เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
กับคืนค่ำอันแสนวิเศษ (1)
โดย… เอ. อาร์. มูเก็ม
(1)
คืนนี้ผมนอนตั้งแต่หัวค่ำ แล้วตื่นมาสามทุ่มเพื่ออ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ "ทาง:ซ้ายผ่านศึก" ของ "เสกสรรค์ ประเสริฐกุล"
ความจริง ผมมีหนังสือเล่มนี้ในครอบครองตั้งแต่ 30 ตุลาคม 2559 จำได้ว่า ผมซื้อหนังสือเล่มนี้ขณะอยู่อินเดีย ผมสั่งเพื่อนให้ส่งจากไทยไปให้ผม
จะว่าไปแล้ว ”ทาง:ซ้ายผ่านศึก“ นั้นตีพิมพ์เมื่อ ตุลาคม 2559 พอวางแผง ผมก็รีบสั่งจองเพื่อมาดื่มด่ำ และละเมียดละไมราวคนป่วยกระหายน้ำทิพย์
ว่าแล้ว ไม่เคยผิดหวังกับงานเขียนของพี่เสก ผมอ่านรอบนี้ครั้งที่ 4 มันคือ การทบทวนจังหวะก้าว จุดยืน ประเด็นสำคัญ รวมถึงรายละเอียดต่าง ๆ ที่ผมอาจพลาด
มองข้าม หรือยังไม่ตระหนักในช่วงนั้น
ผมนำมาอ่านใหม่เพื่อระลึกห้วงยามที่พ้นผ่านพร้อมทบทวนระลึกถึงความรู้สึกครั้งแรกเมื่ออ่าน "ทาง:ซ้ายผ่านศึก"
จนวันนี้ ผมรู้สึกว่า งานเขียนชิ้นนี้มันยังสดใหม่ ลุ่มลึก กระแทก และหดหู่ จนน้ำตาไหลเหมือนที่เคยอ่านเมื่อ 3 ครั้งที่ผ่านมา
ผมแลกเปลี่ยนกับเพื่อนและมิตรสหายหลายคนเกี่ยวกับงานเขียนของพี่เสก ส่วนมากก็ชื่นชอบ แต่บางคนก็งั้น ๆ ก็แล้วแต่จริต ความชอบและความปรารถนานั้น
เราจะยัดเยียดกันไม่ได้
จะอย่างไรก็แล้วแต่ สำหรับผม "พี่เสกคือ แรงบันดาลใจในการจัดระบบความคิด ทั้งอ่านและเขียน รวมถึงความสละสลวยในการประดิษฐ์ตัวอักษร
พี่เสกคือ นายช่างผู้ประกอบสร้างตัวอักษรเป็นเรื่องราวชิ้นทรงพลังโดยแท้"
(2)
ผมชงกาแฟ แล้ววางร่างลงบนเก้าอี้ ปรับเอนพอประมาณ พลางมองลอดหน้าต่างออกไปข้างนอก เห็นลำแสงสลัว ปรับแอร์นิดหน่อย พอบรรยากาศได้ที่ ผมจึงเริ่มอ่าน
"ทาง:ซ้ายผ่านศึก"
ผมเปิดสารบัญก็เจอว่า บทแรกคือ "ภาพฝัน" บทที่สองคือ "พักเที่ยง" ส่วนบทที่สามคือ “ห้วงยามแห่งสัจจะ” บทที่สี่คือ "คืนฝนพรำ" บทที่ห้าคือ "แผลใหม่" และบทที่หกคือ "ทาง"
ซึ่งแต่ละบทนั้นใช้กระบวนการเล่าที่แตกต่างกันออกไป กระนั้นงานในชิ้นนี้เกือบทั้งหมดได้ผูกโยงแต่ละบทไปยังการใช้ชีวิตในป่าเขาด้วยวิถีแห่งการสะพายเป้ขึ้นบ่า สวมหมวกดาวแดง แล้วแบกปืนอาก้า แถมยังมีเพลงปฏิวัติแห่งขุนเขา
ได้เชื่อมร้อยให้เห็นภาพว่า
"ลูกไทยห้าวหาญ
สู้เผด็จการทารุณไม่เคยไหวหวั่น
เผด็จการประหารชีวัน
ศรัทธายังมั่นเสมอจนสิ้นใจ"
ดูเหมือนว่า ใน "ทาง:ซ้ายผ่านศึก" ของ "เสกสรรค์ ประเสริฐกุล" นั้นได้เริ่มต้นอย่างทรงพลังผ่านบทกวีชิ้นสำคัญที่ผมจำได้แม่นยำว่า
"แมงเม่าเจ้าร่วงจากฟ้า
ลงมา ลงมา หนึ่ง สอง สาม
สี่ ห้า หก เจ็ด ร่วงตาม
เจ้าอยากทวงถามเรื่องใด
ถามถึงเรื่องสั้นๆ
ที่เจ้าเคยฝันทิ้งไว้
หรือจะถามถึงเรื่องที่เก่าไกล
ซึ่งที่ไม่มีใครจดจำ…"
แม้ผมอ่าน "ทาง:ซ้ายผ่านศึก" ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ที่ และน่าจะเป็นครั้งที่ 12 ที่ทบทวนบทกวีชิ้นนี้ในรอบ 8 ปี กระนั้น มันก็ยังทรงพลัง และชี้ชวนให้ผมตั้งคำถามกับชีวิตผมหลายเรื่อง โดยเฉพาะ "ถามถึงเรื่องสั้นๆ ที่เจ้าเคยฝันทิ้งไว้"
มันมีพลังที่พอจะทำให้ผมได้อยู่กับตัวเองเงียบๆ มีสมาธิ ทวงถามจังหวะก้าวชีวิตของตนเอง
(3)
สารภาพตามตรงว่า อ่านเล่มนี้กี่ครั้ง ผมก็ยังน้ำตาไหล หดหู่ บอบช้ำกับบาดแผลที่ใครเคยทำให้เรา และที่เราเคยทำให้ใคร รวมทั้งประเด็นบางอย่างที่กระแทกใจยิ่งจนยากจะระงับหัวใจมิให้คล้อยตามหรือหดหู่ได้
ใน "ทาง:ซ้ายผ่านศึก" แม้ภาพฝันจะเป็นชิ้นงานเริ่มต้น แต่สำหรับผม ผมมิได้ชื่นชอบมากนัก แม้จะมีประเด็นให้ตระหนักและชวนขบคิดบ้างพอสมควร
แต่เมื่อเข้าสู่ชิ้นงานที่สองคือ “พักเที่ยง” ทำให้เห็นภาพ 2 ภาพที่สลับกันไปมา นั่นก็คือ ภาพในสมรภูมิจรยุทธ์ของนักรบในสันภู และภาพของพนักงานออฟฟิส ที่อาจเหมือนหรือต่างกันในบางเรื่องราว
เป็นเรื่องสั้นที่ชวนตั้งข้อสังเกตได้อย่างแหลมคม นั่นก็คือ การชวนเพื่อนสาวที่แอบรู้สึกดีไปทานข้าวเที่ยง
เรื่องเกิดจากการไปร้านประจำของป้า ซึ่งชายหนุ่มชวนสาวในออฟฟิสไปทานข้าวเที่ยง แต่สาวบอกว่า ให้ไปร้านอื่น อย่าไปร้านป้าเลย ทั้งสกปรก อาหารก็รสจัด ไม่อร่อย หนำซ้ำไม่มีแอร์ ร้อน และเจ้าหล่อนเองก็แต่งองค์ทรงเครื่องอย่างดี
กระนั้นชายหนุ่มบอกว่า “สงสารป้า ป้าขายของคนเดียว อย่างน้อยได้ช่วยอุดหนุนแก”
ในขณะสาวคู่สนทนามองว่า “จะไปสงสารทำไม เป็นเงินของเรา เราจะกินที่ไหนก็ได้ หนำซ้ำ การไปกินแค่ข้าวแกงไม่กี่บาทมันจะช่วยอะไรป้าได้”
ชายหนุ่มจึงสรุปอย่างน่าสนใจคือ
“แม้จะช่วยอะไรแกได้ไม่มาก อย่างน้อยก็พอจะบอกกับแกได้ว่า โลกไม่ได้ทิ้งให้แกอยู่ตามยถากรรมเพียงลำพัง”
ในงานเขียนเรื่อง “พักเที่ยง” นี้ ได้ชี้ชวนให้ตระหนักถึงการได้ช่วยเหลือเพื่อนร่วมสังคม แม้จะช่วยอะไรได้ไม่เยอะ แต่การทำให้เขา “ไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง” ก็มีคุณค่ามากพอแล้ว
นี่กระมังคือ การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
(4)
งานเขียน "ทาง:ซ้ายผ่านศึก" ของ "เสกสรรค์ ประเสริฐกุล" นั้นยังคงทรงพลังอย่างที่ผมได้นำเสนอไปบ้างแล้วข้างต้น โดยเฉพาะประเด็นที่กระแทกโลกภายในอย่างละเอียด
จนกลายเป็นผุยผง ผมได้แต่ปาดน้ำตาและรู้สึกสะเทือนใจอย่างมากในช่วงดึกของคืนนี้ หลับตาไม่ลง นอนไม่หลับ หดหู่ เหงาเศร้าเมื่อระลึกถึงมาลีและลูกน้อย ในบทเรื่อง “ห้วงยามแห่งสัจจะ”
ความจริงงานชิ้นนี้ได้สะท้อนฉากชีวิตคนจริงๆ ที่เผชิญหน้ากับความหดหู่ โหดร้าย พร้อมยอมรับชะตากรรมราวพายุที่โถมใส่เข้ามาอย่างบ้าคลั่งอยู่ตรงหน้า
ฉากที่ชาญต้องเข้าป่าเพื่อ “ต่อสู้ในนามกองทัพประชาชน” ฐานะ “คนเดือนตุลา” ที่จับอาวุธสู้ตามอุดมการณ์และทางเลือกอันมีศักดิ์ศรีของตนเอง กระนั้น อีกภาพที่ถูกตัดให้เห็นนั่นก็คือ ภรรยาสุดที่รักและลูกวัยแบเบาะ
ที่เขาต้องทิ้งไว้เบื้องหลัง
แม้ชาญจะเรียกสิ่งที่ตนทุ่มเทเหล่านั้นว่า ภารกิจเพื่อมวลชน แต่การทิ้งให้ภรรยาและลูกอดอยากอยู่ข้างหลัง แม้ชาญเองจะมองว่า มันคือ การเสียสละ แต่ในมุมของภรรยานั้นมันไม่ได้วิเศษอะไรเลย นอกจาก “ชาญคือคนเห็นแก่ตัว”
ชาญยังยืนยันในสิ่งที่ตนเองทำว่ามันมีประโยชน์ที่ตนเองได้ทำตามอุดมคติ หนำซ้ำ ชาญเองได้ตั้งคำถามย้อนภรรยาของตนว่า
“แล้วมันผิดตรงไหนที่ตัวเองยอมเสียสละเพื่อผู้อื่น”
ความจริงภรรยาของชาญอดอยาก ใช้ชีวิตอย่างลำบาก สามีหายไปสองปี ไม่ติดต่อกลับมา ภรรยายังรอคอยการกลับมา แต่เวลาผ่านไปไร้วี่แวว
ท้ายที่สุด มาลีตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตกับสามีคนใหม่ที่เขาพร้อมดูแลและให้ความอบอุ่นในวันที่ไม้ใหญ่ในบ้านพังครืนลง
ชาญรู้สึกหัวเสียกับสภาพที่เผชิญอยู่ตรงหน้าพลางตั้งคำถาม
“คำว่าเห็นแก่ตัวหรือภรรยาไปมีคนใหม่คือ สิ่งที่ได้รับในฐานะทำเพื่อคนส่วนใหญ่เหรอ“
ชาญถามภรรยาเพื่อระบายความรู้สึก มาลี ภรรยาสาวของชาญสวนทันควันว่า
”มันไม่ผิดหรอกที่พี่เสียสละเพื่อคนอื่น แต่ฉันเป็นคน ไม่ใช่สิ่งของ ฉันเจ็บเป็น หิวเป็น กลัวเป็น"
เรื่องราวเหล่านี้ทำให้เห็นว่า บ่อยครั้งที่ชีวิตคนเรามีทางเลือกไม่มาก มีข้อให้ตัดสินใจจำกัด หรือบางครั้งไม่มีเลยด้วยซ้ำ มาลีจึงไม่มีทางอื่นที่จะเลือก นอกจากปลิดอดีตทิ้ง แล้วเริ่มใหม่กับปัจจุบันที่พอจะเห็นลำแสงแห่งความหวัง
อีกทั้งชายใหม่ที่เธอเลือกใช้ชีวิตด้วย คือ คนที่เข้ามาช่วยเหลือเธอในวันที่ถูกรังแก ในวันที่มีเพียงตัวเองเพียงลำพัง ไร้ที่พึ่ง ไร้ใครเหลียวแล
งานเขียนชิ้นนี้ขี้ชวนให้เราตระหนักว่า การเสียสละและทำดีที่สุดคือ การดูแลครอบครัว อย่างน้อยก็อย่าให้ครอบครัวลำบาก มิใช่เสียสละเพื่อช่วยผู้อื่น แต่กลับทำให้ความรักในบ้านหล่นหายระหว่างทาง
(5)
ความจริง ไม่มีใครผิด เพราะชีวิตก็จำต้องเลือก เมื่อเจอทางตัน มาลีเองก็ต้องเลือกเมื่อถึงเวลา สถานการณ์เบื้องหน้าจะบอกและกำกับเส้นทางชีวิตของนักเดินทางเอง
บางครั้งชีวิตก็ไม่มีช่องทางหรือข้อย่อยให้เลือกกาได้ตามใจปรารถนา
“ฉันไม่ใช่สิ่งของที่พี่จะใช้เส้นไหว้ศาลเจ้าของพี่”
มาลีพูดสวนพลางเพิ่มว่า
“พี่รู้ไหม บางทีฉันอยากเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่เมียพี่
เผื่อจะได้รับการดูแลจากพี่บ้าง”
“พี่รู้ไหม บางทีฉันต้องฝากลูกไว้กับป้า…ตัวเองไปเป็นพนักงานเสิร์ฟในร้านเหล้า วันไหนลูกป่วยต้องหยุดงาน ก็ไม่มีรายได้”
มาลียังสาธยายความในใจอย่างต่อเนื่องให้กับสามีที่เข้าป่าเพื่ออุดมการณ์ แล้วทิ้งสองแม่ลูกให้อยู่เพียงลำพัง
“ฉันไม่กล้าทำงานประจำที่ไหน เพราะกลัวถูกบังคับให้เข้าออกตามเวลา ฉันต้องทำตัวให้พร้อมดูแลลูกอยู่เสมอ เพราะเขาไม่มีใคร มีแต่แม่คนเดียวเท่านั้น บางทีเวลาเหนื่อยมากๆ ฉันก็นึกโกรธพี่เหมือนกัน ฉันรู้สึกว่าพี่เห็นแก่ตัวเกินไปที่ทิ้งฉันให้อยู่กับลูกตามลำพัง”
ระหว่างบทสนทนาทั้งสอง เด็กน้อยก็ออกมา ลูกของพวกเขากำลังโต เสื้อที่สวมใส่ก็มีราคา ไม่เก่ามอมแมมเหมือนสมัยอยู่บ้านนอก แววตาสวยสดมีพลัง ไร้ริ้วรอยบาดแผล
ชาญทักทายเด็กน้อยที่เป็นลูกด้วยการแนะนำตัวว่า
“ลุงเป็นเพื่อนของแม่”
ด้วยเหตุผลสำคัญคือ ทุกอย่างสำหรับเขากับมาลีได้จบลงแล้ว ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะสร้างแผลใหม่ให้กับสองชีวิตนี้อีก
อย่างน้อยเพื่อบอกให้รู้ว่า ”เขาไม่ใช่ผู้ชายเห็นแก่ตัว และบางทีอาจเป็นโอกาสสุดท้ายที่เขาจะได้แสดงความกล้าหาญในสมรภูมิที่คาดคิดไม่ถึง“
(6)
เหลือเชื่อว่า คนเราจากกัน และหมายจะกลับมาเจอกัน ออกตามหา พลิกฟ้า รื้อแผ่นดิน จนท้ายที่สุดก็พบเจอ แต่ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปตามกาลเวลาและจังหวะของชีวิต
“ห้วงยามแห่งสัจจะ” ใน ”ทาง:ซ้ายผ่านศึก“ ของ ”เสกสรรค์ ประเสริฐกุล“ ได้ชี้ให้เห็นเส้นทางของชีวิตที่เต็มไปด้วยขวากหนามที่นักเดินทางเองต้องประเมิน ทำความเข้าใจ เรียนรู้
และก้าวผ่านในช่วงท้ายของ “ทาง:ซ้ายผ่านศึก“ ของ ”เสกสรรค์ ประเสริฐกุล“ ได้นำเสนอกวีจบไว้ว่า
”ทะเลหนาว ผู้ผาเงียบ ทางเลียบผา
ข้างใน…ไร้สิ้นกาลเวลา
ไปหรือมา คือไฉน… ไม่สำคัญ“
สภาพแวดล้อมข้างต้น และความเป็นไปของมาลีภรรยาผู้เป็นที่รัก ชาญเข้าใจความหมายที่หล่อนพยายามสื่อสารได้ดี และเขาก็รู้ว่า เขาควรทำอย่างไรกับความท้าทายใหม่
ที่ชีวิตมอบให้
“งั้นพี่ไปก่อนนะ” ชาญพูดก่อนลาจาก
มาลีใจหายวาบ เพราะเธอก็รู้ดีว่า
“นี่เป็นการกล่าวลาอย่างถาวร”
ชาญกระซิบข้างหูผู้หญิงของเขา
“นึกเสียว่าพี่ไม่เคยกลับมาแล้วกัน”
ด้วยความหดหู่บนทางชีวิต
เอ. อาร์. มูเก็ม
19 พฤศจิกายน 2567
ป.ล. ในบทที่เหลือต้องไปอ่านเอง แต่ประเด็นที่สำคัญและค่อนข้างชื่นชอบเป็นพิเศษคือ ”แผลใหม่“ ชวนให้เข้าใจโลกของอุดมการณ์และการดำรงอยู่ในชีวิตจริงได้เป็นอย่างดี
สนใจสั่งซื้อหนังสือ
• website : bookonline.praphansarn.com
• Facebook : m.me/praphansarn
• LINE : @praphansarn คลิกลิงค์ line.me/ti/p/%40krx7353s
• Shopee : shopee.co.th/praphansarn
• Lazada : lazada.co.th/shop/praphansarn