทกทั่ง ได้กลิ่นและยลยินเสียงฝนที่กระหน่ำไม่หยุด ลิ้นลิ้มรสเหล้าราคาถูกที่รสดั่งเปลวไฟบาดคอหอย ได้ร่วมลุยไปกู้เรือขุดจนตัวชุ่มโชกด้วยโคลน นอกจากนี้ แต่ละเรื่องยังมีจุดพลิกผันให้ได้ตกตะลึงทุกครั้งเมื่อถึงหน้าสุดท้าย
มนต์ขลังแห่งเหมืองแร่ ปลุกเร้าให้ข้าพเจ้าจับปากกาขึ้นมาอีกครั้ง อันที่จริง ข้าพเจ้าใฝ่ฝันจะเป็นนักเขียนมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้น ทว่าครานี้ข้าพเจ้าเป็นประหนึ่ง ‘ศิษย์มีอาจารย์’
และอาจารย์ของข้าพเจ้ามีนามว่า ‘อาจินต์’
ทั้งนี้เพราะพูดได้เต็มปากว่า งานเขียนของข้าพเจ้าได้แรงบันดาลใจ ทั้งการใช้ภาษา รวมถึงจังหวะการดำเนินเรื่องส่วนใหญ่ มาจากวรรณกรรมชุดเหมืองแร่ และแม้แต่ในยามที่เกิดอาการ ‘เขียนไม่ออก’ ข้าพเจ้าก็มักจะหยิบหนังสือทั้งสองเล่มขึ้นมาอ่านซ้ำ การขุดลงยังเหมืองน้ำหมึกแห่งนี้ก็สามารถจุดไฟแห่งนักประพันธ์ในใจของข้าพเจ้าได้ทุกคราไป
ในเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่นั้นแม้จะมีฉากตอนที่ติดตรึงใจข้าพเจ้ามากมาย แต่หากจะให้หยิบยกฉากหนึ่งขึ้นมาบอกเล่า ก็เห็นจะหนีไม่พ้น
"อดีตคือฝัน ปัจจุบันต้องอด อนาคตต้องตาย"
ยามที่คุณอาจินต์ กำลังเสียใจเรื่องคนรัก ผิดหวังกับเส้นทางชีวิตและโชคชะตาอันไร้ความปรานี ทำให้จมจ่อมความทุกข์ ดื่มเหล้าเมามายไม่ได้สติ ก่อนจะเขียนข้อความดังกล่าวไว้บนฝาผนังสังกะสี แล้วผล็อยหลับไป
เมื่อตื่นขึ้น ก็พบว่า "ตาแดง" ชายชาวบ้านที่มาคอยช่วยปลอบโยน ได้มาเขียนเติมตัวอักษรอีกสองตัว ซึ่งเปลี่ยนความหมายของประโยค และเปลี่ยนแง่มุมในใจของคุณอาจินต์ไปตลอดกาล
แค่สองตัวอักษร…
ท.ทหาร และ น.หนู
“อดีตคือฝัน ปัจจุบันต้องอดทน”
การอยู่กับปัจจุบัน และทำมันให้ดี ไม่ใช่เรื่องง่าย ความยากลำบากของชั่วขณะนี้ อาจทำให้เราคิดหนีไปคร่ำครวญถึงอดีต หรือเพ้อฝันหาอนาคตอยู่ตลอดเวลา
ทว่าปัจจุบัน...ซึ่งไม่ค่อยสวยงามนี่แหละ เป็นสิ่งเดียวที่เราสามารถลิขิตได้ ซึ่งต้องอาศัยความอดทนอย่างแรงกล้า เพื่อเอาชนะขวากหนามในใจตน
ลองตั้งคำถามแบบตาต่อตา ฟันต่อฟันกับส่วนลึกในใจตัวเองสักครั้ง คำตอบอาจตีเข้าแสกหน้าและทำให้เจ็บปวด แต่ย่อมทำให้เราก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงกว่าเดิม
✧・゚: *✧・゚:*
รถไฟขบวนที่ข้าพเจ้ารอคอยมาถึงแล้ว ประตูอัตโนมัติเปิดออก ผู้คนกรูกันเข้าไปดั่งเหล่ามดงาน ข้าพเจ้าก้าวเท้าตามฝูงชน ไม่เร่งร้อนนัก
เงยหน้าขึ้นมองท้องฟ้าที่เปลี่ยนเป็นรัตติกาล แล้วข้าพเจ้ายิ้มออกมาได้
คิดมากไปทำไม? อุปสรรคน่ะหรือ? ดาหน้ากันเข้ามาเลย ดูอย่างไรก็ยังน้อยนักหากเทียบกับความลำบากเจียนตายในเหมืองแร่ และถ้าหากมันหมายจะทำลายข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะถลุงมันให้เป็นวัตถุดิบชั้นดี!
ในตัวเราทุกคนคือเหมืองแร่แห่งชีวิต บุกเข้าไปเถิด สู้ให้เหงื่อหยาดไหลถึงปลายแข้ง กัดฟันกลั้นน้ำตา ฝ่าห่าฝนกระหน่ำ เอาความบากบั่นเป็นทั่ง ความบ้าบิ่นเป็นค้อน ใส่สุดเรี่ยวแรง สกัดเอาสินแร่ หรือแม้แต่อัญมณีที่ฝังอยู่ มาเจียระไนให้งามละออ เปล่งประกายกว่าครั้งใด
ณ เหมืองแร่แห่งชีวิตที่เคี่ยวกรำ ถ้อยคำตอกย้ำฝังลงในจิต กู่ตะโกน ให้เราจงหาญกล้าท้าทาย กินอย่าอาย ตายอย่ากลัว ยากช่างหัว ตายปลด!